ThaiPublica > คอลัมน์ > จากความเหลื่อมล้ำสู่การกระทำผิดซ้ำ: เมื่อคุกไม่สามารถคืนคนดีสู่สังคมได้จริง (ตอนที่ 2)

จากความเหลื่อมล้ำสู่การกระทำผิดซ้ำ: เมื่อคุกไม่สามารถคืนคนดีสู่สังคมได้จริง (ตอนที่ 2)

5 มีนาคม 2018


ณัฐเมธี สัยเวช

เนื้อหาในบทความเป็นความเห็นส่วนตัวจากการที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามโครงการส่งเสริมพลังอำนาจผู้ตัดสินกับผู้ถูกตัดสินในกระบวนการยุติธรรมเพื่อสังคมสุขภาวะ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-20 มกราคม 2561 โดยสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม (โครงการกำลังใจ) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตัวงานเป็นการนำคณะผู้พิพากษาและสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมเรือนจำกลางขอนแก่น และเรือนจำอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งฟังการแสดงธรรมจากพระไพศาล วิสาโล และมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อร่วมกันวิเคราะห์โครงสร้างระบบกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อหาทางในการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น

ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

จากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ บทสรุปประการหนึ่งที่ผมได้รับก็คือ คุกไม่สามารถคืนคนดีสู่สังคมได้จริง และที่เป็นเช่นนั้น ก็เป็นผลมาจากการใช้โทษอาญาอย่างล้นเกินนั่นเอง

ความผิดในคดียาเสพติดนั้นเป็นความผิดทางอาญาแบบ ถูกกำหนดให้เป็นความผิด (mala prohibita) กล่าวคือ เป็นความผิดที่ไม่ใช่ความเลวร้ายในตัวเอง ไม่ได้กระทำต่อบุคคลอื่นหรือทรัพย์ของบุคคลอื่นโดยตรง หรือก็คือไม่ได้มีผู้เสียหายโดยตรงดังเช่นการกระทำผิดแบบ เป็นความผิดในตัวเอง (mala in se) อย่างการฆ่าผู้อื่นหรือการเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง ความผิดในลักษณะที่ถูกกำหนดให้เป็นความผิดเช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อสังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นอันเนื่องมาจากการเพิ่มมากขึ้นของลักษณะความสัมพันธ์ในสังคม จนทำให้แม้จะไม่มีผู้เสียหายโดยตรงจากการกระทำบางอย่าง แต่รัฐก็จำเป็นต้องกระโดดเข้ามาเป็นผู้เสียหายเสียเองเพื่อดำรงไว้ซึ่งระบบระเบียบในสังคม

อาจกล่าวได้ว่า ความผิดอาญาแบบถูกกำหนดให้เป็นความผิดหรือ mala prohibita นั้นเป็นความผิดที่เกิดขึ้นตามค่านิยมในสังคมแต่ละยุคมากกว่าจะเป็นความผิดทางศีลธรรมที่มองเห็นได้ชัดเจนไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหนๆ และผู้ที่มีอำนาจกำหนดว่าพฤติกรรมแบบใดควรเป็นความผิดอาญานั้นก็คือรัฐ ซึ่งเป็นตัวแทนของคนในสังคม และต้องออกกฎหมายมาให้สอดคล้องกับค่านิยมหลักที่สังคมยึดถือ

แม้การกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นโทษทางอาญา ทั้งยังเป็นโทษอาญาที่มีความรุนแรงดุจเดียวกับการประทุษร้ายต่อชีวิตผู้อื่น ดูจะเป็นทิศทางที่สอดคล้องกันไปได้ดีกับค่านิยมหลักที่มีอยู่ในสังคม แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ค่านิยมหลักดังกล่าวนั้นดำเนินไปบนฐานความเข้าใจที่ถูกต้องเพียงใด และการใช้กฎหมายที่รุนแรงขนาดนั้นก่อเกิดประโยชน์แก่สังคมสมแก่เจตจำนงแห่งการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของกฎหมายนั้นหรือไม่ การตั้งคำถามเช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะผลทางหนึ่งอันเกิดจากการดำรงอยู่ของกฎหมายอาญาก็คือการลิดรอนสิทธิมนุษยชน ซึ่งแม้จะเป็นการลิดรอนที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย แต่เมื่อเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชนกันแล้ว ก็ควรเป็นการลิดรอนอย่างสมเหตุสมผล และไม่ล้นพ้นเกินกว่าเหตุที่ได้กระทำไป รวมทั้งควรเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมอย่างแท้จริงด้วย

เช่นนั้นแล้วจึงนำมาสู่คำถามที่ว่า การใช้โทษทางอาญาอย่างรุนแรงกับคดียาเสพติดดังที่เป็นอยู่นั้นเป็นประโยชน์แก่สังคมจริงหรือไม่ ซึ่งผมคิดว่า มีประเด็นที่ควรพิจารณาอยู่ 3 ประเด็น ดังนี้

1. การใช้โทษอาญาที่รุนแรงเช่นนี้ให้ผลในการป้องปราม ทำให้เกิดความเกรงกลัวต่อการกระทำผิด จริงหรือไม่

ต่อคำถามนี้ สิ่งที่น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุด ก็น่าจะเป็นจำนวนของผู้ต้องขังในคดียาเสพติด

ที่มา: เว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ (https://goo.gl/cEnCh2)

จากตารางข้างต้นจะเห็นว่า ตลอดเวลาสิบปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ต้องขังในคดียาเสพติดนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งเท่าตัว หรือก็คือประมาณ 131.49% และเมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนผู้ต้องขังทั่วประเทศแล้ว ก็จะเห็นว่าสัดส่วนของผู้ต้องขังในคดียาเสพติดมีแนวโน้มไปในทางเพิ่มมากขึ้นมาตลอดอีกด้วย (ลดลงไปเพียงปีเดียวคือ พ.ศ. 2558 จากนั้นก็กลับมาเพิ่มขึ้นอีก) ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า การใช้โทษทางอาญาอย่างรุนแรง ไม่ได้ให้ผลสำเร็จเป็นการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในคดียาเสพติดได้เลย

2. ความเข้าใจเกี่ยวกับผลร้ายของยาเสพติด จนนำมาสู่การสนับสนุนให้ใช้โทษทางอาญาอย่างรุนแรงนั้น เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่

เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้ว ที่ความหวาดกลัวซึ่งสังคมมีต่อยาบ้า ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญที่สนับสนุนการดำรงอยู่ของการใช้โทษทางอาญาอย่างรุนแรงในคดีที่เกี่ยวข้อง และหากนับรวมยาเสพติดชนิดอื่นๆ ด้วย ความหวาดกลัวดังกล่าวก็ยิ่งดำเนินมาอย่างยาวนานกว่านั้น ทว่า ในการเดินทางอันยาวนานนั้น กลับไม่เคยมีครั้งใดเลยที่ประเทศไทยได้ทำการศึกษาอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามหลักวิทยาศาสตร์ ว่าแท้จริงแล้ว ยาเสพติดต่างๆ โดยเฉพาะยาบ้า ให้ผลเลวร้ายดังที่เราต่างหวาดกลัวกันตลอดมาหรือไม่

ปัญหาสำคัญก็คือ เมื่อไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนแบบนั้น แล้วทัศนคติที่สังคมมีต่อยาเสพติดซึ่งมักเป็นไปในทางที่ว่าเมื่อเสพแล้วต้องติดในทันทีรวมทั้งจะต้องนำไปสู่การก่ออาชญากรรมอื่นๆ อย่างแน่นอนนั้นเป็นจริงแค่ไหน ยิ่งกับกรณีของยาบ้าแล้ว ความหวาดกลัวของเรามาจากภาพข่าวการที่ผู้เสพยาบ้าคุ้มคลั่งจนนำไปสู่การทำร้ายตนเองและผู้อื่น แต่เราได้เคยลองหยุดคิดสักนิดหรือไม่ครับว่า ในจำนวนผู้เสพมากมายเป็นหมื่นเป็นแสนขนาดนี้ มีกรณีที่คุ้มคลั่งจนทำร้ายตัวเองและผู้อื่นอยู่สักกี่คดีกัน และก็ดังที่ผมมักบอก นั่นก็คือ ถ้าเสพแล้วต้องคลั่งอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ป่านนี้เราจะเห็นคนคลั่งจำนวนมหาศาลวิ่งพล่านอยู่เต็มถนนแล้ว

ผมเข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับยาเสพติดมาหลายหน และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งไทยและต่างประเทศหลายท่านก็ล้วนยืนยันไปในทางเดียวกันว่า แม้การเสพยาบ้าจะทำให้เกิดการคุ้มคลั่งได้จริง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าถ้าเสพยาบ้าแล้วจะต้องเกิดความคุ้มคลั่งอย่างแน่นอน เนื่องจากการจะไปถึงจุดที่คุ้มคลั่งได้นั้นต้องมีปัจจัยประกอบอีกหลายประการ แต่โดยลำพังการเสพแล้ว ถ้าไม่มากเกินไป ก็ไม่สามารถทำให้เกิดความคุ้มคลั่งได้

ผมอยากให้คุณผู้อ่านได้ลองย้อนไปอ่านบทสัมภาษณ์ของมาดามรูท ไดรฟัสส์ (Ruth Dreifuss) อดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่าประเทศของเธอนั้นมีพัฒนาการทางทัศนคติอย่างไรต่อปัญหายาเสพติด รวมทั้งรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องพัฒนาการในการแก้ปัญหายาเสพติดของสวิตเซอร์แลนด์ ที่เปลี่ยนแปลงจากการปราบปรามอย่างรุนแรงมาจนเป็นการใช้สิ่งที่เรียกว่า เรียกว่า HAT (Heroin-Assisted Treatment) ซึ่งเป็นการแจกเฮโรอีนให้ผู้ใช้ได้เสพในสถานที่ที่ทางการจัดไว้ให้ ซึ่งการทำเช่นนั้นกลับให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าแก่สังคม และมันเกิดขึ้นได้เพราะการเลือกจะลองผิดลองถูกและใช้การศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มาช่วย แม้ว่าอาจจะขัดกับภาพจำและความเข้าใจที่สังคมมีต่อยาเสพติดเป็นการทั่วไปก็ตามที

ดร.คาร์ล ฮาร์ต (Carl Hart) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา บอกว่า

1. เมทแอมเฟตามีนนั้นทำให้คนตื่นตัวตลอดเวลา ผลที่เกิดจากการใช้ก็คือทำให้ไม่ได้นอน และเมื่อใช้มากเกินไปจนไม่ได้นอนหลับติดต่อกันเป็นเวลานานย่อมมีผลกระทบต่อจิตประสาท กล่าวคือ ทำให้เกิดอาการหวาดระแวง อันสามารถนำไปสู่การคุ้มคลั่งดังที่เห็นในภาพข่าวได้ ซึ่งหมายความว่าอาการเหล่านั้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสารเคมีในยาโดยตรง แต่เป็นจากการที่ยาทำให้ไม่ได้นอนหลับเป็นเวลานาน

2. คนเราล้วนมีอาการทางจิตประสาทมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันมาแต่กำเนิดและระหว่างการเติบโต การใช้ยาบ้าก็อาจเหมือนตัวกระตุ้นอื่นๆ (เช่น ความเครียดจากปัญหาต่างๆ) ที่ทำให้อาการเหล่านี้กำเริบรุนแรงขึ้นมาได้ ซึ่งในกลุ่มเช่นนี้นั้น แม้จะบำบัดจนเลิกการใช้ยาได้แล้วก็จะยังคงมีอาการเหล่านี้อยู่ จึงอาจเป็นไปได้ว่าตัวยานั้นไม่ใช่สาเหตุหลักเพียงอย่างเดียวของอาการทางจิตประสาทที่เกิดขึ้น แต่มีเรื่องพันธุกรรมแฝงและสภาพสุขภาพจิตดั้งเดิมที่ติดตัวมาด้วย

3. การใช้โทษทางอาญากับคดียาเสพติดในลักษณะที่เป็นอยู่นั้นสามารถทำให้คุก “คืนคนดีสู่สังคม” ได้จริงหรือไม่

การจะทำให้คุกเป็นที่ที่คืนคนดีสู่สังคมได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ ทว่า ด้วยปัจจัยดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ผมมองไม่เห็นเลยว่าคุกจะทำหน้าที่เช่นนั้นได้อย่างไร

ดังกล่าวไปในตอนที่แล้วว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังทั้งสิ้น 325,298 คน ซึ่งจำนวนดังกล่าวนี้นั้น สูงกว่าจำนวนผู้ต้องขังที่เรือนจำรองรับได้ (217,000 คน) ถึง 108,298 คน และในจำนวนอันเกินขีดจำกัดนั้น เป็นผู้ต้องขังโทษในคดียาเสพติดจำนวน 237,655 คน ก็น่าจะพอเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า จำนวนผู้ต้องขังที่เกินขีดจำกัดเช่นนี้ ย่อมมีผลต่อการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน

การที่มีผู้ต้องขังมากมายเกิดความสามารถรองรับของเรือนจำขนาดนี้ เป็นผลมาจากการใช้โทษอาญาอย่างล้นเกิน โดยเฉพาะกับคดียาเสพติด ซึ่งเราก็คงได้เห็นจากตัวเลขข้างต้นแล้วว่า ลำพังผู้ต้องขังในคดียาเสพติดนั้น ก็เกินกว่าจำนวนที่เรือนจำจะรองรับได้ไปถึง 27,655 คน หรือก็คือเกินมาประมาณ 12.74%

ปัญหาใหญ่สุดที่ทำให้คุกไม่สามารถคืนคนดีสู่สังคมได้จริงก็น่าจะเป็นทัศนคติที่มีต่อการใช้คุกของสังคมไทยนี่แหละครับ สังคมเราดูเหมือนจะอยากให้ใช้คุกไปในทางแก้แค้นมากกว่าแก้ไข หรือถ้าคิดจะใช้แก้ไขก็คิดว่าจะแก้ไขได้ด้วยวิธี “เอาคืน” กันหนักๆ จะได้หลาบจำ (ซึ่งก็เป็นการคิดอย่างแก้แค้นอยู่ดีนั่นแหละ) วิธีคิดแบบนี้นั้นโบราณและไร้ประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือด้วย

ผมคิดว่าสังคมของเราควรจะเปลี่ยนวิธีในการใช้คุกเพื่อแก้ปัญหาการกระทำผิดกฎหมายกันเสียที กล่าวคือ หากเรามองว่าคนบางคนนั้นทำผิดอย่างร้ายแรงจนชวนให้คิดว่าความเป็นมนุษย์ของเขาบกพร่องไป คุกก็ควรเป็นที่ที่ส่งเสริมเพิ่มเติมให้ความเป็นมนุษย์ที่บกพร่องไปนั้นกลับมาเต็มที่เต็มทางได้ ไม่ใช่ยิ่งไปกัดกินความเป็นมนุษย์ที่บกพร่องไปแล้วนั้นต้องเว้าแหว่งมากขึ้นไปอีก

การใช้โทษทางอาญาอย่าล้นเกินนั้นกระทบกระเทือนต่อประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบนะครับ เริ่มตั้งแต่ทำให้มีคดีอาญาเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งย่อมสามารถส่งผลกระทบต่อความละเอียดในการพิจารณาคดีได้ และถ้าการพิจารณาคดีไม่สามารถทำให้ผู้ต้องหาหรือสังคมสิ้นสงสัยต่อโทษที่มีการพิพากษาได้ หรือกระทั่งเกิดความหละหลวมในการพิจารณาจนทำให้พิพากษาผิด ก็ย่อมเป็นผลเสียแก่ความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมเอง ซึ่งนั่นเป็นปัญหาต้นน้ำ

รายงานสถิติคดีของศาลทั่วราชอาณาจักรที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ศาลยุติธรรมระบุว่า คดีอาญาที่เข้าสู่ศาลชั้นต้นในปี พ.ศ. 2557, 2558 และ 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 665,722 คดี, 647,664 คดี และ 634,796 คดี ตามลำดับ โดยในแต่ละปีดังกล่าวนั้นสามารถพิจารณาคดีเสร็จสิ้นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 620,239 คดี (ร้อยละ 93.17), 604,434 คดี (93.33) และ 590,277 (92.99) ตามลำดับ (ดูรายละเอียดได้ที่นี่ และที่นี่)

ในส่วนกลางน้ำอย่างการเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ก็ดังที่บอกไปแล้วครับว่าด้วยจำนวนผู้ต้องขังที่ล้นเกินกว่าความสามารถรองรับของเรือนจำนี้ก็ย่อมทำให้เกิดปัญหากับประสิทธิภาพในการฟื้นฟูผู้กระทำผิดอย่างแน่นอน เนื่องจากไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง คำกล่าวที่ว่าเรือนจำกลายเป็นที่ซ่องสุมฝึกปรือวิชาโจรให้แกร่งกล้ามากขึ้นนั้นไม่ได้ผิดไปเสียทีเดียวนะครับ มันกลายเป็นเช่นนั้นได้ และมันก็เป็นเช่นนั้นอยู่ ซึ่งนั่นก็เกิดขึ้นเพราะเรือนจำไม่ได้เป็นสถานที่ที่ทำให้คนมีความหวังว่าตนเองจะสามารถกลับไปเป็น “คนดี” ในสังคมได้ เรารังแต่จะใช้เรือนจำในฐานะของสถานที่ที่เพิ่มความหวาดกลัวต่อการกระทำผิด โดยที่ไม่ได้พยายามทำให้เป็นสถานที่ที่ทำให้คนมีความหวังกับการกระทำถูก ซึ่งนั่นจะต่างอะไรกับชีวิตก่อนที่จะมาเป็นผู้ต้องขังล่ะครับ และถ้าเรายังใช้เรือนจำกันในลักษณะนี้ก็คงไม่อาจไปแก้ไขทัศนคติของผู้กระทำความผิดได้ และยังจะยิ่งไปเป็นการไปตอกย้ำให้ผู้กระทำผิดไม่เห็นคุณค่าของการกระทำถูกกฎหมายยิ่งขึ้นไปอีก

ผู้ต้องขังเล่าให้ฟังว่า บนเสื้อนั้นจะมีการปักถ้อยคำต่างๆ เอาไว้เพื่อให้จำได้ว่าเสื้อตัวไหนเป็นของใคร และการปักนั้นก็จะมีตั้งแต่ชื่อของผู้ต้องขัง ไปจนถึงประโยคแสดงความรู้สึกดังในรูป
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้อ้างถึงงานศึกษาในต่างประเทศที่ระบุว่า ผู้กระทำผิดนั้นมักเป็นผู้ที่มีความผูกพันกับสังคมต่ำ ซึ่งเมื่อคิดตามแนวคิดดังกล่าวนี้แล้ว หากเราใช้เรือนจำเป็นสถานที่ที่ทำให้ผู้ต้องขังต้องถูกตัดขาดจากสังคมในทุกๆ ด้านมากขึ้นไปอีก ก็ย่อมหมายความว่าเรากำลังเพิ่มโอกาสในการกระทำผิดซ้ำ มากกว่าจะทำให้เขาหรือเธอรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งในสังคมพอจะเห็นคุณค่าในชีวิตตนเองและผู้อื่น

และเมื่อมาถึงปลายน้ำอย่างการพ้นโทษออกจากเรือนจำไปแล้ว การใช้โทษทางอาญาอย่างล้นเกินย่อมก่อให้เกิดตราบาปติดตัวอดีตผู้ต้องขังออกไปจนเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มชีวิตใหม่ได้ ซึ่งเราก็เห็นได้ง่ายๆ จากระเบียบการสมัครงานของสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ ที่ไม่ยอมรับคนที่เคยมีประวัติต้องโทษเข้าทำงาน จนบางทีผมก็สงสัยว่า ถ้าโลกข้างนอกเป็นเช่นนี้ แล้วเราจะเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังร่ำเรียนทางไกลจนจบการศึกษาจากในเรือนจำไปเพื่ออะไร

อะไรแบบนี้นี่แหละครับ ที่ทำให้ผมคิดว่า ถ้าเรายังใช้โทษอาญากันอย่างล้นเกินดังที่เป็นอยู่ โดยล้นเกินทั้งในตัวกฎหมายและในทัศนคติของสังคม กระบวนการยุติธรรมของเราก็คงแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะยาเสพติด อย่างผิดที่ผิดทางต่อไปเรื่อยๆ และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็คงไม่ต้องพูดกันไปถึงการคืนคนดีสู่สังคม เพราะเอาแค่คืนคนที่เต็มคนสู่สังคมก็คงยังทำไม่ได้เลย ดีไม่ดีจะยิ่งเป็นการคืนคนที่ความเป็นคนเว้าแหว่งมากขึ้นกลับออกมาสู่สังคมด้วยซ้ำ