ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “สมคิด” เพิ่มวงเงินซอฟต์โลนเฟส 2 ให้ “ออมสิน” ปล่อยกู้อุ้มเอสเอ็มอีอีก 50,000 ล้าน รวม 1.5 แสนล้าน

“สมคิด” เพิ่มวงเงินซอฟต์โลนเฟส 2 ให้ “ออมสิน” ปล่อยกู้อุ้มเอสเอ็มอีอีก 50,000 ล้าน รวม 1.5 แสนล้าน

15 ธันวาคม 2015


 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 กันยายน 2558 มีมติเห็นชอบให้ธนาคารออมสินจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 100,000 ล้านบาท หรือ “ซอฟต์โลน” ผ่านธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ เพื่อปล่อยกู้ต่อให้เอสเอ็มอี อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี

เริ่มต้นโครงการ วันที่ 18 กันยายน 2558 นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน พร้อมกับผู้บริหารสถาบันการเงิน 18 แห่ง ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำฯ ใช้เวลาดำเนินการปล่อยกู้ไม่ถึง 2 เดือน ธนาคารออมสินทำหนังสือแจ้งกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ว่าธนาคารได้อนุมัติเงินกู้ให้เอสเอ็มอีผ่านธนาคารพาณิชย์จนครบวงเงิน 100,000 ล้านบาทแล้ว แต่ผลปรากฏว่ามีลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารพาณิชย์ที่รออนุมัติอีกประมาณ 50,000 ล้านบาท จึงทำเรื่องเสนอกระทรวงการคลัง พิจารณาขยายวงเงินสินเชื่อซอฟต์โลน

ล่าสุด ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกระทรวงการคลังกำลังทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ขอขยายวงเงินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอีก 50,000 ล้านบาท

สินเชื่อซอฟท์โลน

สำหรับ “มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในระยะเร่งด่วน” ตามมติ ครม. มี 5 มาตรการ ดังนี้

1. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วงเงิน 100,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 4% ต่อปี ภายในระยะเวลา 7 ปี เริ่มโครงการวันที่ 18 กันยายน 2558 ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับการอนุมัติสินเชื่อวงเงิน 100,000 ล้านบาท จำนวน 11,500 ราย โดยธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการนี้ได้รับการอนุมัติวงเงินสินเชื่อจากธนาคารออมสินมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับการอนุมัติสินเชื่อวงเงิน 25,000 ล้านบาท 2. ธนาคารกรุงไทย 24,000 ล้านบาท 3. ธนาคารกสิกรไทย 16,000 ล้านบาท 4. ธนาคารกรุงเทพ 12,000 ล้านบาท 5. ธนาคารออมสิน 4,800 ล้านบาท เป็นต้น

2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือ “PGS-5” (ปรับปรุงใหม่) ดำเนินการโดยบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงิน 100,000 ล้านบาท เริ่มโครงการวันที่ 16 กันยายน 2558 ถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2558 บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีที่เข้าโครงการ PGS-5 จำนวน 8,010 ราย รวมวงเงินอนุมัติ 35,573 ล้านบาท แต่ถ้ารวมโครงการค้ำประกันสินเชื่อบสย. ตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2558 บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้ลูกค้าเอสเอ็มอีแล้ว 72,188 ราย รวมวงเงินอนุมัติ 94,198 ล้านบาท

3. มาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอีผ่านการร่วมทุน โดยให้ธนาคารออมสินร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จัดตั้ง “กองทุนร่วมลงทุน” (Private Equity Trust Fund) แห่งละ 2,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 6,000 ล้านบาท เข้าร่วมลงทุนในส่วนของทุนกับเอสเอ็มอีที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เอสเอ็มอีระยะเริ่มต้น (Startup) ที่มีศักยภาพสูง, มีโอกาสเติบโต, อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ, เป็น Supplier ธุรกิจภาครัฐและเอกชนขนาดใหญ่, เป็นสมาชิกหอการค้าไทยหรือหน่วยงานของรัฐ โดยให้เอสเอ็มอีสามารถกู้เงินเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินที่เข้าไปร่วมลงทุนได้

ส่วนความคืบหน้าของโครงการนี้ ธนาคารออมสินและ ธพว. ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายและแนวทางจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนแล้ว ส่วนธนาคารกรุงไทยอยู่ระหว่างการขออนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 จากนั้นก็จะทำเรื่องขออนุญาตจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนกับธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป

4. มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001-3,000,000 บาท และ 3,000,000 บาทขึ้นไป เดิมภาษีที่ 15% และ 20% ตามลำดับ ให้ปรับอัตราภาษีลดเหลือ 10% ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ความคืบหน้าในขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

5. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Startup) โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี สำหรับเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 โดยเอสเอ็มอีที่อยู่ในข่ายได้รับยกเว้นภาษีต้องเป็นกิจการที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine Of Growth) เช่น กลุ่มเกษตรแปรรูป กลุ่มเทคโนโลยีนวัตกรรมชั้นสูง กลุ่มดิจิทัลและกลุ่มธุรกิจวิจัยและพัฒนา เป็นต้น ความคืบหน้าในขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่