ThaiPublica > คอลัมน์ > “The New Zealand Model” และ ความเป็นเลิศทางด้านเกษตรกรรม

“The New Zealand Model” และ ความเป็นเลิศทางด้านเกษตรกรรม

4 กรกฎาคม 2017


ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด

ผู้เขียนได้มีโอกาศเดินทางไปศึกษาดูงานในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ผ่านโครงการของ Asia-New Zealand Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิที่มีเป้าหมายหลักคือ การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนิวซีแลนด์และประเทศในเอเซีย โดยเฉพาะในภาคประชาชนและภาคเอกชน (ทางโครงการกำลังเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการรุ่นถัดไป โดยเน้นผู้นำด้านธุรกิจเพื่อสังคม)

ผู้เขียนคิดว่ามีหลายอย่างที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ได้จากประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีภาคเกษตรกรรมเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจสำคัญ ผู้เขียนอยากขอยกข้อน่าสนใจ 3 ข้อของ “The New Zealand Model” นี้

1. ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นประเทศที่ชาวไร่ชาวนาร่ำรวย

เป็นเรื่องน่าแปลกที่ประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบทางด้านเกษตรกรรมเป็นหลักอย่างนิวซีแลนด์ จะเป็นประเทศที่มี GDP ระดับประเทศพัฒนาแล้ว เหตุผลหลักอย่างหนึ่งคือวิธีการจัดการของภาคเกษตรกรรมที่จะอยู่ในรูปแบบสหกรณ์ (cooperative) เป็นส่วนมาก ชาวไร่ชาวสวนจะถือหุ้นส่วนตามสัดส่วนผลผลิตที่ป้อนให้กับทางสหกรณ์ และจะได้เงินปันผลหากสหกรณ์มีกำไร สหกรณ์ที่ใหญ่ที่สุดในนิวซีแลนด์ 30 อันดับนั้นรวมยอดขายทั้งหมดเป็นเงินถึง 42,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 17.5% ของ GDP ของประเทศ สหกรณ์เหล่านี้มีสมาชิกรวมกันทั้งหมด 1.4 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 31% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ

ตัวอย่างเช่นสหกรณ์ Fonterra Cooperative Group ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่ใหญ่ที่สุด สินค้าส่งออกหลักของ Fonterra คือ นมผงที่โรงงานในต่างประเทศใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนมต่างๆ

Fonterra มีเกษตรกรถือหุ้นกว่า 10,500 ราย และมีรายได้มากถึง 17,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ Fonterra มีการการันตีรับซื้อหุ้นคืนหากในปีนั้นๆ เกษตรกรสมาชิกมีผลผลิตลดลง ระบบสหกรณ์นี้ทำให้ผลประโยชน์รายได้จากภาคเกษตรกรรมนั้นตกอยู่ที่เกษตรกรเป็นหลัก

สหกรณ์ Fonterra ที่มาภาพ : http://www.abc.net.au/reslib/201207/r972207_10554270.jpg

หากเปรียบเทียบกับสหกรณ์ในบ้านเรา ข้อแตกต่างสำคัญก็คงเป็น economy of scale การรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรในประเทศไทยยังเป็นกลุ่มเล็กๆ และทำได้ยาก ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาด้านโครงสร้างหรือวัฒนธรรม ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองกับกลุ่มทุนและรัฐ

2. มีความพยายามพลักดัน ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม และ startup ด้าน F&B ในประเทศอย่างจริงจัง

ถึงแม้ว่าการส่งออกวัตถุดิบจะยังเป็นการสร้างรายได้หลักให้กับกลุ่มสหกรณ์ต่างๆ แต่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนยังตระหนักดีว่าประเทศนิวซีแลนด์ต้องมีการเพิ่มมูลค่าสินค้าของตนด้วย ตัวอย่างเช่นสหกรณ์ Tatuaเป็นสหกรณ์ที่ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงเกี่ยวกับนม เช่น สารสกัดโปรตีนจากนม, สารสกัดไขมันจากนม ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะใช้เป็นส่วนผสมในภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงกว่าผลิตภัณฑ์นมทั่วไป เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกีฬา เป็นต้น สหกรณ์ Tatua มีหุ้นส่วนเป็นเกษตรกร 112 คน มีพนักงาน 15,600 คน และด้วยเหตุผลที่ว่าผลิตภัณฑ์ของ Tatua มีมูลค่าสูง จึงทำให้ Tatua เป็นสหกรณ์ที่จ่ายเงินปันผลมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการเพิ่มมูลค่าของสหกรณ์ Tatua ที่มา: ภาพของผู้เขียน

ในนิวซีแลนด์ยังมี New Zealand Food Innovation Network (NZFIN) ที่เจาะจงด้านการให้ความช่วยเหลือเรื่องความรู้และอุปกรณ์ต่อผู้ประกอบการ F&B โดยในเครื่อข่ายจะมีสถานที่บ่มเพาะ startup (Incubator) ด้าน F&B อยู่ 4 ที่ซึ่งกระจายอยู่ในภาคต่างๆ แต่ละที่จะมีผู้เชียวชาญช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่การพัฒนาสินค้า (Product Development) ไปจนถึงการผลิตและทดลองตลาด โดยรัฐบาลได้มีการลงทุนใน NZFIN เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์อุตสาหกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่มรวมเป็นเงินกว่า 23 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการแก้กฎหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการชาว ต่างชาติสามารถเข้าไปเริ่มธุรกิจใน New Zealand ได้ง่ายขึ้นด้วย พูดง่ายๆ ว่าถ้าใครมี idea ด้านธุรกิจดีๆ ก็สามารถย้ายไปนิวซีแลนด์ได้เลย (ไม่จำเป็นต้องเป็น startup เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม

Food Bowl ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ New Zealand Food Innovation Network สามารถให้ startup เช่าประกอบกิจการ ที่มาภาพ:http://foodinnovationnetwork.co.nz/sites/foodinnovationnetwork.co.nz/files/lab%20scale%201.jpg

นอกเหนือจากนั้นยังเริ่มมีรัฐวิสาหกิจที่มีหัวก้าวหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการ (entrepreneur) ใหม่ๆ อีก ตัวอย่างเช่น Spring Sheep Milk ที่สร้างตลาดใหม่สำหนับนมแกะ พวกเขาให้เหตุผมว่านมแกะนั้นมีแคลเซียมสูงกว่านมวัวและไม่มีสารแลกโตส (lactose) เวลาทานแล้วจะไม่ปวดท้องสำหรับตนที่แพ้แลกโตสในนมวัว (ซึ่งตามสถิติแล้วคนเอเซียส่วนใหญ่แพ้แลกโตส) Spring Sheep Milk เป็นการร่วมบริษัทระหว่างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ 2 ท่านกับ Landcorps ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดูแลที่ดินให้เช่าทำกิน

นอกจากนี้ Ministry of Primary Industries (กระทรวงอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน) ยังเพิ่งตัดสินใจลงทุนใน Spring Sheep Milk 40% คิดเป็นมูลค่าเกือบ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรวมนั้น Spring Sheep Milk สามารถระดมทุนไปได้แล้วเกือบ 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ไอศครีมนมแกะ จาก Spring Sheep Milk ที่มา: ภาพของผู้เขียน

หากมองย้อนกลับมาในประเทศไทย อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเกษตรของเราก็ใช่ว่าจะไม่มีการเพิ่มมูลค่า เราเป็นผู้ส่งออกอาหารและผลิตภัณฑ์แปรรูปเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่หากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนั้น เกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบมิได้เป็นส่วนหนึ่งของมูลค่านั้นๆ แต่ผลประโยชน์จะตกไปอยู่กับกลุ่มทุนใหญ่ๆ เสียมากกว่า

3. มีแบรนด์ของประเทศด้าน F&B ที่ชัดเจน

สินค้าภาคเกษตรกรรมของนิวซีแลนด์นั้นขึ้นชื่อในเรื่องคุณภาพ นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ค่าครองชีพสูง ดังนั้นการแข่งขันจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าได้ แต่นิวซีแลนด์แก้ปัญหานี้ด้วยการดันตัวเองไปอยู่ในตลาดพรีเมียม ทำผลผลิตเกษตรกรรมให้ได้คุณภาพสูง และสร้างแบรนด์ของประเทศให้โดดเด่น

ในปี 1999 รัฐบาลได้เริ่มจัดแคมเปญ “100% Pure New Zealand” เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งทางด้านการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นให้นักท่องเที่ยวและผู้บริโภคนึกถึงความบริสุทธิ์และความเป็นธรรมชาติของประเทศนิวซีแลนด์ แคมเปญนี้ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ภาครัฐของนิวซีแลนด์ยังรู้สึกว่าภาพลักษณ์แบบนี้ถึงแม้จะทำให้ประเทศดูดีมีชื่อเสียงทางด้านความบริสุทธิ์และธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าประเทศนิวซีแลนด์นั้นมีความก้าวหน้า มีนวัตกรรมด้านอาหารและการเกษตรต่างๆ

เว็บไซต์ New Zealand Story เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการตลาด ที่มาภาพ : www.nzstory.govt.nz

ในปี 2013 รัฐบาลจึงจัดแคมเปญใหม่ภายใต้ชื่อ “The New Zealand Story” ซึ่งไม่ใช่แคมเปญที่คู่ค้าจะได้รับรู้โดยตรงจากตัวแคมเปญ แต่เป็นการเตรียมความพร้อมทางภาคผู้ส่งออกสินค้าอาหารและสินค้าเกษตร ให้มีการสื่อสารไปในทางเดียวกัน กล่าวคือมีการจัดอบรมผู้ประกอบการในการสื่อสารด้านการตลาดโดยใช้จุดแข็งและภาพลักษณ์ของนิวซีแลนด์เป็นตัวส่งเสริมการขาย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นข้อสังเกตที่ผู้เขียนตั้งขึ้นจากการได้รับทุนไปดูงานและศึกษาเป็นเวลาเพียงหนึ่งอาทิตย์ บทสรุปที่จะมาปรับใช้กับประเทศไทยได้คงต้องได้รับการศึกษาอย่างจริงจังจากศูนย์วิจัยนโยบายต่างๆ ของไทย แต่แน่นอนว่าประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่เกษตรกรไม่ได้เป็นอาชีพที่จนที่สุด เขามีความคิดเรื่องการตลาดสำหรับประเทศที่เป็นระบบ และมีการพลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงส่งออกนั้นเดำเนินการตามยุทธศาสตร์เดียวกัน ทำให้ประเทศนิวซีแลนด์เป็น “Kitchen of the World” อีกประเทศหนึ่งที่เราต้องจับตามอง