ThaiPublica > เกาะกระแส > “องค์กรสื่อมวลชนที่ไม่แสวงหากำไร” ทางออกของวิกฤติสื่อมวลชนในยุคดิจิทัล

“องค์กรสื่อมวลชนที่ไม่แสวงหากำไร” ทางออกของวิกฤติสื่อมวลชนในยุคดิจิทัล

11 เมษายน 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=XnkFYKTDCvU

ในหนังสือชื่อ 1984 จอร์จ ออร์เวลล์ เคยคาดหมายไว้ว่า ยุคข่าวสารในอนาคต จอโทรทัศน์จะเป็นแหล่งป้อนข่าวสารให้แก่คนเราตลอด 24 ชั่วโมง เหมือนกับโทรทัศน์เคเบิลทีวีช่องข่าวอย่าง CNN, BBC ทำหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน แต่ที่จอร์จ ออร์เวลล์ ไม่ได้คาดคิดก็คือ ในปี 2018 จอภาพของอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ได้ก้าวรุกล้ำเข้ามาในชีวิตส่วนตัวของคนเรา เราเองก็สื่อสารกันผ่าน Facebook หรือ Twitter และในยุคสื่อมวลชนดิจิทัล โทรศัพท์สมาร์ทโฟน และโซเชียลมีเดียนั้น ข่าวสารมีปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่ง

ทุกวันนี้ ผู้ผลิตข่าวสารมีจำนวนมากกว่าในอดีต ในสหรัฐฯ หนังสือพิมพ์รายวันมีอยู่ 1,400 ฉบับ สถานีโทรทัศน์ 1,000 แห่ง และสถานีวิทยุ 15,000 แห่ง ส่วนฝรั่งเศส มีหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ 4,000 ฉบับ และสถานีวิทยุ 1,000 แห่ง แต่เวลาเดียวกัน ก็เป็นช่วงที่สื่อสิ่งพิมพ์ประสบภาวะวิกฤติมากสุด รายได้ของหนังสือพิมพ์รายวันทั้งหมดในสหรัฐฯ มีแค่ครึ่งหนึ่งของรายได้ของ Google แม้การผลิตข่าวสารจะมีต้นทุนสูง แต่ข่าวสารต่างๆ ถูกนำไปผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยที่ผู้ผลิตเนื้อหาเองแทบไม่ได้ค่าตอบแทน

โลกในทุกวันนี้ของสื่อสารมวลชนอยู่ในสภาพที่เป็นทั้งช่วงเวลาที่ดีที่สุดและช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด คนอ่านข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ มีมากขึ้น เว็บไซต์ข่าวบางแห่งให้ค่าตอบแทนแก่ผู้เขียนตามจำนวนคนที่เข้ามาอ่าน การอาศัยเว็บไซต์ออนไลน์ทำให้หนังสือพิมพ์สามารถเข้าถึงคนอ่านมากขึ้น แต่หนังสือพิมพ์กลับไม่สามารถ “ทำเงิน” จากลูกค้าออนไลน์ ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์มีสภาพคล้ายกับเรือที่กำลังจะจมลง

วิกฤติของสื่อสารมวลชนประเภทสิ่งพิมพ์ สะท้อนออกมาจากการปลดคนทำงานสื่อที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่มีทั้งการปลดออกและการออกอย่างสมัครใจ ในสหรัฐอเมริกา เว็บไซต์ชื่อ Newspaper Death Watch รายงานว่า นับจากปี 2007 เป็นต้นมา หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นปิดกิจการไป 12 ฉบับ ทำให้หลายเมืองไม่มีหนังสือพิมพ์ของตัวเอง หนังสือพิมพ์อย่าง Los Angeles Times หรือ Chicago Tribune แม้จะยังพิมพ์จำหน่ายอยู่ แต่ก็ประกาศล้มละลายในปี 2008 ปีที่หนังสือพิมพ์ในสหรัฐฯ ปลดพนักงานกว่า 15,000 คน

“ผลิตภัณฑ์ความรู้”

ที่มาภาพ : http://www.hup.harvard.edu/catalog.php?isbn=9780674659759

หนังสือชื่อ Saving the Media (2016) ผู้เขียนคือ Julia Cage กล่าวว่า ก่อนที่จะหาทางออกในเรื่องวิกฤติของสื่อมวลชน จำเป็นต้องวิเคราะห์ปัญหานี้ให้ถ่องแท้ก่อนว่า ใครเป็นผู้ผลิตข่าวสาร ข่าวสารถ่ายทอดออกไปอย่างไร และใครคือผู้บริโภคข่าวสาร รวมทั้งจำเป็นต้องเข้าใจบริบทที่กว้างออกไปอีกว่า ข่าวสารนั้นเปรียบเสมือนความรู้ แบบเดียวกับความรู้ที่ผลิตจากองค์กรด้านวัฒนธรรม มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ โรงละคร และภาพยนตร์ เป็นต้น กล่าวโดยสรุปก็คือ ข่าวสารคือสิ่งที่เป็น “สาธารณประโยชน์” (public good)

การมีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์สาธารณประโยชน์ ทำให้ข่าวสารมีสภาพที่คล้ายกับผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมต่างๆ ผลิตภัณฑ์แบบนี้ รัฐจะไม่สามารถเป็นผู้ทำการผลิตโดยตรงเสียเอง “โมเดลธุรกิจ” ของสื่อมวลชน จึงอยู่กึ่งกลางระหว่าง รัฐกับกลไกตลาด ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ที่ผ่านมาองค์กรต่างๆ ที่ผลิตความรู้และวัฒนธรรมได้ก้าวข้ามเรื่องกลไกตลาด ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้ไปขึ้นกับการควบคุมของรัฐ โมเดลแบบเดียวกันนี้จะทำให้สื่อมวลชนสามารถหาทางออกจากวิกฤติที่กำลังประสบอยู่

Saving the Media กล่าวว่า ในฝรั่งเศส ธุรกรรมของภาคส่วนวัฒนธรรม การศึกษาระดับสูง และการวิจัย มีสัดส่วนเกือบ 7% ของ GDP และการจ้างงานเกือบ 5% ของการจ้างงานทั้งหมด มูลค่าเศรษฐกิจของภาคส่วนด้านองค์ความรู้และวัฒนธรรมนี้ สื่อสารมวลชนมีส่วนแบ่งประมาณ 30% แต่สื่อมวลชนมีความสำคัญมากในแง่จำนวนคนที่เสพสื่อ คนฝรั่งเศส 2 ใน 3 ที่อายุมากกว่า 15 ปี ยังอ่านหนังสือพิมพ์รายวันเป็นประจำ แต่ทว่า ในแต่ละปี มีเพียง 1 ใน 3 ของประชากรที่ไปเข้าชมพิพิธภัณฑ์

จุดนี้คือสิ่งที่เป็นภาวะย้อนแย้งของสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ องค์กรสื่อมีจำนวนไม่มาก และยังมีสัดส่วนน้อยต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจและการจ้างงานโดยรวม แต่สื่อมวลชนกลับสามารถเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ในสังคม และมีอิทธิพลมากต่อการตัดสินใจของคนในสังคมประชาธิปไตย สื่อสารมวลชนจึงกลายเป็นพลังตรวจสอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย นอกเหนือจากกลไกการตรวจสอบอื่นๆ

สถานะนิติบุคคลต่างๆ

องค์กรด้านองค์ความรู้และการศึกษา มีสถานะนิติบุคคลหลายรูปแบบ ในฝรั่งเศส หนังสือพิมพ์จะดำเนินงานในรูปบริษัทหุ้นส่วนจำกัด (joint-stock company) 2 ใน 3 ของสถานีวิทยุในฝรั่งเศสเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร แม้หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง New York Times จะอยู่ในตลาดหุ้น แต่ก็ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนในสหรัฐฯ ที่เข้าตลาดหุ้น มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Harvard, Yale และ Princeton มีกองทุนรวมกันสูงกว่า 30 พันล้านดอลลาร์ และก็ไม่มีใครคิดที่จะเปลี่ยนมหาวิทยาลัยเหล่านี้ให้กลายเป็นบริษัทหุ้นส่วนจำกัด

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า องค์กรที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมและความรู้ ล้วนอาศัยเงินทุนสนับสนุนจากสาธารณะชน แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้ทำให้องค์กรเหล่านี้ขาดความเป็นอิสระ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย โรงละคร หรือพิพิธภัณฑ์ องค์กรเหล่านี้มีรูปแบบที่หลากหลายในเชิงสถานะนิติบุคคล โครงสร้างธรรมาภิบาล โครงสร้างการแบ่งอำนาจหน้าที่ และแหล่งที่มาของเงินทุน

ทุกวันนี้ โครงสร้างองค์กรของสื่อมวลชนในรูปบริษัทจำกัดเริ่มพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถรับมือกับปัญหาท้าทายใหม่ๆ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันมากขึ้น สื่อมวลชนถูกกดดันให้ลดค่าใช้จ่าย เช่น การปลดพนักงาน สื่อมวลชนเองก็มีแนวโน้มที่จะเลิกทำข่าวสาร แต่หันไปทำ “ข่าวบันเทิง” แทน เพราะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า และโฆษณาก็หาได้ง่ายกว่า ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ คนจำนวนมากขาดโอกาสการเข้าถึงข่าวสารที่มีคุณภาพ

ประเด็นนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่า ข่าวสารมีคุณค่ามากกว่าความบันเทิง แต่ข่าวสารมีความสำคัญ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นสาธารณประโยชน์ สาธารณประโยชน์มีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากสินค้าอื่นๆ คือคนในสังคมทุกคนมีสิทธิเข้าถึง เหมือนกับการเข้าถึงการบริการสาธารณสุข การศึกษา ไปรษณีย์ และอินเทอร์เน็ต ไม่จำเป็นที่คนทุกคนจะต้องมีรถยนต์ แต่จำเป็นที่คนเราทุกคนต้องสามารถเข้าถึงข่าวสาร

เมื่อข่าวสารเป็นสาธารณประโยชน์ที่ผลิตโดยสื่อมวลชน คำถามมีอยู่ว่า อะไรคือคำว่า “ข่าวสาร” บทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เป็นข่าวหรือไม่ ภาพที่อยู่ใน Instagram หรือ YouTube ถือเป็นข่าวหรือไม่ การสัมภาษณ์ทางวิทยุเป็นข่าวสารหรือไม่

คนเราทุกคนเห็นพ้องกันว่า เมื่อ New York Times พิมพ์บทความเรื่องการสู้รบระหว่างกลุ่มต่างๆ ในซีเรีย สิ่งนี้คือข่าวสาร แต่หากว่าสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ เขียนข้อความในวันวาเลนไทน์ลงใน Twitter สิ่งนี้จะไม่ชัดเจนว่าคือข่าวสารหรือไม่ ตรงนี้เองที่องค์กรสื่อเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะหน้าที่ขององค์กรสื่อคือการให้ข่าวสารที่รวดเร็ว ถูกต้อง และสมบูรณ์ จะเห็นได้ว่า ข่าวลือหรือข่าวซุบซิบต่างๆ กลายเป็นข่าวสารทันทีเมื่อมีการรายงานข่าวโดยองค์กรสื่อ

หนังสือ Saving the Media กล่าวว่า ในฝรั่งเศส ความหมายของคำว่าข่าวสารมีความสำคัญ เพราะหมายถึงสิทธิที่จะได้รับการอุดหนุนจากรัฐ ตามกฎหมายฝรั่งเศส ข่าวสารคือเนื้อหาสาระต้นแบบ “ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบัน และมีการดำเนินการในลักษณะสื่อสารมวลชน” จากคำจำกัดความนี้ การทำงานของสื่อมวลชนทำให้ “ข้อเท็จจริง” ถูกแปรเป็น “ข่าวสาร” ดังนั้น คำว่า “ข่าวสาร” จึงเกี่ยวข้องผู้มีอาชีพผลิตข่าวสาร ในยุคดิจิทัล คำพูดที่ว่า ข่าวสารที่เผยแพร่แบบทันทีทันใดทางโซเชียลมีเดียคือสื่อมวลชนอย่างหนึ่งนั้นจึงไม่ถูกต้อง

การสูญหายของนักข่าว

ปัจจุบันนี้ สิ่งที่สะท้อนการปฏิวัติที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชน คือ นักข่าวที่ทำงานกับสื่อสิ่งพิมพ์มีจำนวนลดน้อยลง ในฝรั่งเศส ปี 1964 นักข่าวประมาณ 90% ของทั้งหมดทำงานกับสื่อสิ่งพิมพ์ ปัจจุบัน สัดส่วนลดเหลือ 66% ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ นักข่าวที่ทำงานกับหนังสือพิมพ์รายวันก็ลดลงจาก 50% มาเหลือ 22% ในสหรัฐฯ ปี 1990 นักข่าวทำงานหนังสือพิมพ์รายวันมีอยู่ 57,000 คน ทุกวันนี้เหลือแค่ 38,000 คน

จำนวนนักข่าวเฉลี่ยต่อหนังสือพิมพ์ 1 ฉบับก็ลดลง จากตัวเลขของ The American Society of News Editors ในปี 2013 สหรัฐฯ มีหนังสือพิมพ์รายวัน 1,400 ฉบับ จ้างนักข่าว 38,000 คน โดยเฉลี่ย หนังสือพิมพ์ 1 ฉบับมีนักข่าว 27 คน แต่เมื่อปี 2001 หนังสือพิมพ์ 1 ฉบับมีนักข่าว 39 คน หลายคนคิดว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะไม่ว่าจะมีนักข่าว 100 คน หรือ 50 คน ก็ทำหน้าที่ผลิตข่าว แต่ในทางเศรษฐกิจ ปัญหาสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ที่ว่า การผลิตข่าวสารมีต้นทุนคงที่สูง ต้นทุนนี้ผันแปรตาม “คุณภาพ” ของข่าวสาร แต่เมื่อนำมาผลิตซ้ำ ต้นทุนจะต่ำมาก

ปัญหาดังกล่าวทำให้มีการจัดตั้งสำนักข่าวขึ้นมา เพื่อลดการทำงานซ้ำซ้อนในการหาข่าว ในสหรัฐฯ หนังสือพิมพ์ต่างๆ ร่วมกันตั้งสำนักข่าว AP (Associated Press) ขึ้นมา เพื่อให้การทำข่าวมีประสิทธิภาพ ในฝรั่งเศสก็มีสำนักข่าว AFP (Agency-France Presse) แต่ก็แก้ปัญหาได้บางส่วน เพราะการเป็นสมาชิกสำนักข่าวมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ สื่อต่างๆ ยังต้องมอบหมายงานให้นักข่าวทำหน้าที่นำข่าวจากสำนักข่าวมาขึ้นหน้าเว็บไซต์แบบทันทีทันใด

จากสิ่งพิมพ์สู่เว็บออนไลน์

Saving the Media กล่าวว่า นอกจากจะลดนักข่าวในโต๊ะข่าวลงแล้ว หนังสือพิมพ์ยังเพิ่มจำนวนพนักงานทำหน้าที่ด้านเว็บไซต์ข่าวอีกด้วย ทำให้เกิดการแบ่งแยกชัดเจนระหว่าง “นักข่าวเว็บ” กับนักข่าวรุ่นเก่าๆ ในปี 2014 หนังสือพิมพ์ Le Monde ประกาศแผนที่จะย้ายนักข่าวสิ่งพิมพ์ 50 คน หรือ 1 ใน 6 ของทั้งหมด ไปทำงานด้านเว็บไซต์ ปี 2013 The Daily Telegraph ปลดนักข่าวสิ่งพิมพ์ออก 80 คน แล้วจ้างนักข่าวเว็บไซต์ 50 คน

ประเด็นของปัญหาไม่ใช่เรื่องการพยายามรักษาสื่อสิ่งพิมพ์ให้อยู่รอด แต่เป็นเรื่องคุณภาพของข่าวสาร กฎหมายฝรั่งเศสให้แนวทางไว้ว่า ผู้บริโภคจะเสพสื่อช่องทางไหนไม่สำคัญเท่ากับเนื้อหาของข่าวสาร ในแง่นี้ การบริโภคข่าวสารผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตจึงมีความชอบธรรม การจ้างนักข่าวเว็บก็ก่อให้เกิดประโยชน์ เพราะข่าวสารเกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี คือมีข้อมูลและกราฟิกที่ประกอบข่าว ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นกับข่าวสาร

แต่ Saving the Media กล่าวว่า การปฏิวัติดิจิทัลที่มีกับสื่อมวลชนเกิดขึ้นในช่วงที่สื่อมวลชนมีปัญหาด้านทุนทรัพย์ เว็บไซต์ข่าวต่างๆ จึงมุ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ได้เอามาเสริมเรื่องคุณภาพของข่าว แต่กลับเอาเทคโนโลยีมาแทนคุณภาพข่าว เช่น ผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์เข้ามาแทนนักข่าว หนังสือพิมพ์ปลดนักข่าวอาวุโส ลดการทำข่าวระดับชาติและระดับท้องถิ่นลง หรือ การลงทุนทำข่าวเจาะลึกก็ลดน้อยลง เพราะค่าใช้จ่ายสูง และข่าวที่ผลิตออกมาก็ได้จำนวนหนึ่งเท่านั้น อย่างเช่น ในปี 2002 หนังสือพิมพ์ The Boston Globe หมดเงินไป 1 ล้านดอลลาร์ ทำข่าวเจาะลึกเป็นเวลา 8 เดือน กรณีที่บาดหลวงคาทอลิกล่วงละเมิดทางเพศ

ปัญหาของสื่อสิ่งพิมพ์

ปัจจุบัน สื่อมวลชนกำลังตกอยู่ในสภาพที่อันตราย ทั้งเว็บไซต์และความคิดที่ว่าข่าวสารคือสิ่งที่ได้ฟรีๆ ล้วนเป็นภัยที่คุกคามต่อสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ นักสื่อสารมวลชนกำลังจะสูญหายไป หากไม่มีนักข่าวก็ไม่มีข่าวสาร สังคมเองก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ ในเรื่องนี้ ที่ถกเถียงกันคือเรื่อง การปิดสื่อสิ่งพิมพ์ โดยที่ไม่มีใครเข้าใจสาเหตุแท้จริงของมัน หรือถกเถียงกันในประเด็นที่ว่า จะคิดเงินค่าเข้าถึงสื่อดิจิทัลอย่างไร การเข้าถึงข่าวแบบฟรีๆ จะผสมกับการจ่ายเงินเพื่อการเข้าถึงหรือไม่ และเว็บไซต์ข่าวจะมีระบบเก็บเงินค่าสมาชิกหรือไม่

นอกจากนี้ ก็มีการคิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อดึงเงินโฆษณามากขึ้น หนังสือ Saving the Media บอกว่า ความคิดนี้เป็นภาพมายาอย่างหนึ่งที่ไม่มีทางจะได้ผล ในที่สุดรายได้โฆษณาก็จะหายไป สาเหตุสำคัญมาจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้สามารถทำการตลาดโดยตรงถึงกลุ่มลูกค้า และการตลาดโดยตรงกลายเป็นคู่แข่งกับรูปแบบการโฆษณาแบบดั้งเดิม ที่เคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญของสื่อมวลชน

นอกจากนี้ สื่อมวลชนยังประสบปัญหาที่เกิดจากลักษณะของอุตสาหกรรมสื่อมวลชนเอง อุตสาหกรรมรถยนต์ หากยอดขายลดลง บริษัทรถยนต์ก็สามารถปลดพนักงานโดยไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพของรถยนต์ แต่อุตสาหกรรมสื่อมวลชน ไม่ว่าหนังสือพิมพ์จะขายได้มากหรือน้อยจำนวนนักข่าวก็มีเท่าเดิม ความพยายามทั้งหมดของหนังสือพิมพ์จึงอยู่ที่การผลิตเนื้อหาฉบับแรกขึ้นมา หากรายได้ลดลงแล้วหนังสือพิมพ์ลดนักข่าวให้น้อยลง ผลกระทบจึงเกิดขึ้นกับคุณภาพข่าวสาร

ทางออกเพื่อกอบกู้สื่อ

หนังสือ Saving the Media เสนอทางออกในการแก้ไขวิกฤติของสื่อมวลชนว่า จำเป็นที่ต้องมีรูปแบบใหม่ขององค์กรที่เป็นเจ้าของสื่อมวลชน อังกฤษ เยอรมัน และอิตาลี พยายามหาแนวทางใหม่ๆ ในเรื่องรูปแบบองค์กรสื่อ หนังสือพิมพ์ The Guardian มีเจ้าของที่เป็นมูลนิธิในเยอรมัน The Bertelsmann Foundation ก็มีบทบาทแบบเดียวกัน สิ่งพิมพ์ที่ไม่แสวงหากำไรเช่น ProPublica ในสหรัฐฯ ก็ตั้งขึ้นโดยมหาเศรษฐีชื่อ Herbert Sandler

เพราะฉะนั้น รูปแบบองค์กรใหม่ของสื่อมวลชนในศตวรรษที่ 21 คือ องค์กรสื่อที่ไม่แสวงหากำไร รูปแบบองค์กรจะอยู่กึ่งกลางระหว่างมูลนิธิกับบริษัทจำกัด มีลักษณะคล้ายๆ กับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ที่ภายในองค์กรเดียวกันสามารถดำเนินกิจกรรมทั้งเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์โดยไม่แสวงหากำไร การระดมเงินทุนของสื่อยุคใหม่ จะอาศัยเงินจากผู้ลงทุนรายเล็กรายย่อยจำนวนมาก (crowdfunding) อินเทอร์เน็ตจะช่วยให้การระดมทุนแบบนี้มีความเป็นไปได้ ทำให้องค์กรสื่อในระบบทุนนิยมมีความเป็นประชาธิปไตย คือคนจำนวนมากมีส่วนร่วมในองค์กรดังกล่าว

เอกสารประกอบ
Saving the Media, Julia Cage translated by Arthur Goldhammer, The Belknap Press of Harvard University Press, 2016.