เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2559 นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยถึงโครงการร่วมลงทุนว่าได้อนุมัติหลักการไปแล้ว 3 กิจการ รวม 15 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท ฟรุ๊ตต้า ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มธัญญพืชเพื่อสุขภาพ (5 ล้านบาท) บริษัท ไทยริชฟู๊ดส์ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมไทยแช่แข็ง (5 ล้านบาท) และล่าสุดอยู่ในกระบวนการร่วมลงทุนกับ บริษัท บ้านผลไม้ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลไม้แปรรูปได้รับ OTOP 5 ดาว ซึ่งตลาดกำลังขยายตัวเป็นที่นิยมปัจจุบันมีกลุ่มตลาดรองรับ เช่น การบินไทย S&P และยังเปิดร้านจำหน่ายที่สยามพารากอน เอ็มควอเทียร์ เซ็นทรัลเชียงราย และสนามบินแม่ฟ้าหลวง นอกจากนี้ เป็นผู้ผลิตผ่านตัวแทนจำหน่ายไปขายยังต่างประเทศ มาเลเซีย สิงคโปร์ อีกด้วย และขณะนี้มีกิจการ SMEs ที่เตรียมพิจารณาเข้าร่วมลงทุนอีก 3 ราย วงเงินประมาณ 60 ล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจด้านเกษตรแปรรูป และซอฟต์แวร์ด้านไอทีคลังสินค้า และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมอีก 20 กิจการ วงเงินรวม 370 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทางผู้ประกอบการบ้านผลไม้ฯ นางสาวสุทัตตา ปัทมโยธิน กล่าวว่า “คุณพ่อคุณแม่เคยทำงานกับโครงการหลวง ได้เข้าไปช่วยสร้างงาน ความรู้ กับชาวบ้าน สนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ไกลๆ พอออกจากโครงการหลวง ก็ยังมีใจอยากช่วยชุมชน และอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง ทั้งสองคนจบวิทยาศาสตร์ เคมี มีความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปสินค้าเกษตร ต้องการทำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เราทำออกมาเป็นแบรนด์ของเรา บริษัทบ้านผลไม้ตั้งมาได้ 7 ปีแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นคุณพ่อคุณแม่ทำมาก่อนแล้ว และยังคงคอนเซปต์เดิม ว่าเราจะช่วยชุมชนอย่างไร เราพยายามให้เขาตระหนักว่าพื้นที่ของเขาสามารถทำอะไร มีอะไร ที่เขาจะทำแล้วได้เปรียบกับคนอื่น เป็นเอกลักษณ์ ในพื้นที่ของเขา เขามีผลไม้แต่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ไปให้ความรู้เขา เหมือนเป็นต้นแบบว่าเราสามารถเพิ่มมูลค่าได้”
พร้อมกล่าวต่อว่า “ในด้านการปลูก จริงๆ เราไม่ได้ให้ความรู้ เพราะเขาจะปลูกของเขาอยู่แล้วในพื้นที่นั้นๆ ว่าในพื้นที่เขามีอะไร เราไปให้ความรู้ในเรื่องการแปรรูปมากกว่า ว่าจะเอามาทำอะไรให้เกิดเงินเกิดงานได้บ้าง ไม่ได้หยุดแค่ปลูกเสร็จ ขายสด ขายส่ง จบแค่นั้น เราเน้นคุณภาพ การเพิ่มมูลค่า และทำให้เขาเห็นว่ามันสามารถเติบโตไปได้ แผนของเรา เราโตคนเดียวไม่ได้ เราจะทำเป็นระบบเครือข่าย คือไปให้ความรู้เขาให้เขาเข้าใจเรื่องมาตรฐานและคุณภาพว่าลักษณะผลผลิตแบบไหนที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมได้ มีเงื่อนไข มีมาตรฐานอะไรบ้าง หากวัตถุดิบไม่ดี ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาไม่ดี เป็นอย่างไร แล้วที่ดีเป็นอย่างไร จากนั้นส่งมาให้เรา เราเอาไปแปรรูป ขายต่อให้ เป็นการขยายเครือข่าย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เราให้ความรู้ในการพัฒนา เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เป็นการแชร์กำไรตั้งแต่ต้นจนถึงจบ เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน เราตั้งใจจะให้เป็นอย่างนั้น ตอนนี้พอได้ร่วมทุนกับเอสเอ็มอีแบงก์ เราต้องการสร้างโรงงานที่เป็นโรงงานตัวอย่างที่สามารถทำเป็นศูนย์เรียนรู้ไปด้วย”
ปัจจุบันเรายังไม่มีโรงงาน เราทำในครัวเรือน แต่มีคนขอมาดูงานเยอะมาก ด้วยผลิตภัณฑ์ของเราที่มีคุณภาพ แต่ทางเรา ณ จุดนี้ยังไม่พร้อม แต่พอได้ร่วมทุนเอสเอ็มอีแบงก์ เล็งเห็นด้วยกันว่าพอเราขยายได้แล้ว เรายังเป็นที่เรียนรู้ให้คนอื่นได้ด้วย ตั้งใจจะสร้างโรงงานที่ได้มาตรฐานทั้งในประเทศและระดับโลก
สำหรับยอดขายปีที่แล้ว (2558) 32 ล้านบาท เป็นการขายในประเทศ 80% โดยจัดจำหน่ายเอง เช่น สนามบินเชียงราย ห้างเซ็นทรัลเชียงราย ส่วนกรุงเทพฯ มีในกูร์เมต์ สยามพารากอน ซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างเอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ กลุ่มลูกค้าเราเป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศ อย่าง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เขาจะซื้อเยอะ เขาเห็นว่าเป็นของที่ดี บ้านเขาหาซื้อยาก ราคาแพง เขาก็ซื้อทีละเยอะๆ เป็นของฝากด้วย ส่วนอีก 20% ส่งออก มีคู่ค้าในแต่ละประเทศ ตอนนี้มีมาเลเซีย สิงคโปร์ ส่วนจีนมีบ้างแต่ไม่ใช่ลูกค้าประจำ
นอกจากนี้ ธนาคารได้สนับสนุนผู้ประกอบการ Startup และ SMEs ที่ประกอบกิจการอยู่แล้ว ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านต่างๆ ได้แก่
1. สนับสนุนนักเรียนนักศึกษาเริ่มต้นธุรกิจใหม่ในโครงการปั้นธุรกิจพิชิตเงินแสน โดยเอสเอ็มอีแบงก์ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนและเสริมสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยกับบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นโครงการสืบเนื่องจากงานสุดยอด SMEs ของดีทั่วไทย คลองผดุงกรุงเกษม เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งรับสมัครนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจเข้าประกวดในโครงการ โดยบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุนเงินทุน 1 ล้านบาท มีนักเรียนนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก 11 ราย ที่จะได้รับทุนเบื้องต้น รายละ 20,000 บาท และจะมีการคัดเลือกอีกครั้งเพื่อให้ทุนสนับสนุนไปเริ่มต้นธุรกิจ โดยมีเอสเอ็มอีแบงก์พร้อมให้เงินทุนเพื่อต่อยอดเติบโต พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำในเชิงธุรกิจและการตลาดต่อไป
บ่มเพาะวิสาหกิจ SMEs-Startup
2. สนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs-Startup ผ่านศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (Science Park) ซึ่งขณะนี้ธนาคารได้เข้าเป็นภาคีใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งมีนวัตกรรมเชิงวิจัย เช่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยสงขลา ซึ่งทั้งสองมหาวิทยาลัยดังกล่าวจะมีส่วนสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs-Startup ช่วยพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ในการทำธุรกิจต่อไป ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการรายย่อย 6 รายในพื้นที่ที่ได้ผ่านกระบวนการ บ่มเพาะจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประกอบด้วย ธุรกิจก๋วยจั๊บกึ่งสำเร็จรูป 3 แบรนด์ ธุรกิจเฉาก๊วยโบราณ ข้าวเกรียบจากหมูยอ หมูนุ่มแดดเดียว ซึ่งธนาคารพร้อมเข้ามาสนับสนุนเงินทุนต่อยอดธุรกิจให้เติบโตต่อไป
ทั้งนี้ หนึ่งในผู้ประกอบการก๋วยจั๊บ นางสาวธัญวรัตน์ ศิริพานทอง บริษัท เบน เบน ฟู้ด ได้ผลิตก๋วยจั๊บกึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อฮาลอง ได้เล่าว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเปิดให้ผู้สนใจซื้อลิขสิทธิ์การผลิตเส้นก๋วยจั๊บเมื่อเดือนธันวาคม 2558 จำนวน 3 ราย ซึ่งตนเป็น 1 ใน 3 ที่ได้ใบอนุญาต จากนั้นก็เข้าไปเรียนสูตรทำเส้นก๋วยจั๊บ จะแตกต่างจากเส้นบะหมี่ ไม่ผ่านการทอด และนำมาต่อยอดเป็นก๋วยจั๊บกึ่งสำเร็จรูป ด้วยธุรกิจที่บ้านทำหมูยอไก่ยอขาย และทานก๋วยจั๊บมาตั้งแต่เด็กเพราะบรรพบุรุษมีเชื้อสายเวีดนาม ก็พัฒนาทำน้ำซุปเองเป็นรสเดียวดั้งเดิม เริ่มผลิตได้สองเดือน โดยช่วงนี้ใช้แรงคน
“ที่บ้านผลิตไก่ยออยู่แล้ว เอามาทอด อบ ทำให้อยู่นานมากขึ้น เราไม่มีหน้าร้าน ขายส่งตามร้านค้าต่างๆ ชื่อฮาลอง เพราะบรรพบุรุษเป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนาม ย่า ตา ว่ายน้ำข้ามมา ฮาลองแปลว่ามังกร เป็นตัวนำโชค หากดูแพกเกจยังไม่ทันสมัย ใช้แรงคนอยู่ เพราะยังอยู่ในช่วงโครงการบ่มเพาะ Startup ตอนนี้เริ่มขายทางเฟซบุ๊ก เดือนเมษายนนี้จะวางตามร้านขายของฝากใน จ.อุบลราชธานี เช่น ร้านแม่ฮาย ร้านดาวทอง หากใครชอบกินก๋วยจั๊บอุบล ในตลาดยังไม่มีใครทำสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ตอนนี้มีแค่ 3 รายแรก ม.อุบลฯ อบรมแต่เส้นให้เรา ส่วนสูตรเราก็ทำตามแต่ละคนไป ขายที่ราคากล่องละ 45 บาท เป็นซอง 35 บาท”
3. สนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ที่เป็น Social Enterprise โดยเป็นธุรกิจที่ทำประโยชน์เพื่อชุมชน ช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มมากขึ้นโดยไม่ได้หวังกำไรสูงสุด ซึ่งธนาคารเล็งเห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีประโยชน์ต่อสังคมและพร้อมให้การสนับสนุน โดยล่าสุด ธุรกิจบ้านดินอาข่าดอยแม่สลอง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจที่ได้นำวัสดุธรรมชาติที่เหลือใช้มาผนวกกับงานด้านศิลป์ เพื่อสร้างบ้านพักดินที่ยังคงกลิ่นอายของวิถีชีวิตของชุมชนเผ่าแบบดั้งเดิม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าถึงธรรมชาติ วัฒนธรรม และเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชาวอาข่า และก่อเกิดรายได้หล่อเลี้ยงคนในชุมชน ซึ่งนับเป็นตัวอย่างที่ดีของการสนับสนุนเงินทุนสร้างธุรกิจคืนสู่สังคมต่อไป
นายประกาศิต เชอมือกู่ เจ้าของโฮมสเตย์บ้านดินอาข่า เล่าว่า “ผมเน้นท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ วิถีชีวิต วัฒนธรรมชาวอาข่า มีกิจกรรมเดินป่าด้วยมือเปล่า ทำอาหารจากกระบอกไม้ไผ่ ผมเชื่อว่าในชุมชนผมมีของดีมากมาย ผมพยายามใช้ของที่มีอยู่แล้วมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น วัฒนธรรมของชนเผ่าอาข่า ที่วิถีชีวิตเรียบง่าย อย่างบ้านดิน เรามีไม้ไผ่ หญ้าคา ดิน ไม่ต้องซื้อหา ขวดเหล้า เบียร์มาตบแต่ง
“เอาดินแดงเหนียวที่มีทั่วไป ทำโครงสร้างไม้ไผ่ เอาฟางข้าว เอาแกลบมาปั้นเอง ที่ผมลงทุนไปโดยค่อยๆ ทำไปเรื่อย เป็นบ้านดินหลังใหญ่มี 8 ห้องและมีพิพิธภัณฑ์ พื้นที่ 3 ไร่ ใช้เงินไปประมาณ 3 ล้าน สิ่งที่ชุมชนได้ คือเมื่อมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น ขายของที่ระลึก งานแกะสลัก งานปัก มีรายได้จากการแสดง เพราะหากมีลูกค้า ผมจ้างงานในชุมชนให้มาแสดงเป็นการละเล่นของชาวอาข่า ใช้ผักในชุมชน และอนาคตผมมีแผนจะทำเป็นบังกะโลเป็นหลังๆ จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ตาน้ำในอดีต แหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้ว ให้เด็กๆ เป็นไกด์พาเที่ยว จะได้มีรายได้ในชุมชน”
4. โครงการประชารัฐสุขใจ Shop ธนาคารยังได้เข้าร่วมในโครงการร้านค้าประชารัฐสุขใจ Shop เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนให้นำสินค้าไปวางขายที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ 148 ร้านค้า โดยเอสเอ็มอีแบงก์เป็นหนึ่งในหน่วยงานร่วมดำเนินการคัดเลือกสินค้า และช่วยปรับปรุงมาตรฐานสินค้าของชุมชน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย (พช.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และเอสเอ็มอีแบงก์ ที่โครงการจะเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนเมษายน 2559 นี้
5. ธนาคารจัดอบรมหลักสูตรสิทธิประโยชน์บัญชีเดียวทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลดึงผู้ประกอบการ SMEs และลูกค้าธนาคาร จดแจ้งมาตรฐานบัญชีเดียวกับกรมสรรพากร ซึ่งธนาคารได้จัดอบรมทั่วประเทศ มีผู้ประกอบการ SMEs และลูกค้าเข้าร่วมอบรมกิจกรรมประมาณ 5,000 ราย และในจำนวนดังกล่าว มีลูกค้าของธนาคารจาก 27 จังหวัด ที่เข้าจดแจ้ง 100%
เปิดตัวโครงการ Co-Working Space
นอกจากนี้ยังได้เปิดตัวโครงการ Co-Working Space ให้แก่ผู้ประกอบการ ประเภท Startup และดำเนินกิจการอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีสถานที่ทำงานของตนเอง โดยธนาคารได้จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก ประกอบด้วย ที่นั่งโต๊ะทำงาน, Mini Office และ Meeting Room หรือ Seminar Room มากกว่า 100 ที่ พร้อมระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Wi-Fi) Printer Multi-Function 100 ที่ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถมาใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และอื่นๆ นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีกิจกรรมในรูปแบบของ S-Talk, S-Class, S-Café, S-Counselor และ S-Pitching ให้ผู้ประกอบการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากกูรูหรือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านอย่างใกล้ชิด พร้อมการนำเสนอโครงการต่อนักลงทุน ณ อาคารสำนักงานใหญ่ SME Bank Tower ชั้น 1 ติดสถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีอารีย์ ตั้งแต่เวลา 8.30-18.00 น. วันจันทร์ถึงวันศุกร์
พร้อมกับแถลงผลประกอบการของธนาคารว่า ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 151 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นกำไรต่อเนื่องจากเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพดีได้มากขึ้น ทำให้มีดอกเบี้ยรับเพิ่ม และมีการควบคุมดอกเบี้ยจ่ายและค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับไม่สูงเกินไป โดยรวม 2 เดือน (มกราคม-กุมภาพันธ์) ธนาคารมีกำไรสุทธิรวม 341 ล้านบาท
ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ สิ้นกุมภาพันธ์ 2559 มี NPLs คงเหลือ 23,276 ล้านบาท (คิดเป็น 26.07% ของสินเชื่อรวม) ลดลงจากสิ้นปี 2558 ที่มี NPLs อยู่ที่ระดับ 23,452 ล้านบาท (คิดเป็น 27.23% ของสินเชื่อรวม) NPLs ที่ลดลง 319 ล้านบาท เป็นผลมาจากระบบการบริหารติดตามคุณภาพลูกหนี้ของธนาคาร (Loan Monitoring) สามารถสกัดไม่ให้ลูกหนี้ตกชั้นได้ดีขึ้น และธนาคารสามารถปรับโครงสร้างลูกหนี้ได้มากขึ้น แม้จะอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวก็ตาม
ส่วนด้านสินเชื่อ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เอสเอ็มอีแบงก์มียอดเงินให้สินเชื่อรวมคงค้าง 89,296 ล้านบาท ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2559 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้รวม 6,909 ล้านบาท ให้แก่ลูกหนี้ 2,316 ราย เฉลี่ยการปล่อยกู้ต่อราย 2.98 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4% สินเชื่อ Soft Loan และสินเชื่อ Policy Loan ที่กำลังเร่งดำเนินการปล่อยกู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการรายย่อยๆ โดยสินเชื่อต่อรายเฉลี่ยเดือนมกราคม 3.04 ล้านบาท และสินเชื่อต่อรายเฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์ 2.72 ล้านบาท