ThaiPublica > เกาะกระแส > 20 ปี ป.ป.ช. เรื่องค้างพิจารณากว่า 1.4 หมื่น เผยปี 2559 มีเรื่องร้องมากที่สุด ให้สัญญาปีหน้าฟัน15 คดีดัง

20 ปี ป.ป.ช. เรื่องค้างพิจารณากว่า 1.4 หมื่น เผยปี 2559 มีเรื่องร้องมากที่สุด ให้สัญญาปีหน้าฟัน15 คดีดัง

18 พฤศจิกายน 2019


นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

20 ปี ป.ป.ช. เรื่องค้างพิจารณากว่า 1.4 หมื่น เผยปี 2559 มีเรื่องร้องมากที่สุด ให้สัญญาปีหน้าฟัน15 คดีดัง

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แถลงผลงาน 20 ปีสำนักงานป.ป.ช. ว่า สถิติเรื่องร้องเรียนตลอด 20 ปีของสำนักงานป.ป.ช.ที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2559 มีจำนวนเรื่องร้องเรียนมากที่สุด 5382 เรื่อง ปัจจุบันป.ป.ช.มีเรื่องค้างพิจารณาหรือ 14,717 เรื่อง พิจารณาแล้วเสร็จ 4,782 เรื่อง โดยในปี 2563 ป.ป.ช.ให้สัญญาว่าจะดำเนินการไต่สวนคดีที่เป็นที่สนใจของประชาชนที่ค้างอยู่ในการพิจารณาให้แล้วเสร็จ 15 คดีดังนี้

    1.คดีการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย ปี 2556
    2.คดีการปราศรัยของกลุ่มนปช.ปี 2557
    3.คดีทุจริตในการสร้างฝายแม้ว
    4.คดีการอนุญาตเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ
    5.คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ภาคสอง
    6.คดีทุจริตการซื้อขายมันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ
    7.คดีทุจริตเงินทอนวัดอีก 36 คดีที่เหลืออยู่
    8.คดีทุจริตในการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 และอัลฟ่าหก
    9.คดีทุจริตสร้างสนามกีฬาฟุตซอล
    10.คดีทุจริตเรียกรับเงินจากผู้นำเข้ารถยนต์อิสระทำให้ผู้นำเข้าเสียภาษีน้อยลง(รถหรู)
    11.คดีทุจริตในการจัดหาที่ดินเพื่อปลูกปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย
    12.คดีทุจริตในการซื้อขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินโบว์อิ้ง ของบริษัทการบินไทย(คดีสินบนโรลส์-รอยช์)
    13.คดีทุจริตในการออกโฉนดที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขารวก-ป่าเขาเมือง ในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ
    14.คดีทุจริตในการออกโฉนดที่ดิน ตำบลเขากะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด
    15. คดีทุจริตในการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนเขาเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเตียน และป่าเขื่อนลั่น อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

นายวรวิทย์ ระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนของป.ป.ช.พร้อมเดินหน้าปฎิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งภายใต้ค่านิยมซื่อสัตย์เป็นธรรมมืออาชีพ จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการทำงานของป.ป.ช.ว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายการพิจารณาวินิจฉัยคดีทุกอย่างต้องมีพยานหลักฐานและจะดำเนินการอย่างรวดเร็วเป็นมืออาชีพมีประสิทธิภาพตามความมุ่งหวังของประชาชน

นายวรวิทย์ ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงความคืบหน้าคดีเหมืองทองว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าไปกว่า 80% แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้ โดยคดีดังกล่าวมีหลายประเด็น แต่ประเด็นที่คืบหน้า เช่น หลุมกำจัดที่มีปัญหาเรื่องมลพิษ

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าในประเด็นสินบนข้ามชาติ ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าป.ป.ช.ชุดที่แล้วได้รับเอกสารหลักฐานมาจากออสเตรีย นายวรวิทย์กล่าวว่า เอกสารที่ป.ป.ช.จะนำมารวมในสำนวนได้นั้น จะต้องเป็นเอกสารที่เป็นทางการ โดยเอกสารที่เป็นทางการนั้นขณะนี้ยังไม่เรียบร้อย อยู่ระหว่างการขอเอกสารอย่างเป็นทางการจากต่างประเทศ โดยกรรมการที่รับผิดชอบสำนวนกำลังพิจารณาอยู่ว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน เพราะบางเรื่องที่จำเป็นก็จะต้องรอ ประเด็นไหนที่สามารถสรุปได้ก็สรุป พร้อมระบุด้วยว่าความยากของคดีดังกล่าว คือการรวบรวมพยานหลักฐาน

เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีที่ป.ป.ช.จะลงพื้นที่จ.ราชบุรี ในวันที่ 29 พ.ย.นี้ เพื่อตรวจสอบรายการทรัพย์สินของน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่แจ้งรายการถือครองที่ดินภบท.5 สปก.และที่ดินรายการต่างๆที่แจ้งต่อป.ป.ช.ว่า ในวันที่ 29พ.ย. เจ้าหน้าที่สำนักตรวจสอบทรัพย์สินของป.ป.ช.จะลงพื้นที่จ.ราชบุรี ไปตรวจสอบทรัพย์สินและทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ปศุสัตว์ ฟาร์มวัว ฟาร์มไก่ รวมถึงที่ดินภบท.5 จะดูทั้งเอกสารและพื้นที่จริง เพื่อดูว่าสอดคล้องกับเอกสารที่ยื่นต่อป.ป.ช.หรือไม่ ตลอดจนดูถึงการได้มาของทรัพย์สินด้วย ส่วนการได้มาของที่ดินต่างๆนั้นจะได้โดยชอบหรือไม่นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของป.ป.ช. แต่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เป็นผู้ออกเอกสารสิทธินั้นๆ หน้าที่ป.ป.ช.มีเพียงแค่ตรวจสอบข้อมูลในการยื่นเข้ารับตำแหน่งเพื่อดูว่ามีการยื่นเท็จ ปกปิดอย่างไรหรือไม่ โดยเฉพาะการจงใจยื่นเท็จปกปิดหรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายของป.ป.ช.ในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน เพื่อนำไปเป็นฐานในการเปรียบเทียบอีกครั้งตอนพ้นจากตำแหน่งว่า มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือร่ำรวยผิดปกติหรือไม่

นายวรวิทย์ กล่าวว่า ส่วนนักการเมืองคนอื่นๆที่ข่าวครอบครองที่ดินภบท.5 หรือสปก.นั้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติต้องเก็บรวบรวมข้อมูลอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการครอบครองจำนวนมากๆแล้วถูกพบเป็นประเด็นทางสังคม ป.ป.ช.ก็ต้องตรวจสอบ เป็นเรื่องปกติที่ป.ป.ช.ต้องตรวจสอบเพื่อยืนยันข้อมูล เพราะบางรายมีทรัพย์สินจำนวนมากๆ และมีเหตุอันสมควรที่ป.ป.ช.ต้องลงไปตรวจสอบ วัตถุประสงค์หลักของป.ป.ช.ที่ไปตรวจสอบคือ 1.ไว้เป็นฐาน ซึ่งคนที่ทุจริตส่วนใหญ่ เมื่อรู้ว่าป.ป.ช.จะเก็บข้อมูลไว้เป็นฐาน จะยื่นแสดงทรัพย์สินในจำนวนที่สูงมากๆ เพื่อตอนพ้นตำแหน่งจะได้ระบุว่า ยังมีทรัพย์สินอยู่ตามจำนวนที่ยื่น ดังนั้นป.ป.ช.จึงต้องตรวจที่มาของแต่ละสิ่งนั้น เผื่อมีเหตุอันสมควรที่นำไปสู่การตรวจสอบเชิงลึก ดังนั้นหากเป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจก็เป็นเหตุผลที่ป.ป.ช.ต้องลงไปตรวจสอบอยู่แล้ว

นายวรวิทย์ กล่าวว่า ขณะที่การตรวจสอบการครอบครองเหล็กไหลมูลค่า 1,000 ล้านบาท ของนายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังไทยรักไทยนั้น เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ไปตรวจสอบมาแล้วรอบหนึ่ง เรื่องความมีอยู่จริงของทรัพย์สิน แต่จะลงไปตรวจสอบอีกครั้ง เนื่องจากมีข้อสงสัยเรื่องการได้มา จึงต้องไปสอบถามพยานบุคคลเพิ่มเติม ส่วนการตรวจสอบพระเครื่องของนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ที่แจ้งมูลค่าพระเครื่องหลายรายการ ในมูลค่าสูงมากนั้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังสรุปประเด็นเป็นข้อๆเพื่อรายงานมาให้ตน ก่อนที่จะเสนอต่อที่ประชุมป.ป.ช.พิจารณา มีระยะเวลาให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน180 วัน ถือเป็นการตรวจสอบเพื่อยืนยันข้อมูล แต่ถ้ามีประเด็นที่จะต้องติดตามต่อ หรือมีพยานหลักฐานที่ต้องซักถามเพิ่มเติมก็ต้องทำต่อเนื่อง ส่วนป.ป.ช.จะต้องเรียกผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น เซียนพระมาร่วมให้ข้อมูลด้วยหรือไม่ เพื่อความน่าเชื่อถือนั้น ในบางกรณีต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นประเด็นขึ้นมา ถ้าจำเป็นก็ต้องใช้ แต่บางกรณีถ้าเห็นว่า ยังไม่มีความจำเป็น ก็ให้เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ตรวจสอบไปก่อน แต่กรณีนี้เบื้องต้นยังไม่มีการเรียกผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูล แต่จะต้องเรียกเซียนพระมาหรือไม่ ขอให้เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อมูลก่อน

นายวรวิทย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเรื่องการตรวจสอบราคาพระเครื่อง เหล็กไหลนั้น ทำได้ยาก เพราะไม่มีราคากลางเหมือนอัญมณี ทำให้การตรวจสอบเป็นไปยากลำบาก แต่ในกฎหมายระบุว่า หากมีเจตนาจงใจหรือยื่นเท็จ หรือปกปิกโดยมีเจตนาไม่แสดงที่มาของรายการทรัพย์สิน ไม่ให้รู้ที่มาทรัพย์สิน ถ้ารายการเหล่านั้นเข้าเงื่อนไขตามกฎหมายดังกล่าวของป.ป.ช. ก็ต้องถูกดำเนินการ แต่จะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ขอเวลาตรวจสอบก่อน โดยจะต้องดูว่าการแจ้งมูลค่าสูงกว่าความจริงนั้น มีเจตนาอย่างไร

ส่วนความคืบหน้าในการไต่สวนคดีสินบนโรลส์-รอบช์ ว่า คณะกรรมการป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหารวม 10 คน จากจำนวน 26 คน โดยทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงต่อป.ป.ช. คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 นี้ ขณะที่นักการเมืองที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา แต่ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหานั้น เป็นเพราะพยานหลักฐานยังสาวไปไม่ถึง แต่หากในอนาคตมีพยานหลักฐานเพิ่มเติมสามารถที่จะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มได้