ThaiPublica > คอลัมน์ > กาแฟแก้วสุดท้ายกับอดีตอนาคตผู้ว่าฯ กทม.

กาแฟแก้วสุดท้ายกับอดีตอนาคตผู้ว่าฯ กทม.

5 เมษายน 2018


ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ1

กาแฟดริปแก้วสุดท้าย ชงและดื่มเองที่บ้านเกิด จ.นครศรีธรรมราช

เป็นเวลากว่าสี่เดือนแล้ว ที่ผมได้สูญเสียคุณพ่อสุรินทร์ พิศสุวรรณ ตอนนี้สภาพจิตใจผมดีขึ้นจากช่วงแรกๆ มาก แต่ในทุกๆ วันก็ยังมีช่วงเวลาที่ผมจะรู้สึกว่างเปล่า เหมือนเข็มทิศในการดำเนินชีวิตได้หายไป

ช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมได้มีเวลามานั่งคิดทบทวนถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ผมได้เคยคุยกับคุณพ่อ โดยเฉพาะในช่วงระยะหลังก่อนที่ท่านจะจากไป ผมได้เจอกับคุณพ่อครั้งสุดท้ายในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ระหว่างช่วงปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ ซึ่งผมกำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ ช่วงเวลาที่ผมกลับมาเมืองไทยนั้น เรามีโอกาสได้คุยกันหลายครั้งในเรื่องที่คุณพ่อมีความตั้งใจในการเสนอตัวลงชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บทสนทนาของเราจะเกิดขึ้นพร้อมกับการจิบกาแฟ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่คุณพ่อหลงใหลมากโดยเฉพาะในช่วงบั้นปลายของชีวิต ผมเขียนบันทึกนี้จากการสรุป และรวบรวมเนื้อหาของบทสนทนาระหว่างเราไว้เพื่อให้ทุกท่านที่อ่านได้รับรู้ถึงความตั้งใจของคุณพ่อ และผมหวังให้บันทึกนี้ช่วยเติมเต็มความรู้สึกที่ว่างเปล่าของผม เป็นบันทึกแห่งความทรงจำว่าครั้งหนึ่งผมเคยชงกาแฟและสนทนาเรื่องเหล่านี้กับคุณพ่อ ชื่อ “สุรินทร์ พิศสุวรรณ”

รูปถ่ายกับคุณพ่อที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร

1. ทวงคืนพื้นที่ประชาธิปไตย

เหตุผลหลักที่คุณพ่อสนใจลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. คือ ความต้องการที่จะแสดงให้ผู้มีอำนาจ และกลุ่มการเมืองต่างๆ ตระหนักว่า หากชนชั้นกลาง (middle class) ของกรุงเทพฯ มีตัวเลือกที่ดีพอ พวกเขายังมีความต้องการและความตื่นตัวทางประชาธิปไตยอยู่ เพราะในช่วง 10 กว่าปีมานี้ คนไทยถูกตั้งคำถามอย่างหนัก โดยเฉพาะจากประชาคมโลก กับการที่เรายอมแพ้ต่อความเป็นประชาธิปไตย และความอ่อนแอในการปกป้องสิทธิต่างๆ ของประชาชน ในเวทีนานาชาติหลายๆ แห่ง คุณพ่อจะต้องตอบคำถามเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง และท่านจะรู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งที่ประเทศไทยต้องตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในวงประชุม ประสบการณ์จากเวทีนานาชาติและความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยทำให้คุณพ่อคิดว่าพื้นที่กรุงเทพฯ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะปูทางให้ประเทศของเรากลับคืนสู่วิถีประชาธิปไตย

ขณะที่กระแสข่าวของคุณพ่อเรื่องการลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กำลังแพร่สะพัด ได้ปรากฏอีกกระแสข่าวหนึ่งว่าคุณพ่ออาจจะต้องเจอกับคู่แข่งที่สูสี และมีจุดแข็งที่แตกต่างไปจากคุณพ่อ ข่าวดังกล่าวทำให้คนรอบข้างคุณพ่อมีความกังวลในผลของการเลือกตั้ง แต่คุณพ่อกลับมองว่าเป็นการดีที่เรามีคู่แข่งที่มีความรู้ความสามารถ และเราจะประมาทไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มตัวเลือกที่ดีให้กับประชาชนชาวกรุงเทพฯ ถึงแม้ว่าในท้ายที่สุด ผลการเลือกตั้งเราอาจจะพ่ายแพ้ แต่อย่างน้อยเราก็ทำให้เกิดความกระตือรือร้น และนำจิตวิญญาณของประชาธิปไตยกลับคืนสู่สังคมได้บ้าง

ความมุ่งมั่นของคุณพ่อเดินทางมาสู่การวางแนวทางนโยบายที่จะใช้ในการหาเสียง ซึ่งทางทีมงานกำลังวิเคราะห์หาจุดร่วมที่ลงตัวระหว่างความมุ่งมั่นด้านประชาธิปไตยของคุณพ่อ ที่แม้จะเป็นสิ่งใกล้ตัวและจำเป็น แต่จับต้องได้ยาก กับปัญหาเรื่องสาธารณูปโภคและการคมนาคมที่เป็นเรื่องใกล้ตัว และเห็นเป็นรูปธรรมมากกว่า เพราะเราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับปัญหารถติด น้ำท่วม หรือสิ่งอื่นๆ ที่เป็นรูปธรรม มากกว่าอุดมการณ์ทางประชาธิปไตย แต่น่าเสียดายที่คุณพ่อและทีมงานไม่ได้มีโอกาสทำการศึกษา และตัดสินใจว่าการสื่อสารความตั้งใจของคุณพ่อจะออกมาในลักษณะใดในที่สุด

2. ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครระดับแนวหน้าของเอเชีย

ตลอดชีวิตการทำงานของคุณพ่อ ท่านต้องเดินทางไปยังมหานครของประเทศต่างๆ ทั่วโลก การเดินทางทำให้ท่านอยากจะพัฒนาและปฏิรูป กทม. ให้เป็นมหานครที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและประสบการณ์การทำงานในเวทีระหว่างประเทศถือเป็นจุดแข็ง หรือศักยภาพที่โดดเด่นของคุณพ่อ ซึ่งท่านจะใช้จุดแข็งนี้เป็นเครื่องมือในการสร้าง สาน และส่งต่อให้เกิดความเป็นไปได้จริงกับคน กทม. ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) คุณพ่อเดินทางไปเก็บข้อมูลในหลายๆ เมือง เช่น กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน, เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ และเมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น มหานครเหล่านี้ขึ้นชื่อว่าเป็น Smart City แนวหน้าของโลก การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่นอกจากจะสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้อยู่อาศัยในเมืองแล้ว ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

สิ่งที่คุณพ่อได้เรียนรู้จากการเดินทางไปดูงานเหล่านี้ ถูกนำกลับมาทดลองและปฏิบัติจริงใน Amata Nakhon Industrial Estate ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มีลักษณะของความเป็นเมืองขนาดย่อม โครงการทดลองสร้าง Smart City ในเขตพื้นที่ดังกล่าวเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับใช้กับเขตพื้นที่ในกรุงเทพฯ ในกรณีที่คุณพ่อได้รับความไว้วางใจจากประชาชน คุณพ่อกล่าวเสมอว่า การขวนขวายที่จะเรียนรู้ทำได้ตลอดชีวิต และสามารถเรียนรู้ได้จากทุกที่ที่ไป ทุกอาชีพที่ทำ และทุกตำแหน่งที่รับผิดชอบ การทำหน้าที่เป็นประธานบริษัทฯ ก็เช่นกัน

ทดลองสร้างสมาร์ทซิตี้ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี

3. ลงชิงตำแหน่งโดยไม่สังกัดพรรคการเมือง (?)

นอกเหนือจากการตัดสินใจว่าท้ายที่สุดแล้วจะลงสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่ คุณพ่อและทีมงานยังต้องประเมินว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใดหากจะลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ เพราะแม้จะมีผลดีอยู่ไม่น้อย แต่ก็ปรากฏเป็นจุดอ่อนเช่นเดียวกัน ซึ่งข้อดีของการลงสมัครในนามพรรคฯ คือ จะมีเครือข่ายที่เข้มแข็งจาก ส.ก. และ ส.ข. และความสามารถในการเข้าถึงฐานเสียงในกรุงเทพฯ ที่มีผลสำคัญต่อผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่า ในช่วงระยะหลังที่ผ่านมานี้ พรรคการเมืองต่างๆ ถูกตั้งคำถามเรื่องความยึดมั่นในการดำเนินงานในวิถีประชาธิปไตย นอกจากนี้ คนกรุงเทพฯ ก็มีแนวโน้มที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม มากกว่าการได้ผู้บริหารที่มาจากพรรคการเมืองเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่า ไม่ว่าจะเลือกทางใด ชื่อของคุณพ่อก็ผูกโยงเข้ากับสถาบันการเมืองแห่งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะไม่มีบทบาทในพรรคฯ มากว่า 10 ปีแล้วก็ตาม

พิจารณาได้ว่า การที่คุณพ่อจะสามารถชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ได้ ท่านจำเป็นต้องอาศัยฐานเสียงเดิมของพรรคฯ และโน้มน้าวคนกรุงเทพฯ ที่เป็น swing voters ให้ได้ แต่น่าเสียดายที่เรายังไม่ได้ตัดสินใจแน่ชัดว่าสมควรจะเลือกแนวทางไหน แต่โดยส่วนตัว ผมคิดว่าคุณพ่อมีแนวโน้มที่จะลงเลือกตั้งในนามอิสระ บนข้อจำกัดว่าจะต้องปราศจากผู้ลงสมัครแข่งขันที่มาจากทางพรรคฯ เหมือนกับครั้งที่ท่านผู้ว่าฯ พิจิตต รัตตกุล ลงแข่งขันในปี พ.ศ. 2539 ซึ่งผมได้ทราบมาภายหลังว่า ได้มีการพูดคุยระหว่างคุณพ่อกับผู้ใหญ่ในพรรคฯ บ้างแล้ว แต่ผลปรากฏเป็นเช่นไรไม่อาจล่วงรู้ได้

4. ประสบการณ์ในระดับนานาชาติ บวกกับทีมงานคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถทางเทคนิค

อาจเป็นเพราะอุปนิสัยส่วนตัวของคุณพ่อ และความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานให้ประเทศชาติโดยไม่ยึดติดกับขั้วอำนาจทางการเมือง ทำให้คุณพ่อได้รับการยอมรับ และความเคารพจากหลายภาคส่วน ดังนั้น บทบาทของผู้ว่าฯ ในด้านการประสานงาน ความร่วมมือกับเครือข่าย และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องคงจะไม่ได้เป็นปัญหาที่น่ากังวลหากได้รับเลือกเข้ามารับผิดชอบกรุงเทพมหานคร แต่สิ่งที่แลดูจะเป็นจุดอ่อนของท่าน คือ ทักษะด้านเทคนิค (technical skills) และช่องว่างระหว่างคุณพ่อกับคนรุ่นใหม่ เพราะที่ผ่านมาภารกิจของท่านส่วนใหญ่จะอยู่ในต่างประเทศ ส่งผลให้การปรากฏตัวต่อสื่อมวลชนแขนงต่างๆ หรือบนพื้นที่สาธารณะมีไม่บ่อยนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสื่อหรือพื้นที่ของคนรุ่นใหม่นั้นขาดหายไปอย่างสิ้นเชิง

สำหรับช่องว่างระหว่างคุณพ่อกับคนรุ่นใหม่ ที่ถือเป็นจุดอ่อนของคุณพ่อนั้น จะถูกเติมเต็มด้วยลักษณะและคุณสมบัติของทีมรองผู้ว่าฯ ซึ่งต้องเป็นคนรุ่นใหม่ หรือสามารถเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่ได้ดี นอกจากนี้ ทีมรองผู้ว่าฯ จะต้องมีความรู้ด้าน technical skills และเป็นกลุ่มคนหน้าใหม่ทางการเมือง เช่นเดียวกับการหาเสียงที่จะต้องเน้นการทำงานเป็นทีม แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องแสดงความโดดเด่นในศักยภาพ และความสามารถของแต่ละท่านให้เป็นที่ประจักษ์ จึงทำให้ในช่วงระยะหลังนี้ คุณพ่อให้ความสำคัญกับการเดินสายพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนหนุ่มสาวจากหลากหลายอาชีพ เพราะนอกจากจะได้ศึกษาปัญหาและเรียนรู้จากมุมมองของคนรุ่นใหม่แล้ว ท่านยังเห็นเป็นช่องทางที่จะเฟ้นหาทีมรองผู้ว่าฯ ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีวิสัยทัศน์อีกทางหนึ่ง

โดยทางทีมงานได้คิดกันว่าจะมีรองผู้ว่าฯ จำนวน 4 ท่าน คุณพ่อตั้งใจจะให้ทีมรองผู้ว่าฯ นั้นเป็นผู้หญิง 2 ท่านและผู้ชายอีก 2 ท่าน และจะมี Chief Technology Officer อีกหนึ่งท่าน คอยทำหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ผมคิดว่ารูปแบบการทำงานเป็นทีมของคุณพ่อมีลักษณะคล้ายกับกีฬาที่เล่นกันเป็นทีม โดยมีคุณพ่อเป็นกัปตัน หรือ quarterback ที่มากประสบการณ์ และมีลูกทีมที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทำหน้าที่ลงมือปฏิบัติ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ไปพร้อมๆ กัน

นอกจากการวางคุณลักษณะของทีมรองผู้ว่าฯ แล้วนั้น การศึกษาข้อมูลของ กทม. ในเบื้องต้นพบว่า ประชากรส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ มีอายุมากกว่า 35 ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีแล้วนั้น ประชากรในกลุ่มแรกมีจำนวนมากกว่าร่วมล้านคน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้ทีมงานรู้สึกมีความหวังอยู่บ้าง เนื่องจากคนกรุงเทพฯ ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเลือกผู้สมัครที่มาจากพรรคฯ ถ้าหากวันนี้คุณพ่อยังอยู่ เราน่าจะได้เห็นยุทธศาสตร์การหาเสียงที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มชาว กทม. ที่อายุต่ำกว่า 35 ปี ที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับคนชื่อ “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” มากนัก

จำนวนประชากรกรุงเทพมหาควรแบ่งตามอายุ2

5. เปลี่ยนคนกรุงเทพฯ จากการเป็นผู้รอรับการช่วยเหลือเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วม

ปัญหาใหญ่ของคนกรุงเทพฯ คือ การลดคุณค่า และความสำคัญของตนเองลงให้เป็นเพียงผู้ที่คอยรับ และมุ่งหวังว่าผู้นำทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้ว่าฯ หรือระดับประเทศ จะต้องเป็นผู้ให้ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาคือหัวใจสำคัญที่เป็นทางออกของปัญหาอย่างแท้จริง เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน กทม. ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องใกล้ตัว และปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งหากพิจารณาอย่างใจเป็นกลางจะพบว่า ปัญหาเกินกว่าครึ่งนั้นสามารถแก้ไขได้เพียงแค่ประชาชนหันกลับมามองพฤติกรรมของตนเอง

คนกรุงเทพฯ มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบที่แท้จริงของผู้ว่าฯ น้อยมาก หลายคนอาจไม่ทราบว่าพื้นที่ท้องถนนและระบบขนส่งสาธารณะนั้นเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม การบังคับใช้ป้ายและสัญญาณจราจรนั้นเป็นหน้าที่ของตำรวจจราจร ขณะที่ผู้ว่าฯ มีอำนาจดูแลบริเวณทางเท้า (foot path) ดังนั้น เมื่ออำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบถูกแบ่งให้ขึ้นตรงต่อหน่วยงานมากมาย การแก้ไขปัญหาต่างๆ ใน กทม. จึงต้องอาศัยการทำงานอย่างบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยบุคคลที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่เคารพทำหน้าที่ประสานและเชื่อมต่อ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คนกรุงเทพฯ ต้องตระหนักในหน้าที่ของตัวเอง และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่นั้นให้มากขึ้น

“คนกรุงเทพฯ พร้อมที่จะละทิ้งความสะดวกสบายส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่” เป็นคำถามที่คุณพ่อรอฟังคำตอบอย่างมีความหวัง เพราะสิ่งที่คุณพ่อเล็งเห็นจากคำถามในข้างต้น คือ การทำ crowdfunding ทั้งในช่วงหาเสียงและช่วงที่ต้องการแก้ปัญหาปลีกย่อยต่างๆ เช่นเดียวกับการออกพันธบัตรเพื่อสังคม (social impact bond) หรือ พันธบัตรท้องถิ่น (municipal bond) เพื่อให้ชาวกรุงเทพฯ ได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่ตนเองมีส่วนในการก่อขึ้น

นอกจากนี้ การเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันของทุกคน จะช่วยให้การทำประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) นั้นเป็นเรื่องง่ายมากขี้น การทำให้สังคมคนกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา อาจจะออกมาในรูปแบบของการส่งแบบสอบถามไปยังมือถือของคนกรุงเทพฯ ในลักษณะ polling หรือ crowdsourcing ที่จะดึงคนเข้ามาร่วมในการแก้ปัญหา เป็นประจำทุกสัปดาห์ และมีการประชุมของท้องถิ่น หรือ town hall meeting ในเขตต่างๆ เพื่อช่วยผู้ว่าฯ ตัดสินใจในการดำเนินนโยบายปลีกย่อย อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าสิ่งที่กล่าวมานี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการศึกษาจากทีมงานอย่างจริงจังก่อนที่จะนำมาปฏิบัติจริงหากคุณพ่อได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ

6. แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในการวางยุทธศาสตร์ทางการเมืองคือ “quick win” หรือการแสดงให้เห็นผลงานอย่างเป็นรูปธรรมในระยะแรก ซึ่งต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากได้รับเลือกตั้ง ผมกับคุณพ่อคุยกันว่าเราสามารถแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เริ่มหาเสียง ตามที่ผมได้เกริ่นไปแล้วเรื่อง crowdfunding สำหรับช่วงหาเสียง โดยเราได้ศึกษาและคิดกันถึงการสร้างแพลตฟอร์มที่ใช้ในการระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นช่องทาง QR Code, Line Pay, AliPay และช่องทางอื่นๆ ซึ่งคุณพ่ออยู่ในช่วงพบปะกับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ นอกจากนี้ เนื่องด้วยทีมงานของคุณพ่อยังมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องสกุลเงินดิจิทัล ทำให้เราคิดกันไปได้ไกลถึงการระดมทุนผ่านสกุลเงินดิจิทัลด้วย อย่างไรก็ตาม ผมเพิ่งทราบภายหลังว่าความคิดนี้สุ่มเสี่ยงกับการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เนื่องจากอาจเกิดกรณีที่ผู้ให้การสนับสนุนเป็นชาวต่างชาติ

อีกเรื่องที่เราสามารถทำเป็นนโยบาย quick win ได้ คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราสามารถแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่เริ่มหาเสียงด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยปกติแล้วภายหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น จะมีขยะจำนวนมากที่เกิดจากการหาเสียง ป้ายหาเสียงที่ทำมาจากไวนิลหรือฟีเจอร์บอร์ดนั้นไม่สามารถย่อยสลายได้ เราจึงได้วางแผนกันไว้ว่า ป้ายหาเสียงของเราต้องเป็นวัสดุรีไซเคิลหรือไม่ก็ biodegradable ที่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ และในระหว่างหาเสียงจะมีการคำนวณ carbon footprint โดยเราวางแผนกันไว้ว่าจะต้องปลูกต้นไม้เพื่อทดแทน carbon footprint ไม่ว่าเราจะชนะหรือแพ้การเลือกตั้งก็ตาม และในเรื่องนี้คุณพ่อก็ได้พบกลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้และสิ่งแวดล้อมใน กทม. เพื่อเก็บข้อมูลบ้างแล้ว และกำลังค้นหา chief botanist เพื่อมาช่วยวางแผนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวหากได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.

แผนผังการแบ่งหน้าที่ศึกษาปัญหาและโอกาสด้านต่างๆ ใน กทม.

7. ข้อเสนอย้ายเมืองหลวง

ข้อเสนอในการแก้ปัญหาของ กทม. ทุกยุคทุกสมัยต่างเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งอาจจะสามารถทุเลาปัญหาลงได้ในระยะหนึ่งเท่านั้น เราปฏิเสธได้ยากว่าปัญหาใน กทม. แท้จริงแล้วมีสาเหตุหลักมาจากความไม่สมดุลของพื้นที่กับจำนวนประชากร เพราะ กทม. ไม่ได้ถูกวางแผนให้รองรับจำนวนประชากรมากมายอย่างปัจจุบัน ผมคุยกับคุณพ่อไว้ว่าเราน่าจะต้องใช้ “ยาแรง” เพื่อลดจำนวนประชากรใน กทม. การศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันแรกที่คุณพ่อเข้ารับตำแหน่ง (หากชนะการเลือกตั้ง) หากผลการศึกษาออกมาในเชิงบวก ระยะเวลาในตำแหน่งที่เหลือก็จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ผลักดันให้ประเด็นดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม การย้ายเมืองหลวง คงต้องอาศัยเวลาเป็นทศวรรษหลังจากมีการลงมติ วาระ 4 ปีของผู้ว่าฯ กทม. คงทำได้เพียงเป็นผู้จุดประเด็น และสร้างความตระหนักรู้อย่างจริงจังเพื่อให้ประชาชนและผู้นำประเทศเห็นความสำคัญของความคิดดังกล่าว

เรื่องการย้ายเมืองหลวงเป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แนวคิดนี้มีมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และได้รับการพูดถึงอีกครั้งในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เคยมีการเสนอจังหวัด เช่น นครนายกและเพชรบูรณ์ ที่ถูกพูดถึงว่าอาจจะเป็นเมืองหลวงแทนกรุงเทพมหานครได้ การมีเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลาง มีความสำคัญ แต่ไม่ใช่เมืองหลวง เป็นเรื่องปกติในต่างประเทศ เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีกรุงเฮกเป็นเมืองหลวง และกรุงอัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองท่าสำคัญ ประเทศออสเตรเลีย มีกรุงแคนเบอร์ราเป็นเมืองหลวง และซิดนีย์เป็นเมืองท่า และสหรัฐอเมริกา มีเมืองหลวงคือกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และเมืองท่าคือนิวยอร์ก ในอาเซียน ประเทศมาเลเซียและเมียนมาก็มีลักษณะเช่นนี้ ประเทศมาเลเซียมีเมืองปูตราจายาเป็นเมืองราชการ และกรุงกัวลาลัมเปอร์เป็นเมืองเศรษฐกิจและเมืองหลวง ประเทศเมียนมาร์ก็มีกรุงเนปยีดอเป็นเมืองหลวง และกรุงย่างกุ้งเป็นเมืองท่าสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องศึกษาให้รอบคอบอีกครั้ง เพราะสิ่งที่ผมเขียนมาเป็นเพียงแค่บทสนทนาของผมกับคุณพ่อสองคนบนโต๊ะกาแฟเมื่อกาลครั้งหนึ่งเท่านั้น

8. การศึกษาในโรงเรียนสังกัด กทม.

การศึกษาเป็นเรื่องที่คุณพ่อให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะด้วยการศึกษา จึงทำให้คุณพ่อประสบความสำเร็จได้ดังที่เห็น ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนที่อยู่ในการกำกับดูแลของ กทม. จึงเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆ ของคุณพ่อที่จะต้องลงมือปฏิบัตื โดยท่านได้ลงพื้นที่และรับฟังปัญหาจากคุณครูที่เข้าไปสอนในโรงเรียนเหล่านั้นโดยเป็นคุณครูที่เข้ามาสอนผ่านโครงการ Teach For Thailand ซึ่งเป็นโครงการที่คุณพ่อให้การสนับสนุน และอยู่เบื้องหลังในการช่วยหาทุนทรัพย์ตั้งแต่แรกจัดตั้ง แต่เดิมนั้นโครงการ Teach For Thailand เคยได้รับการสนับสนุนจาก กทม. แต่ถูกตัดงบประมาณออกไป แต่ทว่า คุณภาพของการศึกษาย่อมหมายถึงคุณภาพของคุณครูผู้สอน คุณพ่อจึงมีความมุ่งมั่นที่จะนำความสำคัญของโครงการดังกล่าวกลับคืนมา และได้รับการสนับสนุนจาก กทม. เช่นเดิม เพราะการศึกษาคือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด

ปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในระยะยาว วาระ 4 ปีของผู้ว่าฯ จึงน่าจะทำได้เพียงการวางรากฐานที่จะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาในระยะยาว ผมตระหนักดีว่ามีอยู่สิ่งหนึ่งที่คุณพ่ออยากจะทำให้ได้ คือ การเพิ่มศักยภาพในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งคุณพ่อวางแนวทางการทำงาน และประสานประโยชน์กับองค์กรและเครือข่ายที่มีศักยภาพในการทำหน้าที่ดังกล่าว เช่น องค์กร Peace Corps และ Fulbright ซึ่งต่างเป็นองค์กรและเครือข่ายที่มีศักยภาพในการช่วยเหลืองานด้านการศึกษาของ กทม. ได้เป็นอย่างมาก

นอกเหนือจากนั้น คุณพ่อได้ขอให้ผมศึกษาโครงการ JET (The Japan Exchange and Teaching) Programme ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มุ่งเน้นการนำบุคลากรจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในชุมชนต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น และหากโครงการดังกล่าวสามารถนำมาปรับใช้กับใน กทม. ได้ จะเกิดประโยชน์อย่างมากกับประชาชนและสังคมโดยรวม

9. ปฏิรูป กทม. ไม่ได้ อย่าคิดการใหญ่ปฏิรูปประเทศ

“การปฏิรูป” เป็นประเด็นที่เราพูดกันมาหลายปี อันสืบเนื่องจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่ดูเหมือนว่า การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปนั้นกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจที่จะไม่เลือกกลไกตามวิถีประชาธิปไตย เราไม่เลือกการแก้ไขที่ต้องอาศัยระบบและใช้ระยะเวลายาวนาน แต่เลือกที่จะสร้างใหม่อย่างเป็นเอกเทศจากระบบและใช้ระยะเวลาสั้น ซึ่งนำมาสู่ความล้มเหลวและเริ่มต้นใหม่อีกครั้งอย่างเป็นวัฏจักร คุณพ่อจึงเชื่อว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จริงนั้นต้องอาศัยระบบและเวลา ซึ่งการเริ่มต้นจากพื้นที่เมือง อย่างกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นเมืองต้นแบบหัวหอกของการปฏิรูปตามวิถีประชาธิปไตย และนำเสนอให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงสร้างสรรค์อย่างเป็นที่ประจักษ์ จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้การปฏิรูปในระดับประเทศนั้นมีความหวัง และมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่า “การคอร์รัปชัน” เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญว่าต้องได้รับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน เช่นเดียวกับคุณพ่อที่เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง “เชือดไก่ให้ลิงดู” โดยท่านตั้งใจที่จะทำหน้าที่ในการเปิดโปงการคอร์รัปชันภายใน กทม. ด้วยตนเอง เพราะการทำหน้าที่ดังกล่าวต้องอาศัยความน่าเชื่อถือของผู้พูด ซึ่งประวัติของคุณพ่อไม่เคยปรากฏเรื่องเสียหายจากการคอร์รัปชัน และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทีมงานต้องกลับมานั่งพิจารณาหาจุดสมดุลระหว่างเรื่องอุดมการณ์ที่เป็นนามธรรม กับปัญหาในชีวิตประจำวันที่จับต้องได้เพื่อการกำหนดนโยบายหาเสียง เพราะการปฏิรูปหรือเรื่องคอร์รัปชันนั้น ได้ถูกการเมืองไทยทำให้กลายเป็นสิ่งเลือนลางจนดูเหมือนว่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงไปเสียแล้ว

ประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสตาร์ทอัปกับ Hubba Co-Working Space ก่อนเสียซีวิตไม่กี่วัน

10. ครอบครัว และกัลยาณมิตร ไม่ (ค่อย) สนับสนุน

แม้ว่าจะปรากฏข้อเสนอแนะ แนวทาง และข้อมูลอื่นๆอีกมากมายเพื่อใช้ประกอบการลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ของคุณพ่อ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งคนในครอบครัวและผู้หวังดีหลายท่านต่างไม่เห็นด้วยในการตัดสินใจของท่านในครั้งนี้ด้วยเหตุผลหลายประการทั้งจากปัจจัยทางด้านร่างกายอันเกิดจากความเหน็ดเหนื่อยที่จะไม่ใช่แค่ 4 ปีในการทำหน้าที่บริหาร หากสามารถชนะการเลือกตั้งได้แต่หมายรวมถึงก่อนการเลือกตั้งและอาจจะหลังการลงจากตำแหน่งด้วยอีกทางหนึ่ง ปัจจัยจากความเสี่ยงของผลลัพธ์ที่ปรากฏคู่แข่งที่มีความรู้ความสามารถคนละด้านกับคุณพ่อ แม้ด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิและประสบการณ์จะน้อยกว่าคุณพ่อมาก แต่หากผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามคาดหวังอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของคุณพ่อในระยะยาว นอกจากนี้ปัจจัยจากความรู้ความสามารถของคุณพ่อ หลายคนมองว่าเป็น “Overqualified” สำหรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.

สื่อหลายสำนัก และผู้ติดตามการเมืองหลายท่าน แสดงความคิดเห็นในเชิงสนับสนุนให้คุณพ่อดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ทว่า ตลอดระยะเวลาจวบจนผมอายุ 32 ปีนี้ คุณพ่อไม่เคยแสดงความสนใจในตำแหน่งดังกล่าวเลย ท่านเคยบอกกับผมว่า ท่านไม่อยากเป็น “political football” เป็นลูกบอลที่โดนเตะไปมาในสนามการเมือง ท่านพิจารณาแล้วว่า ผู้มีอำนาจในปัจจุบันได้วางรากฐานการสืบทอดอำนาจไว้อย่างต่อเนื่องอีกหลายปี ไม่ว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งก็ไม่สามารถทำอะไรได้อย่างอิสระ ขณะที่การเมืองสนามเล็กน่าจะมีอะไรที่ทำได้อย่างเป็นอิสระ และมีความท้าทายมากกว่า

ถ้าถามความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าคุณพ่อมั่นใจว่าท่านจะสามารถสร้างความรู้สึกตื่นเต้นให้กับนานาชาติเวลามองการเมืองไทยได้ แม้ว่าตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะมีอำนาจในการบริหารแค่ภายในขอบเขตจังหวัดก็ตาม เพราะท่านเชื่อว่า “Good Office” และผู้ว่าฯ ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นจนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจจากผู้นำหรือรัฐมนตรีจากต่างประเทศเพื่อจะขอพบแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามวิถีทางการทูตได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อต้องการสร้างให้เป็นมาตรฐาน และเป็นอัตลักษณ์ของกรุงเทพฯ ในระยะยาว

หลังจากที่คุณพ่อเสียชีวิต ผมได้ทราบมาว่าทางเลขาธิการสหประชาชาติ นาย Antonio Guterres กำลังจะเสนอให้คุณพ่อเป็น UN Special Envoy to Myanmar เพื่อเป็นตัวแทนนานาชาติในการช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างชาวโรฮิงญากับรัฐบาลเมียนมา โดยส่วนตัวแล้ว ผมคาดเดาว่าว่าคุณพ่อจะปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งดังกล่าว สืบเนื่องจากข้อจำกัดหลายประการ คือ ท่าทีของท่านในประเด็นเรื่องโรฮิงญาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมามีลักษณะกดดันรัฐบาลพม่ามาโดยตลอด นอกจากนี้ เนื่องด้วยศาสนาที่คุณพ่อนับถือ อาจส่งผลต่อความชอบธรรม และภาพลักษณ์ของความเป็นกลางของผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คุณพ่อคงมุ่งมั่นในเรื่องของ กทม. ตามแนวทางที่ท่านได้วางไว้มากกว่าหน้าที่รับผิดชอบอื่นใด

แม้ว่าคุณพ่อจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจตามอุดมการณ์มากเพียงใด แต่ท่านบอกกับผมว่า มีเหตุผลอยู่ 4 ประการที่จะทำให้ท่านตัดสินใจไม่ลงสมัคร คือ (1) หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไขกฎหมายจนจำกัดขอบเขต อำนาจ หน้าที่ ไม่ให้ผู้ว่าฯ สามารถทำงานได้เต็มที่ (2) หาก คสช. ยื้อเวลาการเลือกตั้งผู้ว่าฯ นานเกินปี พ.ศ. 2562 (3) หากสุขภาพมีปัญหา (4) หากลูกๆ และภรรยาไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คุณแม่ น้องทั้งสองคน และตัวผมเอง ไม่ได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นเหตุผลประการที่ (4) เพื่อร่วมตัดสินใจในครั้งนี้ เพราะผู้เป็นเจ้าทรงได้ตัดสินใจแทนพวกเราทุกคนแล้ว และปรากฏเป็นเหตุผลประการที่ (5) ที่พวกเราทุกคนต้องน้อมรับ

รูปสุดท้ายที่ผมถ่ายกับคุณพ่อ ที่มหกรรมหนังสือเมื่อปีที่แล้ว ถ่ายที่บูทของคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น บทความ หรือบันทึกนี้ผมได้เขียนขึ้นเพื่อเป็นสิ่งแทนความทรงจำของผม ก่อนที่มันจะจางหายไป และเป็นสิ่งที่เตือนความทรงจำของผมในยามที่มันได้เลือนลางไป ว่าครั้งหนึ่ง ผมเคยมีคุณพ่อที่ผมชงกาแฟให้ดื่ม และในระหว่างจิบกาแฟ เราคุยกันเรื่องความฝันของเขา ว่าอยากจะทำให้สังคมที่เขาเป็นส่วนหนึ่งนั้นดีขึ้น ท่านสอนลูกๆ เสมอว่าให้ใช้ชีวิตเพื่อผู้อื่น และเราไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวในสังคมนี้ได้ ผมไม่รู้ว่า หากคุณพ่อตัดสินใจเลือกที่จะลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ท่านจะชนะหรือไม่ และถ้าชนะท่านจะทำในสิ่งที่ผมได้บันทึกไว้ได้มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่แน่นอนยิ่งกว่าชีวิตของท่าน คือ “ความตั้งใจ” ที่คุณพ่ออยากจะนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตของท่าน กลับมาช่วยประเทศชาติตามแนวทางที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้ ท่านทำให้ผมได้เห็นการใช้ชีวิตของมนุษย์อย่างรู้คุณค่า และมีคุณค่าอย่างแท้จริง

สุดท้ายนี้ผมขอเป็นตัวแทนคุณพ่อกล่าวขออภัยทีมงาน “SP Task Force” ที่เราไม่มีโอกาสทำความฝันให้สำเร็จ แต่ผมรู้ว่าทุกท่านมีศักยภาพเกินพอที่จะทำงานเพื่อสังคม ซึ่งไม่ใช่แค่สังคมกรุงเทพฯ แต่คือสังคมไทย และสังคมมนุษยชาติ ผมหวังว่าผมจะมีโอกาสได้ร่วมงานกับทุกท่านเพื่อก้าวตามความฝันอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

กาแฟแก้วสุดท้ายที่ชงให้คุณพ่อได้หมดลงแล้ว ผมขอเวลาไปเก็บเมล็ดกาแฟรอบใหม่เพื่อกลับมาชงให้คนอื่นได้ดื่มต่อไป

หมายเหตุ :
1ขอขอบคุณ พลอยทิพย์ วณิชย์มณีบุษย์ (พลอย), เพ็ญพิชชา เอกพิทยตันติ (แนน), ฮุสนี่ พิศสุวรรณ และฟิกรี่ พิศสุวรรณ ที่ช่วยแก้ต้นฉบับ
2 ข้อมูลจาก กทม. และ พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา