ThaiPublica > เกาะกระแส > “วิรไท สันติประภพ” มองอนาคตสถาบันการเงินเฉพาะกิจต้อง “Niche players” – สร้างองค์กรยั่งยืน กำกับตัวเองอย่างตรงไปตรงมา

“วิรไท สันติประภพ” มองอนาคตสถาบันการเงินเฉพาะกิจต้อง “Niche players” – สร้างองค์กรยั่งยืน กำกับตัวเองอย่างตรงไปตรงมา

24 สิงหาคม 2016


เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานสัมมนา “พลิกโฉม SFIs กับภารกิจที่ตอบโจทย์และตรงจุด เพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง” มีรายละเอียดดังนี้

ดร.วิรไทกล่าวว่าการจัดสัมมนาในวันนี้เป็นเรื่องและช่วงเวลาที่เหมาะสมยิ่ง และคิดว่าเป็นโอกาสดีที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน และทำความเข้าใจร่วมกันถึงการทำงานต่อไปในอนาคต

ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้รับมอบหมายให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนมาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาล และในปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับมอบหมายงานกำกับดูแลความมั่นคงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญประการหนึ่ง ของระบบการกำกับดูแล SFIs

“ในวันนี้ผมอาจจะใช้เวลาสั้นๆ พูดถึงความสำคัญของ SFIs ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจไทย และปัจจัยที่จะทำให้ SFIs สามารถตอบโจทย์ของการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความท้าทายที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต”

ขนาด- พันธกิจ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ

เมื่อกล่าวถึงการทำหน้าที่ของ SFIs ในระบบเศรษฐกิจไทย เราเห็นได้ชัดเจนว่า SFIs มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมาโดยตลอด สินทรัพย์ของ SFIs ในวันนี้มีขนาดสูงกว่า 5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 25 ของระบบสถาบันการเงินไทย SFIs มีจำนวนสาขารวมทั้งสิ้นเกือบ 2,500 แห่ง กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด สินทรัพย์ของ SFIs กว่า 5 ล้านล้านบาทในวันนี้ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวภายในระยะเวลาแค่ 7 ปีเท่านั้น

ถ้าเราพิจารณารายละเอียดของสินทรัพย์จำนวนดังกล่าวว่าประกอบด้วยลูกค้ากลุ่มใดบ้าง ก็จะเห็นถึงบทบาทการทำหน้าที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนในกลุ่มที่ธนาคารพาณิชย์อาจจะไม่เน้นให้บริการ เช่น กลุ่มประชาชนฐานราก กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่ม SMEs โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs ที่มีขนาดเล็กมากๆ หรือเรียกว่า SSMEs ธุรกิจเหล่านี้จำนวนไม่น้อยขาดหลักประกัน หรือยังไม่มีประวัติทางการเงิน การกระจายการให้บริการของ SFIs เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางการเงิน ซึ่งเป็นบทบาทที่จำเป็นยิ่งของ SFIs ที่จะทำให้การเข้าถึงบริการทางการเงินสร้างประโยชน์ที่แท้จริงต่อผู้ใช้บริการ

นอกจากนี้ SFIs ยังทำหน้าที่สำคัญในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ได้แก่ การเป็นช่องทางการกระจายสวัสดิการและความช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มเป้าหมาย หรือแม้แต่การยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

การทำงานด้านพัฒนาของ SFIs ในช่วงที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าสอดคล้องกับเป้าหมายเรื่องการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน หรือที่เรียกว่า Financial Inclusion ของรัฐบาลและของธนาคารแห่งประเทศไทย ถ้ายังจำได้ ย้อนไปตั้งแต่ปี 2518 ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่อง Financial Inclusion มาอย่างต่อเนื่อง และได้ออกมาตรการให้ธนาคารพาณิชย์กระจายสาขาไปยังอำเภอรอบนอก หรืออำเภอที่สาขาธนาคารพาณิชย์ยังไม่หนาแน่น รวมถึงกำหนดสัดส่วนของการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ภาคการเกษตร

ดร.วิรไท สันติประภพ
ดร.วิรไท สันติประภพ

ต่อมา เมื่อรัฐบาลเน้นให้ SFIs ทำหน้าที่ให้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึง สำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ก็ได้กระจายสาขาไปมากในระดับหนึ่งแล้ว กระทรวงการคลังถึงได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดบทบาทที่ชัดเจนของ SFIs ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 1 ให้ SFIs เป็นสถาบันหลักในการให้บริการทางการเงินในภูมิภาคเพื่อเติมเต็มช่องว่างของการให้บริการทางการเงินเชิงพาณิชย์ และได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติเพื่อขยายบทบาทของ SFIs ในบางแห่ง ซึ่งการสัมมนาในวันนี้ วิทยากรจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะเล่าถึงการทำหน้าที่ตามพันธกิจของ SFIs ทั้งในเรื่องการวิเคราะห์สถานะของการให้บริการเปรียบเทียบกับระบบธนาคารพาณิชย์ และการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับพันธกิจของ SFIs ต่อไป ซึ่งผมเชื่อว่าจะมีประเด็นสำคัญหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายของ SFIs ในอนาคต

ด้วยบทบาทที่ได้กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า SFIs เป็นองค์กรสำคัญที่ทำหน้าที่ด้านการพัฒนาประเทศ ในต่างประเทศมักจะเรียกสถาบันการเงินลักษณะนี้ว่า “สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา” หรือ Development Financial Institutions (DFIs) ในการสัมมนาวันนี้ เรายังได้รับเกียรติจากวิทยากรจากธนาคารโลกที่จะเล่าถึงผลการศึกษาเปรียบเทียบสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาในต่างประเทศให้ทุกท่านได้ทราบถึงพัฒนาการและความแตกต่างของ DFIs ตลอดจนความท้าทายในอนาคตด้วย

เมื่อ SFIs เป็นเครื่องมือตอบสนองนโยบายระยะสั้น

จากการสังเกตประสบการณ์ต่างๆ ด้านการพัฒนาประเทศที่เกิดขึ้นในโลก เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในทุกประเทศในระบบประชาธิปไตยนั้น เรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ เป็นเรื่องที่ได้รับความสำคัญอย่างมากจากประชาชน นักการเมือง และรัฐบาล ในหลายโอกาสโจทย์เรื่องการเติบโตในระยะสั้นเป็นโจทย์ใหญ่จนกระทั่งโจทย์ระยะยาวเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนถูกลดทอนบทบาทลง

“ในบางโอกาสนะครับ ไม่ว่าจะเป็น DFIs หรือ SFIs จะถูกร้องขอให้เป็นเครื่องมือตอบสนองนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม รอบด้าน จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อฐานะการดำเนินงานของ DFIs หรือ SFIs ได้ และสร้างภาระการคลังให้แก่ประเทศในระยะยาว ประสบการณ์ในอดีตได้แสดงให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาฐานะของ SFIs จำเป็นต้องใช้เวลานานและใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมาก และทำให้ SFIs ไม่สามารถทำหน้าที่ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย”

ในการสร้างความยั่งยืนให้กับ SFIs นั้น ผมเห็นว่ามีปัจจัยหลัก 4 ประการที่เราต้องให้ความสำคัญ คือ (1) ฐานะการเงินที่มั่นคง (2) ความสามารถของฝ่ายจัดการ ซึ่งรวมถึงความสามารถในการสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและมีอุดมการณ์ในการพัฒนาที่ยั่งยืน (3) ความเป็นเลิศในระบบปฏิบัติงาน โดยเฉพาะระบบการบริหารความเสี่ยงและระบบการควบคุมภายใน และปัจจัยสุดท้ายที่จะขาดไม่ได้ คือ (4) ความมั่นใจ และความไว้วางใจจากประชาชน ผ่านการดำเนินการที่โปร่งใสตรวจสอบได้ และการให้บริการที่เป็นธรรม ด้วยเหตุนี้ รัฐบาล กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย จึงร่วมกันกำหนดกรอบการปฏิรูป SFIs บนพื้นฐานของปัจจัยแห่งความยั่งยืนทั้ง 4 ประการที่ได้เรียนไว้ข้างต้น

การปฏิรูป SFIs สอดคล้องกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ แต่เนื่องจาก SFIs เป็นสถาบันการเงิน หลายแห่งมีการรับเงินฝากจากประชาชนทั่วไป และทุกแห่งมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ ในขนาดที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คณะรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่กำกับดูแลความมั่นคงของ SFIs ด้วย โดยกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่ใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่

(1) การออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลที่เหมาะสม

(2) การตรวจสอบความเหมาะสมของผู้บริหารและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

(3) การติดตามและตรวจสอบการดำเนินงาน

(4) การสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหา

ในกรณีที่พบว่ามีการดำเนินงานที่ผิดพลาดหรือสร้างความเสี่ยงที่จะกระทบต่อความยั่งยืนของ SFIs นอกจากนี้ ในการปฏิรูป SFIs ยังได้แบ่งบทบาทของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับ SFIs ให้ชัดเจน คือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นผู้แทนเจ้าของ SFIs แทนประชาชนคนไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ทำหน้าที่กำกับนโยบายให้ SFIs ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่กำกับดูแลความมั่นคงของ SFIs และที่สำคัญตัว SFIs เองทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการตามพันธกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการแบ่งแยกหน้าที่ดังกล่าวอย่างชัดเจน จะเอื้อให้แต่ละหน่วยงานสามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มที่ ลดการทับซ้อนและความขัดแย้งในบทบาทของตนเอง และสิ่งสำคัญคือช่วยสร้างความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายของรัฐผ่าน SFIs อีกด้วย ซึ่งในการสัมมนาในวันนี้ วิทยากรจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจจะได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการปฏิรูป SFIs เพื่อให้เห็นมิติของการวางโครงสร้างการกำกับดูแลของ SFIs ที่ชัดเจนขึ้นด้วย

หัวใจสำคัญที่สุด ผู้บริหาร-พนักงาน กำกับตัวเองอย่างตรงไปตรงมา

“แม้ว่าจะมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้กำกับดูแลความมั่นคงที่ชัดเจนขึ้นแล้วก็ตาม ท่านจะเห็นว่าการทำหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่งของภาพแห่งความยั่งยืนและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของ SFIs ความยั่งยืนของ SFIs จะสมบูรณ์ได้ยังต้องประกอบด้วยองค์ประกอบอีกหลายประการ เพื่อให้ SFIs สามารถตอบโจทย์ของประเทศและของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมคิดว่าองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดก็คือตัวของ SFIs เอง เพราะเป็นผู้ขับเคลื่อนปัจจัยของความสำเร็จทั้ง 4 ประการให้เกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลฐานะทางการเงิน การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ การมีระบบปฏิบัติงานที่ดี และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยหัวใจสำคัญที่สุดคือการมีผู้บริหารและพนักงานที่มีความมุ่งมั่นกับพันธกิจของ SFIs ปฏิบัติงานอย่างตรงไปตรงมา และมีวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการมองระยะยาวและสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร”

การปฏิรูปหรือการยกระดับศักยภาพของ SFIs เป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว และมีหลายมิติที่หลายหน่วยงานต้องเร่งร่วมกันทำงาน แต่ในระยะข้างหน้านี้ อย่างที่ทราบกันว่าโลกไม่ได้หยุดรอเรา การปฏิรูป SFIs จะต้องเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินหลายด้านซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผมคิดว่ามีความท้าทายอย่างน้อย 3 ประการที่ SFIs และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความสำคัญ

ความท้าทายประการแรกที่เกิดมาตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต คือ ความผันผวนในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนในเรื่องอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หรือกระทั่งความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลต่อรายได้ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ SFIs โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ผู้ส่งออก และกลุ่มเกษตรกร ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าโภคภัณฑ์

ในระยะต่อไป ความผันผวนเหล่านี้จะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องด้วยความรวดเร็ว ซับซ้อน และเชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อยๆ จึงนับเป็นความท้าทายต่อการทำหน้าที่ตามพันธกิจของ SFIs เป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์การเงิน การให้บริการ และการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงไป

ความท้าทายประการที่สอง คือ พัฒนาการของเทคโนโลยี ซึ่งนับเป็นโอกาสของลูกค้าที่จะสามารถเลือกใช้เป็นช่องทางเข้าถึงบริการการเงินได้หลากหลายและง่ายขึ้นในราคาที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ยังเป็นเรื่องดีที่สถาบันการเงินจะใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นเพื่อลดต้นทุนการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ SFIs จะต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งข้อมูลลูกค้าและข้อมูลที่เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมภายนอก เพื่อให้กระบวนการบริหารความเสี่ยงทั้งของ SFIs เองและของลูกค้ามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แต่การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวก็เป็นความท้าทายทั้งในด้านการแข่งขันและการบริหารจัดการไปพร้อมๆ กัน การยกระดับด้านเทคโนโลยีนั้น เป็นปัญหาใหญ่ของ SFIs ในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ SFIs ต้องคำนึงว่าพัฒนาการทางเทคโนโลยีจะเอื้อให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ได้ง่ายขึ้น เช่น กลุ่ม FinTech ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อการแข่งขัน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การดึงลูกค้าที่มีศักยภาพสูงต่อนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ยังรวมไปถึงการแย่งชิงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในภาวะที่ตลาดแรงงานมีข้อจำกัดอยู่แล้วด้วย

ความท้าทายประการที่สาม คือ ความท้าทายจากกฎกติกาใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจากการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยเอง กฎเกณฑ์กติกาใหม่ๆ จากการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ มาตรฐานการบัญชีใหม่ๆ หรือกฎเกณฑ์กติกาเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่ง SFIs ต้องเตรียมความพร้อมทั้งในด้านความรู้ความเข้าใจของหน่วยปฏิบัติ ความรู้ความเข้าใจของพนักงานที่มีอยู่ทั่วประเทศ และความพร้อมของระบบงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในการสัมมนาวันนี้ วิทยากรจากธนาคาร Simpanan Nasional ประเทศมาเลเซีย รวมทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ตลอดจนวิทยากรจากธนาคารแห่งประเทศไทย จะได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์จริงในการตอบโจทย์ความท้าทายที่เกิดขึ้นในภาคปฏิบัติด้วย

อนาคต SFIs …Niche players

“ไม่ว่าความท้าทายจะเกิดขึ้นอย่างไรก็ตาม หรือไม่ว่าผู้ให้บริการรายใหม่รายใดจะเข้ามาในตลาดการเงินของไทยก็ตาม ผมมีความมั่นใจว่า SFIs จะมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยต่อไปในอนาคต เนื่องจาก SFIs มีความรู้ความเชี่ยวชาญในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มประชาชนฐานราก ที่ยังคงต้องการการสนับสนุนทางการเงินไปพร้อมกับการส่งเสริมศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งในมิติต่างๆ ความรู้ความเชี่ยวชาญและการบ่มเพาะลูกค้า SMEs รายเล็ก รายใหม่ ให้ปรับรูปแบบการทำธุรกิจอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเพื่อตอบโจทย์ตลาดในประเทศหรือต่างประเทศก็เป็นเรื่องที่สำคัญด้วย”

ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเหล่านี้ของ SFIs เป็นเรื่องที่สั่งสมมานาน และยากที่ผู้ให้บริการรายใหม่จะเข้ามาทดแทนได้โดยง่าย ในอนาคต การให้บริการทางการเงินในลักษณะที่เรียกว่าเป็น Niche Players จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มจะเพิ่มขึ้น เช่น การส่งเสริมผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัย การให้บริการธนาคารตามหลักศาสนาอิสลาม การค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดหลักประกัน การค้ำประกันการส่งออก โดยเฉพาะเพื่อเปิดตลาดใหม่ในต่างประเทศ หรือ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ เช่น Reverse Mortgage เพื่อตอบโจทย์ของสังคมผู้สูงอายุ

ด้วยบทบาทที่สำคัญของ SFIs ในการพัฒนาประเทศดังที่เรียนมาข้างต้นนี้ ผมจึงเห็นว่าการสัมมนาในวันนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่เราจะสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างหน่วยงานที่มีส่วนร่วมกับการทำงานของ SFIs ที่จะนำไปสู่การยกระดับและสร้างความยั่งยืนให้แก่ SFIs ความเข้าใจร่วมกันจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคตอย่างแท้จริง และเนื่องจากปีนี้เป็นปีพิเศษของพวกเราชาวธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะเป็นโอกาส “100 ปี ชาตกาลของท่านผู้ว่าการป๋วย อึ๊งภากรณ์” ผมจึงใคร่ขอเปิดการสัมมนาในวันนี้ ด้วยข้อคิดจากท่านผู้ว่าการป๋วยที่ว่า

“ข้อที่ควรคำนึงข้อหนึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ คือ เราจำเป็นต้องให้บ้านเมืองของเราเจริญขึ้นชนิดที่มีเสถียรภาพ มีหลายประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่ และพยายามที่จะใช้วิธีการต่างๆ ให้ก้าวหน้ารวดเร็ว โดยไม่คำนึงถึงเสถียรภาพทางการเงิน ผลการพัฒนาแบบนั้นก็คือ ในที่สุด ไม่สามารถพัฒนาได้ตามความมุ่งหมาย”

ข้อคิดของท่านผู้ว่าการป๋วยข้อนี้ จะเห็นว่าเนื้อแท้ของการพัฒนานั้นเป็นเรื่องของเสถียรภาพและความยั่งยืนในระยะยาว SFIs เป็นกลไกของการพัฒนาประเทศที่สำคัญ เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับของ SFIs ให้มีเสถียรภาพและยั่งยืนด้วยมุมมองระยะยาวด้วยเช่นกัน จึงจะทำให้ SFIs ตอบโจทย์ของประเทศและของประชาชนไทยได้อย่างแท้จริง