ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ยื่นภาษีปี’60 กิจการขนาดเล็ก 1.5 ล้านราย จ่ายเพิ่ม 5 เท่า

ยื่นภาษีปี’60 กิจการขนาดเล็ก 1.5 ล้านราย จ่ายเพิ่ม 5 เท่า

5 กุมภาพันธ์ 2018


จากฐานข้อมูลภาษีกรมสรรพากร ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2560 (ปีภาษี 2558) มีผู้ประกอบกิจการที่อยู่ในระบบภาษีของกรมสรรพากรทั้งสิ้น 2,096,297 ราย หักผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่ (บริษัทหรือนิติบุคคล) มีรายได้เกิน 500 ล้านบาท -2,000 ล้านบาทต่อปี ประมาณ 6,194 ราย และที่มีรายได้เกิน 2,000 ล้านบาท/ปี อีก 2,372 ราย คงเหลือผู้ประกอบกิจการ SMEs มีรายได้ปีละไม่เกิน 500 ล้านบาท ทั้งสิ้น 2,087,731 ราย

จากกรณีการชำระภาษีของผู้ประกอบการรายย่อยในรอบที่แล้วปั่นป่วนกันไปทั่วประเทศ หลังจากพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน ฉบับที่ 629 พ.ศ. 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 26 มกราคม 2560 และเริ่มมีผลบังคับใช้ครั้งแรกในเดือนกันยายน 2560 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือเจ้าของกิจการขนาดเล็ก ประมาณ 43-44 สาขาอาชีพ เช่น ร้านขายทอง, ขายยา, ช่างตัดผม, โชห่วย, ขายของชำ, บะหมี่เกี้ยว ขนมหวาน, โรงน้ำแข็ง ต้องนำรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2560 มายื่นแบบ ภ.ง.ด.94 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากลางปี 2560 ปรากฏว่าเจ้าของกิจการขนาดเล็กนับล้านรายเกิดอาการตะลึงเมื่อเห็นยอดเงินภาษีที่ต้องชำระแก่กรมสรรพากรในปีนี้ที่มากกว่าปีก่อน 3-4 เท่าตัว

ต้นเหตุเกิดจากมาตรการส่งเสริมให้ “บุคคลธรรมดา” เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจเป็น “นิติบุคคล” โดยกรมสรรพากรปรับลดอัตราหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา (Standard Deduction) จาก 80% ของรายได้ เหลือแค่ 60% ทำให้เจ้าของกิจการขนาดเล็กกลุ่มนี้มีเงินได้สุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 40% เมื่อนำมาคำนวณภาษีอัตราก้าวหน้าแล้ว ทำให้ต้องจ่ายภาษีครึ่งปีมากกว่าปีก่อนหลายเท่าตัว ขณะนั้นประมาณว่าจะมีผู้ประกอบการเปลี่ยนในรูปแบบการทำธุรกิจมาเป็น “นิติบุคคล” เพิ่มขึ้น 250,000 ราย และทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 4,200 ล้านบาท

ปรากฏว่าเจ้าของกิจการขนาดเล็กมีจำนวน 1.58 ล้านราย ยังคุ้นเคยกับการเสียภาษีแบบเดิม คือ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 65-85% ของรายได้ จึงไม่ได้เตรียมตัวจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการหักค่าใช้จ่ายได้ตามความเป็นจริง ประกอบกับกรมสรรพากรเองก็ไม่ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เสียภาษี โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้า หาเช้ากินค่ำ ไม่ได้เล่นอินเทอร์เน็ต ไม่มีความรู้เรื่องทำบัญชีแบบง่ายๆ (โปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป) และไม่ได้เก็บหลักฐานใบเสร็จรับ-จ่ายเงิน พอถึงกำหนดเวลาเสียภาษีกลางกลางปี ทั้งยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตและยื่นผ่านสรรพากรพื้นที่ จึงเกิดความโกลาหล เพราะหักค่าใช้จ่ายได้แค่ 60% ของรายได้ เหลือรายได้สุทธิที่จะนำไปคำนวณภาษี 40% ส่งผลให้มาตรการทีบังคับให้ ร้านขายทอง ร้านขายยา เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจจาก “บุคคลธรรมดา” เป็น “บริษัท” ขยายวงไปถึงเจ้าของกิจการขนาดเล็กกว่าล้านราย ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว นี่คือเหตุการณ์รอบที่แล้ว

ดังนั้นการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2560 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เจ้าของกิจการขนาดเล็ก 1.58 ล้านราย ต้องนำรายได้ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี (ช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2560) มายื่น ภ.ง.ด.90 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 ผู้ประกอบการรายใดไม่ทำบัญชีหรือเก็บหลักฐานใบสำคัญรายรับ-รายจ่ายมาแสดงต่อกรมสรรพากร จะสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้แค่ 60% ทำให้มีเงินได้สุทธิเพิ่มขึ้นมาเป็น 40% และต้องจ่ายภาษีเพิ่ม

ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้เสียภาษีรายใดที่ยังจ่ายภาษีไม่ครบในช่วงการยื่นชำระภาษีครึ่งปี การยื่นจ่ายภาษีรอบนี้จะต้องชำระภาษีให้ครบถ้วนทั้งหมด

“มีผู้ประกอบการบางรายจ่ายภาษีครึ่งปียังไม่ครบ เนื่องจากมีการเจรจากับเจ้าหน้าที่สรรพากรบางราย บางพื้นที่ยอมให้ผู้เสียภาษีจ่ายตามกำลังที่จะจ่ายได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้เสียภาษี ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่การยื่นภาษีปลายปีรอบนี้ ผู้เสียภาษีรายนั้นต้องนำเงินมาจ่ายส่วนค้างจ่ายมาชำระให้ครบถ้วน”

การคำนวณภาษีของกรมสรรพากรมี 2 วิธี คือ วิธีคำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้า กับวิธีคำนวณภาษีขั้นต่ำที่อัตรา 0.5% ของรายได้ วิธีไหนรัฐได้เงินภาษีมากที่สุดให้ใช้วิธีนั้น ยกตัวอย่าง

ตัวอย่างที่ 1 เจ้าของร้านสะดวกซื้อ หรือ “โชห่วย” เป็นคนโสด มีรายได้ต่อปี 1,000,000 บาท ปีภาษี 2559 กรมสรรพากรยอมให้หักเหมาจ่าย 80% ของรายได้ เหลือเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย 200,000 บาท หักค่าลดหย่อนอีก 30,000 บาท คงเหลือเงินได้สุทธิ 170,000 บาท นำมาคำนวณภาษีอัตราก้าวหน้า โดยหักยกเว้นภาษีเงินได้ 150,000 บาท เหลือเงินได้สุทธิ 20,000 บาท โชห่วยรายนี้ต้องเสียภาษี 1,000 บาท

จากนั้นมาคำนวณภาษีขั้นต่ำตามวิธีที่2 ที่ต้องชำระที่อัตรา 0.5% ของรายได้ 1,000,000 บาท ต้องเสียภาษี 5,000 บาท วิธีนี้กรมสรรพากรได้เม็ดเงินภาษีมากกว่า ตามหลักเกณฑ์ดังที่กล่าวข้างต้น ต้องเลือกใช้วิธีที่ 2 คือ ปีภาษี 2559 เจ้าของกิจการรายนี้จ่ายภาษี 5,000 บาท

ปีภาษี 2560 กรมสรรพากรลดอัตราเหมาจ่ายเหลือ 60% สมมติเจ้าของกิจการรายนี้ยังมีรายได้ตลอดทั้งปี 1,000,000 ล้านบาท (เท่าเดิม) วิธีแรกคำนวณภาษีอัตราก้าวหน้า หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 600,000 บาท หักค่าลดหย่อนภาษี ปีนี้เพิ่มเป็น 60,000 บาท คงเหลือเงินได้สุทธิ 340,000 บาท เสียภาษี 11,500 บาท จากนั้นกรมสรรพากรจะใช้วิธีที่ 2 คำนวณอัตราภาษีขั้นต่ำ 0.5% ของเงินได้ 1,000,000 บาท มีภาษีที่ต้องจ่าย 5,000 บาท ตามหลักเกณฑ์ดังที่กล่าวข้างต้น ให้ใช้วิธีแรก คือ เสียภาษี 11,500 บาท เปรียบเทียบกับปีก่อน (เสียภาษี 5,000 บาท) โชห่วยรายนี้เสียภาษี 130% หรือเพิ่มขึ้น 2.3 เท่า หากเจ้าของกิจการรายนี้จ่ายภาษีครึ่งปีไว้ 5,700 บาท ในเดือนมีนาคมนี้ก็ต้องจ่ายส่วนที่เหลืออีก 6,500 บาท

ตัวอย่างที่ 2 ร้านขายอาหาร ปีภาษี 2559 มีรายได้ตลอดทั้งปี 1,500,000 บาท เดิมหักเหมาจ่ายได้ 80% ของรายได้ ประมาณ 1,200,000 บาท กรณีโสด หักลดหย่อนภาษี 30,000 บาท เหลือเงินได้สุทธิ 270,000 บาท วิธีแรก คำนวณภาษีอัตราก้าวหน้าต้องเสียภาษี 6,000 บาท วิธีที่ 2 คำนวณภาษีขั้นต่ำที่อัตรา 0.5% ของเงินได้ 1,500,000 บาท ต้องเสียภาษี 7,500 บาท วิธีที่ 2 ได้ภาษีมากกว่าวิธีแรก ให้ใช้วิธีที่ 2 ร้านขายอาหารรายนี้ต้องเสียภาษี 7,500 บาท

พอมาปีภาษี 2560 หักค่าใช้จ่ายได้ 900,000 บาท (ลดเหลือ 60%) หักลดหย่อนภาษีอัตราใหม่ 60,000 บาท คงเหลือเงินได้สุทธิ 540,000 บาท วิธีแรก คำนวณภาษีอัตราก้าวหน้าได้ 33,500 บาท วิธีที่ 2 คำนวณภาษีขั้นต่ำได้ 7,500 บาท ให้ใช้วิธีแรก สรุป ปี 2560 ร้านขายอาหารรายนี้ต้องเสียภาษีเงินได้ 33,500 บาท เปรียบเทียบปีก่อน เสียภาษีเพิ่มขึ้น 346.6% หรือ 4.5 เท่า

ตัวอย่างที่ 3 เจ้าของกิจการขนาดเล็กที่มีรายได้ทั้งปี 1,700,000 บาท ปีภาษี 2559 หักได้ 80% คือ 1,360,000 บาท หักลดหย่อนภาษี 30,000 บาท วิธีแรก คำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้า ต้องเสียภาษี 8,500 บาท ใช้วิธีที่ 2 คำนวณภาษีขั้นต่ำก็ได้ 8,500 บาท เจ้าของกิจการรายนี้ต้องเสียภาษี 8,500 บาท

ปีภาษี 2560 สมมติ รายได้เท่าเดิม แต่หักค่าใช้จ่ายได้ 60% หรือ 1,020,000 บาท หักลดหย่อนภาษี 60,000 บาท ต้องเสียภาษีตามอัตราก้าวหน้า 45,500 บาท ส่วนคำนวณภาษีขั้นต่ำต้องเสีย 8,500 บาท ตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากรให้ใช้วิธีแรก คือ เสียภาษี 45,500 บาท เปรียบเทียบกับปีก่อน จ่ายภาษีเพิ่ม 435.29% หรือเพิ่มขึ้น 5.35 เท่า

ดูตัวอย่าง การคำนวณภาษีเพิ่มเติมที่นี่

จากกราฟที่นำมาแสดงจะเห็นว่า ในปีภาษี 2559 ก่อนการปรับลดหักเหมาจ่ายเหลือ 60% เจ้าของกิจการที่มีรายได้ทั้งปีไม่ถึง 1,000,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี หากรายได้ต่อปีเกิน 1,000,000 บาท แต่ไม่ถึง 1,700,000 บาท ปีที่ผ่านมาจะเสียภาษีอัตราขั้นต่ำที่ 0.5% ของรายได้มาโดยตลอด เพราะใช้วิธีคำนวณภาษีอัตราก้าวหน้าแล้วกรมสรรพากรได้เงินค่าภาษีน้อยกว่า ส่วนรายได้ตลอดทั้งปีเกิน 1,700,000 บาท ขึ้นไป จะใช้วิธีการคำนวณภาษีอัตราก้าวหน้า เพราะกรมสรรพากรได้เงินค่าภาษีมากกว่า หรือ “ขาคำนวณภาษีขั้นต่ำไม่ทำงาน”

หลังจากกรมสรรพากรปรับลดหักเหมาจ่ายเหลือ 60% ของรายได้ เริ่มบังคับใช้ เจ้าของกิจการที่มีรายได้ตลอดปีตั้งแต่ 525,000-1,000,000 บาท เดิมไม่เคยเสียภาษี ในปีภาษี 2560 ก็ต้องเสียภาษี ส่วนเจ้าของกิจการที่มีรายได้ตลอดทั้งปีเกิน 1,000,000 บาท ขึ้นไป ปีนี้จ่ายภาษีหนักกว่าปีก่อน ยกตัวอย่าง รายได้ต่อปี 1,000,000 บาท ปีก่อนเสียภาษี 5,000 บาท ปีนี้เสีย 11,500 บาท จ่ายเพิ่ม 6,500 บาท เพิ่มขึ้น 130%, รายได้ต่อปี 1,300,000 บาท ปีก่อนเสียภาษี 6,500 บาท ปีนี้ เสียภาษี 23,500 บาท จ่ายเพิ่ม 17,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 261.54% ภาระภาษีที่แท้จริง (Effective Rate) มีอัตราการเพิ่มสูงสุดอยู่ที่กลุ่มเจ้าของกิจการขนาดเล็กที่มีรายได้ต่อปี 1,700,000 บาท ปีก่อนจ่ายภาษี 8,500 บาท ปีนี้จ่ายภาษี 45,500 บาท จากเพิ่มจากปีก่อน 37,000 บาท เพิ่มขึ้น 435.29% จากนั้นค่อยปรับลดลงมา

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1,800,000 บาท มีประมาณ 1.5 ล้านราย ขณะที่กลุ่มที่มี รายได้เกิน 1,800,000 บาท มีประมาณ 1 แสนราย ประเด็นที่เป็นข้อสงสัย คือกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 1,800,000 ล้านบาท แจ้งรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่? และจากการที่กรมสรรพากรตรวจสอบภาษีร้านขายทองและร้านขายยา พบว่ามีการยื่นรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พยายามเดินสายชักชวนให้เจ้าของกิจการ 2 กลุ่มนี้ เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจจาก “บุคคลธรรมดา” เป็น “บริษัท” รวมทั้งออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ยกเว้นภาษีเงินได้, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ จากการโอนทรัพย์สินของบุคคลธรรมดาไปยังบริษัทที่จัดตั้งขึ้น แต่มาตรการดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับ เจ้าของกิจการร้านขายทองและร้านขายยายังคงดำเนินธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดาเหมือนเดิม กรมสรรพากรจึงเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา ลดหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาเหลือ 60% ให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 แต่ในทางปฏิบัติมีผลบังคับใช้จริงช่วงเดือนกันยายน 2560 (ยื่นภาษีเงินได้กลางปี 2560)

ผลปรากฏว่าเจ้าของกิจการขนาดเล็กไม่มีความรู้เรื่องภาษี และการจัดทำบัญชีแบบง่ายๆ ขณะที่กรมสรรพากรเองก็ไม่ได้จัดสัมมนาอบรมหรือให้ความรู้ทำความเข้าใจกับเจ้าของกิจการขนาดเล็กเหมือนกับร้านขายทองหรือร้านขายยา เจ้าของกิจการขนาดเล็กกลุ่มนี้ยังคุ้นชินกับการเสียภาษีระบบหักเหมาจ่าย 80% เพราะง่ายกว่าการจัดทำบัญชี และเก็บใบเสร็จรับ-จ่ายเงินไว้เป็นหลักฐานในการหักค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริง ถึงแม้กรมสรรพากรแถลงข่าวยืนยันว่าได้ทำประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ผ่านเว็บไซต์และสรรพากรพื้นที่แล้วก็ตาม แต่เจ้าของกิจการขนาดเล็กส่วนใหญ่เป็นกิจการระดับฐานราก เปิดเว็บไซต์ไม่เป็น และไม่มีเวลาที่จะไปทำความเข้าใจเนื้อหาของกฎหมายใหม่ เพราะยุ่งอยู่กับการทำมาหากิน เมื่อกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ ในทางปฏิบัติจึงมีปัญหาและเกิดคำถามมากมาย ยกตัวอย่าง มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษี เปิดประเด็นบนเฟซบุ๊กว่า พระราชกฤษฎีกาฯ ลดค่าใช้จ่ายแบบเหมาจาก 80% เหลือ 60% ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 แต่ในทางปฏิบัติมีผลย้อนหลังถึงเงินได้ที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 1-26 มกราคม 2560 ด้วย การออกกฎหมายที่เป็นโทษจะบังคับใช้ย้อนหลังได้หรือไม่?

วันที่ 22 พ.ค. 2559 กรมสรรพากรร่วมกับสมาคมค้าทองคำ จัดสัมมนา “โอกาสทอง ร้านทองเปลี่ยนผ่านสู่นิติบุคคล” ชั้น 12 อาคารไทย ซี ซี ทาวเวอร์ สาทรใต้ กรุงเทพฯ

ประเด็นถัดมา คือ กรมสรรพากรมีหลักในการคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างไร จึงกำหนดอัตราหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาไว้ที่ 60% ยกตัวอย่าง ขายเครื่องดื่มขวดละ 10 บาท ได้กำไร 1 บาท (ไม่รวมค่าไฟฟ้า ค่าถุงหิ้ว), รับขนมมาขายโหลละ 55 บาท ขายหมดได้กำไร 5 บาท หรือ รับปุ๋ยมาขายกระสอบละ 1,000 บาท วางขายหน้าร้าน 1,030 บาท ลงทุนไป 1,000 บาท ได้กำไร 30 บาท ต้นทุนจริง 90- 97% แต่กรมสรรพากรให้หักได้แค่ 60% คำถาม คือ ขายอะไรได้กำไร 40% หากเจ้าของกิจกากรขนาดเล็กต้องการเสียภาษี โดยหักค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริง ในทางปฏิบัติต้องจัดเตรียมเอกสารและทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างไร โชห่วยตามหมู่บ้านเล็กที่ไหนออกใบเสร็จให้ลูกค้า ซื้อผัก ซื้อหมู มาทำอาหารขาย ต้องขอใบเสร็จแม่ค้าหรือไม่ หากเปลี่ยนจาก “บุคคลธรรมดา” มาเป็น “นิติบุคคล” ตามนโยบายรัฐบาล ก็จะทำให้เจ้าของกิจการขนาดเล็กมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างนักบัญชีและค่าเซ็นรับรองงบการเงินเพิ่มขึ้น