ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช. สั่ง “บิ๊กป้อม” แจงที่มา “นาฬิกาหรู-แหวนเพชร” ภายใน 30 วัน

ป.ป.ช. สั่ง “บิ๊กป้อม” แจงที่มา “นาฬิกาหรู-แหวนเพชร” ภายใน 30 วัน

7 ธันวาคม 2017


พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: https://social.tvpoolonline.com/

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่อกรณีที่มีการนำเสนอข่าว พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสวมใส่นาฬิกาหรูและแหวนเพชรราคาแพง โดยไม่ได้แจ้งในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินว่า หลังจากที่ปรากฏเป็นข่าว พล.อ. ประวิตร สวมใส่นาฬิกาและแหวนเพชรราคาแพง โดยไม่ได้แสดงในบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐมนตรี ตนได้นำประเด็นนี้รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งที่ประชุมก็มติรับรายงานงานดังกล่าว ตามระเบียบของ ป.ป.ช. นั้น พล.อ. ประวิตร ต้องทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งในวันนี้ตนได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทำหนังสือถึง พล.อ. ประวิตร ไปแล้ว

นายวรวิทย์กล่าวว่า ขณะนี้ตนยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดอะไรได้ ต้องรอ พล.อ. ประวิตร ทำหนังสือชี้แจงมาที่ ป.ป.ช. พร้อมพยานหลักฐาน จากนั้นก็จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนอะไรมาก เชื่อว่าคงจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน ซึ่งตนก็เข้าใจดีว่าประเด็นนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน หากมีความคืบหน้าประการใด ทางสำนักงาน ป.ป.ช. จะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ. ประวิตร ให้สัมภาษณ์ว่านาฬิกาและแหวนเป็นทรัพย์สินเดิมที่ครอบครองอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่ได้แจ้งในบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีนี้ถือเป็นการปกปิดทรัพย์สินหรือไม่ นายวรวิทย์กล่าวว่า ตอนนี้อย่าเพิ่งไปสันนิษฐานอะไรมากกว่านี้เลย ขอรอดูข้อเท็จจริงก่อนว่า พล.อ. ประวิตร จะชี้แจงประเด็นนี้กับ ป.ป.ช. อย่างไร

บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ
ที่มา: https://www.nacc.go.th/

นายวรวิทย์กล่าวต่อถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2560 นั้น บทบัญญัติมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวบัญญัติว่า “บทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่กระทบต่อการดำเนินการใด ในคดีที่ยื่นฟ้องไว้และได้ดำเนินการไปแล้ว ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้” ประกอบกับตามบทบัญญัติมาตรา 27 ประกอบมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงมีผลให้คดีที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ต่อศาล และปรากฏว่าจำเลยที่ไม่มาศาลตามกำหนดนัด โดยโจทก์มีหลักฐานแสดงต่อศาลได้ว่าศาลได้เคยมีการออกหมายจับจำเลยที่ไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ตัวมา หรือ ไม่มาศาลตามนัด โดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยได้

ในวันนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสาระบบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้ สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ จึงมีมติให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลยกคดีขึ้นพิจารณา จำนวน 3 เรื่อง กล่าวคือ

1. คดีหมายเลขคดีดำที่ อม.1/2551 คดีหมายเลขคดีแดงที่ อม.10/2552 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระหว่าง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ 1 กับพวกรวม 47 คน จำเลยกรณีกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (หวยบนดิน) จำเลยที่ 1 หลบหนีไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1ชั่วคราว

2. คดีหมายเลขคดีดำที่ อม.3/2551 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระหว่าง ระหว่าง คณะกรรมการตรวจสอบการกระท ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ นายทักษิณ ชินวัตร จำเลย กรณีกล่าวหาเกี่ยวกับทุจริตการอนุมัติให้เงินกู้แก่รัฐบาลสหภาพพม่า จำนวน 4,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจัดซื้ออุปกรณ์กิจการโทรคมนาคมจาก บริษัทในเครือชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (Exim Bank) ศาลนัดพร้อมจำเลยไม่มาศาล ศาลสั่งจำหน่ายคดีออกหมายจับจำเลย

3. คดีหมายเลขคดีดำที่ อม.5/2554 คดีหมายเลขคดีแดงที่ อม.7/2556 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. โจทก์ ยื่นฟ้องนายโภคิน พลกุล กับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลย กรณี จัดซื้อรถหรือเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 5 (บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุคฯ) ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 ออกจากสารบบความ

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบอำนาจให้ นายณรงค์ รัฐอมฤต และ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจด เนินการแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. และมอบหมายให้พนักงานคดีว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นศาล

อ่านแถลงข่าวสำนักงาน ป.ป.ช. ที่นี่!