ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. ยอมรับ “เศรษฐกิจโลก-ส่งออกหด” กระเทือนการจ้างงานชัดเจนแล้ว

ธปท. ยอมรับ “เศรษฐกิจโลก-ส่งออกหด” กระเทือนการจ้างงานชัดเจนแล้ว

7 มกราคม 2020


เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานการประชุมนักวิเคราะห์ หรือ Analyst meeting ครั้งแรกของปี

ธปท.ยอมรับ “เศรษฐกิจโลก-ส่งออกหด” กระเทือนการจ้างงานชัดเจนแล้ว ชี้ค่าบาทแข็งจากปัญหาเชิงโครงสร้าง “เอกชนไม่ลงทุน-เอสเอ็มอีแข่งขันไม่ได้”

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานการประชุมนักวิเคราะห์ หรือ Analyst meeting ครั้งแรกของปี ภายหลังการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อสื่อสารและตอบข้อสงสัยกับนักวิเคราะห์และสื่อมวลชนในการตัดสินใจนโยบายการเงินและการปรับประมาณการที่ผ่านมา

ส่งออกหดกระเทือนการจ้างงานแล้ว

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส. ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวถึงประมาณการเศรษฐกิจ,เงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพและต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้เดิม โดยเป็นผลจากการส่งออกสินค้าที่หดตัวลงมากกว่าที่คาดและมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากการกีดกันทางการค้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย

“มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 2562 มีแนวโน้มหดตัวเช่นเดียวกับประเทศในภูมิภาคตามปริมาณการค้าโลกที่ลดลง แต่อีกส่วนเรื่องความสามารถในการแข่งขันอย่างเช่นเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้าที่ไทยเองอาจจะไดรับผลกระทบหากไม่สามารถปรับเปลี่ยนการผลิตได้ทัน อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่หดตัวเริ่มกระทบตลาดแรงงานอย่างชัดเจนขึ้นแล้ว

ดร.ดอน กล่าวต่อว่าสะท้อนจากจำนวนลูกจ้างที่นายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในแง่ของรายได้ รวมไปถึงการทำงานล่วงเวลา ของแรงงานนอกภาคเกษตรพบว่าปรับลดลงต่อเนื่องสอดคล้องกัน โดยเฉพาะในสาขาการผลิตเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ ยังพบการปรับรูปแบบการจ้างงาน เช่น จากรายเดือนเป็นรายวันที่เพิ่มขึ้น ยุบกะทำงานจาก 3 เหลือ 2 กะ ยกเลิกสัญญาจ้าง เสนอโครงการเกษียณก่อนกำหนด (Early Retirement) เป็นต้น

สาเหตุของการหดตัวของตลาดแรงงานมีสาเหตุมาจากทั้งปัจจัยชั่วคราวจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและจากปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยที่ทำให้มีกำลังแรงงานลดลงและผู้ประกอบการเริ่มนำระบบออโตเมชั่นมาใช้งานแทนแรงงาน, การเข้ามาของดิจิทัล แพลตฟอร์มที่ทำให้รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไป เช่น หันไปใช้สัญญาจ้างชั่วคราวหรือรับเหมาบริการมากขึ้น ซึ่งมีความมั่นคงด้านการทำงานน้อย นายจ้างสามารถยกเลิกสัญญาจ้างได้ทันที มีสวัสดิการที่ไม่เท่ากับพนักงานประจำ และแรงงานไทยมีทักษะที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีปัจจุบัน

ดร.ดอน กล่าวต่อไปว่าด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้สูงจากมาตรการภาครัฐในระยะสั้น แต่คาดว่าจะชะลอลงจากปัจจัยด้านรายได้ที่กดดันในระยะต่อไป รวมไปถึงความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนที่ลดลงและหนี้ครัวเรือนที่สูง นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งที่มาเร็วกว่าทุกปีคาดว่าจะกระทบกับรายได้และการบริโภคของภาคเกษตรกรค่อนข้างมาก

“สำหรับปัจจัยอื่นๆอย่างการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในโครงสร้างพื้นฐานบางโรงการ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ดีจากการลงทุนภาครัฐในปี 2563 ที่ส่วนหนึ่งเลื่อนการลงทุนมจากปี 2563 ด้านเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2562 และ 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่ต่ำตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้ต่ำ แต่คาดว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับสู่กรอบเป้าหมายได้ในครึ่งหลังของปี 2564 สุดท้ายความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยยังถือว่ายังเป็นความเสี่ยงด้านต่ำค่อนข้างมากจากปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.

ค่าเงินแข็งสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมาว่าเป็นเพียงอาการของโรคและมีสาเหตุหลักมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นหลัก ขณะที่หากมองเรื่องการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอีกด้านหนึ่งจาก “ช่องว่างการออมและการลงทุน” ซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จะพบว่าการเพิ่มขึ้นของช่องว่างดังกล่าวมีสาเหตุหลักจากการที่ภาคธุรกิจไม่ได้ลงทุนมากเท่าที่ควรและเมื่อมองลึกลงไปอีกจะพบว่าเกิดจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอำนาจตลาดขาดแรงจูงใจที่จะลงทุน ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีกลับไม่สามารถลงทุนได้ เนื่องจากขาดความสามารถในการแข่งขัน

ดังนั้น มองในมุมนี้เมื่อธุรกิจเอมเอ็มอี ซึ่งเป็นแหล่งการจ้างงานหลักของประเทศ แข่งขันหรือลงทุนไม่ได้ก็จะกระทบการจ้างงานใหญ่ของประเทศไปด้วย และเมื่อการจ้างงานกระทบรายได้ของแรงงานก็ลดลง หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นตามมา ดังนั้น ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งอาจจะไม่ได้มาจากปัจจัยทางด้านการเงินเพียงอย่างเดียวและนโยบายต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยเช่นการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีกสามารถแข่งขันได้

  • “นริศ สถาผลเดชา” TMB Analytics ตั้งคำถามพร้อมกางข้อมูล “เอสเอ็มอีไทย” อยู่ตรงไหนใน “อีอีซี-ตลาดโลก” ?
  • “ปัญหาค่าเงินแข็งเปรียบเหมือนอาการไข้ คือเป็นอาการที่ปรากฎออกมา แต่เราไม่รู้ว่าข้างในมีการอักเสบอะไรอยู่ตรงไหนหรือไม่ การแก้ไขทางด้านการเงินอย่างเดียวก็เหมือนกินยาพาราลดไข้อาจจะแก้ไขได้ชั่วคราว แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาในระยะยาว ซึ่งการแก้ไขการอักเสบที่อยู่ภายในต้องใช้นโยบายอื่นๆที่เกี่ยวข้องในเชิงโครงสร้าง และตอนนี้เป็นโอกาสดีของประเทศที่จะทำเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่เอื้อต่อการลงทุนและฐานะทางด้านต่างประเทศที่ยังแข็งแรงอยู่” ดร.วิรไท กล่าว

    ดร.ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.

    ด้านดร.ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่าจากการศึกษาเรื่องช่องว่างการออมและการลงทุนของไทยในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่าช่องว่างต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 2.2% ในปี 2553-2556 เป็น 9.4% ในปี 2557-2560 และเมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่าเป็นการเพิ่มขึ้นมาจากภาคธุรกิจเป็นหลัก โดยเพิ่มขึ้นจาก -2.3% เป็น 4.9% ขณะที่ภาครัฐและภาคครัวเรือนไม่ได้แตกต่างกันมากนักในสองช่วงเวลา

    การเพิ่มขึ้นของช่องว่างดังกล่าวในภาคเอกชนมีสาเหตุหลักจากการลงทุนที่ต่ำ โดยภายหลังปี 2557 มีแนวโมลดลงเรื่อยๆมากกว่าประเทศอื่นๆ ขณะที่การออมเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยในปี 2560 เริ่มสูงกว่ากลุ่มประเทศในระดับรายได้เดียวกัน งานศึกษาของสถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าในรายละเอียดการลงทุนของเอกชนแต่ละประเภทพบว่าโครงสร้างธุรกิจของไทยกระจุกตัวในบริษัทขนาดใหญ่ โดย 5% ของบริษัทในไทย สร้างยอดขายถึง 46% ของยอดขายทั้งหมดและได้กำไรไป 60% ของผลกำไรของธุรกิจทั้งหมดในไทย

    การกระจุกตัวและอำนาจตลาดดังกล่าวนำไปสู่อัตราการเติบโตของผลิตภาพที่ต่ำ โอกาสอยู่รอดในตลาดต่างประเทศที่ต่ำ แนวโน้มที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต่ำ และการลงทุนที่ต่ำ ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีกลับมีความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง โดยเฉพาะในเมืองรอง และควรมีนโยบายการแข่งขันที่เหมาะสมเท่าเทียม มีการลดกฎเกณฑ์ที่เป็นต้นทุนของธุรกิจเอสเอ็มอี และสนับสนุนการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของเอสเอ็มอีที่จะช่วยเพิ่มแต้มต่ำให้กับธุรกิจเหล่านี้

    อีกด้านหนึ่งในแง่ครัวเรือนพบว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทำให้สัดส่วนรายได้ของแรงงานลดลงและส่งผลต่อการออม การก่อหนี้ และการบริโภคของครัวเรือน โดยรายได้ที่ใช้จ่ายได้ต่อจีดีพีมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขณะที่การออมแม้แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2557 แต่ยังต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤตปี 2540 รวมทั้งในระดับจุลภาคการออมของครัวเรือนไทยยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มรายได้สูงที่มีรายได้มากกว่า 97,841 บาทต่อเดือน คิดเป็นกว่า 50% ของเงินออมทั้งหมด (โดยกลุ่มรายได้น้อยเฉลี่ย 13,515 บาทต่อเดือนคิดเป็นเพียง 13% ของเงินออมเท่านั้น) ส่งผลให้ครัวเรือนไทยยังพึ่งพาการบริโภคจากการก่อหนี้มากขึ้นเป็นหลัก สะท้อนจากตัวชี้วัดหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่ใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึง 148% แม้ว่าหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะยังทรงตัวอย่างที่ 80% ก็ตาม

    ภาวะการเงินยังสะสมความเปราะบาง

    ดร.ดอน กล่าวว่าในด้านเสถียรภาพระบบการเงินไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังคงสะสมความเปราะบางภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์หนี้ที่แย่ลง ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งมีระยะเวลาผ่อนชำระสั้นและดอกเบี้ยสูง และคุณภาพของสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่ด้อยลงต่อเนื่อง

    “เมื่อเทียบกับต่างประเทศในแง่ของประเภทหนี้ครัวเรือนจะพบว่าของไทยน่ากลัวกว่าที่คิดคือหนี้ส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยต่ำกว่าหลายประเทศค่อนข้างมากคือคิดเป็น 34% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ขณะที่ในต่างประเทศส่วนใหญ่จะคิดเป็นครึ่งหนึ่งของหนี้ทั้งหมด เรื่องนี้ธปท.ได้รวบรวมข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลองค์ประกอบอย่างละเอียดในสิ้นเดือนมกราคมนี้ต่อไป” ดร.ดอน กล่าว

    นอกจากนี้ ธปท.กำลังติดตามข้อมูลภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ตามมาตรฐานที่ธปท.และสถาบันการเงินกำหนดร่วมกันและเริ่มรายงานเข้ามาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา คาดว่าจะใช้เวลาวิเคราะห์อีกสักพักก่อนจะเผยแพร่สถานะเกี่ยวกับหนี้ของครัวเรือนไทยต่อไป

    ด้านนโยบายที่จะดูแลหนี้ครัวเรือน ดร.ดอน กล่าวว่ากนง.มีความเห็นว่าควรใช้นโยบายต่างๆที่เกี่ยวข้องควบคู่กับมาตรการเชิงโครงสร้างร่วมกันอย่างเหมาะสมและตรงจุด พร้อมคำนึงถึงจังหวะเวลาในการใช้ด้วย เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การสร้างวินัยทางการเงินและส่งเสริมการออมของครอบครัว การนำหลักการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบไปใช้ รวมไปถึงต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจลักษณะของกลุ่มครัวเรือนที่แตกต่างกันและนโยบายที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่ม

    ชี้คงดอกเบี้ยล่าสุดไม่เกี่ยวเศรษฐกิจดีขึ้น

    ดร.ดอน กล่าวต่อไปว่าสำหรับการตัดสินนโยบายในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมาที่มีมติเอกฉันท์ในคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ต่อปี เป็นเพียงการยืนยันการตัดสินใจนโยบายในครั้งก่อนหน้าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่มีมติให้ลดดอกเบี้ยจาก 1.5% เหลือเพียง 1.25% ต่อปี โดยในครั้งนั้นแม้ว่ากนง.และธปท.จะไม่ได้ออกรายงานประมาณการเศรษฐกิจใหม่อย่างเป็นทางการ แต่ข้อมูลภายในชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดไว้และต้องลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรองรับล่วงหน้า

    “ข้อมูลในเดือนธันวาคม 2562 ก็ยืนยันแนวโน้มของเศรษฐกิจซึ่งเห็นชัดเจนขึ้นและการคงดอกเบี้ยเป็นการยืนยันแนวโน้มดังกล่าวหลังจากที่ลดดอกเบี้ยล่วงหน้าในครั้งที่แล้ว ขณะที่การตัดสินใจนโยบายการเงินกนง.จะยังยึดหลัก data dependent โดยติดตามพัฒนาการของข้อมูลทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสมต่อไป และพร้อมใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในเมื่อเห็นว่าสมควร” ดร.ดอน กล่าว