เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ธนาคารพาณิชย์สมาชิกสมาคมธนาคารไทย 14 แห่ง ร่วมกับ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การให้บริการบัญชีเงินฝากเพื่อการเข้าถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐาน” หรือบัญชีเงินฝากพื้นฐาน (Basic Banking Account) ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยมีนโยบายภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ของอุตสาหกรรมธนาคาร (พ.ศ. 2558-2563) ในการสนับสนุนบริการทางการเงินพื้นฐานในด้านเงินฝาก สินเชื่อ การโอนเงินและชำระเงิน โดยเชื่อมั่นว่าการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน บัญชีเงินฝากประเภทใหม่นี้ จะมีเงื่อนไขการรับเงินฝากและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องที่จะเอื้อให้ประชาชนในกลุ่มต่างๆ สามารถใช้บริการฝากเงิน และที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันได้อย่างเพียงพอ โดยธนาคารสมาชิกสามารถเริ่มให้บริการบัญชีประเภทใหม่นี้ได้ภายในเดือนตุลาคม 2561 นี้ โดยในระยะแรกจะให้บริการสำหรับกลุ่มประชาชนที่อยู่ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้สูงอายุ
ด้านนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบแผนงานการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี กล่าวว่า บัญชีเงินฝากพื้นฐานประเภทใหม่นี้จะมีเงื่อนไขพิเศษที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ฝากกลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่มประชาชนที่อยู่ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ให้สามารถเปิดและใช้บริการบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ได้อย่างสะดวกและคล่องตัว บัญชีเงินฝากพื้นฐานนี้ ธนาคารพาณิชย์จะไม่กำหนดทั้งวงเงินขั้นต่ำในการเปิดและคงบัญชีเงินฝากไว้ รวมทั้งจะไม่มีค่ารักษาบัญชีหากไม่มีการเคลื่อนไหวในระยะ 24 เดือน และผู้ฝากสามารถฝาก ถอนโอน โดยใช้บัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตที่ผูกไว้กับบัญชีได้ โดยจะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปีเป็นพิเศษ
“บัญชีเงินฝากพื้นฐานนี้จะเป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ การทำธุรกรรมต่างๆ รวมทั้งการเข้าถึงบริการทางการเงิน เพื่อผลักดันให้ระบบการเงินเป็นกลไกช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต”
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นมิติสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการการเงินได้สะดวกและด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า อันจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าถึงและใช้บริการทางการเงินมากขึ้น ซึ่งจากผลสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือน ปี 2559 พบว่า 94% ของครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ ทั้งบริการธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐ โดยครัวเรือนใน 94% นี้ มีประมาณร้อยละ 30 เข้าไม่ถึงและไม่ใช้บริการเงินฝาก ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากร้อยละ 20 ในปี 2556 อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ หนึ่ง รายได้ที่ไม่มากพอที่จะใช้บริการ สอง มีอุปสรรคในการเข้าบริการทางการเงิน เช่น ค่ารักษาบัญชี ค่าใช้จ่ายในการเปิดบัญชี ซึ่งสูงเกินรายได้ที่ครัวเรือนจะใช้บริการได้
ธปท. เห็นว่า การก้าวเข้ามาใช้บริการทางการเงินในระบบเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และเป็นจุดเริ่มต้นที่ประชาชนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารเงินขั้นพื้นฐาน สามารถต่อยอดไปใช้บริการผลิตภัณฑ์อื่น ตลอดจนส่งเสริมทัศนคติในการออมของประชาชน บัญชีเงินฝากพื้นฐานจึงเป็นประตูบานแรกในการเข้าสู่บริการทางการเงิน โดยได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการเงินฝากพื้นฐานพร้อมปรับปรุงเงื่อนไขให้ครัวเรือนสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้ โดยมีธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เข้ามาร่วมด้วย
ดร.วิรไทกล่าวต่อว่าการออกผลิตภัณฑ์การออมหรือบัญชีเงินฝากขั้นพื้นฐาน จะไม่มีค่าธรรมเนียมและตอบโจทย์ประชาชน โดยเฉพาะระดับฐานราก เพราะสามารถเปิดบัญชีโดยไม่มีขั้นต่ำและมีบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตโดยไม่มีค่าธรรมเนียม รวมไปถึงค่ารักษาบัญชี ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเริ่มจากประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้สูงอายุที่มีอายุเกิด 65 ปีขึ้นไป
นอกจากนี้ ในวันนี้จะมีการเปิดตัวระบบการบริจาคการกุศลแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน โรงพยาบาล มูลนิธิต่างๆ ซึ่งร่วมมือกับกรมสรรพากรด้วย ทำให้มั่นใจว่าเงินบริจาคจะไปยังหน่วยงานที่ต้องการจริงและสามารถได้ประโยชน์ทางภาษีได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องใบอนุโมทนาบัตร ซึ่งที่ผ่านมามักมีปัญหาการปลอมใบอนุโมทนาบัตร
“นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าภาคการเงินสามารถเข้ามาตอบโจทย์ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และยกระดับความธรรมาภิบาลในสังคมด้วย ในเรื่องการธนาคารเพื่อความยั่งยืนอาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเรื่องที่เราต้องทำงานร่วมกันอีกมาก และก็มีตัวอย่างในหลายประเทศที่ต้องทำงานร่วมกัน ทั้งสถาบันการเงิน สมาคมที่เกี่ยวข้อง ผู้กำกับดูแล ที่จะมาช่วยยกระดับมาตรฐานการทำธุรกิจให้ตรงกับความคาดหวังของสังคม สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ กับความท้าทายที่มากขึ้นเรื่อยๆ”
นอกจากนี้การทำธุรกิจการเงินเพื่อความยั่งยืนไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของ CSR หรือสิ่งแวดล้อม เท่านั้น ยังหมายถึงแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การสร้างโอกาส การเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน และวิธีป้องกันการปฏิบัติที่อาจจะนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน และจากประสบการณ์ของหลายภูมิภาคทั่วโลกว่าเป็นผลดีต่อสถาบันการเงินด้วย เพราะภายใต้โลกที่มีความเสี่ยงใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อมก็ดี เรื่องอื่นๆ ก็ดี การที่คนให้ความสนใจกับเรื่องพวกนี้มากขึ้น เหล่านี้เป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคมที่สถาบันการเงินต้องปฏิบัติตาม แม้ว่าวันนี้จะไม่มีกฎระเบียบใดๆ ก็ตาม แต่ถ้าสถาบันการเงินใดไม่ปฏิบัติตาม ระดับความน่าเชื่อถือต่อสังคมก็อาจจะเกิดเป็นความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ ด้านเครดิต หรือด้านชื่อเสียงของสถาบัน