อีอีซีระดมกูรูเศรษฐกิจ ถอดแนวคิด “จาก ESB สู่ EEC กับการเป็นเขตพัฒนาพิเศษระดับโลก” เตรียมปรับแผนเพิ่มการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดปีละ 6 แสนล้านบาท รักษาระดับ GDP โตเฉลี่ย 5% ต่อปี ชี้หากไม่ทำอะไรขยายตัวแค่ 2%
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จัดเสวนาวิชาการ “จาก ESB สู่ EEC กับการเป็นเขตพัฒนาพิเศษระดับโลก” ในรูปแบบออนไลน์ (VDO conference) นำโดย ดร. เสนาะ อูนากูล ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สกพอ. , ดร. อาณัติ อาภาภิรม ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สกพอ. , ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานมูลนิธิเสนาะอูนากูล และ ดร. คณิศ แสงสุพรรณ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีกลุ่มผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชน นักธุรกิจชั้นนำในเมืองไทย อาทิ นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย , นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ , นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BDMS , นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน , นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการ บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังการเสวนามากกว่า 70 คน
การจัดเสวนา ฯ ครั้งนี้ ฉายภาพแนวคิดของการพัฒนาโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” (ESB) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525 – 2529) ซึ่งเป็นช่วงการพัฒนาประเทศที่สำคัญของไทย โดยผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในสมัยนั้น และได้ผลักดันให้เกิดการลงทุนครั้งใหญ่ของภาคเอกชน ช่วยให้เศรษฐกิจไทยในช่วงกว่า 30 ปีก่อนเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยมีความต่อเนื่องมายังแผนพัฒนาฯฉบับที่ 6 และฉบับที่ 7 ที่ช่วยให้ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) เติบโตเฉลี่ยสูงถึง 9.3% ซึ่งแนวคิดจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 ดังกล่าว จะเป็นต้นแบบสำคัญเพื่อเตรียมการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งพบผลกระทบจากสถานการณ์โควิดและเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใกล้เคียงกับในอดีต
นอกจากนี้ การพัฒนาพื้นที่ อีอีซี ในปัจจุบัน ยังได้นำแนวคิด และต่อยอดเพิ่มสิ่งที่ได้รับจากอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่สำคัญ ๆ เช่น แนวคิดให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่อง ด้วยการมี พ.ร.บ. และสำนักงานอีอีซี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ สนามบินอู่ตะเภา ขยายท่าเรือมาบตาพุด และแหลมฉบัง รถไฟความเร็วสูง ลดการพึ่งพางบประมาณรัฐและเงินกู้ด้วยสัญญา PPP ที่โปร่งใส รัดกุม และรัฐได้ประโยชน์สูงสุด การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงที่ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น 5G ระบบโซลาร์เซลล์ ยานยนต์ไฟฟ้า และการสร้างงานให้เยาวชนในพื้นที่มีรายได้ดี รวมทั้ง ทำงานกับท้องถิ่น กลุ่มสตรี เยาวชน เพื่อให้โครงการอีอีซีอยู่คู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ อีอีซีจะปรับแผนทำงานให้หนักเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เพื่อเร่งลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด โดยจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนสูงถึงปีละ 6 แสนล้านต่อปี จากเดิมที่เป้าหมายการลงทุน 3 แสนล้านบาท ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะสามารถปรับ GDPให้โตขึ้น 5% ภายหลังสถานการณ์โควิด และจะเป็นส่วนสำคัญให้ไทยก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาได้ในปี 2572
สำหรับการเสวนาดังกล่าว ภาคเอกชน และนักธุรกิจชั้นนำ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นตรงกันว่า มีความจำเป็นต้องร่วมขับเคลื่อนอีอีซี ให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ๆ และการลงทุนในอุตสาหกรรมนวัตกรรมขั้นสูง ที่ อีอีซี พร้อมดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในระยะยาว
ทั้งนี้ การสรุปข้อมูล และการถอดบทเรียนที่ได้รับจากการเสวนาฯ ในครั้งนี้ สกพอ. จะได้นำข้อมูล ชุดความรู้ที่ได้รับประกอบการจัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้ /พิพิธภัณฑ์เขตพัฒนาพิเศษชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกประเทศไทย (EEC Learning Center /EEC Museum) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะเป็นศูนย์การเรียนรู้สำคัญ ของการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก และพร้อมจะเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักลงทุนรุ่นใหม่ และผู้ที่สนใจได้ศึกษาถึงความเป็นมาของ อีสเทิร์นซีบอร์ด และการพัฒนาอีอีซี ที่จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาประเทศต่อไป