ThaiPublica > เกาะกระแส > สตง. เปิดผลสอบ “ราชภักดิ์” ปลาย มี.ค. 59 เตรียมโชว์หลักฐาน 20 ลบ. ที่โรงหล่อจ่ายเซียนพระ “ไม่ใช่ค่าหัวคิว”

สตง. เปิดผลสอบ “ราชภักดิ์” ปลาย มี.ค. 59 เตรียมโชว์หลักฐาน 20 ลบ. ที่โรงหล่อจ่ายเซียนพระ “ไม่ใช่ค่าหัวคิว”

19 มีนาคม 2016


นายพิสิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า สตง. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ บนพื้นที่โรงเรียนนายสิบทหารบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพิ่มเติมตามที่ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) มอบหมายเสร็จสิ้นแล้ว และได้แจ้งไปยัง พล.อ. ไพบูลย์ เพื่อขออนุญาตแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแล้ว คาดว่าจะสามารถจัดแถลงข่าวเพื่อเปิดเผยผลการตรวจสอบของทั้ง สตง. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่จัดทำขึ้นคู่ขนานกัน ได้ภายในเดือนมีนาคม 2559 นี้ เนื่องจากกรณีโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ถูกตั้งคำถามมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ควรจะได้ข้อยุติเสียที โดยหลังจากแถลงข่าวจบ สตง. ก็จะส่งมอบพยานหลักฐานทุกอย่างให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตรวจสอบต่อไปตามที่มีหนังสือร้องขอมา เพื่อที่ ป.ป.ช. จะได้สอบถามผลการตรวจสอบของ สตง. อีกทางหนึ่ง

“สตง. เพียงแต่แจ้ง พล.อ. ไพบูลย์ว่าตรวจสอบเสร็จแล้ว ไม่ได้แจ้งรายละเอียดผลการตรวจสอบ เพราะต้องการให้รอฟังในวันเดียวกับที่แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ที่คาดว่าจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้” นายพิศิษฐ์กล่าว

เมื่อถามว่า ผลการตรวจสอบของ สตง. จะนำไปสู่การดำเนินคดีกับบุคคลใดหรือไม่ นายพิศิษฐ์กล่าวว่า สตง. ได้เน้นการตรวจสอบไปที่การรับจ่ายเงินในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ทั้งหมด โดยเฉพาะการรับเงินบริจาค ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีการลงบัญชีและออกใบเสร็จไว้อย่างถูกต้อง แม้กระทั่งการประกาศว่าจะบริจาคเงินให้ผ่านสื่อ

เมื่อถามถึงประเด็นเรื่องการเรียกรับหัวคิวการหล่อพระรูปอดีตพระมหากษัตริย์แห่งสยามของ “เซียนพระ อ.” นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน สตง. จะนำหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ทั้งเช็คการบริจาคเงินคืนให้กับกองทัพบก จำนวน 5 ใบ รวมเป็นเงิน 20 ล้านบาท รวมถึงพยานหลักฐานต่างๆ ที่ยืนยันว่า เซียนพระ อ. ดังกล่าว ได้เข้ามาร่วมลงแรงในการหล่อพระรูปดังกล่าวจริงๆ ซึ่งจะแตกต่างจากพฤติกรรมการเรียกรับหัวคิวในอดีต ที่มักเรียกรับเงินก่อนเริ่มต้นโครงการ แต่เซียนพระ อ. รายนี้ ได้รับเงินค่าที่ปรึกษา หลังจากการหล่อพระรูปทุกองค์แล้วเสร็จ นอกจากนี้ ยังมีการต่อรองกับโรงหล่อเพื่อลดราคาลงมาจากองค์ละ 70 ล้านบาท เหลือเพียงองค์ละ 41-45 ล้านบาท ส่วนที่บริจาคเงินคืนให้กับกองทัพบก อาจเป็นเพราะมีผู้หวังดีมาแนะนำ

“แต่ผมจะยังไม่ขอตอบว่า จากการตรวจสอบของ สตง. เงินที่เซียนพระ อ. ได้รับเป็นค่าหัวคิว หรือค่าที่ปรึกษา เพราะอยากให้รอฟังพร้อมการชี้แจงพยานหลักฐานในคราวเดียวกันไปเลย” ผู้ว่าฯ สตง. กล่าว

เมื่อถามถึงการที่กองทัพบกไม่แสดงราคากลางการหล่อพระรูปตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 ไว้บนเว็บไซต์ จะเป็นปัญหาหรือไม่ นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ถึงจะไม่แสดงราคากลาง แต่เท่าที่ตรวจสอบเปรียบเทียบกับการหล่อพระรูปอื่นๆ ของ สตง. ไม่พบว่ามีราคาแพงเกินจริง ทั้งเรื่องความหนาของโลหะสำริด และในเชิงศิลปกรรม

ขณะที่ พล.อ. ไพบูลย์ ให้สัมภาษณ์ว่า การแถลงข่าวผลการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของทั้ง สตง. และ ป.ป.ท. จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า

8 องค์กรปราบทุจริตบูรณาการตั้งคณะทำงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้ ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวม 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกันแถลงข่าวว่าจะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทั้ง 8 หน่วยงาน ภายใต้โครงสร้าง “คณะทำงานโครงการบูรณาการร่วม เพื่อการบริหารจัดการคดีระหว่างองค์กรอิสระและหน่วยงานการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันภาครัฐ”

นายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการทำงานของคณะทำงานฯ นี้จะมีด้วยกัน 3 ข้อ 1. หยิบคดีต่างๆ มาหารือร่วมกันว่ามีความซ้ำซ้อนกันหรือไม่ 2. แลกเปลี่ยนทางการข่าวเพื่อบูรณาการการทำงาน และ 3. กำหนดแนวทางการชี้แจงต่อสาธารณชนถึงความคืบหน้าในคดีสำคัญ

ด้านนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การจัดตั้งคณะทำงานฯ นี้ จะช่วยให้ทั้ง 8 หน่วยงานบูรณาการการทำงานเพื่อรองรับเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หลังพบว่า ช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2549-2558 การทุจริตคอร์รัปชันทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียผลประโยชน์ไปมากกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าหากคณะทำงานฯ นี้ประสบความสำเร็จ จะช่วยให้ดัชนีภาพลักษณ์ความโปร่งใส (Corruption Perception Index: CPI) ของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น จากที่ในปี 2558 ได้คะแนนเพียง 38 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนนเท่านั้น