ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : ‘วิษณุ’ เผยเหตุเคอร์ฟิวสี่ทุ่มถึงตีสี่เพราะผู้ติดเชื้อมักมาจาก ‘กิจกรรมหลังเลิกงาน’ และ “สมเด็จฮุน เซน สละเงินเดือน 7 เดือนช่วยสู้โควิด”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : ‘วิษณุ’ เผยเหตุเคอร์ฟิวสี่ทุ่มถึงตีสี่เพราะผู้ติดเชื้อมักมาจาก ‘กิจกรรมหลังเลิกงาน’ และ “สมเด็จฮุน เซน สละเงินเดือน 7 เดือนช่วยสู้โควิด”

4 เมษายน 2020


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 28 มี.ค. – 3 เม.ย. 2563

  • ‘วิษณุ’ เผยเหตุเคอร์ฟิวสี่ทุ่มถึงตีสี่เพราะสัดส่วนผู้ติดเชื้อมักมาจาก ‘กิจกรรมหลังเลิกงาน’
  • กพท. ประกาศด่วน ห้ามบินเข้าไทยถึง 6 เม.ย.
  • พบ เลขาฯ ป.ป.ช. ติดเชื้อโควิด-19
  • พิษโควิด ยุบ “คมชัดลึก-เนชั่นสุดฯ”
  • สมเด็จฮุน เซน สละเงินเดือน 7 เดือนช่วยสู้โควิด

“วิษณุ” เผยเหตุเคอร์ฟิวสี่ทุ่มถึงตีสี่เพราะสัดส่วนผู้ติดเชื้อมักมาจาก “กิจกรรมหลังเลิกงาน”

นายวิษณุ เครืองาม

หลังจากมีการประกาศห้ามออกจากเคหสถานในช่วงเวลาที่กำหนด หรือเคอร์ฟิว โดยกำหนดเวลาตั้งแต่ 22.00-04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2563 โดยจะพิจารณาช่วงเวลาเป็นรายสัปดาห์ไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ก็ได้ทำให้เกิดความสงสัยว่า การกำหนดไม่ให้ออกจากเคหสถานในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างไร ในเมื่อคนส่วนใหญ่ก็ยังไปไหนมาไหนในเวลากลางวัน และเชื้อไวรัสนั้นก็สามารถติดต่อได้ทุกเวลา

ต่อข้อสงสัยดังกล่าว ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่า

“ในส่วนมาตรการเคอร์ฟิวของรัฐบาลจะนำมาซึ่งการลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างไร โควิดไม่มีหยุดพัก แต่เรามองเห็นพิจารณาแล้วกลางวันคงไม่สามารถไปปิดเขาได้ จนกว่าเขาจะสำนึก ซึ่งเราลองแล้วใน 5 จังหวัด น่าจะเป็นการส่งสัญญาณได้ระดับหนึ่งจึงประกาศทั่วราชอาณาจักร หวังว่าจะเป็นการควบคุมคนที่ออกมาเตร็ดเตร่ พวกคิดถึงญาติจะไปหาญาติ เป็นกลุ่มคนที่เขาอยากควบคุมไว้ แล้วรัฐจะให้เวลา 6 ชั่วโมงนี้ทำความสะอาดบ้านเมืองด้วย และตัดโอกาส ปิดช่องน้อยเพื่อให้ไปอยู่บ้าน เชื่อว่าจะได้ผลลดเปอร์เซ็นต์การแพร่ระบาดลงได้ เราดูสัดส่วนผู้ติดเชื้อแล้วส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมที่คนว่างแล้วไปทำ กลางวันทำงานไม่ว่าง แต่หลังเลิกงานคนว่าก็จะไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การสังสรรค์ต่างๆ งานศพ งานแต่งงาน มีคนถามว่ากิจกรรรมเหล่านี้จัดหัวค่ำ ปิดสี่ทุ่มจะได้อะไร อีกหน่อยก็ถึงหัวค่ำ”

กพท. ประกาศด่วน ห้ามบินเข้าไทยถึง 6 เม.ย.

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผย เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2563 เวลา 00.01 น.ถึงวันที่ 6 เม.ย. 2563 เวลา 23.59 น.
 
ยกเว้น ให้บริการอากาศยานราชการหรือที่ใช้ในราชการทหาร อากาศยานที่ขอลงฉุกเฉิน อากาศยานที่ขอลงทางเทคนิค อากาศยานที่ทำการบินเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ทำการบินการแพทย์ หรือการขนส่งสิ่งของเพื่อสงเคราะห์แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด อากาศยานที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินรังส่งบุคคลกลับภูมิลำเนาและอากาศยานขนส่งสินค้า

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีใจความดังนี้

ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว

เพื่อประโยชน์ในการป้องกันมิให้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รุนแรงมากยิ่งขึ้นและเพื่อสนับสนุนการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินข้างต้นให้ยุติลงโดยเร็วอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนประเทศไทยจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

1. ห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เวลา00.01 น. จนถึงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2563 เวลา 23.59 น.

2. การอนุญาตการบินที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้บอกให้แก่ขนส่งคนโดยสารสำหรับประเทศไทยในช่วงระยะเวลาตาม1.ให้เป็นอันยกเลิก

3. ข้อห้ามตาม 1. ไม่รวมถึงอากาศยานดังต่อไปนี้

    (1) อากาศยานราชการหรือที่ใช้ในราชการทหาร (State or Military Aircraft)
    (2) อากาศยานที่ขอลงฉุกเฉิน (Emergency Landing)
    (3) อากาศยานที่ขอลงทางเทคนิค (Technical landing) โดยไม่มีผู้โดยสารออกจากเครื่อง
    (4) อากาศยานที่ทำการบินเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ทำการบินทางการแพทย์ หรือการขนส่งสิ่งของเพื่อสงเคราะห์แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID 19) (Humanitarian Aid, Medical and Relief Flights)
    (5) อากาศยานที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินรับส่งบุคคลกลับภูมิลำเนา (Repatriation)
    (6) อากาศยานขนส่งสินค้า (Cargo Aircraft)

4. ให้ผู้โดยสารบนอากาศยานที่ได้ออกเดินทางจากท่าอากาศยานต้นทางก่อนประกาศนี้ใช้บังคับ อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อและข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยต้องได้รับการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน

ทั้งนี้ บัดนี้เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

สั่ง ณ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2563
นายจุฬา สุขมานพ
ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

พบ เลขาฯ ป.ป.ช. ติดเชื้อโควิด-19

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช.

เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า นายธรรมนูญ เรืองดิษฐ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวในโชเชียลผู้บริหารระดับสูง ป.ป.ช. ติดเชื้อโควิด-19 นั้น ข้อเท็จจริงคือ นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. มีอาการไม่สบายตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม จึงเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาลบำราศนราดรู เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา จากผลแล็บที่ 1 พบเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เบาบางมาก จึงต้องรอผลแล็บที่ 2 ยืนยัน ในช่วงเย็นวันนี้

ส่วนกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเลขาธิการ ป.ป.ช. จะต้องเข้าประชุมร่วมด้วย นั้น พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. สั่งการไปยัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 8 คน ให้ยกเลิกการประชุมทั้งหมด และให้กลับไปกักตัวที่บ้านตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 15 เม.ย. เพื่อสังเกตอาการ

ส่วนเจ้าหน้าที่ใกล้ชิด แบ่งเป็นวงในและวงนอก จะต้องกักตัว 14 วันโดย ป.ป.ช. ที่อาคารสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ ตึกด้านหลังอาคาร ป.ป.ช. หรือจะไปกักตัวที่บ้านก็ได้

แหล่งข่าวจากกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า หลังจากทราบผลตรวจ เลขาธิการ ป.ป.ช. พบเชื้อโควิด กรรมการต่างกังวลเพราะแต่ละคนล้วนเป็นผู้สูงอายุ และในระยะหลังเลขาฯ เข้าร่วมประชุมกรรมการเกือบทุกนัด โดยส่วนตัวได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้เฝ้าระวังโดยแยกดูอาการหากมีอาการไข้ ให้รีบไปพบแพทย์

โควิด ยุบ “คมชัดลึก-เนชั่นสุดฯ

เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า รายงานข่าวจากบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ระบุว่า วันที่ 2 เม.ย. 2563 มีการประชุมผู้บริหารภายในเครือ โดยเห็นชอบให้ยุบกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คมชัดลึก และกองบรรณาธิการเนชั่นสุดสัปดาห์ โดยทั้งสองเครือนี้อยู่ภายใต้สังกัดบริษัท คมชัดลึก มีเดีย จำกัด พร้อมทั้งเลิกจ้างพนักงานในสังกัดบริษัทคมชัดลึก มีเดีย จำกัด จำนวนร้อยละ 50 โดยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งจะมีผลการเลิกจ้างเป็นพนักงานในวันที่ 30 เม.ย. 2563 ขณะที่หนังสือพิมพ์คมชัดลึกจะตีพิมพ์จนถึงวันที่ 15 เม.ย. 2563 ส่วนเว็บไซต์คมชัดลึก และเว็บไซต์เนชั่นสุดสัปดาห์จะให้มาอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือเนชั่นทีวี

“บริษัทในเครือเนชั่น บริษัทไหนไม่มีกำไรก็จะไม่ได้ไปต่อ โดยจะให้ตัดต้นทุนออกจนเหลือบริษัทที่ทำรายได้ให้กับบริษัทเท่านั้น ซึ่งการเลิกจ้างพนักงานที่เกิดขึ้นนั้นมีผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” พนักงานบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด ซึ่งถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหัน ระบุกับ ‘วอยซ์ออนไลน์’

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหารบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2563 เรื่องมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยระบุตอนหนึ่งว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่อาจคาดหมายได้ว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อใด เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ อย่างรุนแรงโดยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ดังนั้น เพื่อให้บริษัทฯ สามารถอยู่รอดต่อไปได้ภายใต้สภาวะวิกฤตเช่นนี้ บริษัทฯ มีความจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องกำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้โดยเร่งด่วน โดยมอบหมายให้ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยธุรกิจนำมาตรการต่างๆ ไปปรับใช้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ดังต่อไปนี้

1. พิจารณาปรับลดเงินเดือนพนักงานทุกคนของแต่ละหน่วยธุรกิจ
2. ให้พนักงานลางานโดยไม่รับเงินค่าจ้าง เป็นการชั่วคราว โดยพิจารณาค่าจ้างตามวันที่ปฏิบัติงานจริง
3. ให้ทุกหน่วยธุรกิจบริหารจัดการกำลังคนและปฏิบัติงานในเวลาทำงานปกติให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ให้มีการทำงานล่วงเวลา
4. ยกเลิกสวัสดิการต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและการปฏิบัติงานโดยตรง เช่น ค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกในครอบครัวของพนักงาน ค่าทันตกรรมของขวัญบุตร ของขวัญสมรส ทุนช่วยเหลือการศึกษาบุตรของพนักงาน เป็นต้น
5. ยกเลิกค่าตอบแทนอื่นที่นอกเหนือจากเงินเดือนประจำ เช่น ค่าพาหนะ ค่าโทรศัพท์ ค่าตำแหน่ง ค่าประสบการณ์ เป็นต้น

“ให้ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยธุรกิจนำมาตรการในข้อ 1-3 ไปปรับใช้กับหน่วยธุรกิจที่ตนเองรับผิดชอบตามความจำเป็นและเหมาะสม ส่วนมาตรการในข้อ 4-5 ให้มีผลบังคับใช้ทุกหน่วยธุรกิจ อนึ่ง หากมีความจำเป็นอันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ให้ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยธุรกิจสามารถใช้ดุลยพินิจเลิกจ้างพนักงานได้ โดยมอบหมายให้ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยธุรกิจจัดทำแผนการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวสำหรับหน่วยธุรกิจที่ตนเองรับผิดชอบและนำเสนอต่อประธานกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาอนุมัติโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มาตรการเหล่านี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563 เป็นต้นไป”

สมเด็จฮุน เซน สละเงินเดือน 7 เดือนช่วยสู้โควิด

เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ส่งหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการคลัง เมื่อวันพฤหัสบดี ว่าจะมีการโอนเงินเดือนของเขาทั้งสิ้น 7 เดือนคือระหว่างเดือน มี.ค. ถึงเดือน ก.ย. 2563 เข้าสู่บัญชีของคณะกรรมาธิการแห่งชาติเพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 จากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
 
ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชาจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจดังกล่าวขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว โดยมีสมเด็จฮุน เซน ทำหน้าที่ประธาน ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทุกกระทรวง กองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด และตัวแทนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น

แม้ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่าเงินเดือนทั้ง 7 เดือนของสมเด็จฮุน เซน รวมแล้วมีจำนวนเท่าใด แต่ผู้นำกัมพูชากล่าวว่านับตั้งแต่คณะทำงานเริ่มปฏิบัติหน้าที่ มีเงินบริจาคจากหลายภาคส่วนเข้ามาแล้วมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 329.7 ล้านบาท)
 
ปัจจุบันกัมพูชามีผู้ป่วยสะสมจากโรคโควิด-19 อย่างน้อย 110 คน รักษาหายแล้ว 34 คน และยังมีไม่ผู้เสียชีวิต โดยมีการยืนยันผู้ป่วยคนแรกเมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่่ผ่านมา เป็นนักท่องเที่ยวชายชาวจีน อายุ 60 ปี เดินทางมายังเมืองสีหนุวิลล์