ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 31 มี.ค. – 6 เม.ย. 2561
เบรกอีกครั้งประวิตรสั่งเอง “บ้านศาลเชิงดอย” รอถก – ยัน ไม่รื้อ

จากกรณีโครงการก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดของข้าราชการตุลาการ จังหวัดเชียงใหม่ งบประมาณรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ที่นอกจากจะตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุยแล้ว ภาพถ่ายทางอากาศในมุมต่างๆ ที่ปรากฏแพร่กระจายไปทั่วสังคมออนไลน์ยังแสดงให้เห็นว่าส่วนที่เป็นบ้านพักผู้พิพากษานั้นกินพื้นที่เข้าไปตั้งอยู่กลางป่า จนเกิดกระแสคัดค้านโครงการดังกล่าวนี้ขึ้นในสังคม แม้ทางราชการจะยืนยันว่าทุกอย่างนั้นทำถูกต้องตามกฎหมายก็ตามที
ล่าสุด พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เปิดเผยแก่ผู้สื่อข่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งศาลและทางจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงกองทัพภาคที่ 3 และมณฑลทหารบกที่ 33 (มทบ.33) ไปพูดคุยร่วมกันถึงรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวในวันที่ 9 เม.ย. 2561 โดยขณะนี้โครงการดังกล่าวยังไม่มีการก่อสร้างเพิ่มเติมแต่อย่างใด
พล.อ. ประวิตร ยอมรับว่า อาจจะไม่มีการดำเนินโครงการต่อในที่ดังกล่าว และอาจย้ายไปทำที่อื่น แต่คงจะไม่มีการรื้อถอน รวมทั้งอาจจะมีการพิจารณาว่าสามารถดัดแปลงเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้หรือไม่
นอกจากนี้ พล.อ. ประวิตร ยังเปิดเผยว่าไม่กังวลว่าจะมีการฟ้องร้องกันตามกฎหมาย เนื่องจากไม่รู้จะฟ้องใครและฟ้องด้วยเรื่องอะไร รวมทั้งขอให้มวลชนที่จะเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลหยุดการเคลื่อนไหวดังกล่าว และเรื่องนี้ต้องคุยกันเพื่อหาทางออกตามกฎหมาย
เรียบเรียงจาก
เว็บไซต์เนชั่นทีวี
เว็บไซต์วอยซ์ที
เฟซบุ๊กปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน
จุฬาฯ แจง “ฟังตู่แลกแต้ม” เรื่องธรรมดา

จากกรณีที่เฟซบุ๊ก RCUchula : สำนักงานหอพักนิสิตจุฬาฯ ได้มีการโพสต์เชิญชวนนิสิตหอพักเข้าร่วมรับฟังร่วมรับฟังปาฐกถาพิเศษจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี และเมื่อมีคนเข้าไปคอมเมนต์สอบถามว่ากิจกรรมดังกล่าวนี้ได้คะแนนหรือไม่ ทางเพจก็ตอบว่าเป็นคะแนนกิจกรรมหอพัก จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่
ล่าสุด เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า นายชัยพร ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านกิจการนิสิต จุฬาฯ ชี้แจงว่า เรื่องคะแนน โดยปกติแล้ว สำนักหอพักจะมีกิจกรรมที่หลากหลายตลอดทั้งปี เพื่อให้นิสิตเก็บคะแนน ไม่เฉพาะแค่กรณีพล.อ.ประยุทธ์ จะมาปาฐกถาพิเศษ ที่จุฬาฯเท่านั้น
นายชัยพร กล่าวว่า ขณะเดียวกันถือเป็นช่วงปลายเทอม นักศึกษาที่พลาดบางกิจกรรมก็ต้องการคะแนน อยากให้มีกิจกรรมบ่อยๆ สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีกิจกรรมรักบี้ประเพณี จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มีนิสิตมาร่วม 500 คน ทุกคนต่างทำกิจกรรมกันเต็มที่ ยืนยันว่าทางมหาวิทยาลัยคำนึงถึงเรื่องภูมิลำเนาและค่าใช้จ่ายของนิสิตเป็นสำคัญ มากกว่าการเก็บคะแนนจากกิจกรรมที่เป็นตัวชี้วัดลำดับรองลงมา
“ทางหอพักมีกิจกรรมให้นิสิตเก็บคะแนนตลอด ไม่จำเป็นต้องเป็นพล.อ.ประยุทธ์ หากใครเป็นแขกของมหาวิทยาลัย เราจะจัดกิจกรรม หากวาลาดิเมียร์ ปูติน หรือสี จิ้นผิง มา เราก็จะจัดแบบนี้” นายชัยพรกล่าว
เมื่อถามว่าบางความเห็นระบุการจัดกิจกรรมรักบี้ประเพณี เป็นกิจกรรมสุดท้าย ทำไมจึงมีกิจกรรมนี้ให้เก็บคะแนนอีก นายชัยพรกล่าวว่า ไม่จริง ไม่ขนาดนั้น เรารับฟังนิสิตที่อยากได้กิจกรรมเพิ่ม เพื่อสร้างโอกาสในการเก็บคะแนน ที่บางคนอาจพลาดไป ใครมาเราก็จัด
สรรพากรแก้กฎหมาย ลุยร้านค้าออนไลน์-ข้าราชการทุจิรตธุรกิจสีเทา

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้เปิดเผยถึงเรื่องการเปิดรับรับฟังความคิดเห็นต่อของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (อีเพย์เมนต์) จะทำให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีถูกต้องอยู่แล้วมากขึ้น
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย คือผู้เสียภาษีสามารถยื่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรสามารถกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ นอกจากสาระสำคัญข้างต้นแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้สถาบันการเงินธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ รายงานการทำธุรกรรมการเงินในลักษณะดังต่อไปนี้ของลูกค้าให้กรมสรรพากรรับทราบ ประกอบด้วย
1. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี และ 2. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง และมียอดรวมของกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป โดยกรมสรรพากรจะเก็บข้อมูลเป็นเวลานาน 10 ปี
ทั้งนี้ หากสถาบันการดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามปรับ 1 แสนบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะรายงานข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน ในส่วนของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่เปิดเผยข้อมูลผู้เสียภาษีก็มีการปรับโทษเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
นายประสงค์กล่าวว่า การแก้กฎหมายนี้ไม่กระทบกับผู้เสียภาษีที่ถูกต้องอยู่แล้ว เช่น พนักงานหรือข้าราชการรับเงินเดือน และเดิมกรมสรรพากรก็มีอำนาจที่จะข้อดูข้อมูลการเงินของผู้เสียภาษีอยู่แล้ว การใช้อำนาจดังกล่าวอาจถูกมองว่าเลือกปฏิบัติ แต่กฎหมายใหม่สถาบันการเงินต้องส่งรายงานธุรกรรมให้กรมสรรพากร ก็เป็นการลดดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพราะระบบจะเป็นคนทำงานและจะแจ้งเตือนว่าผู้มีเงินได้ใดที่กรมสรรพากรเข้าไปตรวจสอบให้ถูกต้อง
นอกจากนี้ การกำหนดครั้งการทำธุรกรรมก็เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ที่ทำธุรกรรมการเงินปกติและเสียภาษีถูกต้อง เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้กำหนดมองว่า การโอนเงินปีละ 3,000 ครั้ง หรือประมาณวันละ 10 ครั้ง น่าจะเป็นการทำธุรกรรมที่ไม่ปกติและควรได้รับการตรวจสอบ หรือ การโอนเงิน 200 ครั้ง แต่ละครั้งมีจำนวนมาก ก็น่าถูกตรวจสอบว่ารายได้มากจากอะไร และมีการเสียภาษีที่ถูกต้องอยู่แล้ว
“ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย คือ ร้านค้าออนไลน์ที่ยังไม่อยู่ในระบบภาษี ข้าราชการที่ทุจริตมีโอนเงินเข้าบัญชีของตัวเอง และธุรกิจสีเทาผิดกฎหมาย ซึ่งจะเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไม่กระทบกับผู้เสียภาษีที่ถูกต้อง แต่การออกกฎหมายนี้จะทำให้ประเทศดีขึ้น เพราะจะมีการเสียภาษีให้ถูกต้องมากขึ้น ป้องกันการทุจริตของข้าราชการ และการค้าขายของผิดกฎหมายได้” นายประสงค์กล่าว
เห็นชอบใช้ EMV ดูแลบัตรแมงมุม ประหยัด 2,000 ล้าน เลื่อนออกบัตรเป็น ต.ค. 2561

เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารระบบตั๋วร่วม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. นำเทคโนโลยีระบบใหม่ที่จะเข้ามาบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม หรือ บัตรแมงมุม ด้วยบัตรรูปแบบ EMV (Euro.Master.Visa) Contactless Smart Card (Open Loop) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ใน 127 เมืองทั่วโลก เช่น ลอนดอน เป็นต้น
พร้อมกันนี้ยังมอบหมายให้ รฟม. ดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และจะมีการนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป สำหรับการนำระบบเทคโนโลยี EMV มาใช้จะปรับแนวทางการพัฒนาระบบตั๋วร่วม ตามแนวทางการศึกษาเดิมที่จะเริ่มใช้งานตั๋วร่วมแบบระบบปิด หรือ Close Loop แมงมุม 2.0 ก่อน แล้วจึงพัฒนายกระดับเป็นแบบระบบเปิด หรือ EMV : แมงมุม 4.0 ในระยะต่อไป เพื่อเสนอให้พัฒนาและใช้งานตั๋วร่วมแบบระบบเปิด EMV : แมงมุม 4.0 ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งการใช้ระบบเปิดแบบ EMV จะใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงพัฒนาระบบใกล้เคียงกับระบบปิดแบบเดิม แต่ใช้งบประมาณในการดำเนินงานน้อยกว่า จากวงเงินลงทุนเดิม 4,000 ล้านบาท เหลือวงเงินลงทุน 2,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้ากรอบการใช้งานภายในเดือน ธ.ค. 2562 ระบบจะสมบูรณ์ทุกระบบ
ทั้งนี้ จะนำร่องนำบัตรแมงมุม 2.0 ที่ผลิตมาแล้วก่อนหน้านี้จำนวน 200,000 ใบ รวมกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 นี้เป็นต้นไป ในรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีน้ำเงิน แอร์พอร์ตเรลลิงก์ รถเมล์ ขสมก.
สำหรับข้อดีของการใช้ระบบเปิด EMV: แมงมุม 4.0 ต่อประชาชน เพิ่มความสะดวกมากขึ้นในการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ โดยสามารถใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตระบบ EMV ที่มีอยู่แล้วมาใช้บริการได้ทันที โดยไม่ต้องมีบัตรเงินสดเพิ่มเติม ซึ่งจะลดภาระในการเติมเงินลงในบัตรล่วงหน้า เนื่องจากจะเปลี่ยนเป็นการชำระเงินตามรอบในแต่ละเดือนหลังการใช้งาน เพิ่มความปลอดภัยในกรณีบัตรหายเนื่องจากไม่มีจำนวนเงินสดเก็บอยู่ในบัตร สามารถอายัดบัตรได้ทันที และค่าใช้จ่ายการเดินทางลดลง ด้วยระบบ Guarantee Minimum Fare ที่ใช้การหักค่าใช้จ่ายการเดินทางรายเที่ยว เป็นตั๋วรายวันหรือรายสัปดาห์โดยอัตโนมัติตามยอดการใช้จ่าย
“การนำเทคโนโลยีบัตร EMV มาใช้กับระบบตั๋วร่วมจะทำช่วยประหยัดงบประมาณลงทุนลงได้ถึงครึ่งหนึ่งจาก 4,000 ล้านบาท เหลือแค่ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากไม่ต้องมีเครื่องจำหน่ายตั๋ว ขณะที่ปัจจุบันก็มีการใช้บัตรเดบิต บัตรเติมเงิน รวมถึงบัตรแมงมุมเดิมที่มีอยู่แล้ว 200,000 ใบ โดยจะนำร่องใช้กับรถเมล์ ขสมก. ซึ่งจะมีการเร่งติดระบบ E-Ticket ให้ครบ 2,600 คัน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ในวันที่ 1 ต.ค.นี้” นายชัยวัฒน์กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เลื่อนการเปิดให้บริการตั๋วร่วมออกไปเป็นเดือน ต.ค. 2561 จากเป้าหมายเดิมคือ รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ขสมก. จะเปิดให้บริการทั้งหมด 2,600 คันในเดือน มิ.ย. 2561, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดให้บริการเดือน ส.ค. 2561, รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3 สายเปิดให้บริการเดือน พ.ย. 2561
รายงานโครงการยุติธรรมโลกเผย ญี่ปุ่นแชมป์รัฐบาลเปิดกว้าง-โปร่งใสเอเชีย

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า รายงานของโครงการยุติธรรมโลกประจำปี 2561 เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประชาชนรู้สึกว่าระบบรัฐบาลเปิดกว้างมากที่สุดของภูมิภาค คนญี่ปุ่นสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่พร้อมให้ความช่วยเหลือในเรื่องที่ต้องการได้
รัฐบาลโตเกียวเป็นรัฐบาลโปร่งใสอันดับ 20 ของโลก ตามด้วยเกาหลีใต้ครองอันดับ 22 โลก สิงคโปร์อันดับ 28 ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นประเทศหลากหลายเชื้อชาติ รัฐบาลทำหน้าที่อย่างเป็นธรรม มีระบบร้องทุกข์ที่ให้สิทธิพลเมืองรับรู้ข่าวสารการทำหน้าที่ของรัฐบาล
อินเดียครองอันดับ 4 ของเอเชีย อันดับ 32 ของโลก อินโดนีเซียอันดับ 47 และเนปาล อันดับ 51
ส่วนฟิลิปปินส์นั้นนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ครองอำนาจความโปร่งใสตรวจสอบได้ของรัฐบาลเสื่อมถอยลงมาอยู่ในอันดับ 54 ของโลก ตามด้วยมองโกเลีย อันดับ 61 ศรีลังกา อันดับ 62 ประชาชนรู้สึกว่ามีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ของรัฐบาลลดน้อยลง ไทยอยู่ในอันดับ 68
ขณะที่บังกลาเทศอยู่ในอันดับ 80 ปากีสถาน 83 ประชาชนมองว่ารัฐบาลเป็นระบบปิดประชาชนมีส่วนร่วมและตรวจสอบน้อย
จีนครองอันดับ 83 โลก เวียดนาม 85 มาเลเซียติดกลุ่มประเทศที่โปร่งใสน้อยที่สุดในเอเชีย ควบคู่กับเมียนมาและกัมพูชา ทั้งสามประเทศติดอันดับ 97, 107 และ 113 ของโลก ตามลำดับ