ThaiPublica > คอลัมน์ > จากการทดลองเรือนจำสแตนฟอร์ดถึงเรือนจำอาบู กราอิบ ลูซิเฟอร์เอฟเฟกต์ของ ดร.ซิมบาร์โด กับคำถามสำคัญเรื่องถังกับแอปเปิล (ตอนที่ 1)

จากการทดลองเรือนจำสแตนฟอร์ดถึงเรือนจำอาบู กราอิบ ลูซิเฟอร์เอฟเฟกต์ของ ดร.ซิมบาร์โด กับคำถามสำคัญเรื่องถังกับแอปเปิล (ตอนที่ 1)

30 เมษายน 2018


ณัฐเมธี สัยเวช

ใน ค.ศ. 1971 ฟิลิป ซิมบาร์โด (Philip Zimbardo) ได้ทำการทดลองทางจิตวิทยาอันลือลั่นที่มีชื่อว่า การทดลองเรือนจำสแตนฟอร์ด หรือ Stanford Prison Experiment การทดลองดังกล่าวเป็นการสร้างเรือนจำจำลองขึ้นมา แล้วให้อาสาสมัครซึ่งเป็นนักศึกษา 24 รายไปอยู่ในเรือนจำดังกล่าวเป็นเวลา 14 วันโดยแลกกับค่าตอบแทนวันละ 15 เหรียญ หรือเทียบเป็นประมาณ 94 เหรียญในปัจจุบันนี้ (ค.ศ. 2018) อาสาสมัครทั้งหมดนั้นจะถูกแบ่งเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งจะได้รับบทผู้คุม ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้รับบทผู้ต้องขัง การคัดเลือกอาสาสมัครนั้นจะใช้เกณฑ์ว่าต้องไม่เคยมีประวัติอาชญากร ไม่มีความบกพร่องทางจิต และไม่มีปัญหาทางการแพทย์ หรือเรียกว่ามีสุขภาพจิตที่ดีทั้งทางกาย ใจ และสังคมนั่นเอง

เพื่อการนั้น ส่วนหนึ่งของชั้นใต้ดินคณะจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดได้ถูกแปรสภาพเป็นเรือนจำจำลอง ประตูห้องแล็บถูกเปลี่ยนเป็นประตูห้องขังซึ่งทำจากเหล็ก มีช่องลูกกรง และมีหมายเลขห้อง ทางเดินหน้าห้องต่างๆ เป็นพื้นที่ภายนอกห้องขังเพียงส่วนเดียวที่อนุญาตให้ผู้ต้องขังจำลองใช้เดิน รับประทานอาหาร ออกกำลัง แต่ห้ามไปเข้าห้องน้ำที่สุดทางเดิน นอกจากนี้ ยังมีการใช้ตู้ขนาด 2×2 ฟุต ที่อยู่ตรงข้ามกับห้องขังเป็นห้องสำหรับขังเดี่ยวด้วย ซึ่งด้วยความกว้างและยาวดังกล่าว เมื่อเข้าไปอยู่ภายในแล้ว ผู้ต้องขังจำลองย่อมทำอะไรไม่ได้นอกจากยืนเดียวดายในความมืด

การทดลองของซิมบาร์โดนั้นจริงจังและสมจริงเป็นอย่างมาก หลังจากคัดเลือกอาสาสมัครและแบ่งฝั่งว่าใครจะได้รับบทผู้คุมและใครจะได้รับบทผู้ต้องขัง (ด้วยการโยนเหรียญ) เรียบร้อยแล้ว การเข้าสู่การทดลองมิได้เริ่มโดยการเดินทางมายังเรือนจำจำลองตามวันเวลาที่นัดหมาย แต่คือในฝ่ายของผู้ต้องขังจำลองนั้นจะมายังสถานที่ทำการทดลองด้วยการถูกตำรวจจริงๆ ไปจับกุมตัวถึงบ้านในข้อหาละเมิดความตามกฎหมายอาญามาตรา 211 (ใช้อาวุธปล้นชิงทรัพย์) และมาตรา 459 (บุกรุกเคหสถานหรือยานพาหนะของผู้อื่นเพื่อลักขโมย) ของรัฐแคลิฟอร์เนีย พวกเขาถูกสั่งให้ยืนเอามือยันกับรถตำรวจและกางแขนขาออกเพื่อให้ตรวจค้นร่างกาย ถูกใส่กุญแจมือ ได้รับการแจ้งสิทธิต่างๆ ถูกนำไปทำประวัติที่สถานีตำรวจ จากนั้นถูกผูกตาแล้วพาไปยังเรือนจำจำลองเพื่อเข้าสู่การทดลองของซิมบาร์โด

ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Stanford Prison Experiment (https://goo.gl/mQwfBw)

เมื่อมาถึงสถานที่ทดลองแล้ว เหล่าผู้ต้องขังจำลองได้พบกับพัศดีจำลองที่บอกกล่าวให้พวกเขาฟังที่ความรุนแรงของความผิดที่ตนเองกระทำลงไป จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการทำให้อับอาย ทำลายความเป็นมนุษย์ และการทำลายตัวตนทุกรูปแบบตามแบบฉบับของเรือนจำ โดยเริ่มตั้งแต่การให้เปลือยกายล่อนจ้อนให้ตรวจค้น การฉีดสเปรย์กำจัดเหาและเชื้อโรค ได้รับเครื่องแบบที่ลักษณะเหมือนชุดกระโปรงของผู้หญิง เทียบกับของไทยแล้วเครื่องแบบดังกล่าวมีสีน้ำตาลลูกวัวตลอดทั้งตัวแบบ “ชุดออกศาล” หรือชุดที่ผู้ต้องขังซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุดสวมใส่ นักโทษจำลองจะต้องสวมใส่เครื่องแบบนี้โดยไม่มีชุดชั้นใน เครื่องแบบดังกล่าวมีหมายเลขผู้ต้องขังติดอยู่ทั้งด้านหน้าและหลัง พวกเขาจะต้องสวมใส่รองเท้าแตะยางและมีโซ่ล่ามไว้ที่ข้อเท้าขวา นอกจากนี้ นักโทษจำลองของซิมบาร์โดยังต้องเอาถุงเท้าในลอนของผู้หญิงคลุมผมไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนการโกนหัวด้วย

ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Stanford Prison Experiment (https://goo.gl/n6qdyc)

ซิมบาร์โดชี้แจงว่า แม้ผู้ต้องขังในเรือนจำจริงๆ จะไม่ได้แต่งกายเช่นนี้ แต่เขาเลือกให้เครื่องแบบเป็นเช่นนี้เพื่อทำให้ความอับอายและลดทอนความเป็นชายของผู้ต้องขังดังที่เกิดแก่ผู้ต้องขังชายจริงๆ เกิดขึ้นแก่ผู้ต้องขังจำลองบ้างอย่างรวดเร็ว (ซึ่งมันได้ผล เพราะหลังสวมใส่ได้ไม่นานท่าทางพวกเขาก็เปลี่ยนไป) นอกจากนี้ ผู้ต้องขังชายจริงๆ ก็ไม่ต้องสวมโซ่ไว้ที่ข้อเท้าเช่นกัน แต่เขาเลือกจะสวมใส่ให้ผู้ต้องขังจำลองเพื่อให้เจ้าตัวรู้สึกถึงการถูกกดขี่อยู่ตลอดเวลา เพื่อได้รู้ตัวว่าอยู่ในเรือนจำ และไม่มีทางหนีไปไหนได้แม้แต่ในความฝัน (เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในการทดลองแต่ก็อดร้องไม่ได้ว่านี่มันจะจริงจังไปไหน!! ทำไมโหดร้ายจังเว้ยเฮ้ย!!, ผู้เขียน) ส่วนหมายเลขประจำตัวบนเครื่องแบบนั้นเป็นไปเพื่อทำให้ผู้ต้องขังจำลองหลุดจากตัวตนดั้งเดิมไปสู่ความเป็นนิรนาม เพราะจากนี้พวกเขาจะถูกเรียกด้วยหมายเลขดังกล่าวเท่านั้น และการให้สวมถุงน่องครอบผมไว้ก็เป็นการทำลายความเป็นปัจเจกบุคคลในแบบเดียวกับการกล้อนผมจริงๆ เนื่องจากผู้คนมักแสดงความแตกต่างผ่านความหลากหลายของทรงผม และทั้งหมดนี้นั้นก็คือกระบวนการทำให้อับอาย ทำลายความเป็นมนุษย์ และการทำลายตัวตนทุกรูปแบบนั่นเอง

ในข้อตกลงความยินยอมในการเข้าร่วมทดลองนั้น ผู้ที่ได้รับบทผู้ต้องขังต้องยินยอมให้ตนเองถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวและสิทธิพลเมือง และในการนี้ ทางฝ่ายที่รับบทผู้คุมซึ่งทีมวิจัยของซิมบาร์โดต้องการทำการศึกษาเช่นกันก็ได้สร้างกฎขึ้นมาเอง โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพัศดีจำลองซึ่งเป็นทีมงานของซิมบาร์โด หน้าที่ของผู้คุมจำลองนั้นคือการรักษากฎระเบียบของเรือนจำและทำให้ผู้ต้องขังจำลองเคารพยำเกรง พวกเขาสวมใส่เครื่องแบบสีกากี มีนกหวีดคล้องคอ ถือไม้กระบองที่ทางทีมวิจัยยืมมาจากตำรวจจริงๆ และสวมแว่นกันแดดแบบที่เลนส์เป็นกระจกเงาเพื่อไม่ให้ผู้อื่นรับรู้ถึงอารมณ์ของพวกเขาผ่านสายตาได้

ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Stanford Prison Experiment (https://goo.gl/UkSLHP)

ในคืนแรกของการทดลองนั้นไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรนอกจาการที่ผู้คุมจำลองเรียกผู้ต้องขังจำลองออกมานับจำนวน และมีการสั่งลงโทษคนที่นับเสียงไม่ดังด้วยการให้วิดพื้น แต่เช้าวันที่สอง ฝ่ายผู้ต้องขังจำลองบางส่วนได้แสดงการต่อต้านด้วยการถอดถุงน่องคลุมผมออก เอาเตียงมาขวางประตู และปฏิเสธที่จะออกมาจากห้องขัง เหตุการณ์นี้จบลงด้วยการที่ผู้คุ้มจำลองใช้ถังดับเพลิงฉีดใส่แล้วบุกเข้าไปในห้องขังจำลอง จับผู้ต้องขังจำลองเปลื้องผ้า ยึดเตียง ขังผู้นำการต่อต้านไว้ในห้องขังเดี่ยว (ตู้เสื้อผ้าแคบๆ ที่บอกไปตอนต้น) และเริ่มคุกคามรวมทั้งสร้างความอับอายให้แก่ผู้ต้องขังจำลองมากขึ้น ทว่า ในการตอบการต่อต้านในครั้งนี้นั้น ได้มีการสร้างห้องขังสำหรับผู้มีสิทธิพิเศษขึ้นมา โดยทีแรกนั้นให้ผู้ที่ไม่เข้าร่วมการต่อต้านไปอยู่ก่อน ในห้องขังสำหรับผู้มีสิทธิพิเศษนี้ ผู้ต้องขังจำลองจะได้เครื่องแบบและเตียงคืน รวมทั้งได้รับการอนุญาตให้อาบน้ำแปรงฟัน แถมยังได้อาหารพิเศษมากินให้ผู้ต้องขังอื่นๆ เห็นอีกด้วย ซึ่งจุดประสงค์นั้นก็เพื่อทำลายความสามัคคีในเหล่าผู้ก่อการต่อต้าน จากนั้นก็มีการสลับเอาผู้ต้องขังจำลองกลุ่มนี้กลับไปอยู่ในห้องขังแย่ๆ ตามเดิม แล้วเอาผู้ต้องขังจำลองอีกกลุ่มมาอยู่ในห้องขังสำหรับผู้มีอภิสิทธิ์ การทำเช่นนี้ทำให้กลุ่มผู้นำการต่อต้านเกิดความคลางแคลงว่ากลุ่มแรกที่กลับมานั้นอาจกลายเป็นสายให้ฝั่งผู้คุมจำลองไปแล้ว และนั่นทำให้กระบวนการทำลายความไว้วางใจระหว่างผู้ต้องขังจำลองด้วยกันเองที่ฝั่งผู้คุมจำลองคาดหวังไว้เป็นผลสำเร็จ

การใช้ความรุนแรงจากฝั่งผู้คุมจำลองนั้นเพิ่มขึ้นไปอีก หลังสี่ทุ่ม ผู้ต้องขังจำลองจะถูกขังไว้ในห้องขังและถูกบังคับให้ขับถ่ายทั้งหนักและเบาในถังที่จัดไว้ในห้องขัง และบางครั้ง ผู้คุ้มจำลองก็ไม่ยอมให้เอาถังดังกล่าวนั้นไปเททิ้ง จนทำให้เพียงไม่นานเรือนจำจำลองนี้ก็คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นของสิ่งปฏิกูลของเหล่าผู้ต้องขังจำลอง

สิ่งที่เกิดขึ้นในการทดลองนั้นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผู้ต้องขังจำลองหมายเลข 8612 เริ่มแสดงอาการคุ้มคลั่ง ร้องไห้อย่างควบคุมไม่ได้ คิดไม่เป็นระบบ จนในที่สุดทางทีมวิจัยต้องปล่อยให้กลับบ้านไป ระหว่างนั้นเกิดข่าวลือว่าผู้ต้องขังจำลองหมายเลข 8612 จะพาพรรคพวกกลับมาแหกคุกพาทุกคนหนีออกไป แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดขึ้นจริง และผลคือเหล่าผู้คุมจำลองก็ยิ่งเล่นงานผู้ต้องขังจำลองที่เหลืออยู่มากขึ้นไปอีก

แม้ที่เล่ามานั้นจะพอแสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมดต่างก็ “อิน” ไปกับบทบาทที่ตนเองได้รับ แต่กรณีที่ชัดที่สุดน่าจะเป็นผู้ต้องขังจำลองหมายเลข 819 ที่เมื่อเขายืนยันว่าต้องการพบหมอพร้อมทั้งร้องไห้อย่างหนัก และซิมบาร์โดก็พาเขาไปพักในห้องอื่นพร้อมทั้งสัญญาจะหาอะไรให้กินพร้อมทั้งพาไปหาหมอ ผู้คุมจำลองคนหนึ่งก็ให้นักโทษทั้งหมดตั้งแถวแล้วตะโกนพร้อมกันว่า “นักโทษหมายเลข 819 เป็นนักโทษที่นิสัยไม่ดี เพราะสิ่งที่นักโทษหมายเลข 819 ทำนั้นทำให้คุกของเราวุ่นวายนะครับคุณเจ้าพนักงานราชทัณฑ์” ซึ่งนั่นทำให้ผู้ต้องขังจำลองหมายเลข 819 ร้องไห้หนักและไม่ยอมกลับไปยังห้องขังจำลอง เขาบอกกับซิมบาร์โดว่าตนเองกลับไปไม่ได้เพราะเป็นนักโทษที่นิสัยไม่ดี จนซิมบาร์โดต้องพูดว่า “ฟังนะ คุณไม่ใช่หมายเลข 819 คุณคือ [ชื่อของเขา] และผมก็คือ ดร.ซิมบาร์โด ผมเป็นนักจิตวิทยา ไม่ใช่ผู้ดูแลเรือนจำ และนี่ก็ไม่ใช่คุกจริงๆ นี่เป็นคนการทดลอง คนพวกนั้นไม่ใช่นักโทษ เขาเป็นนักศึกษาเหมือนคุณนั่นแหละ เราไปกันเถอะ” ซึ่งซิมบาร์โดบอกว่า พอเขาพูดจบ นักโทษจำลองคนนั้นก็หยุดร้องไห้และมองเขาราวกับเด็กน้อยที่เพิ่งตื่นจากฝันร้าย พร้อมทั้งบอกเขาว่า “โอเค ไปกันเถอะครับ”

ในเวลาต่อมา ได้มีการนำผู้ต้องขังจำลองเข้ามา ผู้ต้องขังจำลองรายนี้ได้ทำการอดอาหารประท้วง ผู้คุมจำลองจึงจับเขาขังเดี่ยวถึงสามชั่วโมงทั้งๆ ที่กฎที่พวกเขากำหนดขึ้นเองระบุว่าให้ทำได้แค่หนึ่งชั่วโมง ซิมบาร์โดบอกว่า แทนที่จะเห็นผู้ต้องขังจำลองรายนี้เป็นฮีโร่ ผู้ต้องขังจำลองรายอื่นๆ กลับมองว่าเขาเป็นตัวสร้างปัญหา และเมื่อผู้คุมจำลองที่บอกให้ทุกคนเลือกเอาว่าจะยอมสละไม่ใช้ผ้าห่ม หรือให้ผู้ต้องขังจำลองรายนี้ถูกขังเดี่ยวทั้งคืน ทุกคนก็เลือกผ้าห่ม

ที่สุดแล้ว การทดลองของซิมบาร์โดจบลงเมื่อ คริสตินา มาสลัค (Christina Maslach) แฟนสาวผู้ซึ่งจบปริญญาเอกด้านจิตวิทยาและซิมบาร์โดได้พาเธอมาเข้าร่วมในทีมวิจัยได้คัดค้านในสิ่งที่เขาทำ และนั่นทำให้การทดลองนี้จบลงภายในหกวัน แทนที่จะเป็นสิบสี่วันตามที่วางไว้

สิ่งที่ซิมบาร์โดต้องการทดลองก็คือการทดสอบสมมติฐานที่ว่า ลักษณะทางบุคลิกภาพที่ติดตัวมาของผู้ต้องขังและผู้คุมคือสาเหตุของพฤติกรรมการทารุณกรรมในเรือนจำ

แต่สิ่งที่ซิมบาร์โดค้นพบ กลับกลายเป็นการต่อยอดไปสู่อะไรที่สำคัญกว่านั้น และมันกลายเป็นหนังสือ The Lucifer Effect: Understanding How Good People Turn Evil ซึ่งเป็นความพยายามของซิมบาร์โดในการอธิบายว่าเหตุใดคนดีๆ จึงเปลี่ยนไปเป็นปีศาจร้ายได้

แล้วมาติดตามกันในตอนต่อไปครับว่าซิมบาร์โดอธิบายว่าอย่างไร