ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มหากาพย์นำเข้ารถหรู (17): ปลัดคลังสั่งสอบวินัย คนกรมศุลฯ 7 ราย คืนเงินหลวง 19 ล้าน ให้ “จูบิลี่ไลน์-นิชคาร์”

มหากาพย์นำเข้ารถหรู (17): ปลัดคลังสั่งสอบวินัย คนกรมศุลฯ 7 ราย คืนเงินหลวง 19 ล้าน ให้ “จูบิลี่ไลน์-นิชคาร์”

4 กันยายน 2017


นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1099/2560 แต่งตั้งนายจำเริญ โพธิยอด เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง ข้าราชการกรมศุลกากร 7 คน ประกอบด้วยนายบุญสืบ บุญญกนก, นายพร้อมชาย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, นายธีระ สุวรรณพงษ์, นายประพันธ์ พิสมยรมย์, นางรำพินธ์ กำแพงทิพย์ และนายบัญชา กอสนาน ตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้มูลความผิดว่าข้าราชการกลุ่มนี้มีพฤติกรรมน่าเชื่อว่าเป็นการทุจริต หรือมีการใช้อำนาจโดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและกรมศุลกากร โดยเกี่ยวข้องกับการคืนเงินค่าภาษีอากรที่ถูกผลักเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดินแล้วจำนวน 19.88 ล้านบาทให้กับ บริษัท จูบิลี่ไลน์ จำกัด ผู้นำเข้ารถยนต์ ยี่ห้อ Lamboghini รุ่น Gallardo จำนวน 16.85 ล้านบาท และบริษัท นิชคาร์ จำกัด ผู้นำเข้ารถยนต์ ยี่ห้อ Lotus รุ่น Elise S และ Exige S จำนวน 3.03 ล้านบาท

คดีนี้เกิดขึ้นช่วงต้นปี 2552 โดยบริษัท จูบิลี่ ไลน์ จำกัด ได้นำเข้ารถยนต์ ยี่ห้อ Lamboghini รุ่น Gallardo ตามใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 6 ฉบับ และบริษัท นิชคาร์ จำกัด ได้นำเข้ารถยนต์ ยี่ห้อ Lotus รุ่น Elise S และ Exige S ตามใบขนสินค้าขาเข้า จำนวน 10 ฉบับ เข้าไปในเขตปลอดอากรบางกอกฟรีโซน

ต่อมา ผู้นำเข้าทั้ง 2 ราย ได้นำรถออกจากเขตปลอดอากรเพื่อนำมาใช้หรือขายในราชอาณาจักร ขณะนำรถยนต์ผ่านพิธีการศุลกากร ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่แผนกประเมินอากร ประจำสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ มีความเห็นว่า ราคาที่ผู้นำเข้าทั้ง 2 รายสำแดงต่อกรมศุลกากรเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาทดสอบตามที่กำหนดในคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 ข้อ 2.1.1 และข้อ 2.2 วรรค 2 โดยเอกสารหลักฐานที่ผู้นำเข้านำมาชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ไม่ใช่เอกสารต้นฉบับ และหลักฐานการชำระเงินไม่ได้ผ่านการรับรองจากธนาคาร เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงสั่งให้ผู้นำเข้าทั้ง 2 รายวางเงินประกันเพิ่มเติมจนครบจำนวนเงินค่าภาษีสูงสุดที่ต้องชำระ ตามมาตรา 112 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ในกรณีบริษัท จูบิลี่ไลน์ จำกัด มีการวางเงินประกันค่าภาษีต่อกรมศุลกากรเป็นเงินทั้งสิ้น 16.86 ล้านบาท ส่วนกรณีบริษัท นิชคาร์ จำกัด วางเงินประกัน 3.43 ล้านบาท

จากนั้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 ฝ่ายบริการคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากรที่ 3 กรมศุลกากรได้ทำหนังสือเลขที่ กค 0504 (3.3)/345-346 แจ้งผู้นำเข้าทั้ง 2 รายให้ยื่นเอกสารที่เกี่ยวกับการซื้อ-ขายรถตัวจริง ส่งให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรพิจารณาภายใน 7 วัน แต่ผู้นำเข้าทั้ง 2 รายไม่ยื่นเอกสารภายในกำหนดเวลา

วันที่ 21 เมษายน 2552 เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงส่งแบบแจ้งประเมินอากร (แบบ กศก.114) ถึงผู้นำเข้าว่า ราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงต่ำกว่าราคาตามคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 ข้อ 2.1.1 จึงผลักเงินประกันของผู้นำเข้าทั้ง 2 รายวางไว้ต่อกรมศุลกากร ประมาณ 20.29 ล้านบาท เข้าเป็นรายได้ของแผ่นดิน ตามระเบียบกรมศุลกากร

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 ผู้นำเข้าทั้ง 2 รายได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์การประเมินอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามมาตรา 112 (ฉ) แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 ซึ่งปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังนี้

1. นายธีระ สุวรรณพงษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักวิชาการศุลกากรชำนาญการ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายอุทธรณ์ราคา สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร มีหน้าที่พิจารณาข้อเท็จจริง เหตุผลประกอบการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และข้อชี้แจง ข้อโต้แย้ง หรือเหตุผลของผู้อุทธรณ์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามระเบียบกรมศุลกากรที่ 19/2549 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2549 แต่นายธีระกลับไม่นำคำอุทธรณ์ ของบริษัท จูบิลี่ไลน์ จำกัด และบริษัท นิชคาร์ จำกัด ส่งให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ พิจารณาตามอำนาจหน้าที่

ทั้งที่นายธีระทราบว่าอำนาจในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ยกเลิก เพิกถอนคำสั่งของผู้ประเมินอากร เป็นอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่กลับนำคำอุทธรณ์ของผู้นำเข้าทั้ง 2 ราย มาพิจารณาเอง โดยทำความเห็นทักท้วงการประเมินอากรและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ทำหน้าที่ประเมินอากรผู้นำเข้าทั้ง 2 ราย รวมทั้งการให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรทำหน้าที่ประเมินอากร ชี้แจงเหตุผลหลายครั้ง โดยที่ไม่มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายให้กระทำได้ จนเป็นเหตุให้ฝ่ายบริการคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากรที่ 3 ดำเนินการเพิกถอนการออกหนังสือแจ้งให้ผู้นำเข้าชี้แจง และกำหนดราคาศุลกากรใหม่ โดยที่ไม่ได้ยกเลิกแบบแจ้งการประเมินอากรเดิม (แบบ กศก.114) เป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายรองรับ (พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469) และไม่ปฏิบัติตามระเบียบกรมศุลกากรที่ 19/2549 เอื้อประโยชน์ให้ผู้นำเข้าทั้ง 2 ราย ได้รับเงินภาษีอากรคืน 19.88 ล้านบาท

2. นายศิริศักดิ์ ตั้งสุภากิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนิติกรชำนาญการ สำนักกฎหมาย, นายประพันธ์ พิสมยรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนิติกรชำนาญการ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย 1 สำนักฎหมาย และนายบุญสืบ บุญญกนก เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรทั้ง 3 รายรับทราบแล้วว่าบริษัท จูบิลี่ไลน์ จำกัด และบริษัท นิชคาร์ จำกัด ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามมาตรา 112 ฉ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ดังนั้น อำนาจในการพิจารณาเรื่องอุทธรณ์จึงเป็นของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

แต่เจ้าหน้าที่ศุลกากรทั้ง 3 รายได้ร่วมกันพิจารณาและมีความเห็นว่า หากกระบวนการในการออกหนังสือแจ้งให้ผู้นำเข้าชี้แจงไม่สอดคล้องกับระเบียบศุลกากรที่ 2/2550 อันส่งผลให้การกำหนดราคาศุลกากรไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 132 (พ.ศ. 2543) และประกาศกรมศุลกากรที่ 317/2547 รวมไปถึงการออกแบบแจ้งการกำหนดราคาศุลกากร ไม่ได้แจ้งเหตุผลการประเมิน จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 มาตรา 37 และมาตรา 40 ประกอบกับมาตรา 46 จึงให้ฝ่ายบริการคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากรที่ 3 ส่วนบริการคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากร สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงการออกหนังสือแจ้งให้ผู้นำเข้าชี้แจงการกำหนดราคาศุลกากร และการออกแบบแจ้งการประเมินให้ถูกต้องตามระเบียบ ประกาศ และกฎกระทรวงโดยเร็ว มิฉะนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีได้ การให้ความเห็นของเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 รายจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้นำเข้าทั้ง 2 ราย ได้รับเงินภาษีอากรคืน 19.88 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เงินจำนวนนี้ตกเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจในการดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด

3. นางรำพินธ์ กำแพงทิพย์ และนายบัญชา กอสนาน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานและกรรมการพิจารณา ทบทวนแก้ไขการกำหนดราคาศุลกากร สำหรับรถยนต์นำเข้าของบริษัท จูบิลี่ไลน์ จำกัด และบริษัท นิชคาร์ จำกัด ตามคำสั่งฝ่ายบริการคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากรที่ 3 ที่ 1/2553 ลงวันที่ 6 มกราคม 2553 ตามลำดับ โดยมีหน้าที่ทบทวนการกำหนดราคา สำหรับรถยนต์นำเข้า ยี่ห้อ Lamboghini ของบริษัท จูบิลี่ ไลน์ จำกัด ตามใบขนสินค้าขาเข้า 6 ฉบับ และรถยนต์นำเข้า ยี่ห้อ Lotus ของบริษัท นิชคาร์ จำกัด ตามใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 10 ฉบับ และพิจารณาทบทวนการยกเลิกแบบแจ้ง ตามความเห็นของสำนักกฎหมายโดยความเห็นชอบของกรมศุลกากร

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ศุลกากรทั้ง 2 ราย ได้ร่วมกันพิจารณาคำร้องขออุทธรณ์ และได้ตรวจสอบบขนสินค้าขาเข้า รวมทั้งเอกสารเป็นราคาซื้อ-ขายของที่นำเข้าจริง ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และกฎกระทรวง ฉบับที่ 132 (พ.ศ. 2543) แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 145 (พ.ศ. 2547) จึงเห็นควรให้รับราคาตามที่ผู้นำเข้าได้ชำระเงินค่าซื้อ-ขายสินค้าที่แท้จริงตามใบขนสินค้าขาเข้า กรณีแบบแจ้งประเมินที่ผู้นำเข้าได้วางเงินประกันไว้ และกรมศุลกากรได้ผลักเงินประกันเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว ไม่สามารถที่จะทำการยกเลิกหรือเพิกถอนได้ เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายในการคืนเงินภาษีอากรให้กับผู้นำเข้าทั้ง 2 รายที่ชำระไว้เกิน 19.88 ล้านบาท ทั้งที่ได้ผลักเงินภาษีอากรดังกล่าวเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว โดยทราบว่าไม่สามารถที่จะทำการยกเลิกหรือเพิกถอนแบบแจ้งการประเมินอากรเดิมได้ (แบบ กศก.114)

“และการมีความเห็นให้คืนเงินภาษีอากรให้กับผู้นำเข้าทั้ง 2 ราย ทั้งที่ทราบว่า ผู้นำเข้าทั้ง 2 รายอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ซึ่งอำนาจการพิจารณาเป็นของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 112 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 การกระทำของนางรำพินธ์และนายบัญชาจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้นำเข้าทั้ง 2 ราย เป็นเหตุให้ทางราชการและกรมศุลกากรเสียหาย นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่านางรำพินธ์เป็นผู้อนุมัติคืนเงินภาษีอากรให้กับบริษัท นิชคาร์ จำกัด ตามจำนวนใบขนสินค้าขาเข้า 10 ฉบับ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2553 รวมเป็นเงิน 3.03 ล้านบาท โดยไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดให้อำนาจในการคืนภาษีอากรที่ได้ผลักเป็นรายได้แผ่นดินแล้วแต่อย่างใด”

4. นายพร้อมชาย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักวิชาการศุลกากรชำนาญการ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริการคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากรที่ 3 สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ได้มีคำสั่งฝ่ายบริการคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากรที่ 3 ที่ 1/2553 ลงวันที่ 6 มกราคม 2553 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณา ทบทวนแก้ไขการกำหนดราคาศุลกากร สำหรับรถยนต์นำเข้าของบริษัท จูบิลี่ไลน์ จำกัด และบริษัท นิชคาร์ จำกัด โดยหลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาทบทวนฯ ได้พิจารณาแล้ว นายพร้อมชาย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ได้ทำหนังสือสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ เลขที่ กค 0504 (ส) 555-556 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 ส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัททั้ง 2 แห่ง ว่า ได้พิจารณาทบทวนและประเมินราคาของตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 16 ฉบับของผู้นำเข้าทั้ง 2 รายแล้ว โดยให้รับราคาตามสำแดงเป็นราคาศุลกากร และขอเพิกถอนหนังสือฝ่ายบริการคลังสินค้าทัณฑ์บน และเขตปลอดอากรที่ 3 ที่ กค 0504 (3.3)/345-346 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2552 แจ้งผู้นำเข้าทั้ง 2 ราย ให้ยื่นเอกสารที่เกี่ยวกับการซื้อ-ขายตัวจริงมาประกอบการพิจารณาภายใน 7 วัน และในการอนุมัติเงินภาษีส่วนที่บริษัท จูบิลี่ไลน์ จำกัด ได้ชำระไว้เกินนั้น นายพร้อมชายเป็นผู้อนุมัติคืนเงินให้บริษัทฯ ตามใบขนสินค้าขาเข้า 6 ฉบับในวันที่ 24 มิถุนายน 2553 จำนวน 16.85 ล้านบาท โดยที่ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดให้อำนาจคืนเงินภาษีที่ถูกผลักเป็นรายได้ของแผ่นดินแล้วแต่อย่างใด นอกจากนี้ การกำหนดราคานำเข้าใหม่โดยที่ไม่มีการยกเลิกแบบแจ้งการประเมินอากรเดิม (แบบ กศก.114) และคืนเงินอากรให้กับบริษัท จูบิลี่ไลน์ จำกัด โดยไม่ผ่านการพิจาณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้นำเข้า เป็นเหตุให้ทางราชการและกรมศุลกากรเสียหาย การกระทำของนายพร้อมชาย สนิทวงศ์ ณ อยุธยา จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10

อาศัยอำนาจตามมาตรา 93 และมาตรา 94 (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกับข้อ 16 (1) ของกฎ กพ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 และข้อ 6 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเร่งรัด ติดตามเกี่ยวกับกรณีเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต พ.ศ. 2546 แต่งตั้งนายจำเริญ โพธิรอด เป็นประธานกรรมการคณะกรรมการสอบสวน กรรมการประกอบด้วย นายนิติ วิทยาเต็ม, นายเชาวน์ ตะกรุดเงิน เป็นกรรมการและเลขานุการ และ น.ส.พัชรพันธ์ ไชยพันธุ์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ทำหน้าที่สอบสวนผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดในกฎ กพ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 แล้วเสนอสำนวนการสอบสวนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ หากคณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีมูล และผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยในเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งนี้ หรือกรณีที่การสอบสวนพาดพิงไปถึงผู้อื่น ให้ดำเนินการตามข้อ 49 หรือ ข้อ 50 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 แล้วแต่กรณี ลงชื่อนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง