ThaiPublica > คอลัมน์ > มีอะไรใน พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดฉบับใหม่?(ตอน 4)

มีอะไรใน พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดฉบับใหม่?(ตอน 4)

11 กรกฎาคม 2022


พิเศษ เสตเสถียร

ต่อจากตอนที่ 3

ในกฎหมายใหม่คือ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ 4) มาตรา 101/1 ได้บัญญัติไว้ว่า

“ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเรียกประชุมเองตามมาตรา 100 วรรคสอง ผู้ถือหุ้นที่เรียกประชุมอาจจัดส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ หากผู้ถือหุ้นนั้นได้แจ้งความประสงค์หรือให้ความยินยอมไว้แก่บริษัทหรือคณะกรรมการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7/1 แล้ว”

คือถ้าผู้ถือหุ้นเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นด้วยตนเอง เพราะเหตุที่คณะกรรมการไม่ยอมเรียกให้ ผู้ถือหุ้นก็อาจจะจัดส่งหนังสือนัดประชุมให้ผู้ถือหุ้นคนอื่นได้โดย“วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” หากผู้ถือหุ้นคนนั้นได้แจ้งความประสงค์ที่จะรับหรือได้ให้ความยินยอมที่จอดรถหนังสือบอกกล่าวนัดประชุมทางวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7/1 แล้ว

แล้วมาตรา 7/1 กำหนดไว้ว่าอย่างไร? ในมาตรา 7/1 เพิ่งได้เพิ่มเติมเข้ามาโดยพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด(ฉบับที่ 4)นี้มีความว่า

“ในกรณีที่บริษัทหรือคณะกรรมการมีหน้าที่ต้องส่งหนังสือหรือเอกสารตาม พระราชบัญญัตินี้ให้แก่กรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ของบริษัท หากบุคคลดังกล่าวได้แจ้งความประสงค์หรือยินยอมให้ส่งหนังสือหรือเอกสารโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทหรือคณะกรรมการอาจส่งหนังสือหรือเอกสารนั้นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนกำหนด”

มาตรานี้เป็นส่วนขยายของมาตรา 7 ที่ว่าด้วยการส่งเอกสารทั้งหลายตามกฎหมายบริษัทมหาชน โดยมาตรา 7 บอกไว้ว่า

“ในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้บุคคลใดมีหน้าที่ต้องส่งคำสั่ง คำเตือน หนังสือ หรือเอกสารใด ๆ ให้แก่บุคคลอื่น ผู้มีหน้าที่ส่งหรือผู้แทน จะส่งมอบให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับโดยตรง หรือส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้รับ ณ สถานที่อยู่ของผู้รับซึ่งแจ้งแก่ผู้ส่งไว้แล้ว หรือถ้าไม่มีการแจ้งไว้ล่วงหน้าจะส่ง ณ สถานที่อยู่อันเป็นภูมิลำเนาของผู้รับก็ได้

ในกรณีที่มีการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ให้ถือว่าคำสั่ง คำเตือน หนังสือหรือเอกสารนั้น ๆ ถึงผู้รับในเวลาที่คำสั่ง คำเตือน หนังสือหรือเอกสารดังกล่าวควรไปถึงตามทางการปกติแห่งไปรษณีย์ในช่วงเวลาที่มีการส่งนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นประการอื่น”

กล่าวคือในมาตรา 7 ได้พูดถึงวิธีการส่งหนังสือเอกสารต่าง ๆ ที่ต้องส่งตามกฎหมายเช่น หนังสือนัดประชุม ตามปกติก็ใช้วิธีการพื้นฐานแต่เดิมคือส่งให้ตัวเขาโดยตรงหรือส่งโดยทางไปรษณีย์ มาตรา 7/1 ก็เพิ่มเข้าไปว่า หรือจะส่งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

คราวนี้ในมาตรา 7/1 นี้มีข้อความซึ่งบอกเอาไว้เป็นเงื่อนไขคือ จะส่งทางวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ได้ก็ต่อเมื่อ“บุคคลดังกล่าวได้แจ้งความประสงค์หรือยินยอมให้ส่งหนังสือหรือเอกสารโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” คือบุคคลนั้นต้องแสดงความประสงค์หรือยินยอมให้ส่งเอกสารถึงตนเองโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้ด้วย ถ้าหากเขาไม่ได้แสดงความประสงค์หรือยินยอมไว้ก็จะส่งให้กับเขาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้

ดังนั้น หนังสือเอกสารทั้งหลายไม่ว่าจะส่งให้กรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือแม้แต่เจ้าหนี้ของบริษัทเช่น เอกสารประกอบการประชุมผู้ถือหุ้น ตามปกติก็มีปริมาณและน้ำหนักไม่เบา ก็จะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวเสียก่อน ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้แสดงความยินยอมไว้ หนังสือเอกสารดังกล่าวแม้จะส่งไปก็ไม่มีผลทางกฎหมาย

ที่เป็นเช่นนี้ก็คงเพราะว่า เรื่องวิธีการส่งทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นไม่ได้สันทัดทุกคน แม้ในปัจจุบันเรื่องของวิธีการอิเล็กทรอนิกส์จะแพร่หลาย แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีบุคคลอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สันทัดหรือไม่มีความเข้าใจ(literacy)ในเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ถือหุ้นบางคนเป็นแบบ Warren Buffet ถือหุ้นกันมาหลายสิบปี ท่านไม่ได้เล่น Social Media เพราะฉะนั้นการส่งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็อาจจะไม่สะดวกสำหรับท่านเหล่านั้นได้ กฎหมายจึงต้องให้ท่านยินยอมเสียก่อน

เพราะฉะนั้น ในเรื่องการส่งเอกสารโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ส่งซึ่งก็คือบริษัทก็จะต้องระมัดระวัง ถ้าผู้รับไม่ได้ให้ความยินยอมไว้ก็จะถือว่าส่งทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะส่งอะไรให้กรรมการก็ดี ผู้ถือหุ้นก็ดี และที่สำคัญคือเจ้าหนี้ของบริษัท ก็ต้องปรากฏว่าเขายินยอมแล้วเท่านั้นถึงจะส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

ถ้าบุคคลที่จะรับเอกสารนั้นให้ความยินยอมยินยอมให้ส่งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ปัญหาประการถัดมาก็คือ จะถือว่าบุคคลนั้นได้รับเอกสารเมื่อใด?

จากมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดข้างต้นจะเห็นได้ว่า ถ้าส่งให้กับตัวผู้รับเอง กรณีก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าส่งโดยทางไปรษณีย์ ก็จะถือว่าถึงผู้รับในเวลาที่เอกสารดังกล่าวควรไปถึงตามทางการปกติแห่งไปรษณีย์

แต่ถ้าเป็นการส่งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เล่า ก็ต้องไปดูพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 โดยในมาตรา 23 ได้บัญญัติไว้ว่า

“การรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นได้เข้าสู่ระบบข้อมูลของผู้รับข้อมูล”

เช่นสมมุติว่า ผู้ถือหุ้นใช้อีเมลของ Gmail เพราะฉะนั้นถ้าระบบของ Gmail ได้รับอีเมลหนังสือนัดประชุมใหญ่เข้ามาเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็ถือว่าผู้ถือหุ้นนั้นได้รับหนังสือนัดประชุมใหญ่แล้ว แม้จะยังไม่ได้เปิดดูก็ตาม

การแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ 4) รายการสุดท้ายก็คือ การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 ซึ่งเดิมบัญญัติไว้ว่า

“ ในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้บุคคลใดมีหน้าที่หรือจะบอกกล่าวเตือน แจ้งความ หรือโฆษณาข้อความใด ๆ เกี่ยวกับบริษัทใด ให้บุคคลอื่นหรือประชาชนทราบโดยทางหนังสือพิมพ์ ให้บุคคลนั้นโฆษณาข้อความนั้น ๆ ในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยที่จัดพิมพ์จำหน่าย ณ ท้องที่อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทนั้นมีกำหนดเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามวัน

ในกรณีที่ไม่มีหนังสือพิมพ์ที่มีลักษณะดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ให้บุคคลนั้นโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยที่จัดพิมพ์จำหน่ายในกรุงเทพมหานครแทน”

มาตรา 6 นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแจ้งความหรือโฆษณาให้บุคคลอื่นหรือประชาชนได้ทราบ ซึ่งวิธีการก็คือประกาศในหนังสือพิมพ์รายวัน ส่วนที่เพิ่มเข้ามาใหม่เป็นวรรคสามของมาตรา 6 ก็คือ

“การดำเนินการตามวรรคหนึ่งอาจใช้วิธีการโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนกำหนด”

เพราะฉะนั้น ก็เป็นการเพิ่มวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับตัวผู้ที่จะต้องประกาศให้มีทางเลือกมากขึ้น เป็นการลดความยุ่งยากและประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนวิธีการโฆษณาทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นจะต้องทำอย่างไรก็จะมีประกาศของนายทะเบียนออกมาทีหลัง

พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ 4) เป็นการแก้ไขกฎหมายบริษัทมหาชนให้มีความทันสมัยโดยเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา อันจะเป็นการลดภาระและอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการของบริษัทและประชาชน แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ที่มีหน้าที่ที่จะต้องทำตามกฎหมายฉบับนี้ก็จะต้องดูพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 และพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ไปด้วยเสมอ