หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) วันที่ 20 เมษายน 2559 มีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงตัวชี้วัด (KPI)ของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ 6 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)ด้วย โดยกำหนด KPI ของธพว.ในการดำเนินการ 3 ประเด็น คือ
1) บริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs ให้เหลือไม่เกิน 18,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2559
2) ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้เอสเอ็มอี (SMEs) รายย่อย รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2559 วงเงินไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านบาท
3)เร่งดำเนินการตามความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1/2559 ว่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 ธนาคารมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ระดับ 21,076 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 23.78% ของสินเชื่อรวม เปรียบเทียบกับสิ้นปี 2558 มียอด NPLs อยู่ที่ 23,452 ล้านบาท ลดลง 2,376 ล้านบาท สาเหตุที่ทำให้ยอด NPLs ลดลง เนื่องจากธนาคารขายลูกหนี้ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) 1,057 ล้านบาท และจัดตั้งศูนย์ติดตามหนี้เข้าไปดูแลลูกหนี้ ป้องกันไม่ให้กลายเป็นหนี้ตกชั้นเพิ่มเติม รวมทั้งที่ผ่านมาธนาคารได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ธนาคารยังเตรียมคัดเลือก NPLs ออกมาประมูลขายเพิ่มเติม คาดว่าภายในสิ้นปี 2559 ธนาคารจะสามารถปรับลดยอดหนี้NPLsได้ตามเป้าหมายที่คนร.กำหนดไว้ไม่เกิน 18,000 ล้านบาท
นายมงคล กล่าวว่า ภายในสิ้นปี 2559 ต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายที่ คนร.กำหนดก่อนคือ บริหารจัดการ NPLs ให้มียอดคงค้างไม่เกิน 18,000 ล้านบาท และปล่อยสินเชื่อใหม่ 35,000 ล้านบาท จากนั้นถึงจะทำเรื่องเสนอคนร.ขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ สำหรับการขยายสินเชื่อใหม่ในไตรมาสแรกของปี 2559 ธนาคารอนุมัติสินเชื่อใหม่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยแล้ว 3,405 ราย คิดเป็นวงเงินรวม 9,962 ล้านบาท เฉลี่ยกู้ต่อราย 2.92 ล้านบาท มีกำไรสุทธิรวม 537 ล้านบาท เฉพาะเดือนมีนาคม 2559 มีกำไรสุทธิ 195 ล้านบาท และจากการที่ธนาคารมีผลกำไรต่อเนื่องทำให้ขณะนี้มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ระดับ 14.34% คาดว่าจะปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าหมายที่คนร.กำหนดเช่นกัน
นอกจากการปล่อยสินเชื่อใหม่แล้ว ธนาคารยันเร่งขยายสินเชื่อตามนโยบายรัฐ (Policy Loans) วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 ธนาคารอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้ลูกค้าไปแล้ว 11,000 ล้านบาท ประกอบด้วยสินเชื่อบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจ 9,000 ล้านบาท และสินเชื่อนวตกรรมแก่กลุ่ม Start Up และ กลุ่ม AEC อีก 2,000 ล้านบาท
นายมงคลกล่าวถึงว่าการดำเนินการตามคำแนะนำของธปท.ครบ 5 ข้อแล้ว โดยในช่วงกลางปี 2558 ธปท.เข้ามาตรวจสอบธพว. ธปท.ได้มีคำแนะนำให้ธนาคารเร่งดำเนินการแก้ไขปรับปรุง 5 ประเด็น คือ 1.จัดทำคู่ในการอนุมัติสินเชื่อให้พนักงานใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือวงเงินกู้ต่ำกว่า 1 ล้านบาท,วงเงินกู้ 1-5 ล้านบาท และวงเงินกู้มากกว่า 5 ล้านบาท ขึ้นไป 2. เร่งบริหารจัดการหนี้ที่มีปัญหา ตามที่กล่าวในข้างต้น 3.เร่งสร้างธรรมาภิบาลและให้พนักงานปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของธนาคารอย่างเคร่งครัด จัดตั้งหน่วยงานบริหารความเสี่ยง สอบทานการปล่อยสินเชื่อ และกำหนดแผนปฏิบัติการ 4. คำนวณยอดสินทรัพย์เสี่ยงและตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญให้ครบถ้วน 5. ประเมินมูลค่าทรัพย์สินและหนี้สินให้ถูกต้องตามหลักการบัญชี ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยและได้ส่งให้ธปท.ตรวจสอบในเดือนมีนาคม 2559 โดยธปท.จะเข้ามาตรวจสอบผลการดำเนินงานของธพว.อีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2559
ขณะที่โครงการร่วมลงทุน (Venture Capital) ธนาคารอนุมัติวงเงินลงทุนร่วมกับกิจการเอสเอ็มอีได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อราย ขณะนี้อนุมัติเงินลงทุนร่วมกับกิจการกับเอสเอ็มอี ประเภทกิจการเกษตรแปรรูปขนาดเล็กแล้ว 3 ราย รายละ 10 ล้านบาท ในเดือนเมษายนได้ร่วมลงทุนเพิ่มอีก 1 ราย คือ บริษัท หมิง คอปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มซุปไก่สกัด ภายใต้แบรนด์ หมิง (Ming) วงเงินร่วมลงทุน 10 ล้านบาทเช่นกัน ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 2 ธนาคารเตรียมพิจารณาเข้าร่วมลงทุนกิจการเอสเอ็มอีอีก 7 ราย เป็นธุรกิจด้านอาหาร ด้านซอฟต์แวร์ และด้านโลจิสติกส์ คาดว่าปี 2559 เตรียมวงเงินร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการทั้งสิ้น 700 ล้านบาท
ส่วนการพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ตามนโยบายรัฐบาล ขณะนี้ธนาคารได้เปิด Co-Working Space ณ สำนักงานใหญ่ SME Bank Tower ติดสถานีรถไฟฟ้าอารีย์ เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการกลุ่ม Startup ด้วยการยกระดับขึ้นมาเป็นศูนย์ Innovation Center โดยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยศูนย์นี้จะเน้นงานด้านวิศวกรรม และไอทีที่เป็นจุดเด่นของพระจอมเกล้าลาดกระบัง นอกจากนี้ได้ขยายความร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ร่วมพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายใหม่ เชิงสร้างสรรค์นวัตกรรมกลุ่ม Startup จัดการแข่งขัน Contest นักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท เตรียมเปิดรับสมัครกลุ่มเป้าหมาย Startup เข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2559 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ธนาคารยังสนับสนุนกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็น Social Enterprise พัฒนากลุ่มผู้ประกอบการและชาวบ้านบริเวณเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ โดยธนาคารให้การสนับสนุนด้านเงินทุน เพื่อปรับปรุงการให้บริการ และพัฒนาให้ชาวบ้านเป็นผู้ประกอบการเชิงคุณภาพ ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เกษตรอินทรีย์ รวมถึงการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวจากอันดามันมาสู่เกาะสมุย อ่าวไทย