ThaiPublica > คอลัมน์ > สถานะของ ICO ตามกฎหมาย

สถานะของ ICO ตามกฎหมาย

12 ตุลาคม 2017


พิเศษ เสตเสถียร

ที่มาภาพ : https://www.activistpost.com/2017/07/sec-regulates-initial-coin-offerings-virtual-tokens-subject-securities-laws.html

คุณกรณ์ จาติกวณิช ที่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแนวคิดที่จะเสนอสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการกำหนดแนวทางผู้ที่จะระดมทุนด้วยการทำ Initial Coin Offering หรือ ICO เสนอขายต่อประชาชน เพื่อกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมในการระดมทุนดังกล่าว เพื่อป้องกันความเสียหายของผู้ลงทุนจากการระดมทุน

ICO ที่คุณกรณ์ว่านี้คืออะไรครับ? หนังสือพิมพ์ Financial Times ฉบับลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2017 เคยให้ความหมายของ ICO ไว้ว่าหมายถึง “unregulated issuances of crypto coins where investors can raise money in bitcoin or other crypto currencies” แต่คำจำกัดความนี้อาจจะไม่ให้ความหมายหรือความเข้าใจอะไรแก่เรามากนัก

เลยลองไปค้นคว้าดูต่อก็ได้ความว่า เป็นการระดมทุนแบบใหม่ที่ทำโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด เช่น สมมติว่า เราอยากจะตั้งศูนย์กลางขายตั๋วคอนเสิร์ต ที่ต่อไปคนจัดคอนเสิร์ตไม่ต้องขายตั๋วผ่านตัวแทนจำหน่าย (เช่น Thaiticketmajor หรือ StubHub) แต่สามารถขายผ่านศูนย์ของเราที่สร้างด้วย Blockchain ซึ่งจะทำหน้าที่ซื้อขายโดยอัตโนมัติ ผู้จัดสามารถมาขายตั๋วได้โดยตรง คนซื้อสามารถเข้ามาซื้อได้โดยตรง ไม่ต้องมีตัวแทนจำหน่ายอีกต่อไป ไม่มีตั๋วปลอม ตั๋วหลอก เพราะการซื้อขายตั๋วนี้จะเป็นการซื้อขายบน Blockchain โดยผู้ซื้อจะต้องชำระราคาเป็น token ในขณะที่ผู้ขายก็จะส่งมอบตั๋วในรูปของอิเล็กทรอนิกส์เรียกว่า crypto-ticket (โครงการที่ทำ ICO จะเป็นโครงการที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด งานที่อยากทำก็จะทำโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะชำระเงินก็เป็นเงินดิจิทัลต่างจากโครงการทั่วๆ ไป)

ถ้าเราคิดว่าไอเดียของเราอันนี้เจ๋งมาก เราก็สามารถทำการระดมทุนผ่าน ICO เพื่อมาสร้าง Blockchain ที่ทำเรื่องขายตั๋วนี้ได้ นักลงทุนที่สนใจอยากจะร่วมโครงการนี้กับเราก็เข้ามาลงทุนได้ แต่การลงทุนนี้ต้องลงทุนโดยใช้เงินดิจิทัล (cryptocurrency) เช่น Bitcoin (BTC), BitcoinCash (BCC), Litecoin (LTC), Ethereum (ETH) เท่านั้น ไม่ใช้เงินตราธรรมดาที่เราใช้อยู่ แล้ว เราจะออก token ให้มีค่าตามที่ลงทุนนั้น (ทำนองเดียวกับที่เราไปลงทุนในบริษัทธรรมดาที่เขาจะออกหุ้นให้) ถ้าโครงการนี้สำเร็จ token ก็จะเพิ่มค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะจะไม่มีการออก token เพิ่มขึ้นมาใหม่ ถ้าเราอยากได้เงินสด เราก็เอา token นี้ไปขายได้เงินสดมาแทน

หลักการคร่าวๆ ก็เป็นอย่างนี้แหละครับ อาจจะไม่ถูกต้องหรือครบถ้วนทั้งหมด แต่ก็คงพอจะเห็นภาพได้ เรื่องของ ICO นี้เป็นสิ่งใหม่ และแตกต่างจากกรอบความเข้าใจเดิมของเราอยู่มาก จะอธิบายกันให้เข้าใจเลยยากสักหน่อย

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ICO เหมือนกับ Initial Public Offering หรือ IPO ที่เวลาบริษัทจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือเปล่า?

ก็ต้องบอกว่า การทำ IPO หมายถึงกรณีที่อย่างเช่น บริษัทซึ่งมีธุรกิจอยู่แล้ว บริษัทก็เสนอขายหุ้นเพื่อเอาเงินไปใช้ในกิจการของบริษัท ถ้าเราชอบกิจการเขา เราก็เอาเงินไปจองซื้อหุ้น บริษัทได้เงินไป เราก็ได้หุ้นของบริษัทมา บริษัทเอาเงินของเราไปค้าขาย ถ้าบริษัทมีกำไร ผลกำไรนั้นก็มาแบ่งให้เราในฐานะผู้ถือหุ้น แต่ถ้าบริษัทไม่ประสบความสำเร็จ ค้าขายขาดทุน เงินของเราที่ลงทุนก็สูญไป

แต่กรณีของ ICO บริษัทมักจะยังไม่มีธุรกิจ เป็นโครงการใหม่ เป็นพวก startup แต่มีไอเดียที่เอาธุรกิจมาทำในรูปแบบใหม่ที่เจ๋งๆ ถ้าเราลงเงินไปเหมือนกับเราไปร่วมลงทุนในกิจการในอนาคต โดยหวังว่ากิจการนั้นจะประสบผลสำเร็จ ถ้าประสบความสำเร็จ ค่าของเงินดิจิทัลนั้นก็จะมีค่าเพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องขาดทุนเหมือนกัน บางคนถึงบอกว่า ICO เหมือนกับ crowdfunding มากกว่า

ประวัติของ ICO ก็ว่ากันว่าเริ่มจากในปี 2013 เมื่อมีการขาย token เป็นครั้งแรก โดยเงินดิจิทัลที่ซื้อกันชื่อ Mastercoin ต่อมาในปี 2014 จึงเกิด ICO เป็นครั้งแรก ขายเงินดิจิทัลชื่อ Karmacoin (ถ้ามาขายเมืองไทยก็อาจจะแปลตรงตัวได้ว่าเหรียญ “กรรม”) แต่ ICO เพิ่งจะได้รับความนิยมในปีนี้ มีการขาย ICO นี้เป็นจำนวนมาก ประมาณกันว่า เฉพาะในปี 2017 นี้ถึงเดือนกันยายน มีการทำ ICO ทั่วโลกไปแล้ว 153 รายการ ได้เงินไปกว่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปี 2016 มีการทำ ICO เพียง 46 รายการ ได้เงินไปประมาณ 96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เราต้องยอมรับว่า ในขณะนี้ไม่มีกฎหมายในเรื่องของ ICO โดยตรงแต่อย่างใด ดังนั้น การเสนอขาย token ก็ดี ไม่ต้องไปขออนุญาตหน่วยงานราชการที่ไหน การคุ้มครองผู้ซื้อเกี่ยวกับการเสนอขาย เช่น ต้องทำหนังสือชี้ชวน (แม้ในทางปฏิบัติ ในการทำ ICO จะมีการทำเอกสารให้ผู้ลงทุนอ่านเรียกว่า Whitepaper ก็ตาม) ก็ไม่มีกฎหมายควบคุมหรือกำกับดูแลแต่อย่างใดทั้งสิ้น หรือแม้แต่ตัวเงินดิจิทัลก็มีเพียงบางประเทศที่ให้การรับรองเท่านั้น ส่วนใหญ่ก็ยังไม่รับรอง สถานะของการเสนอขาย ICO ในประเทศต่างๆ จึงแตกต่างกัน เช่น

ประเทศจีน

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา หน่วยงานที่เป็นผู้กำกับดูแลด้านธุรกิจการเงินของจีน เช่น People’s Bank of China, China Banking Regulatory Commission, China Securities Regulatory Commission ฯลฯ ได้พร้อมใจกันออกประกาศห้ามมิให้มีการทำ ICO เพราะเหตุว่า ICO เป็นการผิดกฎหมายและก่อให้เกิดผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน ส่วนผู้ที่เคยระดมทุนผ่าน ICO ก็จะต้องคืนเงินที่ได้มาดังกล่าว นอกจากนี้ สถาบันการเงินของจีนทั้งหมดก็ถูกห้ามมิให้กระทำการใดๆ อันเป็นการสนับสนุน ICO

ในขณะเดียวกัน Securities and Futures Commission (SFC) ของฮ่องกงก็ได้ออกประกาศไปว่า token ที่เสนอขายในการทำ ICO อาจถือเป็นหลักทรัพย์และตกอยู่ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ โดย SFC กล่าวว่า token ที่ขาย หากแทนค่าส่วนของผู้ถือหุ้น (equity) หรือความเป็นเจ้าของก็อาจจะเป็นหุ้น token ที่รับรู้หรือก่อให้เกิดหนี้สินหรือความรับผิดใดๆ ก็อาจถือเป็นหุ้นกู้ token ที่ได้จากการขายเพื่อนำเงินลงทุนไปลงทุนในโครงการ ก็อาจจะทำให้ token นั้นกลายเป็นการขายกองทุนรวมได้

ประเทศเกาหลี

ประมาณ 3 สัปดาห์ต่อมา The Financial Services Commission ของประเทศเกาหลีก็ได้ประกาศว่าห้ามทำ ICO ทุกประเภท การซื้อขายเงินดิจิทัลต้องถูกควบคุมและตรวจสอบอย่างเข้มงวด สถาบันการเงินหรือบุคคลใดที่เกี่ยวข้องกับการทำ ICO จะต้องถูกลงโทษอย่างหนัก แต่ในประกาศก็มิได้ให้รายละเอียดของโทษนั้นว่าคืออะไร

ประเทศสหรัฐอเมริกา

ในปลายเดือนกรกฎาคม 2017 Securities and Exchange Commission (SEC) ได้ออกรายงานชื่อ Report of Investigation under Section 21(a) of the Securities Exchange Act of 1934 ในรายงานเรื่องนี้เป็นการศึกษาถึง DAO (Decentralized Autonomous Organization) ซึ่งเป็นองค์กรเสมือนจริงและใช้ Blockchain ในการเสนอขาย DAO Tokens (ถ้าจะพูดอย่างง่ายๆ ก็คือว่า DAO เป็นรูปแบบของตัวกลางในการระดมทุนด้วยการเสนอขาย DAO Tokens เช่นเดียวกับ ICO อื่นๆ) โดย SEC ได้ถือว่า DAO Tokens เป็นหลักทรัพย์ และการเสนอขายหลักทรัพย์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายหลักทรัพย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาโดยไม่คำนึงถึงว่า การซื้อหลักทรัพย์นั้นทำโดยเงินดิจิทัลหรือการขายทำโดยเทคโนโลยี Blockchain

ผลของการที่ token ถูกถือว่าเป็นหลักทรัพย์ ทำให้การทำ ICO จึงต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไปว่า token ในกรณีดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์หรือไม่ ถ้าเป็นหลักทรัพย์ การเสนอขายก็ต้องทำตามกฎหมายของการขายหลักทรัพย์ทั่วไป

และเมื่อวันที่ 29 กันยายน SEC ก็ได้ดำเนินคดีกับบริษัท Recoin Group Foundation, LLC และ DRC World Inc. (ซึ่งรู้จักกันในชื่อ Diamond Reserve Club) และผู้เป็นเจ้าของทั้งสองบริษัทชื่อนาย Maksim Zaslavskiy ในข้อหาทำ ICO ปลอมหลอกลวงประชาชน ซึ่งตามที่ SEC แถลงนั้นมีความว่า ในระหว่างเดือนกรกฎาคมปีนี้ ทั้ง 2 บริษัทได้ระดมทุนไปอย่างน้อย 300,000 เหรียญจากนักลงทุนนับร้อยรายโดยการทำ ICO ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยให้ซื้อ token สำหรับโครงการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในกรณีของบริษัท RECoin และโครงการค้าเพชรในกรณีของ Diamond Reserve ซึ่งโดยแท้จริงแล้วไม่มีการออก token ให้นักลงทุน และไม่มีโครงการที่กล่าวอ้างเลยทั้ง 2 โครงการ

ข้อหาที่ SEC กล่าวหาจำเลยคือฉ้อโกงและขายหลักทรัพย์โดยมิได้จดทะเบียน ซึ่งเข้าใจว่าเป็นคดีแรกในเรื่องของ ICO นี้

ประเทศอังกฤษ

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2017 The Financial Conduct Authority ของสหราชอาณาจักรได้ออกคำเตือนแก่ผู้บริโภคว่า ICO เป็นการลงทุนเก็งกำไรที่มีความเสี่ยงสูง และนักลงทุนควรจะลงทุนในโครงการ ICO ถ้าหากว่าตนเป็นนักลงทุนที่มีประสบการณ์และมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของโครงการ ICO นั้น (โดยพิจารณาจากแผนทางธุรกิจ เทคโนโลยี รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง) และพร้อมที่จะขาดทุนจากการที่ลงทุนไปนั้นทั้งหมด

ประเทศออสเตรเลีย

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2017 Australian Securities and Investments Commission (ASIC) ได้ออก Information Sheet 225 ให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำ ICO และผลบังคับเกี่ยวกับ Corporations Act 2001
ASIC เห็นว่า สถานะทางกฎหมายของ ICO ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและการดำเนินการของแต่ละ ICO รวมถึงสิทธิที่ให้อันเป็นผลของการเสนอขายด้วย โดยการเสนอขายนั้นอาจจะถูกถือเป็นการเสนอขายซึ่งมี 4 ลักษณะ คือ กองทุนรวม หุ้น อนุพันธ์ หรือ non-cash payment facility ได้ ซึ่งถ้า ICO ถูกถือเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ที่กล่าวมาอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ผู้เสนอขายก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องนั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าถูกถือว่าเป็นหุ้น การเสนอขายก็จะต้องมีหนังสือชี้ชวน เป็นต้น

ประเทศสิงคโปร์

ต่อมาอีกเพียงไม่กี่วัน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2017 Monetary Authority of Singapore (MAS) ก็ประกาศว่า การเสนอขาย token ในสิงคโปร์จะต้องทำตามกฎระเบียบของ MAS ถ้า token นั้นมีลักษณะเป็นสิ่งของที่อยู่ภายใต้กฎหมาย the Securities and Futures Act

MAS เห็นว่าการทำ ICO มีความเสี่ยงทางด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้ายเนื่องจาก ICO เป็นธุรกรรมนิรนาม ไม่มีการระบุชื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง และใช้เวลาที่สั้นในการระดมทุนเป็นเงินจำนวนมาก แม้เงินดิจิทัลจะยังไม่ถูกควบคุม แต่การเป็นตัวกลางในเงินตราเหล่านี้จะต้องถูกควบคุมเพื่อป้องกันการฟอกเงินและการสนับสนุนการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย

ประเทศไทย

ตามกฎหมายไทย เงินดิจิทัลนั้นไม่ถือว่าเป็นเงินตรา พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 มาตรา 6 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “เงินตราได้แก่เหรียญกษาปณ์และธนบัตร” ดังนั้น เงินดิจิทัลจึงไม่ใช่เงินตราตามกฎหมาย แม้เงินดิจิทัลหลายสกุลจะมีชื่อเรียกว่า “เหรียญ” (Coin) ก็ตาม ขณะเดียวกัน เงินดิจิทัลก็ไม่ถือว่าเป็นหลักทรัพย์ เพราะตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เงินดิจิทัลไม่ใช่หุ้น หุ้นกู้ กองทุนรวม อะไรพวกนี้โดยตรง และแม้ในมาตรา 4(10) บัญญัติว่า “หลักทรัพย์” หมายถึง “ตราสารอื่นใดที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด” ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต. ก็ยังไม่เคยมีประกาศกำหนดอื่นใดให้เงินดิจิทัลเป็นหลักทรัพย์เลย ดังนั้น การขาย ICO จึงไม่ใช่ขายเงินตราหรือหลักทรัพย์ตามกฎหมาย ทำให้ ICO จึงเป็นแค่การขายของอย่างหนึ่งซึ่งผู้ขายและผู้ซื้อสมัครใจร่วมกันทำเท่านั้น

สรุปก็คือว่า กฎหมายไทยยังไม่รับรองเงินดิจิทัล แต่เงินดิจิทัลและการทำ ICO ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายนะครับ

ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เคยออกข่าว ธปท. ฉบับที่ 8/2557 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2557 เรื่อง ข้อมูลเกี่ยวกับ Bitcoin และหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ลักษณะใกล้เคียงว่า เงินดิจิทัลไม่ถือเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และมีความเสี่ยงอีกหลายประการ ได้แก่ ความเสี่ยงจากการที่มูลค่าผันแปรอย่างรวดเร็ว ความเสี่ยงจากการถูกขโมยข้อมูล และความเสี่ยงที่ผู้ใช้ไม่ได้รับการคุ้มครอง

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2560 ก็ได้ออกข่าว ธปท. ฉบับที่ 18/2560 เรื่อง ข้อมูลเกี่ยวกับ OneCoin และหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ลักษณะใกล้เคียงกัน เป็นการเตือนเรื่องของ OneCoin ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกับในประกาศฉบับก่อน

ล่าสุด ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกมาเตือนประชาชนว่า การลงทุนในเงินสกุลดิจิทัล เช่น OneCoin, Bitcoin ประชาชนควรระมัดระวังและศึกษาข้อมูลและรายละเอียดให้รอบคอบ เพราะสกุลเงินดิจิทัลไม่ใช่เงินที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย และในปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดยอมรับหรือรับรองว่าเงินสกุลดิจิทัลเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เรียกว่าเป็นการเตือนประชาชนตลอดมาว่า เงินดิจิทัลไม่ใช่เงินบาทที่กฎหมายรับรอง ประชาชนที่ไปลงทุนในเงินดิจิทัลก็มีความเสี่ยง

แต่ถึงกระนั้น ในประเทศไทยก็มีกิจการ startup รายแรกที่ระดมทุนบน ICO และยังได้รับเงินทุนมหาศาลเลยทีเดียว โดยในเดือนพฤษภาคม 2017 ที่ผ่านมา OmiseGo เครือข่ายที่เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมที่สูงและการทำธุรกรรมการเงินที่ต้องใช้เวลาพอสมควร OmiseGO มาพร้อมแนวคิดสามารถแลกเปลี่ยนเงินหรืออะไรก็ตามที่มีมูลค่าโดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางอย่างธนาคาร (Unbank the Banked) โดย OmiseGo จะใช้ token ที่ชื่อ OMG เป็น Cryptocurrency ของเครือข่ายนี้ OmiseGo สามารถระดมทุนไปได้สูงถึง 25 ล้านเหรียญสหรัฐ เหรียญ OMG นั้นราคาพุ่งมาเรื่อยๆ แบบก้าวกระโดดช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ปัจจุบัน ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2017 ราคาของ OMG อยู่ที่ประมาณ 8.30 เหรียญสหรัฐ

ตอนนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังพลิกกฎหมายดูกันใหญ่ว่าจะควบคุมและป้องกัน ICO อย่างไรเพื่อไม่ให้มีการหลอกลวงนักลงทุน รวมทั้งกรณีตามกฎหมายอื่น เช่น การฟอกเงิน เป็นต้น ต่อไปก็คงจะมีกฎระเบียบแบบใดแบบหนึ่งมากำกับดูแล ICO แน่นอน