ThaiPublica > คอลัมน์ > กรรมการกับกรรมการบริหาร: ต่างกันทางกฎหมายหรือไม่?

กรรมการกับกรรมการบริหาร: ต่างกันทางกฎหมายหรือไม่?

26 กุมภาพันธ์ 2020


พิเศษ เสตเสถียร

เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้มาถามปัญหากฎหมายกับผมว่า กรรมการกับกรรมการบริหาร ในทางกฎหมายต่างกันหรือไม่?

ผมได้ฟังคำถามแล้วก็เลยเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า เรื่องอย่างนี้ออกจะน่าสงสัยจริงอย่างที่ว่า เพราะตำแหน่งผู้บริหารในบริษัท เดี๋ยวนี้มีการตั้งเป็นตำแหน่งที่เรียกชื่อกันมากมายหลายอย่างทีเดียว เช่น กรรมการ กรรมการผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริหาร ฯลฯ

หรืออย่างตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เมื่อก่อนเราจะเห็นบริษัทหนึ่งก็มีกรรมการผู้จัดการหนึ่งคน แต่เดี๋ยวนี้ เราก็จะเห็นมีหลายบริษัท โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ที่มีกรรมการผู้จัดการหลายคน

หรือแม้แต่ประธานกรรมการ เราก็จะเห็นในหลายๆ บริษัทมีประธานคณะกรรมการบริหาร มีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฯลฯ ในทำนองเดียวกับกรรมการ

ดังนั้น คนที่ไม่รู้กฎหมายก็คงจะสับสนว่า ในตำแหน่งที่มีชื่อเรียกต่างๆ กันเหล่านี้ ใครทําหน้าที่อะไร? มีผลในทางกฎหมายอย่างไร?

คำตอบอาจจะฟังดูเหลือเชื่อ แต่ก็ต้องบอกว่า กฎหมายนั้นรู้จักอยู่แค่ 2 คนเท่านั้น คือ “กรรมการ” และ “ประธานกรรมการ” ส่วนตำแหน่งอื่นๆ นั้นกฎหมายไม่รู้จักเพราะไม่มีกฎหมายบอกไว้เลย

คนที่เป็น “กรรมการ” คือคนที่บริษัทไปจดทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์ว่าเป็นกรรมการบริษัท ซึ่งในแต่ละบริษัทจะมีจำนวนมากน้อยเท่าใดก็ตามที่บริษัทนั้นจะกำหนด อย่างกรณีของบริษัทจำกัด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1144 ก็กำหนดว่า “บรรดาบริษัทจำกัด ให้มีกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนด้วยกันจัดการตามข้อบังคับของบริษัท และอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นทั้งปวง” แต่ถ้าเป็นบริษัทมหาชน พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 67 ก็กำหนดไว้ว่า “บริษัทต้องมีกรรมการคณะหนึ่งเพื่อดำเนินกิจการของบริษัทประกอบด้วยกรรมการอย่างน้อยห้าคน และกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดต้องมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร”

พูดอย่างง่ายๆ ก็คือ ถ้าเป็นบริษัทจำกัด มีกรรมการตั้งแต่ 1 คนไปจนถึงกี่คนก็ได้ ไม่มีกฎหมายกำหนดเพดานไว้ ถ้าเป็นบริษัทมหาชน ก็จะต้องมีอย่างน้อย 5 คน น้อยกว่า 5 คนไม่ได้ ส่วนจำนวนสูงสุดจะมีกี่คนก็ได้เช่นเดียวกับบริษัทจำกัด

คราวนี้ ตำแหน่งกรรมการอื่นๆ มีความหมายและผลทางกฎหมายอย่างไร?

อย่างที่กล่าวไว้แล้ว กฎหมายนั้นรู้จักแต่ “กรรมการ” ที่ไปจดทะเบียนไว้ที่กระทรวงพาณิชย์เท่านั้น

ส่วนตำแหน่งกรรมการอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องที่แต่ละบริษัทไปกำหนดกันเอง อย่างเช่น “กรรมการผู้จัดการ” ก็มักจะหมายถึง กรรมการคนที่ลงมาเป็นผู้จัดการทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการของบริษัทด้วย จึงรวมเรียกว่า “กรรมการผู้จัดการ” (managing director หรือ MD)

บางบริษัท ก็มี “กรรมการผู้จัดการ” มากกว่า 1 คนก็สามารถที่จะทำได้อีก ถือว่าเป็นเรื่องภายในของบริษัท จะตั้งกี่คนก็ได้ แต่ละคนมีอำนาจหน้าที่อย่างไร บริษัทก็ไปกำหนดกันเอาเอง

บางคนอาจจะสงสัยว่า อย่างของบางบริษัทมี “กรรมการผู้จัดการใหญ่” เช่นนี้จะแตกต่างจาก “กรรมการผู้จัดการ” หรือไม่? ก็ต้องตอบว่าไม่แตกต่างกัน เป็นเรื่องของการตั้งหรือเรียกชื่อตำแหน่งเท่านั้น แทนที่จะเป็น “กรรมการผู้จัดการ” เฉยๆ ก็ให้เป็น “กรรมการผู้จัดการใหญ่” จะได้ดูเอิกเกริกขึ้นมาอีกหน่อย

ส่วนตำแหน่ง “กรรมการบริหาร” ก็เป็นตำแหน่งที่บริษัทตั้งขึ้นมาเองอีกเช่นเดียวกัน เช่น บริษัทอาจจะมีงานมาก กรรมการผู้จัดการทำคนเดียวไม่ไหว ก็อาจจะตั้งคนมาช่วย ตามปกติ บริษัทก็มักจะตั้ง “กรรมการบริหาร” หลายคนทำหน้าที่ในการบริหารงานของบริษัทในด้านต่างๆ “กรรมการบริหาร” เหล่านี้รวมกันเรียกว่า “คณะกรรมการบริหาร” (executive directors) มีการประชุมตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ร่วมกัน

ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1164 ก็กำหนดไว้ว่า “กรรมการจะมอบอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใดของตนให้แก่ผู้จัดการ หรือให้แก่อนุกรรมการซึ่งตั้งขึ้นจากผู้ที่เป็นกรรมการด้วยกันก็ได้ ในการใช้อำนาจซึ่งได้มอบหมายเช่นนั้น ผู้จัดการทุกคนหรืออนุกรรมการทุกคนต้องทำตามคำสั่งหรือข้อบังคับซึ่งกรรมการทั้งหลายได้กำหนดให้ทุกอย่างทุกประการ” แต่โดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกฎหมายที่มีมาแต่เก่าก่อน ก็เลยกำหนดว่า กรรมการจัดตั้งอนุกรรมการ “จากผู้ที่เป็นกรรมการด้วยกัน” ก็ได้ คือพูดถึงแต่การตั้งอนุกรรมการจากผู้ที่เป็นกรรมการด้วยกันเท่านั้น

แต่ถึงแม้กฎหมายจะเขียนไว้เช่นนั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นการห้ามไม่ให้บริษัททำการแต่งตั้งบุคคลมาทำหน้าที่จัดการบริษัทจากผู้ที่ไม่ได้เป็นกรรมการได้ มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1493/2540 ตัดสินยืนยันไว้ เป็นเรื่องของโจทก์ฟ้องจำเลย จำเลยหัวใสไปเปิดกฎหมายดูแล้วก็มาต่อสู้ว่า ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้มาฟ้องคดีนั้นเป็นการรับมอบโดยไม่มีอำนาจ เพราะคนรับมอบไม่ได้เป็นกรรมการของบริษัท ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า

“การมอบอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1164 เป็นการมอบอำนาจของกรรมการบริษัทที่มอบอำนาจของกรรมการเองให้แก่ผู้อื่นซึ่งผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเช่นนั้นต้องเป็นผู้จัดการหรืออนุกรรมการซึ่งตั้งจากผู้เป็นกรรมการบริษทด้วยกันมิใช่เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการแทนบริษัท เช่น การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนบริษัท

โจทก์เป็นบริษัท ถ้าจะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นฟ้องแทนต้องกระทำโดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ซึ่งจะมอบอำนาจเช่นนั้นให้แก่บุคคลใดก็ได้ เมื่อ ธ. กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ซึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนโจทก์ได้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ ศ. ฟ้องคดีแทนโจทก์ แม้ ศ. มิได้เป็นผู้จัดการหรืออนุกรรมการของโจทก์ซึ่งตั้งจากผู้เป็นกรรมการของโจทก์ก็เป็นการมอบอำนาจโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง”

ซึ่งต่างจากพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน ซึ่งใหม่กว่าจึงได้กำหนดไว้ไนมาตรา 77 ว่า “คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่จัดการบริษัทให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ข้อบังคับและมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น

คณะกรรมการอาจมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือบุคคลอื่นใดปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งแทนคณะกรรมการก็ได้ เว้นแต่บริษัทจะมีข้อบังคับไม่ให้คณะกรรมการมีอำนาจดังกล่าวโดยระบุไว้ชัดแจ้ง”

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การตั้งตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องภายใน กฎหมายจะรู้จักแต่กรรมการที่จดทะเบียนไว้เท่านั้น เคยมีคดีเกิดขึ้นเมื่อให้ลูกจ้างออกจากงานโดยหาว่าไม่ได้ทำงานให้บริษัทเพราะไปติดตามกรรมการคนหนึ่งที่ไม่มีอำนาจ เป็นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7811/2560 ซึ่งศาลตัดสินว่า

“ผู้ทำการแทนบริษัทก็คือกรรมการของบริษัทซึ่งมีฐานะเป็นผู้แทนแสดงความประสงค์ของบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง แต่กรรมการก็คงมีอำนาจหน้าที่จัดการงานของบริษัทตามที่บริษัทมอบหมายและตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ตลอดจนต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทและอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่ตามมาตรา 1144 และตามผลของมาตรา 1167 กรรมการมีฐานะเป็นผู้แทนและเป็นเสมือนตัวแทนของบริษัทด้วย โดยกรรมการต้องมีการจดทะเบียนตามมาตรา 1157 และถือว่ากรรมการที่มีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนเป็นกรรมการของบริษัท

คดีนี้ ศ. เป็นกรรมการของจำเลย ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ศ. จึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการงานของจำเลย เว้นแต่การลงลายมือชื่อผูกพันจำเลยเท่านั้นที่ ศ. ต้องลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นรวมเป็น 2 คน และประทับตราสำคัญของจำเลยตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองนั้น ส่วนที่จำเลยกำหนดให้ ศ. อยู่ในงานด้าน MKT. advisor ตามแผนผังองค์กรก็เป็นเพียงการกำหนดตำแหน่งงานในส่วนของ MKT. โดยไม่ปรากฏว่ามีการจำกัดอำนาจหน้าที่จัดการงานในส่วนอื่นในฐานะกรรมการ อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้ ศ. พ้นจากการเป็นกรรมการของจำเลย ศ. จึงเป็นผู้แทนของจำเลยในการแสดงความประสงค์ของจำเลย และเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลในการจัดการงานของจำเลย จึงเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5”

คราวนี้อีกตำแหน่งหนึ่งในบริษัทที่มีชื่อเรียกคล้ายๆ กันทำให้สับสนได้เหมือนกันคือตำแหน่ง “ประธานกรรมการ” ซึ่งก็เป็นอย่างเดียวกับตำแหน่ง “กรรมการ” ที่กล่าวมา คือกฎหมายรู้จักแต่คนที่เป็น “ประธานกรรมการ” หรือกัปตันทีมของคนที่เป็นกรรมการบริษัทเท่านั้น

สำหรับบริษัทจำกัดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1163 ก็บัญญัติว่า “กรรมการจะเลือกกรรมการคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานที่ประชุมและจะกำหนดเวลาว่าให้อยู่ในตำแหน่งเพียงใดก็ได้…ฯ” ส่วนถ้าเป็นบริษัทมหาชน พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดก็บอกว่าไว้ในมาตรา 78 ว่า “ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ”

“ประธานกรรมการ” มีหน้าที่ตามกฎหมายอยู่จำกัด หน้าที่หลักก็เห็นจะเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ กับประธานในที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่บริหารจัดการบริษัทโดยตรง แต่ก็มีหลายบริษัทที่ประธานกรรมการเป็นกรรมการผู้จัดการหรือผู้บริหารของบริษัทด้วย อย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่คนเดียวมีหลายตำแหน่งทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการด้วย ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่บริหารจัดการบริษัทด้วย

คราวนี้ในหลายๆ บริษัทก็จะมีตำแหน่ง “ประธานกรรมการบริหาร” เช่น บริษัทที่มีกรรมการบริหารหลายคน ก็จะมี “ประธานกรรมการบริหาร” เป็นกัปตันทีม แต่ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นเองเป็นภายในของบริษัท กฎหมายไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย เพราะฉะนั้นก็อย่าสับสน เอา “ประธานกรรมการบริหาร” ไปเกี่ยวกับหน้าที่ “ประธานกรรมการ” ของบริษัท

ในทำนองเดียวกัน บางบริษัทก็จะมีตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” (chief executive officer — CEO) คนคนนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ “ประธานกรรมการ” ของบริษัทเช่นกัน เป็นเพียงแต่บริษัทมีเจ้าหน้าที่บริหารหลายคน คนที่เป็น “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” ก็เป็นกัปตันทีมของเจ้าหน้าที่บริหารเหล่านั้น บริษัทที่ใหญ่โตหน่อยก็จะมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายต่างๆ เช่น CFO, COO, CIO ไปอีก

มีกฎข้อบังคับของ ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ที่มีการพูดถึงตำแหน่งที่กล่าวมานี้อยู่บ้าง เช่น หนังสือเวียนที่ กลต.จ.(ว) 1/2550 เรื่อง ขอซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลในรายงานประจำปี (แบบ 56-2) ในข้อ 2(2) บอกว่า “ในการระบุขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรรมการแต่ละชุด โดยเฉพาะคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารควรระบุให้ชัดเจนถึงอำนาจอนุมัติ เช่น ลักษณะรายการที่ได้รับมอบอำนาจ และวงเงินที่สามารถอนุมัติของแต่ละรายการด้วย” ซึ่งก็เป็นเรื่องให้แนวทางปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทในกรณีที่มีตำแหน่งเหล่านี้

เรื่องผู้บริหารที่จะเรียกชื่อว่าอะไร มีหน้าที่อย่างไร คงเป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวิชาการจัดการ (management) เขาไปว่ากัน แต่ในเรื่องของความรับผิดทางกฎหมาย เมื่อกฎหมายรู้จักแต่ “กรรมการ” ความรับผิดก็คงอยู่ที่กรรมการเป็นหลัก สำหรับความรับผิดทางแพ่งก็คือเรียกค่าเสียหาย คนที่เขาได้รับความเสียหายก็คงต้องฟ้องตัวบริษัท แต่ถ้าคนที่เป็นกรรมการคนไหนมีส่วนในการทำให้เขาเสียหายด้วย เขาก็คงต้องฟ้องกรรมการคนนั้นด้วย เช่น สมมติว่าประธานกรรมการเป็นคนสั่งให้กีดกันผู้ถือหุ้นคนหนึ่งไม่ให้เข้าร่วมประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นที่ถูกกีดกันก็คงฟ้องบริษัทให้รับผิดเป็นลำดับแรก แต่เขาก็อาจจะฟ้องประธานกรรมการให้ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวด้วย เกิดถ้ามีกรรมการคนไหนไปมีส่วนร่วมในการกีดกันอีก กรรมการคนนั้นก็คงจะโดนฟ้องด้วยเหมือนกัน

แต่สำหรับความผิดอาญาซึ่งมีโทษจำคุกนั้น ถ้าบริษัททำผิดบริษัทก็ต้องรับโทษ ซึ่งก็คงมีได้แต่โทษปรับเพราะไม่รู้จะเอาบริษัทไปติดคุกยังไง ส่วนกรรมการคนอื่นก็อาจจะต้องรับโทษร่วมด้วยแล้วแต่ลักษณะของความผิด เช่น บริษัทไม่จัดให้มีการทำและเก็บรักษาบัญชี อย่างนี้บริษัทก็รับโทษปรับไป ส่วนคนที่เป็นกรรมการนั้น ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด มาตรา 222 ก็บอกว่า

“ในกรณีที่บริษัทเป็นผู้กระทำความผิดและถูกลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้กรรมการซึ่งรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้น หรือซึ่งมิได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย”

เพราะฉะนั้นก็ต้องไปดูว่า กรรมการของบริษัทคนใดที่รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้น กรรมการคนนั้นก็ต้องรับโทษในความผิดฐานเดียวกันกับที่บริษัทได้รับ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ บริษัทก็จะโดนปรับ แต่กรรมการอาจจะโดนโทษจำคุกได้ถ้าหากกฎหมายในเรื่องนั้นมีการลงโทษจำคุก เพราะฉะนั้นก็จะต้องไปดูกฎหมายที่ว่าด้วยความผิดนั้นๆ ว่าเขียนไว้อย่างไร กำหนดโทษอะไรไว้บ้าง

นอกจากนี้ ก็ยังมีความผิดเกี่ยวกับตัวกรรมการและผู้บริหารโดยตรงอีก เช่น ในมาตรา 281/2 กฎหมายบัญญัติว่า

“กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทผู้ใดไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 89/7 จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายหรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

หวังว่าบทความนี้คงจะช่วยตอบปัญหาเรื่องของกฎหมายที่สร้างความสับสนแก่บรรดาผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้บริหารบริษัทในตำแหน่งที่มีชื่อเรียกต่างๆ กันในเบื้องต้นได้บ้าง หากมีเวลาก็จะมากล่าวถึงรายละเอียดต่อไปในวันข้างหน้า