ThaiPublica > เกาะกระแส > “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” วิพากษ์โลกาภิวัตน์ เหมือนดาบสองคม ยิ่งเชื่อมโยง ยิ่งเปราะบาง ชู “อาเซียน” จับมือถ่วงดุลอำนาจโลก

“สุรินทร์ พิศสุวรรณ” วิพากษ์โลกาภิวัตน์ เหมือนดาบสองคม ยิ่งเชื่อมโยง ยิ่งเปราะบาง ชู “อาเซียน” จับมือถ่วงดุลอำนาจโลก

5 สิงหาคม 2017


ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD จัดเสวนาเวทีการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนาประจำปี 2560 โดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความท้าทายใหม่ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับความร่วมมือและการรวมตัวของภูมิภาค (New Geo-political Challenges to Regional Cooperation and Integration)”

ดร.สุรินทร์กล่าวว่า ตนยินดีที่ได้กลับมารวมตัวหารือเกี่ยวกับหัวข้อที่เป็นและจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าของโลก อุปสรรคของการค้าในปัจจุบัน นอกจากนี้ หากย้อนกลับไป หมวกอีกใบที่ตนเองใส่ในช่วงที่เป็นเลขาธิการอาเซียนคือหัวหน้าเชียร์ลีดเดอร์ของอาเซียน ต้องมองโลกในแง่ดีเสมอ ต้องมีความหวังเสมอ

“อย่างครั้งหนึ่งผมต้องรีบเดินทางจากใจกลางปารีสไปสนามบินเพื่อบินไปสิงคโปร์ แต่ผมต้องการครีมทาผมเลยบอกคนขับรถของสถานทูตไทยให้หยุดที่ร้านยาที่แรกที่เจอ เพื่อที่ผมจะต้องดูดีในฐานะเลขาธิการอาเซียน เมื่อเจอผมจึงรีบเข้าไปในร้านยาที่กำลังจะปิด คนขายบอกว่าเขามีครีมทาผมที่ดีที่สุดเหลืออยู่พอดี เป็นอันสุดท้าย คุณต้องการมันและคุณจะชอบมัน มันดีที่สุด ผมบอกว่าผมรู้ ผมใช้มันมาก่อน พอจ่ายเงิน ผมมองไปที่เขา ที่ตลกคือเขาหัวล้าน คุณจะเห็นว่าเมื่อคนอยากจะขายของ ต้องการขายของ เขาจะทำจนถึงที่สุดเพื่อจะชักจูงให้คุณเชื่อ ถึงกับยอมรับว่าเขาใช้มันด้วยตัวเองถึงแม้ว่าเขาจะหัวล้าน คุณจะใช้ได้อย่างไร และนี่คือสิ่งที่ผมทำมาตลอด 5 ปี แม้ว่าจะไม่ได้สวมหมวกนั้นอีกแล้ว แต่อย่างน้อยนั้นคือสิ่งที่ผมทำมาตลอด 5 ปี”

ดร.สุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ในช่วงเช้าคุณอาจจะได้ยินว่าภูมิรัฐศาสตร์เป็นอุปสรรคสำหรับการค้าโลก เมื่อเช้า ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ได้พูดถึงภาพใหม่ของการค้าโลกและได้พูดคุยหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกัน แต่ช่วงบ่ายนี้เราจะมาพูดถึงปัญหาบางอย่างที่ตนได้สังเกตเห็นและกังวลในช่วงที่ผ่านมา

ยิ่งเชื่อมโยง ยิ่งเปราะบาง

สิ่งแรกที่ตนกังวลคือโลกที่ยิ่งเชื่อมโยงกันมากขึ้น (More Integrated World) การค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น รวมไปถึงการสื่อสาร การขนส่งด้วย แต่อีกด้านหนึ่งมันหมายถึงโลกที่บอบบาง (More Fragile World) ซึ่งพวกเราประเทศในอาเซียนได้เรียนรู้สิ่งนี้เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ 20 ปีก่อน มันเริ่มต้นเกิดขึ้นที่นี่ในกรุงเทพฯ และอีก 2 วัน ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียถูกโจมตี อาทิตย์ต่อไปเงินรูปีของอินโดนิเซีย อาทิตย์ต่อไปอีกเงินเปโซของฟิลิปปินส์ และสุดท้ายอีกอาทิตย์กว่าๆ เงินวอนของเกาหลีใต้

บทเรียนที่เราเรียนรู้คือเราเชื่อมโยงกันมากกว่าที่เราคิดว่าเราเชื่อมโยงกัน โลกาภิวัตน์นำเรามารวมตัวกัน เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศนำเรามารวมตัวกัน การขนส่งโลจิสติกส์และการค้าได้รวมเราเข้าไว้ด้วยกัน ญี่ปุ่นมองพวกเราในภูมิภาคอาเซียนเป็นเหมือนโครงข่ายการผลิต เขามองว่าเราเป็นฐานการผลิตที่สามารถแบ่งกันผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ของสินค้าขั้นสุดท้ายของเขา อย่างรถยนต์หรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ มันเป็นโครงข่ายของการผลิตที่กระจายไปทั่วอาเซียน แต่เรากลับไม่ได้คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับนั้นจะเกิดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่งของอาเซียน

นอกจากนี้ เรายังเข้าสู่ตลาดการเงินโลก หลายคนคงยังจำได้ว่าสมัยก่อนเมื่อไปธนาคารหรือสถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อ 20 ล้านบาท เจ้าหน้าที่จะบอกคุณว่าเอาไป 100 ล้านบาท เขามีเงินเยอะและเขาสนใจว่าเขาจะได้คืนจากคุณ ได้กำไรกลับมาเท่าไหร่ ดังนั้น จากที่จะให้แค่ 10 ล้านบาท เอาไป 50 ล้านบาท 100 ล้านบาท ก็แค่เงินราคาถูกๆ กลายเป็นว่าเรายิ่งเข้าสู่ตลาดการเงินโลกและคิดว่าโลกน่าจะง่ายๆ แบบนี้ไปตลอด สุดท้ายฟองสบู่ก็แตกลงและระเบิดลามไปทั่ว เหมือนกับช่วงสงครามเวียดนาม เมื่อเวียดนามพ่ายแพ้ ประเทศอื่นๆ กัมพูชา ลาว ไทย มาเลเซีย ก็ได้ตกไปสู่กระแสของสังคมนิยม

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2540 เป็นเพราะว่าแนวคิดมุ่งที่ไปการเติบโต เติบโต และเติบโต เป็นเพราะการขาดการกำกับดูแลที่ดีและเราไม่ได้รวมตัวกันแล้วตรวจสอบไฟที่กำลังลามขึ้นมาจากการเติบโตสูงถึง 10-11% ทุกๆ ปี หลังจากนั้นมีคนบอกกับตนเองว่าพวกคุณทั้งหมดเมากันหมด แต่อย่าลืมว่าใครเป็นคนส่งเหล้าให้คุณ คุณเมากันไปหมดกับการเติบโตๆ แต่ลองเดาสิว่าใครส่งเหล้าให้คุณ

ดังนั้น โลกที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น ก็หมายถึงโลกที่เปราะบางมากขึ้น เช่นเดียวกับในปี 2550 วิกฤติการเงินโลกเริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกาก่อนจะไปถึงยุโรป ก็ได้แสดงข้อเท็จจริงนี้อีกครั้ง และเพราะเราเชื่อมโยงกันมากกว่าที่เราคิด ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งอาจจะสามารถดึงเราลงไปด้วยกัน และเรายังคงใช้งานและทำงานร่วมกันผ่านความเชื่อมโยงเหล่านี้อยู่ในปัจจุบัน

กระแส “Me-First, We-First” ต่อต้านโลกาภิวัตน์

ดร.สุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ประการที่สองที่ตนเองกังวล ต้องย้อนกลับไปช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเกิดขึ้นขององค์การค้าโลกและการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) หรืออังค์ถัด ซึ่งองค์กรเหล่านี้ได้สร้าง “สถาบันร่วม” ขึ้นมาเพื่อที่จะควบคุมโลกาภิวัตน์ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าโลกภิวัตน์จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนให้มากที่สุดที่เป็นไปได้ในประเทศต่างๆ แม้จะไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้น องค์กรเหล่านี้จึงมุ่งเป้าไปที่ความเท่าเทียมกัน ความยุติธรรม การเปิดเผย และการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันของประเทศต่างๆ

แต่อะไรที่เกิดขึ้นจริงๆ กระบวนการเจรจาการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลกกำลังอยู่ในช่วงขาลง กลายเป็นนโยบาย “เรา” ก่อนและนโยบาย “พวกเรา” ก่อน (Me-First, We-First) กลายเป็นการเจรจาหนึ่งต่อหนึ่งหรือการเจรจาทวิภาคีที่จะบีบทุกอย่างออกมาจากคุณ แทนที่จะเป็นการนั่งคุยพูดคุยระหว่างประเทศ 21 ประเทศในเอเปคหรือเวทีที่ใหญ่กว่านั้นที่จะต้องยอมพูดคุยกับทุกคนและทุกคนก็ต้องยอมพูดคุยกับเราในระดับเดียวกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อการเจรจาการค้าพหุภาคีกำลังอยู่ในช่วงขาลง มันจะกลายเป็นภัยคุกคามในระดับภูมิภาค อย่างภูมิภาคอาเซียนหรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกและภูมิภาคอื่นๆ ในโลก เพราะว่ากระบวนการการเจรจาพหุภาคี การเจรจาใดๆ จะต้องเขียนข้อตกลงที่ต้องถูกกำหนดและบังคับใช้ ซึ่งจะไม่มีทางเป็นไปตามที่ตนเองต้องการทั้งหมด เช่นเดียวกับคู่เจรจาอื่นๆ ในวงเจรจา และสุดท้าย ต้องหาข้อตกลงที่ยอมรับได้ทุกฝ่าย นี่คือวิธีการที่การเจรจาพหุภาคีได้ทำมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ตอนนี้เราต้องถอยกลับมาพยายามเข้าใจ กลับมาอ่านสัญญาณใหม่อีกครั้งว่าอะไรที่เราจะต้องทำกับแนวโน้มของการเจรจาระดับหนึ่งต่อหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น กับกระแสของนโยบายประเทศเราก่อนที่เกิดขึ้น กระแสที่มองว่าทุกคนคือคนขี้โกง เพราะว่าคุณได้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์ แม้ว่าในตอนเริ่มต้นเราได้ประโยชน์ด้วย แต่ตอนนี้คุณได้ประโยชน์มากกว่าเรา ดังนั้นเราต้องการเปลี่ยนกฎของเกม นี่คือสิ่งที่ตนเองคิดว่าจะต้องหารือกัน สิ่งที่อังค์ถัดและองค์การการค้าโลกจะต้องหารือ และนำโลกกลับไปหาการเจรจาพหุภาคีอีกครั้ง

เมื่อ “ตะวันตก” มองโลกาภิวัตน์เป็น “ดาบสองคม”

ประการที่สามที่ตนเองกังวลและสังเกตเห็นคือ โลกาภิวัตน์เป็นเหมือนดาบสองคม (Two-Way Traffic) คุณอาจจะจำได้ว่าเมื่อ G7 รวมตัวกันได้มีการแสดงออกของประเทศอื่นๆ ในโลกที่ 3 หรือในประเทศที่กำลังพัฒนา กลัวว่ากระบวนการโลกาภิวัตน์จะมีอำนาจควบคุมเหนือพวกเขาทั้งหมดและไม่เหลืออะไรให้ประชาชนของตนเอง อย่างไรก็ตาม เราได้เรียนรู้ที่จะรับมือกับแรงปะทะของโลกาภิวัตน์และได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ เรายกระดับประชาชนจำนวนมากขึ้นเหนือเส้นยากจน เราได้สร้างคนชนชั้นกลางและยกระดับรายได้ของเขาเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความรู้สึกไม่มั่นคงไม่ได้เกิดขึ้นจากประเทศกำลังพัฒนาของโลกอีกแล้ว แต่มาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอาจจะเรียกกระบวนการนี้ว่าโลกาภิวัตน์แบบย้อนกลับ (Reverse form of Globalization) นั่นคือประเทศเหล่านี้กลับกลายเป็นคนที่สูญเสียงาน สูญเสียระดับความเป็นอยู่ สูญเสียรายได้ และเริ่มรู้สึกไม่มั่นคง คนต่างด้าวเข้ามาแย่งงาน สินค้าต่างชาติเข้ามาตีตลาด ดุลการค้าสูญเสียไป ดุลบัญชีการชำระเงินขาดดุลไปทุกๆ ปีอย่างต่อเนื่องและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

แล้วเกิดอะไรขึ้นตามมา การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ การขึ้นสู่อำนาจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐอเมริกา นั่นคือเกิดทัศนคติและการรับรู้ด้านลบต่อโลกาภิวัตน์ที่เคยบอกว่าจะช่วยผู้คนต่างๆ ทั่วโลก แต่ตอนนี้กลับมองว่ามันไม่ดีและกำลังทำลายกัดกร่อนความเป็นอยู่ที่ดีของชีวิตผู้คนในประเทศที่ตอนเริ่มต้นเป็นคนสนับสนุนและสร้างโลกาภิวัตน์ขึ้นมาเอง ทั้งการขนส่งที่ถูกลง การถ่ายทอดเทคโนโลยี การลงทุนจากต่างประเทศ และนำไปสู่สินค้าที่ถูกลงของโลก ภาระงานถูกส่งออกไปข้างนอก การลงทุนไปลงทุนข้างนอก ขณะที่ชาติตะวันตกมีความสุขไปกับสินค้าที่ถูกลงที่มีคุณภาพเหมือนเดิม แต่ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าโลกาภิวัตน์กำลังถดถอยและต้องถูกเปลี่ยนแปลงหรือหยุดลง ไม่ใช่ด้วยอินเดีย ด้วยจีน หรืออาเซียน แต่ด้วยประเทศที่เริ่มต้นสร้างโลกาภิวัตน์ขึ้นมาเอง

การสร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียม การทำให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน (Level Playing Field) ก็เป็นดาบสองคมเช่นเดียวกัน เมื่อคุณเปิดตลาดอย่างเสรีผ่านข้อตกลงการค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ด้วยหาหนทางใดหนทางหนึ่งคุณจะไม่ได้เปิดเสรีแค่ตลาด คุณจะต้องเปิดตัวตนของคุณสู่สิ่งอื่นๆ มากมายภายนอกด้วยและอาจจะกลายเป็นปัญหาในภายหลังได้ การอพยพของผู้คนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน หรืออย่างเรื่องการกลับไปลงทุนในประเทศของคุณเอง เรื่องสิทธิทางปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้แผ่ขยายออกไปในโลก เมื่อคุณสร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกัน คุณกำลังเปิดรับและแลกเปลี่ยนกระแสของหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่ง ณ แง่มุมหนึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เพราะคุณสร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียมขึ้นมา ดังนั้น สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น อย่างความพยายามต่อต้านสินค้าต่างชาติ ต่อต้านการอพยพ ต่อต้านทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ข้างนอกนั้น และยกเว้นเพียงการเปิดตลาดเสรีที่เราต้องการ มันเป็นไปไม่ได้ เมื่อเราเริ่มต้นเปิดตลาดเสรีแล้ว เราจะต้องเปิดรับทุกอย่างไปพร้อมกัน

ในภูมิภาคอาเซียน เราตระหนักถึงสิ่งนี้เป็นอย่างดี อะไรที่เราตระหนัก อะไรที่เราเรียนรู้ เมื่อคุณรวมตัวกัน คุณจะได้รับด้านดีของการรวมกลุ่ม ได้ตลาด ได้ทรัพยากร ได้แรงงานราคาถูก ได้ปริมาณการค้าที่ดีขึ้นกับเพื่อนบ้าน ได้การเชื่อมโยงระหว่างกัน แต่คุณก็ต้องเปิดรับปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านเช่นเดียวกัน โรคติดต่อ ยาเสพติด อาชญากรรมระหว่างประเทศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การฟอกเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย และที่ผ่านมาสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณต้องการหาทางจัดการกันภายใน คุณไม่เรียกร้องให้ทุกคนมาร่วมกันแก้ปัญหา คุณบริหารจัดการปัญหาของคุณภายในและป้องกันผลกระทบด้านลบของการรวมกลุ่ม และหากต้องการได้รับประโยชน์จากด้านบวก เป็นเรื่องโชคดีที่คุณจะได้ตลาดขนาดใหญ่ที่เป็นคนชั้นกลาง มีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การค้าขายขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งอื่นๆ กำลังจะตามมากับการรวมกลุ่ม และนั่นเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานและต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติจำนวนมาก ไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ หรือปัญหาอย่างที่มหาชัยหรือสมุทรสาคร ที่ที่อุตสาหกรรมประมงตั้งอยู่ ประชาชนที่นั่นมากกว่าครึ่งเป็นคนต่างชาติ ระนองก็เช่นเดียวกัน ภูเก็ตเกือบจะเป็นแบบนั้น ซึ่งต้องยอมรับว่าคนไทยรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานนี้อีกแล้ว และถ้าคุณไปที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ คุณจะเห็นป้ายในภาษาต่างๆ เมียนมา อารบิก ฯลฯ ยกเว้นภาษาไทย เพราะว่าโรงพยาบาลคาดว่าคนระดับที่จะเข้ามาในโรงพยาบาลก็จะต้องรู้ภาษาอังกฤษอยู่แล้ว หรือคุณไปที่ร้านอาหารที่ทองหล่อ ในเมนูก็จะมีภาษาอังกฤษและอื่นๆ แต่ไม่มีภาษาไทยอีกต่อไป

นั่นคือปัญหาของรวมกลุ่มกัน คือคุณจะไม่ได้รับเฉพาะด้านดี แต่จะได้รับด้านมืดมาเช่นกันและจำเป็นต้องบริหารจัดการ ตัวอย่าง การบริหารจัดการตลาดแรงงานต่างชาติ ณ ขณะนี้ยังคงอยู่ในเงามืด เป็นอุตสาหกรรมสีเทาที่ยังไม่โปร่งใสและเป็นสาเหตุว่าทำไมเราจึงมีปัญหา บางคนกลับไปและไม่อยากกลับมา แล้วเราทำอะไร เมื่อเราขาดแคลนแรงงาน

4 ปีก่อนหน้านี้ UNHCR ได้สำรวจถามทัศนคติของคนไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ถึงแรงงานต่างชาติ มากกว่า 90% บอกว่าแรงงานต่างชาติเป็นภัยต่อชาติ ความมั่นคง ทรัพย์สิน ชีวิตในกรุงเทพฯ และคนที่ตอบคำถาม อาจจะมีคนสวนจากประเทศเพื่อนบ้าน มีแม่บ้านจากประเทศเพื่อนบ้าน มีคนขับรถจากประเทศเพื่อนบ้าน นี่คือประเด็นที่ประเทศอย่างประเทศไทยต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่าเราไม่สามารถได้ทุกๆ อย่าง ถ้าเราต้องการพวกเขา เราต้องดูแลพวกเขา เราต้องเคารพพวกเขา เราต้องสร้างความมั่นใจว่าชีวิตความเป็นอยู่และสิทธิต้องถูกปกป้อง ไม่เช่นนั้นเราจะมีปัญหากับคนทั่วโลก ซึ่งมาในรูปแบบที่แปลก อย่างการที่สหรัฐอเมริกาบอกว่าประเทศไทยอยู่ในระดับ 2 (Tier 2 Watchlist)

เช่นเดียวกัน ในชาติตะวันตก การรวมกลุ่มได้กลายเป็นดาบสองคม เริ่มต้นจากการพยายามขยายค้าการลงทุนที่มากขึ้น ศาสตราจารย์ Pual Krugman เคยถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าต้นทุนของการขนส่งสูง คำตอบคือทุกคนในสหรัฐอเมริกาจะได้ประโยชน์จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพราะว่าการเข้ามาผลิตในแต่ละที่ อาจจะถูกกว่า แต่เมื่อต้นทุนการขนส่งลดลง มันจะมีคนบางส่วนที่อยู่ชายขอบที่รู้สึกเหมือนถูกบีบคั้น เพราะว่าสินค้าราคาถูกของประเทศอื่นเข้ามาตีตลาด แต่ถ้าต้นทุนถูกไปกว่านั้นอีก กลับกลายเป็นว่าประเทศชายขอบจะเริ่มเห็นโอกาสของตัวเอง ผู้บริโภคและผู้ผลิตในประเทศศูนย์กลางอย่างสหรัฐอเมริกาจะเห็นโอกาสที่จะย้ายโรงงานและการผลิตไปยังประเทศเหล่านั้น ไปใกล้ตลาดและผลิตสินค้าที่ถูกกว่าและบางครั้งมีคุณภาพดีกว่า ขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์จากสินค้าที่ถูกลงโดยรวม

ณ จุดหนึ่งจะเกิดการสำรวจโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ภายนอกประเทศ แล้วอะไรที่คงเหลือในประเทศ ศูนย์กลาง เทคโนโลยี การวิจัย วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม นั่นคือประเทศต้นทางยังเป็นผู้ถือครองความรู้ต่างๆ และแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคน ไม่ใช่คนชั้นแรงงาน แต่เป็นชนชั้นนำในลอนดอน ในนิวยอร์ก ในบอสตัน ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยที่ไม่ได้เลือกนายโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะตนเองได้รับประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ ประโยชน์ของคนเหล่านี้เชื่อมโยงอยู่กับโลก แต่อีกด้านหนึ่ง หันกลับไปมองชนชั้นกลาง คุณจะเห็นว่าพวกเขารู้สึกว่าตนเองเป็นผู้แพ้ และช่องว่างนี้ก็ได้ขยายใหญ่ขึ้นๆ ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เป็นความขุ่นเคืองที่นำไปสู่การต่อต้านโลกาภิวัตน์ และทำให้เราต้องหาวิธีบริหารจัดการใหม่

หากไปดูกระแสการค้าได้เติบโตขึ้น สถิติชี้ว่ามูลค่าของการค้าสินค้าและบริการ ณ สิ้นปี 2558 สูงกว่าปี 2548 ถึง 2 เท่า เป็นเพราะความง่ายของการขนส่งที่มากขึ้น การเปิดตลาดเสรี อุดมการณ์เสรีนิยม การสร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียม มูลค่าการค้าสูงขึ้น 2 เท่าในระยะเวลา 10 ปี แต่หลังจากนั้นเมื่อปี 2551 การค้ายังคงเติบโตแต่ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้สะท้อนปัญหาจากกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ กระแสที่มองว่าถ้าคุณมีการเกินดุลการค้า คุณคือคนขี้โกง และเราต้องหาทางเจรจากันใหม่และครั้งนี้จะไม่ใช่กรอบเจรจาพหุภาคีอีกต่อไป แต่จะเป็นการเจรจาแบบทวิภาคี เพราะใต้กรอบนี้เราสามารถบีบประโยชน์จากคุณได้มากขึ้น มากกว่าที่คุณจะได้จากเรา

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ว่าการค้าที่ไม่เท่าเทียม เรียกว่าการเมืองของการค้าระหว่างประเทศ แต่ผมมองว่ากระแสนี้จะสร้างปัญหาค่อนข้างมากทั้งต่อตนเองและระหว่างกัน และผมคงบอกได้ว่าทางออกที่แท้จริงคงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากกลับไปที่กรอบการเจรจาพหุภาคี ประเทศที่คิดว่ากำลังสูญเสียในโลกาภิวัตน์และการเจรจาพหุภาคีจะต้องคิดใหม่อีกครั้ง เพราะว่าโลกได้เปิดถึงกันมากขึ้นและพวกเราทุกคนสามารถได้ประโยชน์ร่วมกัน มากกว่าที่จะมีคนใดคนหนึ่งได้ประโยชน์ และถ้าหากคุณต้องการกลับไปยังโลกแบบนั้น มันไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับพวกเราทุกคน

ชู “อาเซียน” ถ่วงดุลอำนาจฝ่ากระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์

แล้วสำหรับพวกเราในอาเซียน คำถามคือจะทำอะไรเพื่อทำให้มั่นใจว่าประโยชน์ของภูมิภาคจะสามารถเดินหน้าไปต่อได้ภายใต้กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ ภายใต้กระแสต่อต้านการเจรจาการค้าพหุภาคี ผมคงบอกได้ว่าต้องเพิ่มความร่วมมือภายในภูมิภาค เพราะหากปราศจากการร่วมมืออย่างใกล้ชิดท่ามกลางพวกเรา เพื่อยืนต้านกับกระแสต่างๆ ที่มาจากภายนอก และต่อไปจะไม่ใช่แค่พวกเราอาเซียน เมื่อรวมไปถึงอาเซียน +7 รวมไปถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) พวกเราจะกลายเป็นกรอบเจรจาการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เราสามารถสร้างขึ้นมาได้ตอนนี้ แต่ผมเห็นว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบริหารประโยชน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มีคนเคยกล่าวว่าเอเชียตะวันออกในปัจจุบันเปรียบเหมือนกับศูนย์กลาง เหมือนกับยุโรปในศตวรรษที่ 19 ก่อนหน้านี้เป็น ทั้งในแง่ของการค้า การลงทุน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม แต่ในแง่ของสถาบันและการบริหารจัดการยังคงมีปัญหาในการสร้างสมดุลของอำนาจและเวทีจะทำงานร่วม แทนที่จะเปิดประเทศต่อกันมากขึ้น ร่วมมือกันมากขึ้นในการหาทางออกของปัญหาหรือข้อพิพาทต่างๆ ในภูมิภาค คุณคงยังไม่คาดคิดว่า ณ ปัจจุบันจีนกับญี่ปุ่นจะทำงานร่วมกันภายใต้ระบบองค์กรและสถาบันที่เป็นอยู่ คุณคงไม่คาดว่าเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นจะทำงานร่วมกันได้ตอนนี้ หรือจีนจะทำงานร่วมกับอินเดีย หรือให้ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เข้าร่วม เพราะว่าเรายังขาดเวทีที่กว้างพอที่จะให้ร่วมกันทำงาน

อย่างไรก็ตาม เรายังสามารถบริหารจัดการภายในภูมิภาคเราได้ เป็นสิ่งที่เหลืออยู่และสะดวกมากพอจะนำมาใช้ได้และมีผลทางอำนาจกฎหมาย คือสิ่งที่อยู่ในภูมิภาคที่เราเรียกว่าอาเซียน เรามีทั้งประเทศขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่เราไม่คุกคามใคร ต้อนรับทุกคน ซึ่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความรับผิดชอบระหว่างกันที่จะร่วมสร้างระบบ กระบวนการ และสถาบันที่จะเจรจาข้อพิพาทต่างๆ ระหว่างกันได้ แล้วการค้าก็จะไปได้ การลงทุนระหว่างประเทศจะเติบโตได้ และการแลกเปลี่ยนต่างๆ ระหว่างกันจะสามารถสนับสนุนได้อย่างกว้างขวาง

ในมุมหนึ่งมันเหมือนว่าทุกอย่างได้ตกลงมาบนตักของอาเซียน เพื่อจะยกน้ำหนักต่อสู้กับกระแสต่างๆ ภายนอก เพราะเรามีเวทีและกระบวนการที่ดี ความท้าทายของเราคือการสร้างภูมิภาคให้ผสานกันมากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น กลายเป็นหนึ่งเดียวเสียงเดียว และที่น่าตลกคืออาเซียนมาถึงจุดนี้ ณ ปีที่ 50 พอดี ไม่ใช่ด้วยการปกครองแบบประชาธิปไตย เรามีทั้งลี กวนยู มีทั้งซูฮาร์โต มีทั้งมาร์กอส มีทั้งมหาเธร์ มีทั้งเปรม พร้อมๆ กัน และถ้าเราต้องการทำให้อาเซียนมีประสิทธิภาพ ผู้คนของอาเซียนต้องมาหารือกันว่าอะไรคือสิ่งที่อาเซียนจะต้องทำ นำผู้คนเข้าร่วมการเดินทางครั้งนี้ นำผู้คนกลับมา และเปิดพื้นที่มากขึ้นให้ทุกคนสามารถกำหนดอนาคตที่ยุติธรรมสำหรับพวกเขา อนาคตของลูกหลานของเขา ความมั่งคั่งของพวกเขา

แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่อาเซียนยังไม่เคยเป็นประเด็นสำหรับการเลือกตั้งในแต่ละประเทศเลย มันเป็นเพียงนโยบายชายขอบ เพราะเราต้องการจัดการปัญหากันภายใน แต่เมื่อผู้คนเริ่มต้นตระหนักถึงอนาคตของตนเองในฐานะภูมิภาค ณ จุดนั้น เราหวังว่าอาเซียนของเราจะสามารถนำพาพวกเราและช่วยเหลือเราต้านทานแรงกดดันต่างๆ จากภายนอก โดยเฉพาะการต่อต้านโลกาภิวัตน์และการต่อต้านการค้าของโลก