ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 10 ปี ป.ป.ช. “คดีทรัพย์สิน” ชี้มูลความผิดนับร้อยราย กับคำตอบคดี “นาฬิกาหรู – แหวนเพชร” ของ “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ก.พ.นี้

10 ปี ป.ป.ช. “คดีทรัพย์สิน” ชี้มูลความผิดนับร้อยราย กับคำตอบคดี “นาฬิกาหรู – แหวนเพชร” ของ “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ก.พ.นี้

20 กุมภาพันธ์ 2018


แม้จะยังไม่กำหนด “วัน ว. เวลา น.”

แต่ “กุมภาพันธ์” คือนัดหมายที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ประกาศว่าจะแถลงความชัดเจนในการตรวจสอบการครอบครอง “นาฬิกาหรู” และ “แหวนเพชร” ของ “พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ที่ไม่ปรากฏในการแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.

หลังจากที่ ป.ป.ช. ได้ส่งหนังสือขอคำชี้แจงจาก พล.อ. ประวิตร จำนวน 3 ฉบับ พร้อมเดินหน้าสอบพยานบุคคล 4 คน ที่มีความเชื่อมโยงกับนาฬิหาหรูตามที่ พล.อ. ประวิตร “อ้างถึง” ในหนังสือชี้แจงที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. รวมไปถึงการสอบข้อมูลกับบริษัทเอกชนที่นำเข้านาฬิกาแบรนด์ดังระดับโลก

คดีนี้ ถือเป็น “เผือกร้อน” ที่สังคมจับตาการทำหน้าที่ของป.ป.ช. ว่าจะเป็นไปอย่างโปร่งใส และ “ตอบคำถาม” ให้กับประชาชนได้หรือไม่ เพราะนั่นหมายความถึงความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนต่อ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรตรวจสอบหลักของไทย

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้โชว์ผลงาน ผ่านการชี้มูลความผิดในคดีเกี่ยวกับ “ทรัพย์สิน” ทั้งคดีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และ คดีร่ำรวยผิดปกติ รวมหลายร้อยคดี

ปี 2560

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดกรณีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในปีงบประมาณ 2559-2560 จำนวน 292 ราย เช่น 1. นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม 2. นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย 3. นางไพจิตร อักษรณรงค์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 4. พล.ต.ท. พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง 5. นายวีระพงษ์ บริสุทธิ์สุขกมล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ไมัอัดไทย จำกัด 6. นายไพรัช ชัยชาญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการองค์การสวนสัตว์ ในฐานความผิดกรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีและเอกสารประกอบ หรือจงใจยื่นบัญชีและเอกสารประกอบอันป็นเท็จหรือปกปิด

ส่วนกรณีร่ำรวยผิดปกติ เช่น 1.นายเกษม นิมมลรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกฯ อบจ.เชียงใหม่ (21 ล้านบาท) และ 2. นายสมบัติ อุทัยสาง เมื่อครั้งดำรงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (108.5 ล้านบาท) 3.นายสาธิต รังคศิริเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร (714.9 ล้านบาท) 4. นางจุฑามาศ ศิริวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (65 ล้านบาท)

ปี 2559

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดในคดีจงใจไม่ยื่นบัญชีฯ หรือยื่นบัญชีฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 241 ราย อาทิ 1.นายเกษม นิมมลรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงใหม่, ส.ส., รองนายก อบจ. เชียงใหม่ จงใจยื่นบัญชีฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตำแหน่งพ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปีในตำแหน่งที่ปรึกษา กรณีเข้ารับตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่ง และพ้นครบ 1 ปีในตำแหน่ง ส.ส. และกรณีเข้ารับตำแหน่งรองนายก อบจ. 2. นายมนตรี โสตางกูร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการการเคหะแห่งชาติ, กรรมการประปาส่วนภูมิภาค, กรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), กรรมการบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ กรณีเข้ารับตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี 3. นายหนูแดง วรรณกางซ้าย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคเพื่อไทย 4. นายจรัล ดิษฐาอภิชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 5. นายธนาธร โล่ห์สุนทร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 6. นายยศวริศ ชูกล่อม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 7. พ.ต.ต. เสงี่ยม สำราญรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ส่วนกรณีร่ำรวยผิดปกติ เช่น 1. นายเกษม นิมมลรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.เชียงใหม่ และที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงใหม่ (168 ล้านบาท) 2. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (346.6 ล้านบาท) 3. นายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักวิชาการสรรพากรชำนาญการพิเศษ (597 ล้านบาท)

ปี 2558

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าจงใจไม่ยื่นบัญชีฯ หรือยื่นบัญชีฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ จำนวน 100 เรื่อง เช่น นายพงศ์เวช เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กรณียื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ จงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ในช่วงพ้นตำแหน่ง ส.ส. เมื่อปี 2556

ปี 2557

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด ในคดีการกระทำเป็นความผิดทางวินัยและหรืออาญา หรือร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 48 คดี โดยเป็นเรื่องสำคัญ 4 เรื่อง ดังนี้ 1. กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า พล.อ. เสถียร เพิ่มทองอินทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม รํ่ารวยผิดปกติ 2. นายธรรมชัย เชาว์ปรีชา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ กรณีพ้นจากตําแหน่งและกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด 3. นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.นครนายก จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ กรณีพ้นจากตําแหน่ง ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และ 4. นายจตุพัฒน์ บารมี จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี เมื่อครั้งดำรงตําแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 รวม 2 ครั้ง

ปี 2556

ในรอบปี ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สน จำนวน 40,009 บัญชี แต่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนในรายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่ประจำปี 2555 ถึงจำนวนคดีที่ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิด ระบุเพียงการชี้มูล 3 คดีสำคัญ คือ 1. เรื่องการถือหุ้นในบริษัทเกินร้อยละ 5 ของคู่สมรสของนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2. นายยุรนันท์ ภมรมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ

และ 3. กรณีนางสาวณฐกมล นนทะโชติ กรณีเข้ารับตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรณีพ้นจากตำแหน่ง และกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งผลการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สิน พบว่านางสาวณฐกมลมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ เมื่อเปรียบเทียบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีกับบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินกรณีเข้ารับตำแหน่ง พบว่าต่างกันถึง 70,547,260.82 บาท

ปี 2555

ป.ป.ช. ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน 22,044 บัญชี มี 5 คดีสำคัญที่ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ดังนี้ 1. พล.ท. ไตรรัตน์ ปิ่นมณี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยจำกัด กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ในกรณีพ้นจากตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปีครั้งที่ 1 และกรณีเข้ารับตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว 1 ปี ในการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 รวม 8 บัญชี

2. นายสมคิด สังขมณี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการองค์การสวนยาง กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ในกรณีพ้นจากตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี 3. นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ และกรรมการของรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงในประเทศไทยหลายแห่ง กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด กรณีพ้นจากตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี จำนวน 5 บัญชี

4. นายไพศาล ลือพืช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด กรณีพ้นจากตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี ในการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 และ 5. พล.อ. เสถียร เพิ่มทองอินทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการองค์การคลังสินค้า กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด กรณีพ้นจากตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี และจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีเข้ารับตำแหน่ง ทรัพย์สิน-หนี้สินรวม 14,127,364.79 บาท กรณีพ้นตำแหน่งทรัพย์สิน-หนี้สิน รวม 12,172,296.36 บาท กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี จำนวน 3,766,540.35 บาท

ปี 2554

ป.ป.ช. ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน 8,055 บัญชี พบว่า มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อ ป.ป.ช. ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด และ/หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ จำนวน 5 เรื่อง ดังนี้ 1. เรื่องกล่าวหา นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรณีการไม่แสดงเงินฝากของตนและ/หรือของคู่สมรสที่ฝากไว้ในบัญชีเงินฝากต่างๆ และกรณีการไม่แสดงรายการทรัพย์สิน บ้านเลขที่ 5/5 ตำบลไผ่จำศีล อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

2. เรื่องกล่าวหานางสาวชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.เชียงใหม่ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.เชียงใหม่ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ โดยไม่แสดงรายการหนี้สินจำนวน 100,000,000 บาท ที่กู้ยืมจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ 3. เรื่องกล่าวหา นายปุระพัฒน์ วิเศษจินดาวัฒนา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรณี ไม่ได้แสดงหนี้สินเงินกู้ยืม จํานวน 3,500,000 บาท

4. เรื่องกล่าวหานายจำรัส เวียงสงค์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ กรณีพ้นจากตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี และ 5. เรื่องกล่าวหาเรือเอก อิทธิชัย สุพรรณกูล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ กรณีพ้นจากตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี

ปี 2553

ป.ป.ช. ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน 10,950 บัญชี พบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อ ป.ป.ช. ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และ/หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ จำนวน 1 ราย คือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) จำนวน 5 กรณี ตั้งแต่ปี 2544-2550 ดังนี้ 1. กรณีเข้ารับตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว 1 ปี ในตำแหน่ง ส.ส. ครั้งที่ 1 2. กรณีเข้ารับตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 3. กรณีเข้ารับตำแหน่ง พ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 4. กรณีเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง ในตำแหน่ง ส.ส. ครั้งที่ 2 และ 5. กรณีเข้ารับตำแหน่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 โดยปกปิดไม่แสดงหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตนและคู่สมรสจำนวน 1,419,490,150 หุ้น และหุ้นบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด

ปี 2552

ป.ป.ช. ตรวจสอบทรัพย์สินจำนวน 6,048 บัญชี พบเจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อ ป.ป.ช. ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และหรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ จำนวน 3 ราย คือ 1. นายพีระพงศ์ อิศรภักดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กรณีไม่ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการเงินฝากในบัญชีธนาคารของตนและคู่สมรสรวม 15 บัญชี ซึ่งบางบัญชีมีเงินเข้าฝากเป็นจำนวนมาก และไม่ได้แสดงรายการที่ดินที่คู่สมรสถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับบุคคลอื่นอีก 1 แปลง

2. นางอรพินท์ มั่นศิลป์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารต่อ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ กรณีไม่แสดงรายการหนี้สินจำนวน 171,893,345.07 บาท และ 3. นายชุมพล กาญจนะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.สุราษฎร์ธานี และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ

ปี 2551

ป.ป.ช. ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน 10,708 บัญชี พบเจ้าหน้าที่ของรัฐใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบจำนวน 3 ราย แบ่งเป็น ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ 2 ราย และผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 ราย

กรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ 2 ราย คือ 1. นายยงยุทธ ติยะไพรัช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 2. นายสมบัติ อุทัยสาง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

นี่คือ “ผลงาน” ของมือปราบทุจริตที่ถูกจารึกเอาไว้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

“ยุรนันท์” ผู้รอดเพียงหนึ่งเดียว

10 ปีของการ “ชี้มูล” ของ ป.ป.ช. คดีเกือบทั้งหมดเมื่อขึ้นสู่ชั้นศาล ในศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะจบด้วยคำพิพาษาให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหา

โดยหากไม่นับกรณีที่ศาลยกฟ้อง หลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกประกาศเรื่อง กําหนดตําแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 โดยมีสาระสำคัญว่า ผู้ดำรงตำแหน่ง ได้แก่ ที่ปรึกษาและเลขานุการนายกเทศมนตรี ของเทศบาลเมือง ที่ปรึกษาและเลขาฯ นายกเทศมนตรีของเทศบาลตำบล และเลขาฯ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไม่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช แล้ว โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2560 ทำให้มีผู้บริหารท้องถิ่นหลายคนรอดจากการถูกดำเนินคดี

เท่ากับว่า มีเพียงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรายเดียวที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้อง นั่นคือ “ยุรนันท์ ภมรมนตรี” อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย

โดย ป.ป.ช. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดกรณีแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ โดยไม่ได้แจ้งข้อมูลการถือครองหุ้นบริษัท วิลล่า เมดิก้า (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 14 ล้านบาท และไม่ได้ยื่นข้อมูลการถือครองหุ้นในสหกรณ์การบินไทยของภรรยาอีกจำนวน 3 ล้านบาท

จึงขอให้ศาลฎีกาฯ พิพากษาลงโทษอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 119 และมีคำสั่งห้ามผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกาฯ มีคำสั่ง

ขณะที่ “ยุรนันท์” ได้ต่อสู้ข้อกล่าวหาว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะปกปิดข้อมูลบัญชีทรัพย์ต่อ ป.ป.ช. แต่ปัญหาเกิดจากเหตุสุดวิสัย เช่น การส่งมอบเอกสารที่ติดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 รวมถึงการแจ้งข้อมูลเรื่องการลงทุนในบริษัท แต่ไม่ได้แจ้งมูลค่าหุ้น พร้อมขอให้ศาลยกคำร้อง

สุดท้ายศาลได้พิเคราะห์ในคดีนี้ว่า ช่วงขณะเกิดเหตุ “ยุรนันท์” เป็นผู้อำนวยการศูนย์พักพิงให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กรุงเทพมหานคร จึงทำให้เกิดความลำบากในการค้นหาเอกสารจริง อีกทั้งเพิ่งถือครองหุ้นเมื่อปี 2552 จึงยังไม่ได้ยื่นแสดงบัญชีเงินลงทุนนี้ นอกจากนี้ ขณะนั้นมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ “ยุรนันท์” และภรรยารวมกันมีหลายรายการมูลค่ามากกว่าเงินลงทุนดังกล่าว รวมถึงจำนวนมูลค่าทรัพย์สินที่ไม่มากนักและได้มีการยื่นข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลัง ส่วนทรัพย์สินของภรรยาในสหกรณ์การบินไทยนั้น ต่อมาก็ได้มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติมแล้ว

องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากจึงมีมติพิพากษายกคำร้อง