ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปิดงบฯ ปี’63 คลังกู้ 784,115 ล้าน เกิน พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ?

ปิดงบฯ ปี’63 คลังกู้ 784,115 ล้าน เกิน พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ?

5 มกราคม 2021


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

พิษโควิดฯ กระทบฐานะการคลัง ปิดงบฯ ปี 2563 รายได้หลุดเป้ากว่า 3.3 แสนล้าน คลังกู้ชดเชยขาดดุล 784,115 ล้านบาท เกินกรอบวงเงินกู้สูงสุด ตามกฎหมาย “วิธีการงบประมาณฯ-หนี้สาธารณะ” 72,779 ล้านบาท

ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงและรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี 2563 จนรัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สั่งปิดสถานประกอบการหลายประเภท และรณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้าน คนตกงานเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลต้องจัดงบประมาณลงไปช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ ตั้งเป้าหมายไม่เกิน 3 ล้านคน คนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ขณะนั้นคาดว่าจะใช้งบฯ ทั้งสิ้นประมาณ 45,000 ล้านบาท

ขณะที่งบประมาณปี 2563 มีจำกัด และไม่ได้เตรียมใช้ในการแก้ปัญหาดังกล่าว การเบิกจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิดฯ จึงต้องไปเบิกจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (งบกลางฯ) ซึ่งมีเงินเหลือจ่ายได้แค่ 1 เดือน ทำให้รัฐบาลต้องเร่งออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท รวมทั้งโยกงบประจำและงบลงทุนในปี 2563 ที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น งบสำหรับเดินทางไปราชการต่างประเทศ อบรม สัมมนา เอามาโปะไว้ในงบกลางฯ อีก 88,453 ล้านบาท สำรองไว้ใช้ในการแก้ปัญหาและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด

  • “ผอ.สำนักงบฯ” แจงทุกปมร้อน งบสู้วิกฤติโควิด-19 รัฐควักจาก “กระเป๋า”ไหนบ้าง!!
  • “ประยุทธ์” ใช้เงินอีกก้อน กว่า 88,400 ล้าน กู้วิกฤติโควิด-19 ด้วยการ “โยกงบประมาณ”
  • นอกจากจะเร่งอัดฉีดเงินงบประมาณ และเงินกู้จำนวนมาก เข้าไปบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนแล้ว ยังออกมาตรการการเงินและการคลังช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ อีก 3 เฟส ที่สำคัญๆ เช่น พ.ร.ก.ให้อำนาจแบงก์ชาติจัดซอฟต์โลน วงเงิน 500,000 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยผ่านธนาคารพาณิชย์และแบงก์รัฐลงไปช่วยเหลือ SMEs, มาตรการพักชำระหนี้ทั้งต้นและเดือนเบี้ย 6 เดือน, ขยายระยะเวลาการชำระค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2562 ออกไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และเงินได้ครึ่งปี 2563 ขยายเวลาชำระภาษีออกไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2563, ลดอัตรานำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 1.5% ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 30 กันยายน 2563 และเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายใน 15 วัน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการและประชาชน รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังหดตัว ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยสภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 น่าจะหดตัวลงประมาณ 6%

    ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในเดือนมีนาคม 2563 กรมภาษีในสังกัดกระทรวงการคลังทั้ง 3 กรม จัดเก็บภาษีได้ 1,164,730 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในเอกสารงบประมาณ 36,484 ล้านบาท หรือต่ำกว่าประมาณการ 3% แต่เมื่อนำไปรวมรายได้ของรัฐวิสาหกิจและส่วนราชการอื่นๆ ซึ่งหักการคืนภาษีและจัดสรรรายได้ให้ อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) แล้ว เหลือรายได้สุทธิ 1,143,571 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 15,572 ล้านบาท หรือต่ำกว่าประมาณการ 1.3% ตามความคาดหมาย เนื่องจากในช่วงที่มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิดฯ ดังนั้น การตั้งประมาณการรายได้ของรัฐบาลเพื่อกำหนดเป็นวงเงินงบประมาณรายจ่ายในปี 2563 จึงตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 ขยายตัว 3-4% ต่อปี ขณะที่ตัวเลขประมาณการณ์ล่าสุดคาดว่า-6%

    ปี’63 คลังเก็บภาษีหลุดเป้า 3.9 แสนล้าน

    เมื่อเศรษฐกิจไทยปี 2563 ติดลบ 6% ย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตามภาพรวมเศรษฐกิจที่หดตัว รวม 12 เดือน ทั้งกรมสรรพากร กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร เก็บภาษีได้ 2,475,896 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 394,204 ล้านบาท หรือต่ำกว่าประมาณการ 13.4% แต่เมื่อรวมรายได้ของรัฐวิสาหกิจนำส่งคลังและรายได้ของส่วนราชการอื่น ซึ่งนำส่งรายได้เกินเป้าหมาย ส่งผลทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2563 มียอดสุทธิอยู่ที่ 2,394,076 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 336,924 ล้านบาท หรือ 12.3%

    จากผลการจัดเก็บรายได้ที่ลดลง ขณะที่รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องเร่งอัดฉีดเงินงบประมาณรายจ่ายเข้าไปเยียวยาประชาชน และแก้ปัญหาโควิดฯ ทำให้ยอดการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากพิจารณาจากข้อมูลของกรมบัญชีกลางและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่จัดทำโดยสำนักนโยบายการคลัง สศค. ไปรวบรวมมาจัดทำเป็นรายงานฐานะการคลังของรัฐบาล ตามระบบกระแสเงินสด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดตาม ฐานะเงินสดของรัฐบาลมีการรับและจ่ายเงินจริงผ่านบัญชีเงินคงคลัง รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลในการบริหารเงินสด และการกู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล จะเห็นได้ว่าในช่วงเดือนมีนาคม และเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ช่วง 2 เดือนนี้ จึงเป็นช่วงที่มีการเบิกจ่ายเม็ดเงินงบประมาณมากที่สุด

    เร่งอัดฉีดงบฯ เยียวยาโควิดฯ 110%

    ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ยอดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ทั้งในปีปัจจุบันและปีก่อนรวมกันเป็นวงเงิน 473,021 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวของปีก่อน 247,830 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 110% ส่วนรายได้นำส่งคลังมีจำนวนทั้งสิ้น 174,727 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,348 ล้านบาท หรือ 0.78% เฉพาะเดือนมีนาคม 2563 รัฐบาลกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลแค่ 17,127 ล้านบาท

    รวม 6 เดือน (ตุลาคม 2562 – มีนาคม 2563) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลของรัฐบาลมียอดสะสมอยู่ที่ 100,022 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 ลดลงเหลือ 191,412 ล้านบาท

    กู้ชดเชยงบฯ ขาดดุลพุ่ง 61%

    เดือนเมษายน 2563 รัฐบาลยังคงเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนนี้มียอดการเบิกจ่ายงบฯ อยู่ที่ 335,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 73,295 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.90% ขณะที่รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 152,441 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20,938 ล้านบาท หรือลดลง 7.97% ทำให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุล 183,553 ล้านบาท รวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลอีก 23,503 ล้านบาท ดุลเงินสดก่อนกู้ติดลบ 207,056 ล้านบาท ทำให้ในเดือนดังกล่าวรัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 167,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 161,998 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 61.67%

    รวม 7 เดือน (ตุลาคม 2562 – เมษายน 2563) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลของรัฐบาลมียอดสะสมอยู่ที่ 268,020 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 มีจำนวน 152,354 ล้านบาท

    หลังจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2563 ส่งผลให้ยอดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในเดือนพฤษภาคม 2563 เริ่มปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 186,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14,850 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.65% ขณะที่รายได้นำส่งคลังยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยในเดือนนี้มีรายได้นำส่งคลัง 133,528 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 72,564 ล้านบาท หรือลดลง 42.24% ทำให้ดุลเงินในงบประมาณขาดดุล 53,097 ล้านบาท เมื่อนำไปรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 41,886 ล้านบาท ดุลเงินสดก่อนกู้ติดลบแค่ 11,211 ล้านบาท แต่เพื่อรักษายอดเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในเดือนพฤษภาคม 2563 รัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 124,422 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 85,321 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 49.67%

    รวม 8 เดือน (ตุลาคม 2562 – พฤษภาคม 2563) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลของรัฐบาลมียอดสะสมเพิ่มเป็น 392,442 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 มีจำนวน 265,565 ล้านบาท

    ส่วนฐานะการคลังของรัฐบาลในเดือนมิถุนายน 2563 การเบิกจ่ายงบประมาณเริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติ โดยเดือนนี้มียอดการเบิกจ่ายงบฯ อยู่ที่ 220,558 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 6,490 ล้านบาท หรือลดลง 2.86% ส่วนรายได้นำส่งคลังอยู่ที่ 252,734 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 128,977 ล้านบาท หรือลดลง 33.79% การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเดือนนี้มียอดอยู่ที่ 80,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 55,101 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.44%

    รวม 9 เดือน (ตุลาคม 2562 – มิถุนายน 2563) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลของรัฐบาลมียอดสะสม 472,642 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 มีจำนวน 315,397 ล้านบาท

    เดือนกรกฎาคม 2563 ยอดการเบิกจ่ายงบฯ อยู่ที่ 233,016 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 23,232 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.09% ส่วนรายได้นำส่งคลังอยู่ที่ 211,037 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 2,149 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.56% การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเดือนนี้มียอดอยู่ที่ 55,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 33,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.65%

    รวม 10 เดือน (ตุลาคม 2562 – กรกฎาคม 2563) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลของรัฐบาลมียอดสะสม 472,642 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 มีจำนวน 324,573 ล้านบาท

    11 เดือน กู้ชดเชยงบฯ ขาดดุลกว่า 5.9 แสนล้าน

    พอมาถึงเดือนสิงหาคม 2563 ยอดการเบิกจ่ายงบประมาณอยู่ที่ 183,646 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15,539 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 4.07% รายได้นำส่งคลัง 147,419 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 34,907 ล้านบาท หรือลดลง 9.14% แต่การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเดือนนี้เริ่มเพิ่มขึ้น โดยมียอดอยู่ที่ 65,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 39,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.35% รวม 11 เดือน (ตุลาคม 2562 – สิงหาคม 2563) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลของรัฐบาลมียอดสะสม 593,142 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 มีจำนวน 355,851 ล้านบาท

    ปิดงบฯปี 63 กู้เกินกฎหมาย “วิธีการงบประมาณฯ-หนี้สาธารณะ”

    จนกระทั่งมาถึงเดือนกันยายน 2563 เป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2563 กระทรวงการคลังออกแถลงข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 124/2563 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2563 สรุปฐานะการคลัง ตามระบบกระแสเงินสด เป็นตัวเลขเบื้องต้น ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2563 ใน ระบุว่า

    “ในปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้นจำนวน 2,346,197ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณจำนวน 3,168,730 ล้านบาท รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 784,115 ล้านบาท”

    หากไปดูในเอกสารงบประมาณโดยสังเขป ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตารางที่ 2-12 หน้าที่ 56 กำหนดวงเงินสูงสุดที่รัฐบาลสามารถกู้ได้ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ 702,564 ล้านบาท ส่วนเอกสารงบประมาณโดยสังเขปฉบับปรับปรุง ได้มีการขยายเพดานการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลสูงสุดเพิ่มเป็น 711,336 ล้านบาท หมายเหตุท้ายตารางระบุว่า “การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในแต่ละปีต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี กับอีกร้อยละ 80 ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนต้นเงินกู้” สอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548

    ดังนั้น กรณีรัฐบาลกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 784,115 ล้านบาท ถือเป็นการกู้เงินเกินกรอบวงเงินสูงสุดที่รัฐบาลสามารถกู้ได้หรือไม่ และถ้าใช่จะแก้ไขอย่างไร เป็นคำถามที่ฝากไปถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรักษาการกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ…

    และนี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่มีการโยกย้ายนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ที่เชี่ยวชาญด้านกฏหมาย กฏระเบียบมานั่งแทนนายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง ที่ถูกย้ายไปเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ที่ไม่ใช่ฤดูกาลโยกย้ายตามปกติ (อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ในตอนต่อไป)

  • หลังไทยพับลิก้านำเสนอข่าว ทางสบน.ได้ชี้แจงรายละเอียด อ่านเพิ่มเติมที่นี่ สบน.ยันกู้ชดเชยงบฯขาดดุลปี’63 ทำตามกรอบ กม. แจง ‘ตัวเลข สศค.รวมกู้เหลื่อมปี 1 แสนล้าน’