ThaiPublica > คอลัมน์ > เสียงร้องอันแผ่วเบาของ Burkean Conservatives (ความคิดทางการเมืองตามแนว เอ็ดมัน เบอร์ค)

เสียงร้องอันแผ่วเบาของ Burkean Conservatives (ความคิดทางการเมืองตามแนว เอ็ดมัน เบอร์ค)

8 ตุลาคม 2015


ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ
นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

“ในทุกรัฐบาล แท้จริงแล้ว ผลประโยชน์จากความสุข คุณธรรม ที่ประชาชนต่างได้รับ และทุกการกระทำที่ไตร่ตรองดีแล้ว ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นจากผลของการประนีประนอมและการเจรจา” – เอ็ดมัน เบอร์ค

เอ็ดมัน เบอร์ค ที่มาภาพ http://www.edmundburkeinstitute.ie/wp-content/uploads/2015/09/edmund-burke.jpg
เอ็ดมัน เบอร์ค ที่มาภาพ: http://www.edmundburkeinstitute.ie/wp-content/uploads/2015/09/edmund-burke.jpg

เอ็ดมัน เบอร์ค (Edmund Burke) เป็นนักปรัชญาชาวอังกฤษ ผู้ซึ่งเขียนบันทึกและแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ. 1789-1799) ผ่าน “Reflections on the Revolution in France” งานเขียนชิ้นสำคัญของเขาซึ่งได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศฝรั่งเศส จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเดิมไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ ภายหลังความวุ่นวายและการสูญเสียเลือดเนื้อสิ้นสุดลง ทว่าในเวลาต่อมา ช่วงเวลาแห่ง “Reign of Terror” (การปกครองด้วยความกลัว) และการก้าวขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มผู้นำใหม่ที่ได้สังหารเหล่าผู้ตั้งตนต่อต้านการปฏิวัติการปกครองอีกนับหมื่นชีวิต ซึ่งความวุ่นวายหลังการปฏิวัติครั้งนั้นเองที่สุดแล้วคือพรมที่ปูเข้าสู่การเถลิงอำนาจครั้งสำคัญของนโปเลียน โบนาพาร์ท (Napoleon Bonaparte) เผด็จการที่ก้าวเข้ามาในคราบใหม่

ตามแนวคิดทางการเมืองของเอ็ดมัน เบอร์ค การสูญเสียซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอันฉับพลันในครั้งนั้น มีทางออกอื่นๆ ที่สามารถทำให้กลุ่มซึ่งขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์ลงรอยกันได้โดยไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อและเกิดความโกลาหลดังที่เกิดขึ้น กลุ่มความขัดแย้งที่ห้ำหั่นในเหตการณ์ครั้งนั้นประกอบด้วย 1) ฝ่ายล้มเจ้า (extreme liberalism/ultra left wing) ที่กล่าวอ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมกันทางสังคม ถึงขั้นยินยอมแลกเปลี่ยนกับความสูญเสียทางมูลค่าสูงเพื่อนำไปสู่การ เปลี่ยนแปลง กับ 2) ฝ่ายเจ้า (extreme conservatism/ultra right wing) ที่พร้อมจะต่อต้านความเปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าการรักษาไว้ซึ่งสิ่งเดิมจะหมายถึงเส้นทางที่ทอดนำสู่การนองเลือดก็ตามที

เอ็ดมัน เบอร์ค และคนที่มีความคิดแบบ Burkean Conservatism นั้นคิดว่า เสรีภาพ (liberty) และจารีตประเพณี (tradition) แท้จริงแล้วสามารถไปด้วยกันได้ และไม่จำเป็นต้องขัดแย้งถึงขั้นนองเลือด หรือสถาปนาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขึ้นเป็นฝ่ายชนะอย่างเด็ดขาดชัดเจน แต่ในบริบทความคิดนี้ พวก Burkean Conservatives จะยังให้ความสำคัญกับสถาบันการเมืองอยู่มาก และคิดว่าการเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างอันฉับพลันนั้นจะนำมาซึ่งความสูญเสีย อันไม่คุ้มกับประโยชน์ที่จะได้รับ เช่นนี้ การเปลี่ยนแปลงในความเห็นของ Burkean Conservatives จะเป็นไปในรูปแบบของการสร้างวิวัฒนาการและนวัตกรรม (evolution และ innovation) ในทุกสถาบันที่เกี่ยวข้อง ผ่านการประนีประนอม มากกว่าการล้มล้างนั้นเอง

นโปเลียน โบนาพาร์ท ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Napoleon_Crossing_the_Alps
นโปเลียน โบนาพาร์ท ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Napoleon_Crossing_the_Alps

อาจจะเรียกได้ว่า เอ็ดมัน เบอร์ค นั้นเป็นนักอนุรักษนิยมสายกลาง ที่ไม่เห็นด้วยกับทั้งฝ่ายเสรีนิยมสุดโต่ง และฝ่ายอนุรักษนิยมตกขอบก็ไม่ผิดนัก การมีความเป็นเสรีนิยมในคราบของนักอนุรักษนิยมนั้น ทำให้หลายคนอาจเรียก เอ็ดมัน เบอร์ค ว่านักปรัชญาการเมืองแบบ “เสรี-อนุรักษนิยม” (liberal conservatism) หรือ “กลางเอียงขวา” (center right)

เอ็ดมัน เบอร์ค นั้นไม่ได้ต่อต้านการปฏิวัติทุกรูปแบบ ในขณะที่เขาต่อต้านการปฏิวัติในฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1789-1799 เขากลับสนับสนุนการปฏิวัติอเมริกาให้ปลดปล่อยตัวเองจากการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1765-1783 และการปฏิวัติในอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1688-1689 โดย เอ็ดมัน เบอร์ค ให้เหตุผลว่าการปฏิวัติในฝรั่งเศสนั้นผู้นำการปฏิวัติไม่ได้เคารพสิทธิที่เท่าเทียมกันของทุกคนอย่างแท้จริง เกิดสงครามชนชั้นที่ยุยงโดยผู้นำการปฎิวัติ มีการพยายามทำลายล้างสถาบันการเมืองต่างๆ และเขาคาดการณ์ว่าการปฏิวัติครั้งนั้นจะทำให้เกิดความโกลาหลซึ่งจะนำไปสู่ระบบเผด็จการและการกดขี่ในคราบใหม่ที่หนักหน่วงกว่าเดิม การคาดการณ์ของเอ็ดมัน เบอร์ค นั้นถูกต้อง อันจะเห็นได้จากการปกครองแบบเผด็จการของนโปเลียน ที่ตั้งตนขึ้นเป็น “Emperor of France” หลังทำการล้ม “King of France” ดังที่เอ็ดมัน เบอร์ค ได้กล่าวถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาของการเถลิงอำนาจของผู้นำการปฏิวัติไว้ว่า

“โครงสร้างทางอำนาจในหลักคิดปรัชญาอันป่าเถื่อนนี้ ซึ่งเป็นทายาทของจิตใจอันเย็นชา ความเข้าใจอันหมองขุ่น และปวงปัญญาอันกลวงเปล่าแร้นแค้นของความงามทั้งหลาย กฎหมายนั้นจะถูกหนุนด้วยความกลัว และในวิตกกังวลของผู้คนซึ่งแตกต่างกันไปตามทัศนวิสัยหรือตามความสนใจส่วนตัวของเขานั้น ในสวนแห่งสำนักทางปัญญาและในจุดสิ้นสุดของทัศนะทั้งหลาย สิ่งที่รอพวกเขาอยู่นั้นก็หาใช่อะไรอื่นแต่คือบทลงโทษและการลงทัณฑ์” – เอ็ดมัน เบอร์ค

ข้อความนี้สรุปได้ว่า เอ็ดมัน เบอร์ค ไม่ได้เป็นผู้ที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เขาย้ำความคิดนี้ในอีกบทความหนึ่งว่า

“เราต่างต้องยอมรับกฎของการเปลี่ยนแปลง อันเป็นกฎธรรมชาติที่ทรงพลังที่สุด ซึ่งกระบวนการนั้นก็อาจเพื่อธำรงไว้ซึ่งตัวมันเอง” – เอ็ดมัน เบอร์ค

แต่หากการเปลี่ยงแปลงด้วยวิธีการใดๆ นั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะก่อผลให้สถานการณ์บ้านเมืองย่ำแย่ลงกว่าเดิมแล้ว เอ็ดมัน เบอร์ค เห็นว่าจะต้องไตร่ตรองใหม่ให้ถ้วนถี่ และอาจต้องเปลี่ยนวิธีการ หรือรอคอยเวลา ทั้งยังควรต้องมีมาตรการต้านทานผู้ที่จะมีอำนาจใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ ความคิดของ เอ็ดมัน เบอร์ค นั้นจะแตกต่างจากผู้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศสยุคนั้นหลายคนเช่น Joseph de Maistre, Louis de Bonald, and Charles Maurras ที่มีความเป็นอนุรักษนิยมมากกว่า

Reflections on the Revolution in France ที่มาภาพ : https://www.college.columbia.edu/core/sites/core /files/images/BurkeReflections.jpg
Reflections on the Revolution in France ที่มาภาพ: https://www.college.columbia.edu/core/sites/core
/files/images/BurkeReflections.jpg

หากนำหลักความคิดของ เอ็ดมัน เบอร์ค มามองประเทศไทยดูแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า เบอร์คก็คงไม่ได้สนับสนุนการยึดอำนาจตามวิธีของคณะราษฎร ในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งมองตัวเองเป็นฝ่ายเสรีนิยม แต่กลับเลือกใช้วิธีการยึดอำนาจโดยพึ่งพากองกำลังทางทหาร และต่อมานำไปสู่การต่อสู้กลับของฝ่ายขวาจัดในคราบของกบฏบวรเดช ทำให้กองกำลังทหารของฝ่ายซ้ายนั้นต้องขึ้นมาดำรงอำนาจเหนือฝ่ายพลเรือน เหมือนกับวิธีการขึ้นมามีอำนาจของนายพล นโปเลียน โบนาพาร์ท ซึ่งเอ็ดมัน เบอร์ค ก็คงสรุปคล้ายกับนักประวัติศาสตร์ไทยคดีศึกษา David Wyatt คือ การปฏิวัติในปี พ.ศ. 2475 นั้นก่อนเวลาอันควร และนั่นเป็นจุดเพิ่มบทบาทสำคัญของทหารในการนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทย

เอ็ดมัน เบอร์ค ได้เตือนไว้ถึงปัญหาของฝ่ายเสรีนิยมว่า:

“เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นการเคลื่อนไหวของเหล่าจิตวิญญาณเสรี ข้าพเจ้าได้ห็นหลักการขับเคลื่อนอันเข้มแข็งเหล่านี้ในตลอดระยะเวลาหนึ่ง คือ ทั้งหมดมวลที่ข้าพเจ้ารับรู้ได้ มวลก๊าซที่ลุกโหม ปลดปล่อยอากาศจากสิ่งที่ตรวนขัง ชั่วขณะนั้นเองที่เราจำต้องผ่อนปรนจิตใจที่คอยพิพากษาลงชั่วขณะ ตราบจนกระทั่งความตื่นตัวลดผ่อนลง และจนกระทั่งเราได้เห็นส่วนที่ลึกลงไปกว่าชั้นของการปลุกปั่นอันตื้นเขิน ผลกระทบหนึ่งของเสรีภาพต่อปักเจกชนคนหนึ่งนั้นคือ เขาสามารถกระทำการใดก็ได้ตามแต่ใจปรารถนา และเช่นนั้นเราจำต้องเห็นเสียก่อนว่าสิ่งที่จะนำมาซึ่งความพอใจให้กับเขา นั้นคืออะไร ก่อนจะเสี่ยงทำการชื่นชมยินดีอย่างบ้าใบ้ที่อาจกลับกลายเป็นความไม่พึงพอใจในภายหลัง ความรอบคอบจะเป็นดั่งฉนวนที่ห่อหุ้มแต่ละตัวบุคคล และหากเมื่อใดที่เสรีภาพได้ถูกนำไปใช้ผ่านการกระทำก็จะกลายเป็นพลัง ในบุคคลซึ่งคอยสังเกตอยู่เสมอนั้น พวกเขาจะเฝ้าพิจารณาในสิ่งที่แปรเปลี่ยนเป็นพลัง และโดยเฉพาะการได้ลองพลังใหม่ในคนใหม่ ซึ่งหลักคิดของอารมณ์และนิสัยใจคอของพวกเขานั้น หาได้มีประสบการณ์ร่วมในการเคลื่อนไหวด้านนี้นัก และในสถานการณ์ซึ่งพวกที่กระโดดขึ้นปลุกเร้าอย่างที่สุดนั้นกลับไม่ใช่กลุ่มผู้เคลื่อนไหวที่แท้จริงเสียเอง” – เอ็ดมัน เบอร์ค

ส่วนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519 นั้น แน่นอนว่า Burkean Conservatives (ซึ่งในยุคนี้มีตัวตนชัดเจน เช่น อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นต้น) นั้นแอบเทใจไปฝั่งนักศึกษา พวกเขายอมรับในพลังบริสุทธิ์ของนักศึกษา และมีส่วนช่วยชี้แนะการเคลื่อนไหวต่างๆ และหาทางลดความตึงเครียด แต่พวกเขาก็รู้สึกโทษตนเองที่ไม่สามารถทำให้ความรุนแรงและความสูญเสียลดลงได้ อาจจะพูดได้ว่าในมุมมองของ Burkean Conservatives เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นแผลและตราบาปที่แสดงถึงความล้มเหลวของตนเอง

ดั่งที่อาจารย์ป๋วยได้เขียนแถลงไว้หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ว่า “ผู้เขียนได้แถลงลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอ้างว่าจะอยู่เป็นอธิการบดีต่อไปไม่ได้ เพราะนักศึกษาและตำรวจได้ถูกทำร้ายถึงแก่ความตายมากมาย” และอาจารย์ป๋วยก็อดเสียดายการสูญเสียโอกาสทางการเมืองจากเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ได้ “ข้อที่น่าเสียดายสำหรับคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวที่ใฝ่เสรีภาพก็คือ เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาฯ 2519 ไม่เปิดโอกาสให้เขามีทางเลือกที่ 3 แล้ว ถ้าไม่ทำตัวสงบเสงี่ยมตามอำนาจเป็นธรรม ก็ต้องเข้าป่าไปทำงานร่วมกับคอมมิวนิสต์ ใครที่สนใจในเรื่องสันติวิธี ประชาธิปไตย และเสรีภาพ จะต้องเริ่มต้นใหม่ เบิกทางให้แก่หนุ่มสาวรุ่นนี้ และรุ่นต่อๆ ไป”

อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มาภาพ : http://puey-ungphakorn.org/
อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มาภาพ: http://puey-ungphakorn.org/

ในปัจจุบัน กลุ่ม Burkean Conservatives ในไทยน่าจะกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่เห็นการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ หากอยู่ในขอบเขตของการไม่ใช้ความรุนแรง แต่ Burkean Conservatives จะเชื่อว่าความชอบธรรมในการประท้วงนั้นหมดลงหลังจากการยุบสภาฯ และเห็นว่าการเลือกตั้งควรดำเนินต่อไป ทั้งนี้พวกเขาไม่เห็นว่าการเมืองในลักษณะของการดับเครื่องชนของฝ่ายอนุรักษนิยมตกขอบนั้นจะนำไปสู่การเมืองที่ดีในอนาคตได้อย่างไร

กล่าวได้ว่า Burkean Conservatives นั้น เป็นคนที่หากได้อยู่ท่ามกลางกลุ่มเพื่อนเสื้อเหลืองจะโดนกล่าวหาว่าเป็นเสื้อแดง แต่หากเมื่ออยู่กับกลุ่มเพื่อนเสื้อแดงก็จะเกิดคำถามต่อความคิด idealistic (มายาอุดมคติ) ในบริบทของสังคมและการเมืองไทยว่าเป็นไปได้ด้วยหรือ? เขาจะรู้สึกเห็นพ้องกับความคิดของกลุ่มอุดมการณ์เสรีนิยม (เช่น บ.ก.ลายจุด, กลุ่มดาวดิน, กลุ่มนิติราษฎร์, หรือ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล เป็นต้น) หลายประการ และไม่ได้มองตนเองเป็นปฏิปักษ์กับคนกลุ่มนี้เพราะสามารถพูดคุยกันได้รู้เรื่อง แต่เขาเองก็กลัวความโกลาหลที่จะเกิดขึ้น (ซึ่งเกิดขึ้นแล้วหลายครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา) หากดันทุรังเดินหน้าตามอุดมการณ์ของความคิดเสรีนิยมอย่างไม่รอบคอบ

Burkean Conservatives ต้องการใส่ความมีปฏิบัติการนิยม (pragmatism) ไปในความคิดของฝ่ายเสรีนิยม โดยมีตนเองเป็นตัวกลาง เชื่อมระหว่างความคิดทางการเปลี่ยนแปลงกับผู้มีอำนาจในสังคมปัจจุบัน ตัวอย่างเชิงปฏิบัติที่เห็นได้นั้น น่าจะใกล้เคียงกับการรวมกลุ่ม 2+2 ที่กลุ่มคนซึ่งถือแนวความคิด Burkean Conservatives รวมตัวกับนักเคลื่อนไหวกลุ่มเสรีนิยม

สำหรับ เอ็ดมัน เบอร์ค แล้ว การสร้างรัฐบาลเพื่อปกครองนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงแค่ครองอำนาจได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม เช่นเดียวกับการทำให้เกิดเสรีภาพก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่การกำจัดอำนาจนั้น หากทว่าการจะทำให้รัฐมีเสรีภาพถือเป็นเรื่องยาก เพราะจำต้องการความรอบคอบและไตร่ตรองสูง

“เพื่อที่จะให้รัฐบาลไม่ต้องการความระแวดระวังมากนักนั้น ก็เพียงแค่จัดการเรื่องบัลลังก์แห่งอำนาจให้เรียบร้อย สั่งสอนเรื่องความอ่อนน้อมยอมตามเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งว่ากันแล้วการให้เสรีภาพนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายกว่านัก เพราะการชี้นำนั้นหาได้จำเป็นไม่ แค่เพียงปลดสายบังเหียนออกก็เท่านั้น หากแต่การที่ก่อตั้งรัฐบาลที่มีเสรีภาพ ซึ่งก็คือการสยบอารมณ์ของกลุ่มขั้วตรงข้ามและหาหนทางให้กลุ่มทั้งหลายนี้ร่วมมือกันนั้น จำต้องใช้ความคิด การไต่ตรองเชิงลึก ความเฉียบแหลม พลัง และความคิดเห็นที่มีร่วมกัน ทว่าสิ่งที่กล่าวมานี้ข้าพเจ้ากลับไม่พบในเหล่าผู้เข้าร่วมการสมัชชาแห่งชาติ” – เอ็ดมัน เบอร์ค

Burkean Conservatives คือผู้ปฏิบัติการนำความเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งนี้ก็จะคำนึงถึง ผลกระทบต่างๆ ทั้งความสูญเสีย บริบทในปัจจุบัน กรอบขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่เคยมีมา เพื่อให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดความโกลาหลและวุ่นวายน้อยที่สุด นักปรัชญาสายแนวคิดของ เอ็ดมัน เบอร์ค แบบดั้งเดิม คือ บุคคลผู้รู้แจ้ง ซึ่งเป็นบุคคลที่ยินดีจะปกป้องเสรีภาพ โดยการดันกรอบค่านิยมและบรรทัดฐานที่ถูกเคารพและถือปฏิบัติมาอย่างยาวนานอย่างรอบคอบ ซึ่งหลายๆ ครั้งค่านิยมและบรรทัดฐานนั้นช่วยทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของกฏหมายและการคุ้มครองเสรีภาพมีความเข้มแข็งมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ (เช่น การที่รัฐในปัจจุบันให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือและแสดงออกทางความเชื่อศาสนาต่างๆ เป็นต้น)

หากจะต้องเลือกที่พักพิงทางอุดมการณ์ในสถาบันการเมือง พวก Burkean Conservatives จะยังคงเลือกพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็เป็นการเลือกอย่างขมขื่น พวกเขาพร้อมที่จะหันเหไปเลือกพรรคใหม่หากมีตัวเลือกที่สามซึ่งเห็นว่าดีกว่า นั่นเพราะความผิดหวังที่พวกเขามีต่อตัวพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในอีกทางพวกเขาก็ไม่กล้าเลือกตระกูลชินวัตรขึ้นมาบริหารประเทศ (หรือไม่ก็เป็นการเลือกพรรคเพื่อไทยแบบประชดประชัน เพราะผิดหวังในพรรคที่ตัวเองเคยให้ความเชื่อถือ)

Burkean Conservatives จึงเชื่อว่าการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์เป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ของการปฏิรูปประเทศ พวกเขาโหยหาจิตวิญญาณเดิมของพรรคที่ “เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา” และพวกเขารู้สึกอิจฉาวิวัฒนาการของฝ่ายอนุรักษนิยมในประเทศเยอรมันและอังกฤษ ที่สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นตัวเลือกกับประชาชนในยุคโลกาภิวัตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ชวน หลีกภัย ที่มาภาพ : http://m.dailynews.co.th/imagecache/655x490/cover/609998.jpeg
ชวน หลีกภัย ที่มาภาพ: http://m.dailynews.co.th/imagecache/655×490/cover/609998.jpeg

แน่นอน แม้ Burkean Conservatives จะต่อต้าน “ทักษิณ ชินวัตร” แต่พวกเขาก็ยังเชื่อว่าระบบการเลือกตั้งซึ่งถึงแม้จะต้องใช้เวลา หากก็ยังเป็นวิธีการที่ดีที่สุด และยั่งยืนที่สุด ในการที่จะล้มรัฐบาลของตระกูลชินวัตร

ในส่วนของความคิดด้านสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น พวก Burkean Conservatives จะจำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งดำรัสไว้ในปี พ.ศ. 2548 อย่างขึ้นใจ และจะเปรียบสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนต้นไม้ใหญ่จำต้องตบแต่งกิ่งอยู่ เรื่อยๆ เพื่อให้คงความสวยงาม เป็นร่มเงาของประชาชน และไม่พังทลายลงมา (กล่าวอย่างง่ายคือมี ส. ศิวลักษณ์ เป็นฮีโร่ในดวงใจ)

หากแต่ในเรื่องของรัฐประหารนั้น สามารถจำแนกความคิดของพวกเขาออกมาได้หลากหลายแนวด้วยกัน แต่จุดร่วมหนึ่งท่ามกลางกลุ่ม Burkean Conservatives ในเรื่องนี้คือการไม่มีใครเชื่อว่า การจับผู้เห็นต่างที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงในการแสดงความเห็น เข้าคุกหรือเข้าสู่กระบวนการปรับทัศนคตินั้นเป็นเรื่องที่เข้าท่า เพราะถือเป็นการลิดรอนสิทธิอย่างชัดเจน Burkean Conservatives ส่วนใหญ่จะคิดว่าทหารไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้วเป็นทุนเดิม หรือบางรายซึ่งเกิดการเรียนรู้จากปี 2006 ว่าการรัฐประหารจะทำให้เหตุการณ์แย่กว่าเดิม เลยได้แสดงการต่อต้านรัฐประหารที่ชัดเจนในการปฏิวัติครั้งล่าสุด หรือมีบางส่วนที่มักจะเป็นเทคโนแครต จะให้เหตุผลแบบอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (และถือเอาอาจารย์ป๋วยเป็นฮีโร่) ว่ามันเกิดขึ้นแล้วก็ขออย่าให้มันแย่กว่านี้เลย สิ่งใดที่ทำให้ดีได้ก็ควรทำ เพราะการพัฒนาประเทศนั้นไม่อาจหยุดได้

ทั้งนี้สิ่งที่ Burkean Conservatives ทุกคนน่าจะเห็นตรงกันอีกประการคือ สัจธรรมทางการเมืองที่ว่า ความสำเร็จของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคือการอยู่ในหน้าที่ให้นานที่สุด แต่ในกรณีของรัฐบาลพิเศษเช่นในปัจจุบันนี้ ความสำเร็จคือการอยู่ในตำแหน่งให้ได้น้อยวันที่สุด พวกเขาจะตั้งคำถามพ้องกันว่า รัฐบาลเข้าใจสัจธรรมการเมืองข้อนี้หรือเปล่า และเข้าใจหรือเปล่าว่า สิ่งสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้เลยอีกประการในการปฏิรูปประเทศคือ การปฏิรูปตัวกองทัพเอง

การแทรกแซงทางการทหารในอดีตต่างอ้างความชอบธรรมในการคงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ทว่า พวกเขาต่างก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ และล้มเหลวอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ ความหวังต่อจากนี้คือ ความหวังว่าทหารจะเรียนรู้ประสบการณ์สักครั้งหรือสองครั้งจากตารางหมากการทดลองระบอบประชาธิปไตยในอดีต และชาวไทยทุกคนเฝ้าหวังว่าการแทรกแซงที่เกิดขึ้นจะเป็นครั้งสุดท้ายของประเทศไทย เป็นการรัฐประหารที่จบการรัฐประหารครั้งต่อๆ ไปในอนาคตอย่างแท้จริง

ท้ายที่สุดนั้น โจทย์ที่สำคัญที่สุดของพวก Burkean Conservatives ในบริบทปัจจุบันคือ จะทำอย่างไรให้เพื่อนฝ่ายขวาของตนเอง (กปปส.) นั้นเลิกหวาดกลัวการเลือกตั้ง และกล้าที่จะเผชิญหน้าในสนามเลือกตั้งตามกรอบและกติกา บางทีพวก Burkean Conservatives อาจจะต้องพูดมากขึ้น และแสดงความเห็นของตัวเองอย่างชัดเจน และบางครั้งก็ต้องกล้าทำงานร่วมกับนักเคลื่อนไหวเสรีนิยมสายกลางมากขึ้น อย่างที่อาจารย์ Peter Shuck ของ มหาวิทยาลัย Yale ได้พูดถึงความจำเป็นของการเป็น “militant moderate” (นักมัชฌิมาประชาธิปไตย ที่เข้มแข็ง) ในยุคที่การเมืองสองขั้วสุดโต่งนั้นไม่สามารถพูดคุยกันรู้เรื่องได้