ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > จาก “ทักษิณ” ถึง “ชินณิชา” บทบาท-ปัญหา ป.ป.ช. ในการตรวจสอบทรัพย์สิน

จาก “ทักษิณ” ถึง “ชินณิชา” บทบาท-ปัญหา ป.ป.ช. ในการตรวจสอบทรัพย์สิน

1 พฤษภาคม 2012


จากการประกาศเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 16 ตำแหน่ง และคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ในวันที่ 19 เมษายน 2555 ทำให้ประเด็นเรื่องการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง

จากประมาณการเบื้องต้น ตามประกาศของ ป.ป.ช. ที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ปัจจุบันพบว่ามีจำนวนตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีกว่า 1,200 ตำแหน่ง คิดเป็นบัญชีกว่า 126,800 บัญชี (ข้อมูลเพิ่มเติม: ป.ป.ช. ขยายกรอบผู้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ลงลึกระดับเจ้าหน้าที่ ทุก 5 ปี ต้องตรวจสอบ 370,200 บัญชี!)

ในอดีตที่ผ่านมา คดีที่เกี่ยวข้องกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมักเป็นที่สนใจของสังคมทุกครั้ง เพราะเรื่องนี้เปรียบเสมือนคำตัดสินที่ชี้เป็นชี้ตายอนาคตทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีของพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ หรือกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาภาพ http://www.prasong.com
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาภาพ http://www.prasong.com

เพราะบทลงโทษของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่ยื่นบัญชีหรือยื่นบัญชีเป็นเท็จ กฎหมายกำหนดให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกเป็นเวลา 5 ปี นับตั้งต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย ทำให้นักการเมืองต่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงไม่ให้มีความผิดในเรื่องบัญชีทรัพย์สิน

การประกาศให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติม จึงเป็นเรื่องดีที่จะช่วยให้การทำงานของภาครัฐมีความโปร่งใสมากขึ้น แต่ตำถามก็คือ ป.ป.ช. ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย ผู้ตรวจสอบการยื่นบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้มีประสิทธิภาพหรือไม่

จากรายงานประจำปีของ ป.ป.ช. ที่มีข้อมูลช่วงปี 2550–2553 พบว่าในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา คดีที่เกี่ยวข้องกับการยื่นบัญชีทรัพย์สิน มี 30 คดี โดย 24 คดีแรกเป็นคดีของนักการเมืองท้องถิ่น ที่จงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ทันเวลาที่ ป.ป.ช. กำหนด เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่กฎหมายเริ่มมีผลบังคับใช้ ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับท้องถิ่นหลายคนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ จึงไม่ยื่นบัญชีตามที่กฎหมายกำหนด

และใน 6 คดีที่เหลือ เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติ ตัวอย่างเช่น คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีของนางอรพินท์ มั่นศิลป์ ส.ว.นครสวรรค์ คดีของนายชุมพล กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ คดีของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคดีของนายสมบัติ อุทัยสาง อดีต รมช.มหาดไทย เป็นต้น ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการไต่สวน เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนของ ป.ป.ช. ไปจนถึงการพิจารณาคดีของศาล คดีเหล่านี้ใช้เวลาประมาณ 3–5 ปี

โดยปกติ ขั้นตอนในการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการยื่นบัญชีทรัพย์สิน จะเริ่มต้นจากการที่มีผู้ร้องเรียน หรือ ป.ป.ช. ตรวจสอบเห็นว่าบัญชีนั้นมีความผิดปกติ จึงหยิบเรื่องนี้มาพิจารณาไต่สวนและรวบรวมหลักฐาน เมื่อ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด จะส่งให้อัยการฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนศาลมีคำตัดสินในที่สุด

ในขั้นตอนการตัดสินทั้งหมดที่ใช้เวลาประมาณ 3–5 ปีนี้ พบว่าการใช้เวลาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ขั้นตอนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ที่ใช้เวลา 2 ปีเป็นอย่างน้อย และขั้นตอนการไต่สวนของศาลอีกประมาณ 1 ปี ดังตัวอย่างคดีเก่าที่มีคำพิพากษาไปแล้ว

กรณีของพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ยื่นบัญชีเท็จ เป็นการกระทำความผิดตั้งแต่ปี 2539 ป.ป.ช. เริ่มทำการไต่สวนในเดือน พ.ย. 2540 ใช้เวลาในการไต่สวน 2 ปี 5 เดือน ศาลใช้เวลาพิจารณาคดีอีก 4 เดือน ศาลตัดสินว่าผิดจริงในปี 2543 จากวันที่ยื่นบัญชีเท็จ จนถึงวันที่ศาลมีคำตัดสินใช้เวลา 4 ปี

กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิน ชินวัตร ยื่นบัญชีเท็จ (คดีซุกหุ้นครั้งแรก) เป็นการกระทำความผิดตั้งแต่ปี 2540 ป.ป.ช. เริ่มทำการไต่สวนในเดือน พ.ย. 2540 ใช้เวลาในการไต่สวน 3 ปี 2 เดือน ศาลใช้เวลาพิจารณาคดีอีก 6 เดือน ศาลตัดสินยกฟ้องในปี 2544 จากวันที่ยื่นบัญชีเท็จ จนถึงวันที่ศาลมีคำตัดสินใช้เวลา 4 ปี

กรณีของนายรักเกียรติ สุขธนะ ยื่นบัญชีเท็จ เป็นการกระทำความผิดตั้งแต่ปี 2540 ป.ป.ช. เริ่มทำการไต่สวนในเดือน ต.ค. 2540 ใช้เวลาในการไต่สวน 4 ปี 11 เดือน ศาลใช้เวลาพิจารณาคดีอีก 11 เดือน ศาลตัดสินว่ามีความผิดในปี 2546 นำไปสู่การดำเนินคดีข้อหาร่ำรวยผิดปกติ ถูกตัดสินยึดทรัพย์และจำคุกในที่สุด จากวันที่ยื่นบัญชีที่เป็นเท็จจนถึงวันที่ศาลมีคำตัดสินยึดทรัพย์ ใช้เวลาทั้งหมด 6 ปี

น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ที่มาภาพ: http://www.oknation.net
น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ที่มาภาพ: http://www.oknation.net

หรือกรณีล่าสุดของ น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ เป็นการกระทำความผิดตั้งแต่ ม.ค. 2551 หลังจากมีผู้ร้องเรียน ป.ป.ช. เริ่มทำการไต่สวนในเดือน ก.ย. 2551 ใช้เวลาในการไต่สวน 2 ปี 3 เดือน ศาลใช้เวลาพิจารณาคดีอีก 11 เดือน รวมเวลา 3 ปี 2 เดือน ในวันที่ 19 เมษายน 2555 ศาลตัดสินว่าผิด ให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากวันที่ยื่นบัญชีที่เป็นเท็จจนถึงวันที่ศาลมีคำตัดสิน ใช้เวลาทั้งหมด 4 ปี 3 เดือน (น.ส.ชินณิชายื่นบัญชีเท็จในการรับตำแหน่ง ส.ส. สมัยแรก แต่คำตัดสินออกมาตอนเป็น ส.ส. สมัยสอง)

แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่วันที่มีการยื่นบัญชีไปจนถึงวันที่ศาลมีคำตัดสิน จากตัวอย่างที่ยกมา ในอนาคตหากกระบวนการไต่สวนยังคงใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปีอยู่ นั่นหมายความว่า หากมีกรณีที่รัฐมนตรีคนใดยื่นบัญชีเท็จ คำพิพากษาก็จะออกมาในวันที่รัฐมนตรีคนนั้นพ้นจากตำแหน่งตามวาระไปเรียบร้อยแล้ว และจึงถูกห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกเป็นเวลา 5 ปีภายหลัง นับแต่วันที่ศาลพิพากษา ดังนั้นความรวดเร็วจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริง

และในเรื่องการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินพบว่า คดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีการยื่นบัญชีเท็จเกือบทุกคดี มีจุดเริ่มต้นจากสื่อมวลชนและองค์กรอื่นๆ เช่น กรณีของพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ พ.ต.ท.ทักษิน ชินวัตร ที่มีจุดเริ่มต้นจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนไปจนถึง น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบ

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ พ.ร.บ. ของ ป.ป.ช. กำหนดให้ต้องเปิดเผยบัญชีของ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. ให้สาธารณชนทราบ ทำให้สื่อมวลชน และองค์กรต่างๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้ แต่จากบัญชีทั้งหมดที่ต้องยื่นต่อ ป.ป.ช. กว่า 126,800 บัญชี บัญชีที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนมีอยู่ประมาณ 700 บัญชีเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.005% ของบัญชีทั้งหมด

ที่น่าสนใจคือ เพียงแค่ 0.005% ที่มีการเปิดเผย ยังพบปัญหาการแจ้งข้อมูลบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ แล้วที่เหลืออีกกว่า 99% ที่ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ป.ป.ช. จะสามารถตรวจสอบได้ดีแค่ไหน ในทางปฏิบัติ แม้การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมดทุกตำแหน่งจะเป็นเรี่องยาก แต่ถ้า ป.ป.ช. ยังไม่มีมาตรการรับมือที่ดี การพิจารณาให้มีการเปิดเผยบัญชีต่อสาธารณะในตำแหน่งต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้สื่อมวลชนและหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาช่วย ป.ป.ช. ทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ง่ายและเร็วที่สุดที่จะสร้างให้เกิดความโปร่งใสได้ในตอนนี้