ThaiPublica > คอลัมน์ > การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด: ประสบการณ์ของ รูท ไดรฟัสส์ อดีตประธานาธิบดีหญิงสวิตเซอร์แลนด์คนแรก

การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด: ประสบการณ์ของ รูท ไดรฟัสส์ อดีตประธานาธิบดีหญิงสวิตเซอร์แลนด์คนแรก

22 เมษายน 2017


ณัฐเมธี สัยเวช

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมเปิดตัวรายงานประจำปีของคณะกรรมาธิการสากลว่าด้วยนโยบายยาเสพติด (Global Commission on Drug Policy) ฉบับที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นโดยโครงการกำลังใจ ในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม

ไฮไลต์สำคัญของงานดังกล่าว ก็คือการมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้นโยบายยาเสพติดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งไม่ได้ใช้การปราบปรามอย่างรุนแรง แต่ใช้แนวทาง “การลดทอนอันตรายจากการใช้ยาเสพติด” (harm reduction) โดยผู้ที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์นั้นก็คือ มาดามรูท ไดรฟัสส์ (Ruth Dreifuss) อดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสากลว่าด้วยนโยบายยาเสพติด

นอกจากจะได้รับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์ของมาดามรูทร่วมกับทุกคนที่เข้าร่วมการประชุมแล้ว ผมยังมีโอกาสได้สัมภาษณ์เธอโดยตรง เลยอยากจะนำมาเล่าให้ฟังดังนี้ครับ

ผมเริ่มถามมาดามรูทด้วยข้อสงสัยที่หลายๆ คนคงยังคาใจ ว่าเพราะเหตุใดถึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางนโยบายยาเสพติด ซึ่งคำตอบของเธอก็คือ นโยบายยาเสพติดที่ใช้กันมาตลอด 50 ปี ซึ่งมีลักษณะของการยับยั้งห้ามปรามและการใช้กระบวนการลงโทษลงทัณฑ์ทุกคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นแนวนโยบายที่ก่อผลลัพธ์อันเลวร้ายขึ้นมาครับ

มาดามรูทให้เหตุผลว่า นโยบายในลักษณะที่ผ่านมานั้นนำมาทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ (นี่เป็นสิ่งที่สวิตเซอร์แลนด์ต้องเผชิญอย่างรุนแรงในยุคทศวรรษ 1980 ซึ่งยังไม่มียาต้านไวรัสเอชไอวี และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวีนั้นเกี่ยวข้องกับการใช้เฮโรอีนอย่างชัดเจน) โรคไวรัสตับอักเสบซี และยังเป็นแนวนโยบายที่ผลักผู้ใช้ยาเสพติดออกไปอยู่ที่ชายขอบของสังคม ถูกผลักออกไปจากโอกาสทางเศรษฐกิจ ครอบครัวแตกแยก และในบางส่วนของโลกนั้น ความโหดร้ายขององค์กรอาชญากรรมที่ควบคุมการผลิตและซื้อขายยาเสพติดนั้นได้ทำให้ผู้คนนับหมื่นต้องเสียชีวิตไปในสงครามยาเสพติด

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมถึงต้องเปลี่ยนแนวทางการจัดการกับยาเสพติดจากในทัศนะเชิงอาชญากรรมมาเป็นมุมมองทางสุขภาพ ซึ่งมุมมองทางสุขภาพในความหมายนี้ก็คือการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ยาเสพติดสามารถเข้ารับการบำบัดรักษาโดยสมัครใจ ไม่ใช่ใช้การบังคับ และใช้มาตรการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดเพื่อช่วยให้ผู้ที่ใช้ยาเสพติดสามารถรักษาสุขภาพ ชีวิต รวมทั้งสิ่งแวดล้อมของตัวเองไว้ได้ แม้จะยังใช้ยาเสพติดก็ตาม

มาดามรูทบอกด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มต้นได้เพราะรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์เล็งเห็นว่าประชากรกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายอันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายยาเสพติดที่ผิดพลาด (สวิตเซอร์แลนด์นั้นลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ ครับ การปราบปรามก็เคยใช้) จนนำไปสู่การอภิปรายในระดับนานาชาติที่แสดงให้เห็นว่าฉันทามติเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติดด้วยการห้ามปรามที่ถือร่วมกันมากว่า 20 ปีนั้นไม่เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่อีกต่อไปแล้ว จึงจำเป็นต้องให้ประเทศต่างๆ ช่วยกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ที่อยู่บนฐานของสาธารณสุข, สิทธิมนุษยชน, 4 เสาหลัก1, การปกป้องประชากรของตนเอง แล้วใช้ประสบการณ์ที่แต่ละประเทศมีมาสร้างเป็นฉันทามติใหม่ของโลก

“ถ้าเราให้ความสำคัญกับสุขภาพเป็นอันดับแรก เรายังควรจะลงโทษผู้คนอีกต่อไปหรือ การลงโทษผู้คนจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายสุขภาพหรือไม่ ซึ่งข้อสรุปที่ชัดเจนก็คือ คุณไม่สามารถใช้อำนาจควบคุมบังคับและลงโทษผู้คนไปพร้อมกับบอกพวกเขาว่า ‘ได้โปรดเถิด คุณกำลังป่วย ให้เราช่วยคุณเถอะนะ’ มันไม่มีทางไปด้วยกันได้”

(รูท ไดรฟัสส์)

เมื่อคุยกันมาถึงตอนนี้ ผมก็นึกถึงประเทศไทยเรา ที่พอมีข่าวว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยจะเปลี่ยนการปราบปรามมาใช้แนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างรู้เท่าทัณฑ์ ก็ได้รับเสียงต่อต้านจากประชาชนอย่างรุนแรง ก็เลยสงสัยขึ้นมาว่า แล้วกรณีของสวิตเซอร์แลนด์นั้นเป็นอย่างไรเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายที่ใช้ในการแก้ปัญหายาเสพติด

ก่อนจะตอบคำถามดังกล่าว มาดามรูทได้เล่าให้ฟังว่าประชาชนชาวสวิสนั้นมีความกลัวต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวีเป็นอันมาก และนอกจากนั้น ประชาชนชาวสวิสยังได้ตระหนักถึงปัญหาของยาเสพติดจากการที่ครั้งหนึ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้เคยทดลองใช้การแก้ปัญหายาเสพติดด้วยการเปิด “พื้นที่เสรี” (open scene) ที่อนุญาตให้ดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นการขาย การซื้อ การเสพ ได้โดยที่จะไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายหากกระทำไปในพื้นที่เสรีดังกล่าว

[ตรงนี้ผมขอเล่าจากที่ไปสืบคนข้อมูลเพิ่มมาครับ พื้นที่ เสรีที่ว่านั่นก็คือ “สวนสาธารณะพลาตซ์สปิตซ์” (Platzspitz Park) หรือที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “สวนเข็ม” (Needle Park) เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 แต่ต่อมาก็ต้องปิดตัวลงเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานที่นี้นั้นหนักหนาเกินกว่าจะควบคุมได้มากขึ้นเรื่อยๆ]

แม้การตัดสินใจสร้างพื้นที่เสรีสำหรับกิจกรรมเกี่ยวกับยาเสพติดในครั้งนั้นจะจบไม่สวย แต่มาดามรูทบอกว่าการดำเนินนโยบายครั้งนั้นก็ทำให้ประชาชนทั่วไปของสวิตเซอร์แลนด์ได้มองเห็นความรุนแรงของปัญหายาเสพติดเป็นประจักษ์แก่ตาตัวเอง ไม่ว่าจะสภาพของคนที่เสพยาเกินขนาดจนเสียชีวิตลงที่ข้างถนน สุขภาวะที่เลวร้าย หรือกระทั่งคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและตกเป็นทาสของผู้ค้ายาเสพติด และสิ่งเหล่านี้นี่เองที่ทำให้สาธารณชนรู้สึกช็อกและสิ้นหวังกับปัญหายาเสพติด นั่นทำให้เมื่อมีการเสนอแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหา หรือก็คือแนวทางของการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด แทนที่จะเป็นการปราบปรามเด็ดขาดเพื่อกำจัดให้หมดไป มาดามรูทบอกว่าสาธารณชนก็มีความเห็นไปในลักษณะที่ว่า “เอาล่ะ ในเมื่อมาถึงตอนนี้แล้วอะไรก็ไม่เวิร์ก เราก็ควรจะลองดู”

และตรงนี้น่าสนใจมากครับ มาดามรูทบอกว่า สิ่งที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ทำในตอนนั้นก็คือมีการสร้างการควบคุมดูแลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ประชาชนชาวสวิสสามารถได้รับข้อมูลหลักฐานจากการวิจัย ทางการสวิตเซอร์แลนด์ได้ทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการจ่ายเฮโรอีนตามใบสั่งของแพทย์อยู่เป็นเวลา 5 ปี โดยผู้ขอรับเฮโรอีนจะต้องตอบคำถามมากมายภายใต้การควบคุมของผู้เชี่ยวชาญ และในที่สุด สวิตเซอร์แลนด์ก็สามารถเผยแพร่รายงานทางวิทยาศาสตร์ออกสู่สาธารณะ และสามารถบอกกับสาธารณชนได้ว่าแนวทางของการลดความรุนแรงจากการใช้ยาเสพติดนี้เป็นสิ่งที่ดี ผู้ใช้ยาไม่ใช่อาชญากรอีกต่อไป ไม่ต้องก่ออาชญากรรมเพื่อหาเงินมาซื้อยา สุขภาพโดยรวมดีขึ้น และยังได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

ในช่วงท้าย ผมได้ถามมาดามรูทว่า สิ่งใดคือปัจจัยสู่ความสำเร็จ และสิ่งใดคืออุปสรรค ของการเปลี่ยนแนวทางนโยบายยาเสพติดมาเน้นการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดแทนการควบคุมปราบปรามและพยายามกำจัดให้หมดสิ้น ซึ่งมาดามรูทตอบว่า สิ่งสำคัญก็คือการมองดูความจริง ว่าแนวทางการแก้ปัญหาที่ทำกันมาหลายทศวรรษนั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เรามองแต่เพียงว่ายาเสพติดเป็นสิ่งไม่ดีแล้วก็เลยบอกว่าเราต้องไม่ยุ่งกับมัน และนั่นเป็นความล้มเหลว และในส่วนของอุปสรรคก็คือ ผู้คนยังเชื่อว่าคนที่ติดยาเสพติดนั้นเป็นคนเลว และเราต้องเปลี่ยนแปลงภาพนั้น

ครับ เป็นบทสนทนาสั้นๆ ภายในเวลาอันจำกัด แต่ก็พอทำให้เห็นภาพพอสมควรว่า สิ่งสำคัญที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืนนั้น น่าจะสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้ครับ

  • ยอมรับความจริงว่าแนวทางการลงโทษที่รุนแรงนั้นใช้การไม่ได้ผล
  • หันหาแนวทางใหม่ที่ใช้มุมมองทางสาธารณสุขและยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นตัวตั้ง
  • แก้ไขทัศนคติที่มองว่าผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็นคนเลว
  • สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งเรื่องการตัดสินใจใช้ยาเสพติดและเรื่องผลทางเภสัชวิทยาที่ยาเสพติดกระทำต่อผู้ใช้
  • ไม่กีดกันผู้ใช้ยาเสพติดออกไปจากสังคม แต่ต้องหาทางให้เขากลับเข้ามาอยู่ร่วมกับสังคมได้
  • ในการนำแนวทางแก้ไขแบบใหม่ซึ่งอยู่ภายใต้หลักการของการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดมาใช้ ต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อันน่าเชื่อถือได้ รวมทั้งผลการวิจัยที่ได้จากการติดตามการใช้แนวทางใหม่นั้น ออกสู่สังคมให้รับรู้โดยทั่วกันเพื่อให้สังคมได้รับรู้ถึงข้อดีและข้อเสียของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
  • ฝากไว้ให้พิจารณากันครับ

    1 Four Pillars drug strategy หรือ 4 เสาหลักยุทธศาสตร์ยาเสพติด ประกอบด้วย การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (harm reduction), การป้องการการใช้ยาเสพติด (prevention), การบำบัดรักษา (treatment) และการบังคับใช้กฎหมาย (enforcement)