ThaiPublica > เกาะกระแส > “วิรไท สันติประภพ” ชี้เทคโนโลยีการเงินเป็นเครื่องมือ “ปลดล็อค” ผลิตภาพ ภูมิคุ้มกัน และการเข้าถึงบริการการเงินของทุกกลุ่มที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“วิรไท สันติประภพ” ชี้เทคโนโลยีการเงินเป็นเครื่องมือ “ปลดล็อค” ผลิตภาพ ภูมิคุ้มกัน และการเข้าถึงบริการการเงินของทุกกลุ่มที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

19 มีนาคม 2018


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงาน “Bangkok FinTech Fair 2018: SME and Consumer Financial Solutions” ในหัวข้อ “BOT’s Policy Direction on FinTech Development” ว่า “ผมจะพูดถึงทิศทางนโยบายของ ธปท. เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) แต่ก่อนหน้านั้น ผมอยากจะขอถอยหลังกลับและเน้นไปที่คำสำคัญ 3 คำ ที่ผมเชื่อว่ามีความสำคัญและจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายของภาคการเงินสำหรับประเทศไทยและภูมิภาค 3 คำที่ว่า คือ ผลิตภาพ, ภูมิคุ้มกัน, และการเข้าถึงของทุกภาคส่วน (productivity, immunity, and inclusivity)

อย่างแรกที่ควรจะเน้นย้ำถึงคือ “ผลิตภาพ” การยกระดับผลิตภาพเป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำสำหรับการเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในปัจจุบันหลายประเทศในภูมิภาคกำลังเผชิญกับภาวะการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของอายุแรงงาน ซึ่งการหดตัวของกำลังแรงงานสามารถลดทอนแนวโน้มการเติบโตที่ดีในระยะยาว และทำให้เราต้องมีผลิตภาพที่สูงขึ้นเพื่อจะเพิ่มระดับผลผลิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน

ผลิตภาพยังจำเป็นสำหรับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในช่วงที่เครือข่ายการค้าโลกกำลังขยายตัวและการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ (e-business platforms) ขนาดใหญ่ที่กลายเป็นคู่แข่งสำคัญในโลกธุรกิจของเรา

ยิ่งไปกว่านั้น บทบาทของธนาคารกำลังถูกท้าทายจากแพลตฟอร์มทางการเงินที่กำลังได้รับความสนใจและมีความสำคัญในเศรษฐกิจสมัยใหม่ รวมไปถึงบริษัทเทคโนโลยีการเงินใหม่ๆ ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินที่แยกย่อยออกมาจากสิ่งที่เคยเป็นของภาคธนาคารมาอย่างยาวนาน หากปราศจากการปรับตัวอย่างจริงจัง นั่นคือการพัฒนาผลิตภาพ ศักยภาพการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจจะถูกบั่นทอนลง

อย่างที่ 2 “ภูมิคุ้มกัน” กลายเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างมากในโลกปัจจุบันของเศรษฐกิจโลก เรากำลังอาศัยอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลกระทบที่รวดเร็ว ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และมีความผันผวน ท่ามกลางการผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกในปี 2008 ซึ่งนโยบายการเงินรูปแบบใหม่ได้ใส่สภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมากสู่ตลาดการเงินโลก ปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่วัฏจักรที่ธนาคารกลางหลักของโลกเริ่มปรับทิศทางนโยบายการเงินกลับไปสู่ระดับปกติ (Normalization) และในเส้นทางนี้เราก็ควรจะระวังการปรับตัวของตลาดและความผันผวนของราคาสินทรัพย์

นอกเหนือจากนี้ การกีดกันที่เพิ่มขึ้นของนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกาก็ได้สร้างความกังวลต่อการค้าโลก การลงทุน และการผลิต และการออกมาตรการใหม่ๆ ก็อาจจะถูกตอบโต้กลับได้ ปัญหาโลกร้อนและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็เพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก

รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีก็สามารถกระทบต่อผู้เล่นรายเดิมในหลายอุตสาหกรรมและนำมาซึ่งความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ ตั้งแต่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ไปจนถึงความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ของการอยู่รอดของธุรกิจ ความไม่แน่นอนเหล่านี้ทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันให้เพียงพอเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดนโยบายใดๆ ก็ตามของภาคการเงิน

อย่างที่ 3 คือ แนวคิดของ “การเข้าถึงของทุกภาคส่วน” เราจำเป็นต้องเข้าใจว่านโยบายของภาคการเงินใดๆ ที่ปราศจากมุมมองของการเข้าถึงของทุกภาคส่วนย่อมจะไม่สามารถยั่งยืนได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่งเป็นหนึ่งในแรงกดดันสำคัญทางสังคมและเศรษฐกิจ นโยบายใดๆ หรือการกระทำที่ไม่ได้ให้ความสนใจต่อประเด็นความเหลื่อมล้ำ สามารถคุกคามเสถียรภาพระยะยาวของสังคมและเศรษฐกิจ เนื่องจากกลุ่มคนที่มีทุนมากกว่าจะสามารถดึงผลประโยชน์ได้ง่ายกว่าจากการเติบโตของเศรษฐกิจและการมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ขณะที่ทิ้งกลุ่มคนที่ไม่สมารถเข้าถึงเทคโนโลยีหรือความรู้ใหม่ๆ ไว้ข้างหลังไกลออกไป ท้ายที่สุด ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ความมั่งคั่ง และโอกาส จะสร้างการแยกขั้วของสังคม (Social Polarization) และนำไปสู่ทางตันทางการเมืองเหมือนที่เห็นได้ในหลายประเทศ

ถึงที่สุด นโยบายที่สามารถพัฒนาทั้ง 3 ประเด็นที่มีความสำคัญและจำเป็นจะสามารถยกระดับภาคเศรษฐกิจจริงและความเป็นอยู่ของผู้คนในภาพรวมได้ เริ่มตั้งแต่การมีภาคการเงินที่มีผลิตภาพดีจะทำให้สามารถจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพไปยังภาคเศรษฐกิจต่างๆ ที่แตกต่างกันได้ ขณะที่การรักษาความยืดหยุ่นของระบบการเงินจะช่วยให้การทำหน้าที่ของตลาดการเงินเป็นไปอย่างราบรื่นและจำกัดความเสี่ยงของระบบไว้ให้ห่างออกไปได้ และสุดท้าย การเข้าถึงระบบการเงินจะช่วยรับประกันว่าประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจสามารถแบ่งกันอย่างยุติธรรมทั่วทั้งสังคม และเกื้อหนุนความมั่นคงของสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจและสังคมให้สามารถเติบได้อย่างยั่งยืน

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี เทคโนโลยีการเงิน “สามารถเป็นและต้องเป็น” เครื่องมือขับเคลื่อนของนโยบายในภาคการเงินที่จะเติมเต็มประเด็นทั้ง 3 ข้างต้น ทั้งผลิตภาพ ภูมิคุ้มกัน และการเข้าถึงได้

ในด้านผลิตภาพ เทคโนโลยีการเงินสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการทางการเงิน การเกิดขึ้นของระบบนิเวศการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถสร้างการโอนเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดต้นทุนธุรกรรมอย่างมีนัยสำคัญสำหรับผู้ใช้บริการ หรือการปรับหันมาใช้แพลตฟอร์มเทคโนโลยีการเงินจะช่วยให้ธนาคารสามารถลดต้นทุนจำนวนมากจากการลดการให้บริการผ่านตึกและสาขาแล้วหันมาให้บริการดิจิทัลที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า กระบวนการอนุมัติสินเชื่อสามารถทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการใช้ข้อมูลรายธุรกรรมจากระบบ e-Commerce และแพลตฟอร์มการชำระเงิน และทำให้โมเดลธุรกิจการปล่อยสินเชื่อของธนาคารจะสามารถเปลี่ยนการเน้นหลักประกันเป็นเน้นข้อมูลแทน

ขณะเดียวกัน Blockchain ได้ผลักดันเทคโนโลยีอยู่เบื้องหลังอยู่ในหลายแง่มุมของการให้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการภายในและการโอนเงิน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงินและพัฒนาความง่ายของการประกอบธุรกิจของธนาคารและลูกค้า ขณะเดียวกันก็เพิ่มผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

ในด้านภูมิคุ้มกัน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเงินอย่างรอบคอบสามารถช่วยให้ธนาคารและธุรกิจสามารถพัฒนาการบริการความเสี่ยงได้ จากข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีอยู่ ไม่ว่าจะจากระบบนิเวศของระบบการชำระเงินแบบใหม่และธุรกรรมดิจิทัลต่างๆ ธนาคารสามารถวิเคราะห์สภาวะธุรกิจได้ดีขึ้น และสามารถพยากรณ์ความต้องการสินเชื่อและความเสี่ยงด้านสินเชื่อของลูกค้าได้อย่างแม่นยำขึ้น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาโมเดลการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของข้อมูลใหม่ๆ จะช่วยปลดล็อกผลิตภัณฑ์ป้องกันความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประกันภัย ยิ่งไปกว่านั้น ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) Biometric และ Blockchain สามารถป้องกันข้อมูลทางการเงิน พัฒนาการยืนยันตัวบุคคล และลดจำนวนและความเสียหายที่เกิดจากการฉ้อโกง พัฒนาการเหล่านี้จะนำมาซึ่งสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยขึ้นทั้งต่อผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

ในด้านการเข้าถึง การขยายขอบเขตของเทคโนโลยีทางการเงินและการมาถึงของแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่และหลากหลายสามารถพัฒนาการเข้าถึงบริการทางการเงินของลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ในระบบการเงินปัจจุบัน กลุ่มคนที่แตกต่างกันก็มีระดับการเข้าถึงและความต้องการทางการเงินที่แตกต่างกัน การขยายขอบเขตของเทคโนโลยีทางการเงินจะสามารถนำเสนอทางเลือกและคำตอบที่กว้างขึ้นที่จำเป็นต่อการตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันได้ การก้าวสู่ระบบดิจิทัลของการให้บริการการเงิน (Digitization of financial services) และการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มใหม่ๆ สามารถพัฒนาการให้บริการทางการเงินผ่านการเข้าถึงแบบออนไลน์และผ่านแอปพลิเคชันมือถือ ซึ่งสร้างประโยชน์ให้แก่ลูกค้าทั้งในเมืองและชนบทที่ห่างไกลออกไป

เทคโนโลยีการเงินยังช่วยเรื่องธุรกรรมระหว่างประเทศสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก รวมไปถึงการโอนเงินของแรงงานอพยพที่ถูกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตของใครหลายคนที่ยังไม่ได้รับบริการ

ขณะเดียวกัน การปล่อยสินเชื่อโดยอิงข้อมูลจะสามารถช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีหลักประกันเพียงพอในระบบปกติสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ด้วยราคาที่เหมาะสม คำตอบทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ต้นทุนบริการการเงินที่ลดลง การเข้าถึงบริการที่ดีขึ้น และสร้างโอกาสให้แก่สาธารณชนโดยรวม

ถึงที่สุดแล้ว เทคโนโลยีการเงินสามารถปลดล็อกศักยภาพจำนวนมหาศาลของผู้คนและธุรกิจ และเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังของประเทศไทยและประเทศที่กำลังพัฒนาที่จะพัฒนาผลิตภาพ ภูมิคุ้มกันและการเข้าถึงของระบบการเงิน รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจโดยรวม

อนึ่ง หัวข้อของงาน Bangkok FinTech Fair ครั้งแรกได้เน้นไปยังธุรกิจเอสเอ็มอีและผู้บริโภค เพราะว่าคน 2 กลุ่มนี้ต้องเผชิญความท้าทายจำนวนมากและสามารถได้รับประโยชน์อย่างมากจากการพึ่งพิงเทคโนโลยีการเงิน  สำหรับประเทศไทยธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มใหญ่ของบริษัทในประเทศและจ้างงานกว่า 80% ของการจ้างงานทั้งหมด แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีหลายแห่งต้องประสบปัญหาที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนและระบบการชำระเงิน ซึ่งในทางหนึ่งเกิดสถานะทางการเงินที่ไม่ดีเนื่องจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ธุรกิจเอสเอ็มอีหลายแห่งขาดทักษะการบริหารจัดการการเงินและหลักประกันที่จำเป็นต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และทำให้ต้นทุนการเข้าถึงอยู่ในระดับสูง ในด้านผู้บริโภคก็ต้องเจอกับรั้วขนาดใหญ่ของการออมที่ต่ำและหนี้ครัวเรือนที่สูง ด้วยจำนวนต่อจีดีพีที่อยู่ท่ามกลางกลุ่มที่สูงที่สุดในภูมิภาค เพราะครัวเรือนหลายแห่งขาดการเข้าถึงการบริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ ไม่ว่าจะการฝากเงิน จ่ายเงิน ประกัน และสินเชื่อ กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการการให้บริการที่ดีกว่านี้จากระบบการเงินของเรา เพื่อให้สามารถปลดล็อกศักยภาพของพวกเขา พัฒนาคุณภาพชีวิต และรับประกันความมั่นคงทางการเงินเมื่อพวกเขาแก่ตัวลง

ดร.วิรไท สันติประภพ

แม้ว่าจะมีความท้าทายจำนวนมาก แต่ผมมีความยินดีที่มีพัฒนาการที่น่าสนใจและการริเริ่มใหม่ๆ กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยและภูมิภาครอบๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยีการเงินเพื่อตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างการริเริ่มบางประเด็น เรามี

  • แอปพลิเคชันบริการการทำบัญชีสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัปบนแพลตฟอร์มคลาวด์
  • ระบบรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านออนไลน์ที่ช่วยหาทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า
  • ระบบและแพลตฟอร์มการโอนเงินระหว่างประเทศแบบ real-time และต้นทุนต่ำ
  • ระบบยืนยันตัวตนด้วย Biometric ที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากระยะไกลได้
  • ระบบ Machine Learning ที่ใช้ข้อมูลทางเลือกใหม่ๆ เช่น ข้อมูลจากสื่อสังคมสำหรับให้คะแนนสินเชื่อ
  • แพลตฟอร์มการระดมทุนด้วยใบสั่งซื้อในห่วงโซ่การผลิตแบบ Real-Time
  • ระบบ QR code มาตรฐานสำหรับการชำระเงิน ซึ่งมีผู้ใช้กว่า 1 ล้านร้านค้าภายใน 6 เดือนหลังจากออกจาก Regulatory Sandbox ของ ธปท. 
  • ระบบพร้อมเพย์ โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบ Real-Time ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนกว่า 39 ล้านบัญชีในประเทศไทย

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำตอบที่ตอบโจทย์ธุรกิจเอสเอ็มอีและผู้บริโภคในตลาดปัจจุบัน

“และเพื่อที่จะรักษาการพัฒนาโดยรวมของผลิตภาพ ภูมิคุ้มกัน และการเข้าถึง ธปท. ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนการนำเทคโนโลยีการเงินมาใช้งานโดยสถาบันการเงิน รวมทั้งผลักดันนวัตกรรมทางการเงิน แต่ขณะเดียวกันต้องดูแลรักษาความเสี่ยงสำคัญๆ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน ตลอด 2 วันข้างหน้า ผมมองไปข้างหน้าที่จะได้พูดคุยกันอย่างเป็นส่วนตัวกับผู้เข้าร่วมทั้งหลาย เพื่อที่จะเรียนรู้และหาทางที่พวกเราจะร่วมกับเพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมการเงินทั้งของประเทศไทยและภูมิภาค รวมไปถึงระบบนิเวศของเทคโนโลยีการเงินของพวกเรา”

สุนทรพจน์ฉบับภาษาอังกฤษ