ThaiPublica > คอลัมน์ > ดารากับ ICO

ดารากับ ICO

16 กุมภาพันธ์ 2018


พิเศษ เสตเสถียร

เรื่อง ICO หรือ Initial Coin Offering ตอนนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนสนใจ มีเรื่องเป็นข่าวทุกวัน ในบรรดาข่าวเหล่านี้ก็เห็นมีเรื่องของดาราที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ ICO

ICO คือการระดมทุนอย่างหนึ่งแต่เป็นเงินดิจิตอล คล้ายกับการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนที่เรียกว่า Initial Public Offering หรือ IPO เหมือนคล้ายหรือแตกต่างกันอย่างไรขอเชิญไปดูได้จากบทความ “เงินตราอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักทรัพย์” ใน“ไทยพับลิก้า” นี้

ขอสรุปถึงลักษณะของ ICO อีกทีหนึ่งเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน พูดอย่างง่าย ๆ ICO คือการระดมทุนเพื่อทำโครงการอันใดอันหนึ่ง ซึ่งโครงการนี้จะเป็นกิจการที่คิดค้นขึ้นใหม่ที่ไม่ธรรมดาเพราะจะใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า Blockchain เป็นตัวหลักในดำเนินการ คนที่สนใจก็จะลงทุนด้วยเงินดิจิตอลเช่น Bitcoin หรือ Ether เพราะด้วยระบบ Blockchain จะต้องชำระเป็นเงินดิจิตอลเท่านั้น เงินตราธรรมดาที่เราใช้กันไม่สามารถชำระผ่านระบบได้ คราวนี้เวลาที่เราชำระเงินแล้วทางโครงการก็จะออกเงินเหรียญดิจิตอลที่เรียกว่า Token ให้เราไว้ใช้ในกิจการต่าง ๆ ของโครงการ ดูรายละเอียดของ ICO และสถานะทางกฎหมายของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับ ICO ได้ที่ “สถานะของ ICO ตามกฎหมาย” ใน “ไทยพับลิก้า” นี้เหมือนกัน

ช่วงนี้ ICO อาจจะดังกว่า IPO เพราะไม่เห็นมีหุ้นออกมาเสนอขายหรือเป็นข่าวเท่าไหร่ แต่มีข่าวของ ICO ทุกวัน หรือแม้แต่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่างบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ก็ประกาศเปิดการระดมทุน ICO โดยใช้ชื่อ Token ว่า JFinCoin ถือเป็นอันแรกของไทยที่เป็นของบริษัทจดทะเบียน

แต่ที่เมืองนอกนั้น การระดมทุนด้วย ICO กำลังแพร่หลาย ตามสถิติของ ICODATA.IO บอกว่า ปี 2560 ที่ผ่านมามีการขาย ICO นี้เป็นจำนวนมาก โดยมีการทำ ICO ทั่วโลกไป 890 รายการ ได้เงินไปกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปี 2559 มีการทำ ICO เพียง 30 รายการ ได้เงินไปแค่ 94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในบรรดา 890 รายการที่ทำ ICO นี้ ก็พยายามโฆษณาชวนเชื่อเพื่อขาย Token กันมากมายหลายวิธี แต่มีวิธีหนึ่งคือการเอาคนดัง ๆ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ช่วยขายด้วย เริ่มด้วยในเดือนกันยายนปีที่แล้ว นักมวยชื่อดัง Floyd Mayweather ได้โฆษณาประกาศสนับสนุน ICO ของบริษัทชื่อ stox.com ซึ่งบริษัทจะทำธุรกิจทำนายผลการแข่งขันกีฬา ตลาดหุ้นและแม้กระทั่งดินฟ้าอากาศ การ ICO ของ stox.com ทำให้บริษัทได้เงินไปกว่า 30 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ ยังมีนักเตะฟุตบอลชื่อดังคือ Luis Suarez ที่โฆษณาให้ผู้สนับสนุนตนทำการจองซื้อ Token ของ stox.com เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ก็ยังมี DJ Khaled ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์เพลงชื่อดังคนหนึ่งก็โฆษณาขาย ICO ให้กับ Centra ที่จะทำบัตรเดบิตของเงินดิจิตอลโดยการออก Token ชื่อ CTR

แล้วก็มี Dennis Coles หรือที่รู้จักกันดีในนามของ Ghostface Killah นักร้องเพลงแร็พชื่อดังของวง Wu-Tang Clan ก็โฆษณาในการ ICO ให้กับ Cream Capital เพื่อขาย Token ชื่อ Cream Dividend หาเงิน 30 ล้านเหรียญเพื่อไปทำระบบเครื่อง ATM สำหรับเงินดิจิตอลทั้งหลาย

คนดังอีกคนหนึ่งคือ Paris Hilton ทายาทธุรกิจโรงแรมชื่อดังก็เคยประกาศลงใน twitter ของเธอเมื่อต้นเดือนกันยายน 2560 ว่า กำลังมองไปข้างหน้าที่จะมีส่วนร่วมใน ICO ของบริษัทซึ่งจะทำการตลาดดิจิตอลและมี Token ชื่อ LydianCoin แต่ก็ได้ทำการถอนตัวไปเมื่อปลายเดือนเดียวกันนั้นภายหลังจากที่ CEO ของบริษัทแม่ของบริษัทที่จะทำ ICO เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องยุ่งยากทางกฎหมาย

อันที่จริง คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ SEC ของสหรัฐ ได้ออกรายงานชิ้นหนึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ในรายงานชิ้นนั้นระบุว่า Token เป็นเหมือนกับเป็นสิ่งที่แทนค่าเงินดิจิตอล หลังจากที่ SEC ได้ตรวจสอบลักษณะและวิธีการทำธุรกรรมของ Token แล้วก็สรุปว่า Token เป็นหลักทรัพย์ตาม the Securities Act of 1933 อันเป็นผลให้ต้องไปดูลักษณะการขาย ICO แต่ละอันว่าจะมีลักษณะที่ถือว่าเป็นหลักทรัพย์หรือไม่เช่น เป็นการลงทุนด้วยเงิน ตัวผู้ลงทุนไม่ได้ทำอะไรในกิจการดังกล่าวนอกจากรอรับผลกำไร ฯลฯ ถ้ามีลักษณะเป็นหลักทรัพย์แล้วก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายหลักทรัพย์คืนในการขาย ICO ก็ต้องมาจดทะเบียนกับ SEC

เมื่อมีคนดัง ๆ มาช่วยโปรโมท ICO อย่างนี้ ทาง SEC ก็เลยต้องออกมาปรามด้วยการออกประกาศเรื่อง Statement on Potentially Unlawful Promotion of Initial Coin Offerings and Other Investments by Celebrities and Others เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 โดย SEC เตือนว่า ICO อาจจะถือเป็นหลักทรัพย์และการขายจึงต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ คนที่มีชื่อเสียง(Celebrities)ที่ไปโปรโมท Token ต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นหลักทรัพย์จะต้องเปิดเผยถึงลักษณะ ขอบเขต รวมทั้งจำนวนค่าตอบแทนที่ได้รับจากการไปโปรโมชั่นนั้น การไม่เปิดเผยดังกล่าวถือเป็นความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์ SEC ยังบอกอีกว่า นักลงทุนพึงสังวรว่า การมาโฆษณาของคนที่มีชื่อเสียงนั้นอาจจะดูว่าไม่ลำเอียง แต่ความจริงก็อาจจะได้รับค่าจ้างมา คนที่มีชื่อเสียงเหล่านั้นมักจะไม่มีความรู้อย่างเพียงพอในเรื่องของการลงทุนที่จะบอกได้ว่าการลงทุนนั้นเหมาะสมและเป็นไปตามกฎหมาย

ถึงแม้ SEC จะบอกว่า ICO ทุกอันไม่ได้เป็นการขายหลักทรัพย์ ต้องไปดูรายละเอียดของแต่ละอันก็ตาม แต่เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นาย Jay Clayton ซึ่งเป็นประธานของ SEC ได้ไปให้ถ้อยคำต่อวุฒิสภาสหรัฐแล้วพูดว่า “ผมคิดว่า ICO ทุกอันที่ผมเห็นเป็นหลักทรัพย์” ตอนนี้ SEC ก็เลยกำลังทยอยเอาเรื่องกับการขาย ICO หลายอันที่เข้าข่ายกระทำความผิด โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา SEC ก็ได้ขออำนาจศาลยุติการขาย ICO ของบริษัทชื่อ AriseBank ที่ออก Token ชื่อ “AriseCoin” โดย SEC กล่าวหาว่า การที่ AriseBank จะระดมทุน 600 ล้านเหรียญเพื่อไปทำธนาคารแบบไม่มีศูนย์กลาง(“decentralized bank”) เป็นการผิดกฎหมาย หลอกลวง และเสนอขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต ที่น่าสังเกตก็คือ ในการทำ ICO ครั้งนี้มี Evander Holyfield ซึ่งเป็นนักมวยระดับแชมเปี้ยนที่มีชื่อเสียงมาโฆษณาให้ ถึงแม้ชื่อของ Holyfield จะไม่ปรากฏในคำร้องต่อศาลของ SEC แต่ก็เชื่อกันว่า Holyfield คงจะต้องถูกดำเนินคดีฐานเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงที่มาโฆษณา แต่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลตามประกาศของ SEC

ของบ้านเรายังไม่มีกฎหมายอะไรมาควบคุมหรือกำกับดูแล ICO โดยตรง นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. ได้กล่าวว่า สาเหตุที่ ก.ล.ต.ให้ความสำคัญกับเรื่อง ICO เพราะปัจจุบันหากมีผู้สนใจจะออก ICO ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์หุ้น และหลักทรัพย์ ก็จะไม่มีผู้กำกับดูแล ซึ่งแปลว่าถ้าเกิดปัญหา ผู้ลงทุนก็จะต้องไปฟ้องร้องกันเอง ใครจะโฆษณา ให้ข้อมูลการลงทุนอย่างไรก็ได้ เพราะไม่มีใครกำกับดูแล

ดังนั้นการจะไล่บี้หรือจัดการก็จะยากมาก ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดว่าเรื่องนี้ควรจะมีการกำกับดูแลอย่างอ่อน ๆ เพราะถ้าจะแบนหรือปิดกั้นเลยก็จะลงใต้ดินและก็จะห้ามไม่ได้ เพราะเป็นการซื้อขายผ่านคอมพิวเตอร์ไม่มีคนที่จะให้เราไปจับ หาตัวเขาไม่เจอหรอก

ฝ่ายนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ว่าสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างการร่างหลักเกณฑ์ โดยหารือร่วมกันระหว่าง 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ ก.ล.ต. ซึ่งคาดว่าจะข้อสรุปในเรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเรื่อง Cryptocurrency ภายใน 1 เดือน

ส่วนเรื่องการเอาบุคคลที่มีชื่อเสียงเช่น ดารา มาโฆษณา ICO นั้น ตอนนี้ของเราก็ยังไม่เห็นใคร (หรือมีแล้วก็ไม่ทราบ? ใครเจอช่วยบอกด้วยนะครับ) ที่เคยมีในบ้านเรา ก็มีเรื่องศิลปินดารา นักแสดง ดีเจและบุคคลที่มีชื่อเสียงรวมทั้งหมด 24 คน ที่ถูกตำรวจดำเนินคดีข้อหาโพสต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แอบแฝงอยู่ในภาพลักษณะโฆษณา(โดยมิได้นัดหมาย)เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า โฆษณาหรือร่วมกันโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ แสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยทางตรงหรือทางอ้อม ตามพ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เนื่องจากผู้ต้องหาทุกรายให้การรับสารภาพ เลยถูกตำรวจทำการเปรียบเทียบปรับไปเป็นที่เรียบร้อย

และในคดีล่าสุดในบ้านเราก็เห็นจะเป็นคดีที่ยิ่งยง ยอดบัวงาม นักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังถูกศาลชั้นต้นตัดสินว่ามีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนโดยการเปิดบริษัทขายปุ๋ยและชักชวนให้ประชาชนมาลงทุน โดยสัญญาว่าจะได้ผลตอบแทนเท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์ ยิ่งยงพยายามต่อสู้ว่าเรื่องนี้ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นแค่พรีเซนเตอร์ แต่จากพยานหลักฐานศาลเห็นว่า ยิ่งยงเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัท ตลอดจนพฤติการณ์ที่ไปพูดโฆษณาการขายปุ๋ยดังกล่าว ศาลจึงไม่เชื่อว่ายิ่งยงเป็นแค่พรีเซ็นเตอร์ จึงพิพากษาลงโทษจำคุก 20 ปี แต่ก็เป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเท่านั้น ยิ่งยงยังมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาต่อไป แต่ความจริงการขายปุ๋ยและชักชวนให้ประชาชนมาลงทุนนั้นก็เป็นการระดมทุนเหมือนกับ ICO เพียงแต่งานนี้ไม่มีเจตนาทำจริงกับไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินดิจิตอลเท่านั้น

ตอนนี้เห็นมีบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งก็แสดงความสนใจที่จะทำ ICO หาเงินทุนมาใช้กัน การขาย ICO ก็มีคนดังเข้ามาโฆษณาการขายอย่างที่เห็นมาในเมืองนอก หลักเกณฑ์เกี่ยวกับ ICO ที่ทางการกำลังจะออกไม่รู้ว่ามีเรื่องนี้อยู่หรือเปล่าก็ไม่ทราบ