ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่าแบงก์ชาติกางโรดแมป SMEs ในบริบทโลกยุค 4.0 รัฐต้องสร้าง “open platform”

ผู้ว่าแบงก์ชาติกางโรดแมป SMEs ในบริบทโลกยุค 4.0 รัฐต้องสร้าง “open platform”

20 พฤศจิกายน 2017


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษ หัวข้อ “SMEs กับการนำไทยให้ก้าวไกลไปกับโลกยุค 4.0” จัดโดยหอการค้าไทย ณ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2560

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษ หัวข้อ “SMEs กับการนำไทยให้ก้าวไกลไปกับโลกยุค 4.0” จัดโดยหอการค้าไทย ณ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2560

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษ หัวข้อ “SMEs กับการนำไทยให้ก้าวไกลไปกับโลกยุค 4.0” จัดโดยหอการค้าไทย ณ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2560 โดยมีรายละเอียดดังนี้

“ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญจากหอการค้าไทยให้มานำเสนอความคิดเห็นในงานสัมมนาที่สำคัญที่สุดงานหนึ่งของประเทศในวันนี้ เวทีนี้เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ภาครัฐและเอกชนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนประเทศมายาวนาน ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ไม่เพียงแต่ท่านผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมงานในปีนี้จะได้รับประโยชน์ แต่ประเทศไทยและคนไทยจะได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนมุมมองกันตลอดช่วงสองวันนี้ด้วย เพราะทุกท่านที่อยู่ในห้องนี้เป็นกลไกสำคัญที่จะนำพาการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เท่าทันกับความท้าทายของโลกในอนาคต”

หัวข้อที่ผมจะขอนำเสนอความคิดเห็นในวันนี้คือ “SMEs กับการนำไทยให้ก้าวไกลไปกับโลกยุค 4.0” เราทราบกันดีว่า SMEs หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นพลังสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทย เป็นเสมือนฟันเฟืองที่ทำให้เครื่องจักรใหญ่ของประเทศเดินไปข้างหน้าได้ เป็นกลไกที่ช่วยกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปสู่ภาคประชาชนอย่างทั่วถึง และที่สำคัญ ชีวิตของคนไทยจำนวนมากพึ่งพิงธุรกิจ SMEs เป็นที่น่าสังเกตว่า หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน ต่างก็มี SMEs ที่เข้มแข็ง ซึ่งการพัฒนาธุรกิจ SMEs คงไม่ใช่เพียงแค่สนับสนุนให้ SMEs ตั้งธุรกิจได้ง่าย แต่รวมถึงต้องทำให้ SMEs เติบโตได้ตามพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ สามารถเพิ่มศักยภาพ และสามารถปรับตัวได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ประเด็นเหล่านี้ เป็น “เงื่อนไขจำเป็น” ต่อ “การเติบโตอย่างทั่วถึง” ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของงานสัมมนาในปีนี้

เพื่อตอบคำถามว่า SMEs จะก้าวนำไทยให้ก้าวไกลไปกับโลกยุค 4.0 ได้อย่างไร ผมขอเสนอความเห็นใน 3 ส่วน คือ

    1. บริบทของโลก 4.0 ที่ SMEs ต้องเผชิญจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?
    2. SMEs ไทยควรปรับตัวอย่างไรให้เท่าทันและได้ประโยชน์จากโลกยุค 4.0?
    3. ภาครัฐควรมีบทบาทอย่างไรเพื่อสนับสนุน SMEs และสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ให้ไทยก้าวไกลไปกับโลกยุค 4.0?

โดยในส่วนสุดท้ายนี้ ผมจะขอยกตัวอย่างงานบางเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนที่ 1 บริบทโลกยุค 4.0: นัยต่อการเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจ

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า โลกที่เราอยู่วันนี้ต่างไปจากเดิมมาก เรากำลังก้าวเข้าสู่ “โลกยุคใหม่” ที่เทคโนโลยีสมัยใหม่จะเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด โครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จะซับซ้อนมากขึ้น หลายเรื่องจะเชื่อมต่อกัน มีผลกระทบกลับไปมาจนเกือบจะเรียกได้ว่าไร้เส้นแบ่งที่ชัดเจน การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นจะตั้งอยู่บนพลังของเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว ทำให้สภาพแวดล้อมที่เราต้องเผชิญในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้น (Volatile) ไม่แน่นอน (Uncertain) ซับซ้อน (Complex) และเป็นไปในทิศทางที่คลุมเครือคาดเดาได้ยาก (Ambiguous) ต่างจากโลกที่เราเคยคุ้นชิน ซึ่งโลกแบบนี้เรียกสั้นๆ ว่า “โลก VUCA” บริบทใหม่ของโลกแบบ VUCA นี้ เป็นบริบทของโลกที่เราต้องมองแบบเข้าใจและปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าทุกท่านคงได้เห็นอิทธิพลของเทคโนโลยีต่อวิธีการดำเนินธุรกิจในแทบจะทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (business model) พฤติกรรมผู้บริโภค ความต้องการของลูกค้า ตลาดแรงงาน วิธีการทำการตลาด หรือการทำธุรกรรมทางการเงิน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียุคนี้ นอกจากจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนขึ้นแล้ว ยังได้เชื่อมโยงส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่างผลิตภัณฑ์หรือการบริการต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับ ecosystem หรือ ระบบนิเวศน์ ที่คนในวงกว้างจะสามารถได้รับประโยชน์ได้ ส่วนคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจะอยู่ได้ยากขึ้น

หลายท่านคงมีคำถามในใจว่า ในบริบทของโลกยุค 4.0 ธุรกิจจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างที่จะมีผลต่อการดำเนินงานของท่านในอนาคต?

ผมคิดว่าธุรกิจจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 6 ด้านสำคัญ

ด้านแรก เศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน หรือ Sharing Economy จะมีความสำคัญมากขึ้นในโลกยุคใหม่ที่เกิดจากพลังของเทคโนโลยี จะเกิดแพลตฟอร์มที่ธุรกิจสามารถสร้างประโยชน์ร่วมกันได้ ที่สำคัญ แพลตฟอร์มเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่าง “ผู้ใช้บริการ” กับ “ผู้ให้บริการ” ได้โดยตรงด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก ไม่ต้องอาศัยธุรกิจตัวกลางเหมือนในอดีต ทำให้ธุรกิจตัวกลางต่างๆ จะมีบทบาทลดลงมาก แนวคิด Sharing Economy ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆ ร่วมกันโดยไม่ต้องลงทุนเป็นเจ้าของเอง ไม่เก็บทรัพยากรที่มีไว้ใช้คนเดียว ทำให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เช่น

  • UBER เป็นบริษัทรถโดยสารสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของรถยนต์
  • AirBNB เป็นเครือข่ายการจองห้องพักที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยไม่ต้องลงทุนสร้างห้องพักเอง
  • Alibaba เป็นผู้ประกอบธุรกิจพาณิชยกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยไม่ต้องเก็บสต็อกสินค้าไว้เอง และคนที่ขายสินค้าผ่าน Alibaba ไม่ต้องเปิดหน้าร้านของตัวเอง หรือ
  • Facebook เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารและรับข้อมูลข่าวสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยไม่ต้องผลิตเนื้อหาเอง
  • รูปแบบของเศรษฐกิจเชิงแบ่งปันไม่ได้เกิดขึ้นในแพลตฟอร์มระดับโลกเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้จักรยานส่วนกลางเป็นพาหนะการเดินทางในหลายเมืองใหญ่ การใช้ co-working space เป็นที่ทำงาน การใช้ cloud computing แทนที่แต่ละธุรกิจต้องลงทุนมีเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง ตลอดจนการใช้ mobile banking ของธนาคารต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟนของแต่ละคน แทนที่ธนาคารจะต้องลงทุนขยายสาขาเพิ่มขึ้น

    ธุรกิจเชิงแบ่งปันจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจมาก เพราะธุรกิจไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงเหมือนเดิม สามารถแบ่งปันทรัพยากรส่วนเกินในบางช่วงเวลาให้คนอื่นใช้ประโยชน์ได้ และที่สำคัญ คนที่จะสามารถมาใช้ประโยชน์ร่วมกันไม่จำเป็นต้องเป็นคนรู้จักหรือเป็นคู่ค้าที่เราคุ้นเคยมาก่อนแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเป็นตัวกลางในระบบเศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน จะมีกลไกสร้างความมั่นใจให้คนที่ไม่รู้จักกัน สามารถไว้ใจ เชื่อใจกันได้ดีในระดับหนึ่ง จนยินดีที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ การที่เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ sharing economy platform ที่กำลังเติบโตหรือมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จะเท่ากับการเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพของทรัพยากร และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กับการเติบโตของแพลตฟอร์มเหล่านี้ด้วย

    ด้านที่สอง ข้อมูลจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ และการใช้ข้อมูลอาจจะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของธุรกิจในโลกดิจิทัล

    วันนี้ เราใช้ชีวิตอยู่บนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์หลากหลายประเภท โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต หรือ internet of things เราได้ฝากรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) ไว้ในทุกย่างก้าวของชีวิต

    ข้อมูลเหล่านี้แสดงถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ความสนใจ และการตัดสินใจของผู้คนได้อย่างละเอียด การใช้ประโยชน์จากถังข้อมูลรายธุรกรรมขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า “Big Data” จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการทำธุรกิจได้ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นวางแผนการตลาดเพื่อตอบโจทย์ของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม การปรับราคาสินค้าตามการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์อุปทานในแต่ละช่วงเวลา การบริหารความเสี่ยง การควบคุมของเสียในกระบวนการผลิต หรือการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างธุรกิจต่างๆ เพื่อยกระดับการขายสินค้า ขายบริการหรือผลิตภัณฑ์ เป็นการสร้างประสบการณ์ให้แก่ลูกค้า ซึ่งจะสามารถสร้างความผูกพันในระยะยาว และมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ

    หลายธุรกิจขนาดใหญ่กำลังใช้ประโยชน์จากข้อมูล Big Data ในหลายมิติ สำหรับธุรกิจ SMEs แล้ว Big Data อาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัว หรือยากที่จะจับต้องได้ แต่ผมเชื่อมั่นว่าในวันนี้กำลังมีพัฒนาการของบริการใหม่ๆ และแพลตฟอร์มใหม่ๆ หลายอันที่จะช่วยให้ SMEs สามารถเก็บข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และติดตามข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะข้อมูลที่มีธุรกรรมทางการเงินมาเกี่ยวข้อง ข้อมูลเหล่านี้ เมื่อเก็บอย่างเป็นระบบโดยต่อเนื่อง จะสามารถใช้เพิ่มศักยภาพของ SMEs ได้เป็นอย่างดี

    ด้านที่สาม ธุรกิจจะแข่งกันเรื่องความรวดเร็ว หรือ Economy of Speed มากขึ้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เทคโนโลยีทำให้กระบวนการตัดสินใจของคนใช้เวลาสั้นลงมาก สามารถรับข้อมูลที่พร้อมสำหรับการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการตัดสินใจซื้อของผ่าน social commerce หรือ e-commerce หรือแพลตฟอร์มต่างๆ นอกจากนี้ เทคโนโลยีได้ช่วยให้ราคาสินค้าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกนาทีตามความต้องการของลูกค้า และลูกค้าสามารถประเมินความพึงพอใจในการบริการได้อย่างทันทีเช่นกัน ซึ่งหมายความว่าธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จต้องพร้อมที่จะตอบสนองต่อความคาดหวังของลูกค้า สามารถสื่อสารกับลูกค้า รวมทั้งแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

    ด้านที่สี่ อาชีพ รูปแบบการทำงาน และตำแหน่งงานในอนาคตจะเปลี่ยนจากปัจจุบันมาก การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจะเปลี่ยนโฉมตลาดแรงงาน งาน routine หรืองานที่ทำซ้ำๆ จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ และเมื่องาน routine ค่อยๆ หมดไป จะเหลือแต่งานที่ระบบอัตโนมัติทดแทนยาก โดยแรงงานกลุ่มที่มี soft skill สูง เช่น มีทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม มีภาวะผู้นำ มีทักษะในการแก้ปัญหาได้ดีจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น ขณะที่เทคโนโลยีและ Big Data ทำให้ความต้องการแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญด้าน ICT การคำนวณ และประมวลผลมากขึ้นด้วยเช่นกัน

    นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกใหม่ในตลาดแรงงาน คือ แรงงานที่ไม่มีสังกัด หรือ กลุ่ม Gig ที่ทำงานเป็นชิ้นๆ ในลักษณะ “ฟรีแลนซ์” สามารถทำงานป้อนหลายๆ กิจการ แทนที่จะผูกชีวิตและเวลากับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แรงงานที่เป็นฟรีแลนซ์นี้ ก็จัดได้ว่าเป็นเศรษฐกิจเชิงแบ่งปันรูปแบบหนึ่งได้เช่นกัน

    World Economic Forum ประเมินไว้ในปี 2016 ว่า ในปี 2020 การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและปัจจัยอื่นๆ จะทำให้งานจำนวนหนึ่งหายไป และมีงานบางประเภทเพิ่มขึ้น แต่สุทธิแล้วจะมีงานหายไปถึง 5 ล้านตำแหน่ง ใน 15 ประเทศ

    ซึ่งปัจจุบันเราเริ่มเห็นประเทศที่พัฒนาแล้วใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ในการจัดกลุ่มหาแบบแผนของข้อมูล และแปลผลเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจหลายเรื่องโดยไม่ต้องใช้คน รวมทั้งใช้หุ่นยนต์แทนคนในงานที่ “จำเจ-สกปรก-อันตราย” (Dull-Dirty-Dangerous) ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของกระบวนการผลิต นอกจากนี้ Bill Gates ได้ทำนายไว้ว่า ในอนาคตจะมีการใช้หุ่นยนต์แทนคนมากขึ้นเป็นลำดับ จนวันหนึ่งภาครัฐอาจต้อง “เก็บภาษี” หุ่นยนต์เพื่อนำรายได้มาสนับสนุนค่าจ้างของงานบริการบางประเภทที่ยังต้องใช้มนุษย์ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น

    การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว SMEs เพราะรูปแบบและการทำงานลักษณะใหม่ นอกจากจะเปลี่ยนวิธีการทำงานในองค์กรแล้ว ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของแรงงานที่เป็นลูกค้าของธุรกิจต่างๆ อีกด้วย

    ด้านที่ห้า โครงสร้างประชากรในหลายประเทศกำลังเปลี่ยนไปสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และรวมถึงประเทศจีนและไทย ซึ่งมีนัยต่อ SMEs ในหลายเรื่องสำคัญ ผู้บริโภคกลุ่มที่กำลังขยายตัว คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยจะเปลี่ยนไปจากคนในช่วงวัยรุ่นและวัยกลางคน กล่าวคือ กลุ่มผู้สูงอายุไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีโบนัส แต่ใช้เงินออมที่เก็บสะสมไว้ การจับจ่ายใช้สอยจะต้องระมัดระวังมากขึ้น และจะเป็นการจับจ่ายใช้สอยที่เน้นบริการบางประเภทแทนการซื้อสินค้า เช่น จะเน้นที่บริการสุขภาพและการท่องเที่ยว

    สำหรับการดำเนินธุรกิจนั้น แรงงานจะหายากขึ้นและค่าจ้างจะปรับสูงขึ้น ยิ่งส่งผลให้การใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคนเกิดได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจอาจขาดทายาทสืบทอดกิจการ ดังที่ประสบการณ์ของญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจ SMEs จำนวนมากมีความเสี่ยงที่จะต้องปิดตัวลงในอนาคตจากปัญหานี้ ปัญหานี้อาจจะสร้างผลข้างเคียงให้กับธุรกิจอื่นด้วย อาจทำให้อุตสาหกรรมทั้งระบบอ่อนแอลงและทำให้องค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ สูญหายไปด้วย

    ด้านที่หก กฎเกณฑ์ กติกา หลายเรื่องจะต้องเปลี่ยนแปลงตามบรรทัดฐานของโลกยุคใหม่ ภายใต้บริบทโลกใหม่ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้เส้นแบ่งพรมแดนสำคัญลดลง รวมทั้งโซเชียลมีเดียทำให้ข้อมูลข่าวสารในโลกส่งถึงกันรวดเร็วมากขึ้น ใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที และความคาดหวังของคนในสังคมสูงขึ้นเป็นลำดับ เทคโนโลยียังทำให้เกิดความโปร่งใสในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ใหม่ๆ และจะถูกตรวจสอบได้โดยง่าย กฎเกณฑ์ กติกา และมาตรฐานหลายอย่างจะต้องเปลี่ยนแปลงตามบรรทัดฐานของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน หรือธรรมาภิบาล

    บรรทัดฐานหลายเรื่องจะก้าวข้ามพรมแดนประเทศเข้ามาเป็นกฎเกณฑ์กติกาที่เราต้องปฏิบัติตามทั้งแบบที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว ถ้าเราไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเท่าทัน บรรทัดฐานเหล่านี้อาจจะสร้าง “ความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์” (strategic risk) ที่จะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันและโอกาสทางธุรกิจ

    เช่น เรื่อง IUU (การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม) หรือ การดูแลสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ EU เคยให้ใบเหลืองไทยในการทำประมง หรือมาตรการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผมเชื่อว่าการที่ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติกว่า 170 ประเทศ กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอีกหลายด้าน โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับโลกร้อน

    ส่วนที่ 2 SMEs จะปรับตัวให้เดินหน้าสู่โลกยุค 4.0 อย่างไร?

    ภายใต้บริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกประเทศ ทุกธุรกิจไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ และเราทุกคนต่างต้องเผชิญกับความท้าทาย ที่สำคัญเมื่อวิถีของโลกเปลี่ยนไปและจะไม่สามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมแล้ว ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด คือ การไม่ปรับตัวหรือไม่พร้อมที่จะปรับตัวได้อย่างเท่าทัน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราเห็นหลายตัวอย่างธุรกิจระดับโลกที่เคยเป็นผู้นำต้องเสียส่วนแบ่งตลาดไปเพราะปรับตัวไม่ทัน บางบริษัทถึงกับต้องปิดกิจการลง หลายๆ แบรนด์สินค้าหายไปจากความนิยมของผู้บริโภคหรือถูกทดแทนที่ด้วยแบรนด์ใหม่ๆ ที่เมื่อ 10 ปีที่แล้วเราอาจจะนึกไม่ออกว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

    ผมคิดว่าการที่บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งต้องปิดกิจการลง ส่วนหนึ่งมาจากความใหญ่โตของบริษัทและวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เอื้อให้ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว หลายแห่งอาจจะติดกับดักความสำเร็จของธุรกิจตนในอดีต ในโลกยุค 4.0 ธุรกิจจะแข่งขันกันด้วยความเร็ว ความคล่องตัวทันการณ์ในการปรับตัวจึงจะเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งเรื่องความเร็วและความคล่องตัวนี้เป็นจุดแข็งสำคัญของ SMEs เพราะ SMEs ไม่มีโครงสร้างองค์กรที่แข็งตัว เจ้าของและผู้บริหารระดับสูงมีอำนาจในการตัดสินใจ จึงสามารถปรับเปลี่ยนทิศทางและนโยบายการทำงานได้ง่าย

    คำถามที่อยู่ในใจหลายท่าน คือ แล้วเราจะปรับตัวให้เดินหน้าสู่โลกยุค 4.0 ได้อย่างไร?

    ในบริบทโลก 4.0 ผมคิดว่า SMEs จำเป็นต้องปรับตัวอย่างน้อยใน 5 ด้านสำคัญ

    ด้านแรก SMEs ต้องรู้ลึกและปรับตัวเชิงรุก โดยให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีเป็นฐานสำคัญของการปรับตัว โดยเฉพาะในการเพิ่มผลิตภาพ การลงทุนในโลกยุค 4.0 ไม่ได้หมายความถึงแค่การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต แต่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพ เทคโนโลยีจะต้องเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงานและในทุกมิติที่ต้องปรับตัว ซึ่งโชคดีว่า ในวันนี้เทคโนโลยีหลายอย่างมีราคาถูกลง เข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมทั้งมีแอปพลิเคชันในการบริหารจัดการราคาถูกให้เลือกใช้ ตั้งแต่การบริการทางการเงิน การวิเคราะห์กำไรขาดทุน การบริหารสต็อกสินค้า การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือการให้บริการหลังการขาย

    ด้านที่สอง ต้องหาทางใช้ประโยชน์จาก sharing economy หรือเศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน เพราะ sharing economy สามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจและลดต้นทุนได้ในหลายมิติ มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่การที่ SMEs จะสามารถใช้ประโยชน์จากรูปแบบของเศรษฐกิจเชิงแบ่งปันได้นั้น ไม่ได้สำคัญแต่เพียงการมีหรือเข้าถึง technology platform แต่รวมถึงการที่จะต้องปรับทัศนคติให้สอดคล้องกับวิถีของเศรษฐกิจเชิงแบ่งปันด้วย ที่สำคัญคือ การก้าวข้ามความรู้สึกที่อยากจะทำเอง ทำคนเดียว หรือต้องเป็นเจ้าของเอง

    ทัศนคติสำคัญที่จะทำให้ใช้ประโยชน์ได้จาก sharing economy คือ ต้องสร้างความไว้วางใจ หรือ trust เพราะคนที่เราจะต้องแบ่งปันด้วยนั้นอาจไม่ใช่คนที่เราเคยรู้จักมาก่อน จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเปิดใจ และอาศัยกลไกใหม่ๆ ที่จะสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น

    UBER เติบโตจากการที่คนขับเปิดใจให้คนไม่รู้จักขึ้นรถส่วนตัว และผู้โดยสารก็ยินดีขึ้นรถส่วนตัวของคนอื่น ที่ไม่ได้ถูกกำกับดูแลโดยทางการเหมือนรถสาธารณะทั่วไป

    AirBNB เติบโตจากการเปิดใจให้คนแปลกหน้าเข้ามาใช้ห้องว่างในบ้าน และคนที่มาพักก็ยินดีที่จะไปพักแรมในบ้านของคนอื่น

    P2P Funding ผู้ลงทุนยินดีที่จะใส่เงินลงทุนในธุรกิจที่ตนไม่รู้จักมาก่อน และไม่มีสถาบันการเงินเป็นตัวกลางในการรับความเสี่ยงจากการปล่อยกู้

    e-commerce platform หลายแห่งยินดีส่งของให้ลูกค้าก่อนได้รับเงิน และหลายครั้งลูกค้าก็ยินดีจ่ายเงินก่อนที่จะเห็นตัวสินค้า

    ปรากฏการณ์ของเศรษฐกิจเชิงแบ่งปันเหล่านี้ ทำให้กรอบความคิดการทำธุรกิจขยายได้อย่างไร้ขอบเขต และเปิดโอกาสให้เราสามารถหาลูกค้าใหม่ได้อย่างไม่จำกัดด้วย

    ด้านที่สาม ข้อมูลต้องเป็นส่วนสำคัญของทุกขั้นตอนในการทำงานและการตัดสินใจ ในโลกยุคใหม่ที่การแข่งขันจะรุนแรงขึ้น และจะเป็นการแข่งขันที่ต้องอาศัยข้อเท็จจริง ต้องสามารถวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลได้ในหลายมิติ SMEs จะต้องให้ความสำคัญต่อการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างจริงจัง ในโลกปัจจุบันที่หลายระบบการทำงานเชื่อมต่อกับระบบอิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ต การเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลจะสามารถทำได้ง่ายกว่าเดิมมาก หลายแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นสำหรับ SMEs ก็จะมีแอปพลิเคชันที่จะช่วยให้สามารถเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ แอปพลิเคชันที่ธนาคารต่างๆ พัฒนาสำหรับ SMEs นอกจากจะทำให้เกิดความรัดกุมในการบริหารจัดการเงิน และลดความจำเป็นที่จะต้องใช้พนักงานจำนวนมากมาคอยตรวจบัญชีแล้ว ยังจะช่วยให้ SMEs สามารถวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าที่จ่ายเงินผ่านระบบ electronic payment ได้อีกด้วย

    ในเรื่องของข้อมูลนั้น ข้อมูลภายนอกก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่าข้อมูลภายในองค์กร ทุกวันนี้เราสามารถหาข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจได้สะดวกมากขึ้นกว่าเดิม เป็นข้อมูลที่ปรับปรุงตลอดเวลา ตั้งแต่ข้อมูลราคาสินค้าและวัตถุดิบ ข้อมูลการจราจร ภาพถ่ายดาวเทียม ปริมาณน้ำฝน ตลอดจนข้อมูลทางการเงิน

    ด้านที่สี่ การบริหารความเสี่ยงจะต้องเป็นส่วนสำคัญของการทำธุรกิจ โลกยุค 4.0 ไม่เพียงเปิดโอกาสมากมาย แต่จะเป็นโลก VUCA ที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทิศทางคลุมเครือ ธุรกิจต้องเผชิญความเสี่ยงในหลายมิติ การบริหารความเสี่ยงจึงมีความสำคัญมาก ตั้งแต่ความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ที่ต้องสามารถเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและปรับตัวได้เร็ว ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ โดยเฉพาะความความเสี่ยงด้านไซเบอร์ ที่จะรุนแรงขึ้นและเกิดบ่อยครั้งขึ้น ในโลกที่เทคโนโลยีและ internet of things มีบทบาทสำคัญในทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจ

    ความเสี่ยงที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน การศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า มีผู้ส่งออก SMEs เพียงประมาณร้อยละ 28 เท่านั้นที่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ป้องกันความเสี่ยงทั้งหมดเป็นประจำ ผู้ส่งออก SMEs จำนวนไม่น้อยเลือกที่จะบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเฉพาะเวลาที่อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนสูงและทำพร้อมกัน ทำให้สร้างแรงกดดันให้อัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงแรงขึ้นไปอีก เราต้องยอมรับความจริงว่า อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มที่จะผันผวนสูง และส่วนใหญ่เกิดจากเหตุการณ์ภายนอกประเทศที่กระทบต่อค่าเงินสกุลหลักๆ จึงยากที่จะคาดเดา

    ด้านที่ห้า ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาพนักงานโดยต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจให้เข้ากับโลกยุคใหม่แล้ว ยังจะช่วยสร้างความผูกพันกับพนักงานในสภาวะที่เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วย การหาแรงงานที่ใช่ ที่มีทักษะตรงกับความต้องการของธุรกิจในอนาคตจะต้องแข่งขันกันมากขึ้น มีต้นทุนสูงขึ้น ดังที่ผมได้กล่าวไว้ในตอนต้น งานหลายอย่างที่เป็นงาน routine จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์มากขึ้น งานที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจได้ จะต้องอาศัยทักษะที่จะสามารถแก้ปัญหา สร้างความแตกต่าง และสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้ ทักษะเหล่านี้จำเป็นที่พนักงานจะต้องได้รับการพัฒนาโดยต่อเนื่อง ในโลกยุคดิจิทัลนั้น การพัฒนาพนักงานก็สามารถอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ในหลายมิติ หลายหลักสูตรสามารถศึกษาได้ฟรีผ่าน Youtube หรือโครงสร้างพื้นฐานกลาง (open platform) ต่างๆ

    ส่วน 3 บทบาทภาครัฐในการสนับสนุน SMEs และสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่

    ในการก้าวสู่โลก 4.0 นอกจากภาคเอกชนจะต้องปรับตัวแล้ว การปรับกลไกการทำงานและบทบาทของภาครัฐ (institution) มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะภาครัฐเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ กติกา นโยบาย รวมทั้งยังมีบทบาทที่จะต้องสร้างสภาวะแวดล้อม (ecosystem) ที่จะเอื้อให้ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs สามารถก้าวไปข้างหน้าได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ โดยผมคิดว่ามีอย่างน้อย 2 ด้านสำคัญ ได้แก่

    เรื่องที่หนึ่ง การปรับปรุงกฎหมายและกฎเกณฑ์ให้เท่าทันกับโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะโลกที่เทคโนโลยีจะมีความสำคัญมากขึ้น การแข่งขันจะตั้งอยู่บนฐานของความเร็ว และความสามารถในการสร้างนวัตกรรม รวมทั้งต้องสอดคล้องกับกฎระเบียบกติกาของสากลที่กำลังกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของโลก

    เชื่อหรือไม่ครับว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ รวมกันมากกว่า 1 แสนฉบับ และมีใบอนุญาตมากกว่า 3,000 ประเภท ในการประกอบธุรกิจบางอย่างภาคเอกชนต้องขอใบอนุญาตจากส่วนราชการต่างๆ มากกว่า 20 ประเภท ถ้าคิดในด้านต้นทุนของการประกอบธุรกิจแล้ว กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และใบอนุญาตเหล่านี้ มักจะสร้างภาระให้แก่ธุรกิจ SMEs มากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ และหลายครั้งเป็นอุปสรรคทำให้เริ่มธุรกิจใหม่ได้ยาก สร้างความไม่เท่าเทียมกันในการแข่งขันระหว่างธุรกิจ SMEs กับธุรกิจขนาดใหญ่ตั้งแต่เริ่มต้นคิดจะขออนุญาตทำธุรกิจ

    กฎหมายและกฎเกณฑ์จำนวนมากไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย ส่วนใหญ่ยังมีลักษณะแบ่งตามอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการแบบแยกส่วน ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่เทคโนโลยีในโลกยุคใหม่จะทำให้ประเภทของธุรกิจและบริการต่างไปจากเดิมที่แต่ละหน่วยงานราชการคุ้นชิน โดยเฉพาะพวกแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่จะรองรับเศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน

    นอกจากนี้ ในโลกยุคใหม่ที่การแข่งขันรุนแรง อาจจะทำให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง แต่การทำธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จต้องไม่ใช่เรื่องเสียหาย ผู้ประกอบการธุรกิจที่ล้มลงจะต้องสามารถกลับมาลุกขึ้นใหม่ได้เร็ว ธุรกิจที่ผ่านประสบการณ์ความผิดพลาดมาแล้วจะเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทยมากกว่าธุรกิจ startup ที่เริ่มต้นใหม่เสียอีก แต่กระบวนการกฎหมาย กฎเกณฑ์ และทัศนคติของเราไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ล้มลงสามารถลุกขึ้นยืนได้ใหม่ได้เร็ว สินทรัพย์จำนวนมากถูกล็อกไว้ในกระบวนการทางกฎหมายที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน

    เรื่องที่สอง การส่งเสริมให้มีโครงสร้างพื้นฐานกลางเพื่อช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขัน และส่งเสริมให้ SMEs สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ โดยเฉพาะประโยชน์จากพัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ๆ

    แม้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะเป็นโอกาสที่จะช่วยยกระดับผลิตภาพ แต่งานศึกษาของ OECD ทั่วโลกชี้ว่า ธุรกิจขนาดใหญ่มีผลิตภาพ (productivity) โดยรวมสูงกว่าบริษัท SMEs เฉลี่ย 4-5 เท่า และบริษัทขนาดใหญ่ยังมีระดับการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเร็วกว่า SMEs มาก ทำให้ช่องว่างของความสามารถในการแข่งขันระหว่าง SMEs กับธุรกิจขนาดใหญ่กว้างขึ้นเรื่อยๆ อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะเพียงในประเทศไทยเท่านั้น

    หากดูข้อมูล NPL ในประเทศไทยที่แยกตามประเภทและขนาดของธุรกิจก็จะพบข้อสรุปทำนองเดียวกัน เราจะเห็นการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ในหลายภาคธุรกิจ เช่น ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัด ธุรกิจก่อสร้าง และการค้าส่งและปลีก ในภาคธุรกิจเหล่านี้เราเห็น NPL ของธุรกิจขนาดใหญ่มีแนวโน้มลดลง สวนทางกับ NPL ของ SMEs ที่โน้มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะ SMEs มีสายป่านสั้น แต่อีกส่วนเชื่อว่าเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้ SMEs โดยเฉพาะ SMEs ในต่างจังหวัดไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่จากส่วนกลางที่มีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นในด้านผลิตภาพ เทคโนโลยีที่สูงกว่า หรือเครือข่ายการทำธุรกิจที่กว้างกว่า

    การยกระดับศักยภาพของ SMEs เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ต้องทำจริงจังและทำอย่างรอบด้าน ที่ผ่านมาเราอาจจะให้น้ำหนักกับเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อมาก เพราะการเข้าถึงสินเชื่อหรือตัวเลขภาคการเงินเห็นได้ง่าย เป็นกระจกเงาแรกที่สะท้อนปัญหาการทำธุรกิจของ SMEs เหมือนกับเวลาที่เราป่วยแล้วมีไข้

    แต่การเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ไม่ใช่ประเด็นหลักที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพ และแก้ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ในระยะยาว การแก้ปัญหาเฉพาะภาคการเงินอาจจะเหมือนกับการให้ยาแก้ไข้ไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่สาเหตุของการป่วยอาจจะรุนแรงกว่าการเป็นไข้มาก

    ผมคิดว่า SMEs ต้องการการสนับสนุนด้านความคิด ด้านการตลาด การเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ การบริหารจัดการ การพัฒนาพนักงาน เครือข่ายการทำงาน และการวิจัยและพัฒนา มิติเหล่านี้จะสร้างศักยภาพ SMEs ให้สูงขึ้น ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่สำคัญ คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานกลางให้ SMEs สามารถเข้าถึงความรู้ ข้อมูล เทคโนโลยี และบริการสมัยใหม่ที่ตรงกับความต้องการของ SMEs แต่ละรายได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ในวันนี้เรามีตัวอย่างของโครงสร้างพื้นฐานกลางหลายแห่งเกิดขึ้น เช่น

    ในด้านการออกแบบ TCDC (Thailand Creative & Design Center) เป็นแพลตฟอร์มข้อมูลความรู้ด้านการออกแบบ ที่สามารถดึงดูดผู้สนใจเข้ามาสัมผัสแบ่งปันจินตนาการ และสร้างสรรค์ร่วมกัน

    หรือในด้านความรู้ KX (Knowledge Exchange) เป็น Open Collaboration Platform ทางความรู้ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีจัดสรรอาคารให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดึงดูดให้ SMEs เข้ามาพูดคุยกันรวมถึงเป็นพื้นที่ให้มหาวิทยาลัยได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาให้กับ SMEs ได้อย่างตรงจุด

    นอกจากนี้ ในต่างประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานกลางที่จะเป็นประโยชน์สำหรับ SMEs อีกมาก ภาครัฐไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มเหล่านี้ แต่ควรส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มเหล่านี้ขึ้น และให้มีรูปแบบการทำงานที่เปิดกว้าง สามารถเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ของภาครัฐได้โดยง่าย เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ของ SMEs ที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งส่วนที่จะเป็นโอกาสและความท้าทาย และตระหนักดีว่า เราก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่อาจจะทำให้ SMEs ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกใหม่ได้อย่างเท่าทัน เราจึงได้ปรับยุทธศาสตร์ให้สอดรับกับการก้าวเข้าสู่โลกยุค 4.0 โลกที่เทคโนโลยีจะมีความสำคัญมากขึ้น ผมขออนุญาตใช้เวลาในช่วงท้ายนี้สักเล็กน้อยเล่าถึงตัวอย่างงานสองสามด้านสำคัญที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา

    ด้านการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นความสำคัญของการวิเคราะห์และวางแผนเศรษฐกิจ โดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data เพื่อจับชีพจรเศรษฐกิจ ติดตามการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและติดตามความเสี่ยงในโลกใหม่ได้อย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงเฉพาะจุด ลามเป็นความเสี่ยงของทั้งระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจได้ การสร้างองค์ความรู้ผ่านงานวิจัยเชิงลึก และการวิเคราะห์ผ่านข้อมูลขนาดใหญ่เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายต่างๆ ของเราตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงที่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง

    ในภาวะที่ตลาดการเงินโลกเคลื่อนไหวผันผวนสูง ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) สนับสนุนให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม ทั้งผ่านการให้ความรู้ด้านการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า จะมีการจัดสัมมนารวมกันมากกว่า 20 ครั้ง ทั่วประเทศ รวมทั้งให้ SMEs สามารถซื้อสิทธิ์ในการล็อกเรทล่วงหน้า (FX option) เพื่อปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนในราคาที่ไม่แพง โดยได้รับการสนับสนุนค่าธรรมเนียมเบื้องต้นจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกระทรวงอุตสาหกรรม

    นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มการปฏิรูปกฎเกณฑ์การควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน (FX regulatory guillotine) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปกฎเกณฑ์หลายๆ ด้านที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเรา เพื่อปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ล้าสมัย และไม่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน ลดภาระของภาคเอกชนในการขออนุญาตต่างๆ เพิ่มความคล่องตัวในการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และส่งเสริมให้มีการแข่งขันจากผู้ให้บริการรับแลกเปลี่ยนเงินและโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินให้แก่ SMEs

    ด้านการพัฒนาระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยมุ่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินกลางให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบการเงิน สร้างโอกาสให้ภาคธุรกิจ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีราคาถูกและเป็นธรรมให้แก่ธุรกิจ SMEs และประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง และให้ความสำคัญกับการดูแลความเสี่ยงจากนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ ไปพร้อมกันด้วย โดยการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่

    • การขับเคลื่อน “ระบบพร้อมเพย์” ซึ่งเป็นเสมือนถนนด้านการชำระเงินเส้นใหม่ของประเทศ ที่ทุกภาคส่วนสามารถใช้ร่วมกันได้ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ หรือ ประชาชนทั่วไป เป็น open infrastructure กลางที่จำเป็นในการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยค่าบริการโอนเงินที่จัดว่ามีอัตราถูกที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ซึ่งลดต้นทุนให้กับทุกคน ลดอุปสรรคในการทำธุรกิจของ SMEs รวมทั้งสามารถใช้ต่อยอดในการทำ e-commerce ได้มากขึ้น ในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า จะมีบริการหลายอย่างที่จะเพิ่มเข้ามาบนระบบพร้อมเพย์ เพื่อตอบความต้องการของภาคธุรกิจที่หลากหลายขึ้น ทั้งบริการ bill payment การใช้ QR code และการส่งคำสั่งเรียกเก็บเงิน หรือ request to pay

      นอกจากบริการ electronic payment เช่น พร้อมเพย์ จะสะดวกและลดต้นทุนการบริหารเงินสด การกระทบยอดบัญชีให้แก่ภาคธุรกิจแล้ว จะทำให้เกิดข้อมูลธุรกรรมการเงินที่เชื่อถือได้ ซึ่งสถาบันการเงินสามารถนำมาใช้ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ (information-based lending) ซึ่งจะเป็นช่องทางช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และลดการพึ่งพาการใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกัน

    • การสร้างสนามทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน ผ่านโครงการ Regulatory Sandbox เปิดโอกาสให้ผู้พัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ได้ทดลองให้บริการรูปแบบใหม่ แก่ลูกค้าในวงจำกัดภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อศึกษาประโยชน์ ความเสี่ยงจากบริการใหม่ๆ รวมทั้งหาแนวทางในการรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ก่อนที่จะนำมาขยายผลเพื่อใช้ในวงกว้างต่อไป ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทดสอบภายในกระบะทราย 3 ด้าน คือ เทคโนโลยี blockchain สำหรับให้บริการหนังสือค้ำประกันและให้บริการโอนเงินข้ามชายแดน เทคโนโลยี biometrics สำหรับพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าทางการเงินด้วยตัวชี้วัดทางชีวภาพ และเทคโนโลยี QR Code ที่จะส่งเสริมระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์
    • การผลักดันมาตรฐานและการใช้ QR Code ในการชำระเงิน ซึ่งเป็นครั้งแรกในโลกที่บริษัทบัตรเครดิตใหญ่ 5 แห่งของโลก รวมทั้งผู้ให้บริการทางการเงินในประเทศ ตกลงร่วมพัฒนาและใช้มาตรฐาน QR Code เดียวกันในการให้บริการชำระเงิน ซึ่งการมีมาตรฐานกลางของ QR Code ที่เปิดกว้าง จะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการ ผู้ให้บริการใหม่ๆ จะเข้ามาแข่งขันได้ง่าย เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและประชาชน ลูกค้าสามารถใช้ mobile application ของตน อ่าน QR Code ของร้านค้าได้ทุกแห่ง และสำหรับร้านค้าเองก็ไม่จำเป็นต้องมี QR Code หลายแบบเพื่อรองรับเครือข่ายการชำระเงินที่หลากหลาย ทำให้ไม่ต้องพัฒนาระบบซ้ำซ้อน ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ ขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้สถาบันการเงิน 5 แห่ง ให้บริการ QR Code เพื่อการชำระเงินได้เป็นการทั่วไปแล้ว และจะอนุญาตเพิ่มอีกหลายแห่งในอนาคตอันใกล้นี้ ผมเชื่อมั่นว่า QR Code จะตอบโจทย์ของธุรกิจ SMEs และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

    นอกจากนี้ เพื่อให้กฎกติกาพัฒนาไปพร้อมกับพัฒนาการทางเทคโนโลยี ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผลักดัน พระราชบัญญัติระบบการชำระเงินฉบับใหม่ ให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ด้านการชำระเงินตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศ ลดขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคสำหรับผู้ให้บริการชำระเงิน พระราชบัญญัติฉบับนี้ ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนเมษายนปีหน้า

    ก่อนจะจบผมอยากจะสรุปอีกครั้งว่า โลกยุคใหม่เป็นโลกที่เทคโนโลยีสมัยใหม่จะเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะสร้างทั้งโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ให้กับพวกเราทุกคน จะเกิดรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ รวมทั้งการแข่งขันรูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากเดิม

    ในบริบทของโลกยุค 4.0 ที่ว่านี้ SMEs จะยังเป็นพลังสำคัญของเศรษฐกิจไทย และจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องร่วมกันส่งเสริมให้ SMEs สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว และเท่าทัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นในทุกระดับ โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด คือ ต้องเริ่มต้นที่ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs