ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > เวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 2 (ตอนจบ): คนรุ่นใหม่…กับประเทศไทยในอนาคต – “ข้อสรุปที่ไม่มีข้อสรุป คำถามที่ยังไม่มีตอบ แต่ก็ยังมีความหวัง”

เวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 2 (ตอนจบ): คนรุ่นใหม่…กับประเทศไทยในอนาคต – “ข้อสรุปที่ไม่มีข้อสรุป คำถามที่ยังไม่มีตอบ แต่ก็ยังมีความหวัง”

6 พฤศจิกายน 2017


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดกิจกรรมเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 2 “คนรุ่นใหม่…กับประเทศไทยในอนาคต” มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย วีระพงษ์ ประภา ที่ปรึกษาด้านนโยบายและการรณรงค์ขององค์การอ็อกแฟม สหรัฐอเมริกา, เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการ เทใจดอทคอม นักธุรกิจเพื่อสังคม, ธนกร จ๋วงพานิช ผู้เขียนหนังสือหางกระดิกหมา และอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ, พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา นักศึกษาปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด, ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และ บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ณ SEAC ชั้น2

ต่อจากตอนที่ 2

ธนกร: ผมขอเสริมว่า โมเดลสแกนดิเนเวียที่ดูเหมือนจะเป็นสังคมนิยม เป็นมาร์กซิสต์ แต่ว่าพอไปดูในรายละเอียดกลับเห็นว่าเป็นเพราะเขาเข้าใจกลไกของตลาดมาก อย่างเช่นการเอาสวัสดิการไปให้ถึงประชาชน แทนที่จะกำหนดเป็น โครงการของรัฐแล้วรัฐเป็นคนดำเนินโครงการ เคาะการดำเนินการทุกอย่าง เขาใช้ระบบตลาด คือให้คูปองประชาชน แล้วให้ประชาชนไปเลือกเองว่าที่ไหนให้บริการดี ก็เอาคูปองที่รัฐให้มาไปจ่ายให้ตรงนั้น

ดังนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่ผมเชียร์ว่า ถ้าความเข้าใจตลาดอย่างเต็มที่ เรื่องของการผูกขาดที่เยอะเกินไป เรื่องของการที่ไม่ inclusive (รวมทุกคนเข้ามาด้วยกัน) เรื่องที่มีความเหลื่อมล้ำ เป็นเพราะว่าเราไม่ค่อยได้โฟกัสกับการพัฒนาตลาดให้ดี เราถือว่าตลาดเท่าที่เป็นอยู่คือคอนเซปต์ตลาดแล้ว ทั้งที่ความจริงมันยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก

เพียงแต่เพราะเราทิ้งมันไป เพราะเห็นว่ามันเป็นการสร้างคนจนเยอะ สร้างความเหลื่อมล้ำเยอะ เราเลยไปสนใจวิธีอื่น ทั้งที่ความจริงถ้าเราให้ความสำคัญกับทรัพยากร กลับมาพัฒนาคอนเซปต์ให้แน่น ดูว่าความล้มเหลวของตลาด (market failure) อยู่ตรงไหน, ข้อมูลไม่ครบถ้วนตรงไหน, ผลกระทบภายนอก (externality) ตรงไหนที่ไม่ถูกนำมาอยู่ในภาพ

ทำตรงนี้ให้ประณีต ให้เยอะ ให้มาก ตลาดก็ทำงานได้ดีขึ้น จนสุดท้ายเราอาจจะไม่ต้องไปพิจารณาว่ารัฐต้องมานำ ต้องมาทำเรื่องอะไรอีก เพราะตลาดตอบได้ในหลายมิติเหลือเกิน

วีระพงษ์: ผมคิดว่าตอนนี้เรามีความหวังกับตลาดค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันที่เรามีผู้นำทางการเมือง ในอเมริกามี โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมา ในเอเชียตะวันออกเฉียใต้ก็มีผู้นำทางการเมืองเผด็จการหลายๆ คน ความหวังกับตลาดมีสูงมากขึ้น

แต่ตลาดที่ผ่านมา ผมก็ยังไม่ค่อยมั่นใจว่า 50 ปีที่ผ่านมา เราปล่อยให้ตลาดสามารถเจริญเติบโตโดยที่อาจจะไม่ได้มีการควบคุมมากนัก แต่ตลาดก็ยังไม่ได้นำเสนอทางแก้ปัญหาหรือบทบาทของตลาดในการที่จะทำหน้าที่แทนรัฐในบางอย่าง ซึ่งผมคิดว่าการคาดหวังให้ตลาดไปเติมเต็มบทบาทอะไรบางอย่างที่รัฐควรจะเป็นคนทำ และกดดันให้ภาครัฐออกนโยบายที่จแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ก็ยังเป็นจุดที่ภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญอยู่

แต่ในแง่ของการตลาด ผมเห็นด้วยว่าทุนนิยมมีหลายประเภท แต่ทุนนิยมในประเทศไทยเป็นทุนนิยมที่ไม่มีความโปร่งใสและไม่มีการสร้างระบบรับผิดรับชอบ เป็นทุนนิยมที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา

ปัจจุบันนี้ สิ่งที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ ตอนนี้ทุนนิยมที่ขาดความโปร่งใสและขาดระบบรับผิดรับชอบ กำลังจับมือกับผู้นำทางการเมืองที่ก็ไม่มีความโปร่งใสและไม่มีความรับผิดรับชอบ ออกนโยบายต่างๆ ที่จะยิ่งทำให้เราอยู่ในสภาพที่เลวร้ายไปกว่านี้หรือเปล่า อันนี้ก็อาจจะเป็นโจทย์สำคัญ ที่อาจจะต้องมานั่งถกกันพอสมควร

ธนกร: เห็นด้วยที่บอกว่า ตลาดที่ผ่านมาไม่ให้ทางแก้ปัญหากับสังคม แต่ก็เป็นเพราะส่วนหนึ่งมันยังไม่เป็นตลาดที่จะทำงานได้หรือเปล่า มันเป็นตลาดที่สุดท้ายเอาเข้าจริงเรามีตลาดนะ มีคู่แข่งนะ แต่เป็นคู่แข่งน้อยราย มีรายใหญ่อยู่ไม่กี่เจ้า เกือบทุกอุตสาหกรรม เทเลคอม เฮลท์แคร์ หรืออีเวนต์ห้าง คือเอาจริงๆ แล้วก็ทุกมิติ

แล้วถ้าอย่างนี้เราเรียกสิ่งนี้เป็นตลาดแล้ว แล้วเราก็เลยบอกว่ามันไม่ดีพอ ทิ้งไป เราอาจจะเสียของไปได้เยอะ เพราะว่ามันมีอะไรที่จะทำได้อีกเยอะ เพราะว่ามันเป็นสภาพที่ยังสมบูรณ์น้อยมาก เท่าที่เป็นอยู่

พชรพร: อยากจะตั้งคำถามว่า มันเป็นเพราะว่าตอนนี้เราวัดตลาด และตั้งเป้าหมายตลาด มันวัดผิดหรือเปล่า ถามนักเศรษฐศาสตร์ก็จะบอกว่าจีดีพีเป็นตัวชี้วัดที่แย่มาก แต่ริเริ่มการวัดความเจริญเติบโตใหม่ แทนที่จะดูว่า GDP โตแค่ไหน รายได้เท่าไหร่ มาดู “มาตรฐานคุณภาพชีวิต” แทน

ก็คือการแก้ว่ารายได้ที่ได้ซื้อข้าวได้เท่าไหร่ ซื้อเสื้อผ้าได้เท่าไหร่ มีการออมขนาดไหน คือมันออกแบบเฉพาะลงมาให้เห็นว่า ภาพของความเจริญเติบโตจริงๆ ซึ่งโยงถึงขั้นตอนการเก็บข้อมูลด้วย ว่าลักษณะการเก็บข้อมูลของเรา บางข้อมูลเห็นแล้วตั้งคำถามเลยว่าจะเก็บมาทำไม คือบางทีทำซ้ำซ้อน

เมืองไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างมีข้อมูลเยอะ แต่ปัญหาของข้อมูลเมืองไทยคือข้อมูลกระจัดกระจาย หรือไม่บางทีเรื่องนึงไปปรากฏอยู่ในอีกองค์กรนึง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องเลย

จะเห็นว่าแม้กระทั่งสถาบันจีนศึกษา มีสถาบันขงจื๊อในมหาวิทยาลัยเดียวกัน 2-3 ที่ในเวลาเดีวยกัน จะประเมินข้อมูลแค่ว่าจะทำยังไงกับจีน เราจะไปหาสถาบันไหนล่ะ ถามว่า 2-3 ที่คุยกันมั้ย ก็ไม่คุยกัน มีข้อมูลคนละชุด เหมือนกันหมด

ดังนั้นอาจจะต้องตั้งคำถามว่า ทั้งหมดไม่ว่าจะดูว่าตลาดดี หรือรัฐดี ตอนจบแล้วข้อมูลที่ได้ เรากำลังหาข้อมูลอะไรกันอยู่ แล้วข้อมูลที่นำมาออกแบบแผนในอนาคต กับคนที่อ่านข้อมูล ตอนนี้ในตะวันตกจะเน้นคำว่า data literacy สูงมาก คือการพัฒนาการศึกษาให้คนอ่านข้อมูลเป็น ทำให้ตัดสินใจในการตลาดเป็นด้วย

มิตินี้ แพงยังไม่เห็นในเมืองไทย คือการตั้งคำถามว่าข้อมูลที่เราสร้างขึ้นมา สร้างมาเพื่ออะไร แล้วสร้างยังไงให้ได้ผลกระทบ หรือ maximum use มากที่สุด

บรรยง: คุณเอด้ามีอะไรเสริมมั้ยครับ ในเรื่องวิวาทะรัฐกับตลาด

เอด้า: ส่วนตัวเป็นนักพัฒนาที่เชื่อในกลไกระบบตลาด แล้วก็เชื่อเหมือนคุณธนกรว่า ที่ปัจจุบันตลาดไม่ได้มีกลไกลที่ออกมาแล้วมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพราะว่า market failure หรือหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องข้อมูล มันไม่เป็นข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์ (perfect information)

แต่แค่ไม่มั่นใจว่าเราต้องคุยกันเรื่องตลาดกับรัฐต่อไปอีกไกลหรือเปล่า เพราะส่วนหนึ่งทุนนิยมมันมาจากการสันนิษฐานว่าคนเป็นคนเห็นแก่ตัว หมายความว่าทุกคนขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ส่วนตน แต่ไม่เชื่อว่าทุกคนเป็นแบบนั้น ก็เลยเลือกมาทำไรที่ค่อนข้างจะไม่ใช่กระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริจาคก็ดี หรือธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งจริงๆ ก็เป็นไปตามกลไกการใช้ตลาดเป็นตัวขับเคลื่อน (market-driven mechanism) เหมือนกัน แต่เชื่อว่ามันยังมีทางอื่น เราอาจจะไม่ต้องคุยกันแต่เรื่องตลาดกับรัฐ

(ซ้ายไปขวา)บรรยง พงษ์พานิช,วีระพงษ์ ประภา,เอด้า จิรไพศาลกุล,ธนกร จ๋วงพานิช,พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา,ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

บรรยง: คุณเอด้าอยากเปลี่ยนประเด็นก็ได้ครับ แต่ผมอยากชวนว่า จริงๆ อันนี้เป็นโครงสร้างสถาบันที่ใหญ่มาก ว่ารัฐควรจะมีบทบาทแค่ไหน อย่างที่คุณพชรพรพูดในเมืองไทยมีงานวิจัยเรื่องพวกนี้ค่อนข้างน้อย งานวิจัยที่ว่าด้วยบทบาทที่เหมาะสมของรัฐ มันควรจะแค่ไหน

ผมยกตัวอย่างเช่น ที่ผมเองและคุณธนกรได้มามีส่วนเกี่ยวข้อง งานของสถาบันอนาคตไทยศึกษาพบว่า การขยายตัวของรัฐไทยน่าตกใจมาก ใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา ดูตัวเลขในแง่ของเงินที่ใช้อาจจะไม่เยอะ แต่ทรัพยากรอื่นๆ เช่น จำนวนคน ถ้าไปมองอย่างอื่น รัฐวิสาหกิจขยายตัวน่ากลัวมาก 3 เท่าใน 10 กว่าปี ซึ่งขยายตัวมากกว่าภาคเอกชนเยอะ พอไปศึกษาเรื่องโครงสร้างที่เกี่ยวกับอำนาจรัฐ เรามีกฎระเบียบทั้งหมดแสนกว่าฉบับในประเทศไทย

มีใบอนุญาตที่เรียกว่า license 3 พันกว่าฉบับ ขณะที่ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) แล้วก็ Governance Standard เขาแนะนำว่าไม่ควรจะเกิน 300 แต่เกินไป 10 เท่า อันนี้เป็นเรื่องของรัฐหมดเลย การเพิ่มทั้งบทบาท อำนาจ และขนาด

ผมกลับคิดว่า นี่เป็นประเด็นสาธารณะที่ใหญ่มาก แต่อาจจะไม่ได้มีการถกกันในรายละเอียด คือในเชิงเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เราก็จะไปดูโมเดลมหภาคว่าจีดีพีซึ่งทุกวันนี้เป็นเป้าหมาย เราก็ไปดูว่าจีดีพีมันคือการบริโภคบวกด้วยการลงทุน บวกด้วยการส่งออก ลบนำเข้า บวกด้วยภาครัฐ เวลามันเกิดปัญหาว่ามันโตไม่ได้ เราก็จะพยายามไปเร่งพวกนี้ แต่ตัวโครงสร้างใหญ่ๆ มันไม่ค่อยจะมีใครมอง ซึ่งมันเป็นตัวที่ฉุดศักยภาพโดยรวม

สำหรับผม ก็ต้องประกาศตัวว่าเป็นพวกที่ค่อนข้างจะเป็นเสรีนิยมใหม่ (neoliberal) เป็นพวกที่ชอบตลาดมากกว่ารัฐ โดยเฉพาะในชีวิตจริงซึ่งเป็นนักปฏิบัติมากกว่านักวิชาการ มันเห็นๆ ครับว่าเวลารัฐทำมันหมายถึงอะไร ความมีประสิทธิภาพอยู่ตรงไหน ความโปร่งใส ความไม่รั่วไหลมีหรือเปล่า รัฐและรัฐวิสาหกิจทั้งมวล

อย่างผมเป็นพวกโชคดี ในปี 1950-2000 โลกเติบโต 4.7% โดยเฉลี่ย สูงที่สุดตั้งแต่มีโลกมา หลังปี 2000 กลับเติบโตแค่ 2% โดยเฉลี่ย เจอวิกฤติ เจออะไรฉุดกันบ้าง ยิ่งประเทศไทยอย่างที่บอกแล้ว ก่อนหน้านี้เติบโตดี แล้วเราก็มาค่อนข้างจะแป้ก ค่อนข้างจะต้องใช้คำว่าน่ากังวล

ถามว่าถ้ามามองปัจจัยสถาบันที่ชวนคุยกัน ผมกลับชวนให้คุยเรื่องนี้ต่อ ว่ารัฐเท่าไหร่ ตลาดเท่าไหร่ มันควรจะไปยังไง ความจริงที่คุณวีระพงษ์กังวลก็คล้ายๆกัน คือดูเหมือนรัฐพยายามลุกขึ้นมากำหนดทุกอย่างในแผนยุทธศาสตร์ มีใครอยากจะเสริมในประเด็นพวกนี้ต่อมั้ยครับ

เอด้า: ตอนอ่านงาน ดร.เศรษฐพุฒิ (สุทธิวาทนฤพุฒิ) ก็ตกใจมาก เพียงแต่ว่าในฐานะคนรุ่นใหม่ ไม่มั่นใจว่าถ้าเราอยากจะเปลี่ยนตรงนี้ คือนึกภาพไม่ออก อาจจะด้วยประสบการณ์น้อย ว่าเราทำอะไรได้บ้างในการที่จะไปลดบทบาทของรัฐ เพราะจริงๆ เป็นคนเชื่อในระบบตลาด โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำ มาจากกลไกภาครัฐนี่แหละ ให้ปัจจุบันถึงเป็นแบบนี้ได้ จึงไม่ได้มองว่ารัฐเป็นทางออกหรือระบบตลาดเป็นปัญหา แต่คิดว่าจริงๆ แล้วมันเกิดจากสองอย่าง แต่นึกไม่ออก ในฐานะคนที่อยากทำ ว่าจะทำอะไรได้บ้าง

อันนึงที่อาจจะเคยเริ่มลองทำ เพราะมีเพื่อนๆ เป็นคนรุ่นใหม่ในต่างประเทศ พยายามทำเรื่อง citizen lobbyist ว่าเราเห็นว่าอะไรที่รัฐควรจะต้องเปลี่ยนแปลง แทนที่จะต้องคิดว่าจะเข้าไปในระบบยังไง ไปแก้กฎหมาย ในฐานะคนรุ่นใหม่อาจจะเป็นล็อบบี้จากข้างนอก ซึ่งด้วยสถานการณ์ปัจจุบันอาจจะทำอะไรไม่ได้มาก

แต่ว่าอาจจะขอความรู้จากเพื่อนๆ ที่อยู่ในต่างประเทศหรือทำงานหลากหลายว่า ถ้าเราเห็นปัญหาตรงนี้ แล้วเราอยากจะเข้าไปแก้ มันมีช่องทางยังไงได้บ้าง

พชรพร: ขอเสริมในประเด็นที่ทำงานด้านนโยบายวัฒนธรรม ใน 10 ปีที่ผ่านมา เซกเตอร์ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะตลาดศิลปะ โตสูงมาก มีความต้องการที่คนจะเข้าพิพิธภัณฑ์เยอะขึ้น มาท่องเที่ยวประเทศไทยก็เยอะขึ้น

ในแง่ของภาครัฐที่เห็นเป็นปัญหาก็คือ คนไม่พอที่จะทำงาน สมมุติจะจัดนิทรรศการพิพิธภัณฑ์แห่งนึง เช่น พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา (จ.พระนครศรีอยุธยา) จะจัดนิทรรศการขึ้นมา จัดทำโครงการขึ้นมา เอาความรู้ออกไปให้ชาวบ้านสร้างผลผลิตออกมา ซึ่งค่อนข้างจะเป็นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์

แต่ว่าปัญหาก็คือ มันไม่มีคนที่มาประสานงานต่อเนื่องจากตรงนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นมาพักใหญ่แล้วว่าเมืองไทยขาดแง่ของฟังก์ชันของ think tank ของที่ปรึกษา ที่จะมาช่วยงานของรัฐในลักษณะที่เป็นมืออาชีพจริงๆ

ปัญหาที่เกิดก็คือ เกิดบริษัทขึ้น เกิดภาคเอกชนขึ้น ซึ่งพยายามาแก้ปัญหาของการที่รัฐไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ว่าปัญหาก็คือบริษัทต่างๆ เหล่านี้ค่อนข้างมีทุนที่จำกัด แล้วก็มีเวลาที่จำกัดในการจัดการบริหาร ทำให้เข้าไปทำงานบางครั้งงาน ออกมาไม่ได้เต็มที่

อย่างเช่น บริษัทขุดกู้แหล่งโบราณคดีต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีเวลาแค่เดือนเดียวในการศึกษา ประมวลทุกอย่างให้ขุด ซึ่งถ้าพูดถึงคนทำงานโบราณคดีเวลาน้อยมาก คุณภาพงานก็ไม่ได้ หรือแม้ที่กระทั่งไปปรับปรุงบูรณะโบราณสถาน อย่างกรณีวัดอรุณฯ ก็เห็นกันมาหยกๆ

คือการพัฒนาฟังก์ชันในบริการของเรามันยังไม่ขยายมาสู่ skill sector ที่จะสนับสนุนงานของรัฐได้ จะเป็นเอกชนในลักษณะที่เอกชนล้วนๆ เลย คือกิจกรรมการค้ามากกว่า แต่มันยังไม่คนกลาง

บรรยง พงษ์พานิช(ซ้าย) วีระพงษ์ประภา (ขวา)

วีระพงษ์: ผมคิดว่าตัวบทบาทภาครัฐกับภาคเอกชน โดยเฉพาะในเมืองไทย อาจจะต้องมีความท้าทายกับภาคเอกชนขนาดใหญ่ด้วยเหมือนกัน ว่าคุณจะใช้ความใหญ่ คุณจะใช้สเกล คุณจะใช้พลังของภาคเอกชนเปลี่ยนแปลงให้ภาครัฐมีประสิทธิภาพ หรือขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายบางอย่างของภาครัฐ ให้เกิด inclusive policy มากขึ้นได้อย่างไร

ที่ผ่านมาเราก็จะเห็นตัวอย่างที่ภาครัฐกับเอกชนร่วมมือกันทำนโยบาย อย่างประชารัฐก็ดี นโยบายที่จะร่วมไม้ร่วมมือกัน ซึ่งสำหรับผมแล้วมันจะเอียงไปทางด้าน state capture หรือ political capture มากขึ้น

แต่ความท้าทายของภาครัฐในเมืองไทย เจ้าสัวต่างๆ เครือต่างๆ สามารถที่จะมีเวทีในการที่จะสร้างอิทธิพล หรือการขับเคลื่อนทางนโยบายให้กับภาครัฐตรงนี้ จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

แน่นอน ภาคเอกชนมีทั้งประสิทธิภาพในการผลิต มีทั้งระบบ มีทั้งศักยภาพของผู้นำ มีทั้งศักยภาพของคน และที่สำคัญที่สุดเป็นคนที่สามารถที่จะเชื่อมต่อกับสังคมผ่านกระบวนการผลิตได้อย่างยั่งยืนด้วย ตรงนี้ยังไม่เห็นบทบาทของภาคเอกชน ในการที่จะพยายามขับเคลื่อน ตอนนี้เรายังเห็นภาคเอกชนยังกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์กับตัวภาคเอกชนเองอยู่พอสมควร

ส่วนประเด็นเรื่องผู้ประสานงาน ตรงนี้ต้องยอมรับว่าบทบาทของภาคประชาสังคมยังค่อนข้างอ่อนแออยู่มากในสังคมไทย ผู้ประสานงานที่จะสามารถนำรัฐ นำเอกชน สามารถที่จะประสานงาน จัดการข้อมูล ภาคประชาสังคมไทยตอนนี้ ยังขาดในเรื่องการจัดเก็บข้อมูล ขาดองค์ความรู้ในการที่จะเสนอต่อสังคม ให้ผู้บริโภค ให้พลเมืองต่างๆ สามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการกดดันภาคเอกชนและกดดันภาครัฐ ในการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย

ซึ่งผมคิดว่าสามเหลี่ยมตรงนี้ เราจะมีการจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างไร ที่จะทำให้ภาคประชาสังคมของเมืองไทยเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อที่จะอย่างน้อยๆ เป็นคนที่จะจับตามองพฤติกรรมและนโยบายของภาคเอกชน

และให้ภาคเอกชนทลายมายาคติของตัวเองด้วยว่า ทำไมต้องการให้รัฐเอื้อประโยชน์ของตัวเอง แต่จะเป็น force for good ได้หรือเปล่า ก็เป็นความท้าทายนึงที่ภาคเอกชนไทยยังคงต้องตอบสังคมอยู่เหมือนกัน

บรรยง: ผมขอเสริมคุณวีระพงษ์ว่า ภาคประชาสังคมไทยที่ขาดมากอีกอย่างหนึ่งคือทรัพยากร ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ ถ้าคุณขาดทรัพยากร การพัฒนามันจะเกิดยาก ทีนี้ทรัพยากรของภาคประชาสังคมมันควรจะมาจากไหน จริงๆ ก็ต้องมาจากสังคม

แต่เนื่องจากสังคมมันมีกลไกอยู่ตรงกลาง สำหรับผมคิดว่ารัฐน่าจะเข้ามา แต่ไม่ได้เข้ามาครอบงำภาคประชาสังคมนะครับ เข้ามาอย่างน้อยการจัดหาทรัพยากรที่จะมาเสริม ไม่อย่างนั้นคุณก็ต้องนั่งรออ็อกแฟม รอต่างประเทศที่จะเสริมให้

ในเมืองไทย เดิมเรามีกลไก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ซึ่งความจริงถือว่าหลักการก็เป็นอย่างนั้น เพื่อที่จะเอาทรัพยากรมาให้ แต่ก็ยังจำกัดอยู่ว่าจะต้องเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ

คือผมเห็นด้วยมาก ยกตัวอย่างภาคประชาสังคมซึ่งประกอบไปด้วยหลายองค์ประกอบ ไม่ใช่แค่ think tank think tank เป็นหนึ่งในนั้น

think tank เมืองไทย มีที่จดทะเบียนและนับเป็น think tank 8 แห่ง ในอเมริกามี 1,800 แห่ง ในเยอรมัน 400 แม้แต่จีนยัง 300 เมืองไทยมี 8 แห่งเองนะครับ เราไม่ใช่เป็นเศรษฐกิจที่เล็กที่ควรจะมีขนาดนั้นเลย มีนับหัวได้ ทีดีอาร์ไอ อนาคตไทยศึกษา น้อยมาก อันนี้จะเสริมยังไงที่จะทำให้มี

สื่อก็เป็นหนึ่งในภาคประชาสังคม แล้วสื่อตอนนี้ก็น่าเห็นใจมาก เจอปัญหาในเรื่องของทรัพยากรค่อนข้างมาก ก็เป็นขาหนึ่งที่มีมากในระบบของไทย ก็เป็นเรื่องที่ต้องฝากว่าจะจัดการยังไงต่อไป

ธนกร: เห็นด้วยกับคุณบรรยง แต่ก็กลับมาเรื่องตลาดอีกว่า คนเราจะตัดสินใจได้ถูกต้องว่าของเท่าไหร่ควรราคาเท่าไหร่ ของไหนดี-ไม่ดี ต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ ซึ่งไม่ใช่สำหรับของที่เราใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แม้กระทั่งนโยบายที่ภาครัฐออกมา เราจะรู้ว่าดี-ไม่ดี ต้นทุนคุ้ม-ไม่คุ้ม เราก็ต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ แต่เราจะเอาข้อมูลตรงนั้นมาจากไหน

ผมก็มองว่า รัฐมีหน้าที่อย่างที่บอกว่ามันมีตลาด แล้วก็มีฝั่งรัฐ หน้าที่ของรัฐคือควรจะทำให้ตลาดทำงานได้เพอร์เฟกต์ที่สุด ซึ่งในเมื่อข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นที่ประชาชนจะต้องใช้ในการทำหน้าที่ตลาดตรงนี้ได้ รัฐก็ควรจะไปส่งเสริม เช่น ส่งเสริมภาคประชาสังคม เพราะสุดท้ายภาคประชาสังคมนี่แหละจะเป็นคนย่อยข้อมูล เอาข้อมูลมาเปิดเผย แล้วทำให้ประชาชนมีการตัดสินใจที่ฉลาดขึ้น ครบถ้วนขึ้น ครบมิติขึ้น

มันก็จะตอบในอย่างนี้ว่า สุดท้ายถ้าภาครัฐเข้ามาช่วยภาคประชาสังคม ก็เหมือนกับมาช่วยเรื่องความล้มเหลวของตลาดในระดับหนึ่ง เพราะธรรมดาผมอาจจะไม่รู้ว่านโยบายไหนจะกระทบชีวิตผมยังไง กระทบมากน้อยยังไง แต่พอผมมีข้อมูล ผมอาจจะเริ่มรู้มากขึ้น

พอผมรู้มากขึ้น ผมก็จะเริ่มตัดสินใจนักการเมืองได้แบบที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ผมมากที่สุด แต่ถ้าผมไม่มีข้อมูล ผมก็อาจจะเลือกพรรคที่สุดท้ายทำนโยบายที่เป็นภัยต่อชีวิตผมก็ได้ ก็แปลความในแบบที่เห็นว่า ตลาดถ้าดูแลให้ดี มันก็จะนำไปสู่วิธีแก้ปัญหาที่ดีได้เหมือนกัน

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ(ขวา) พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา(กลาง)

ฟูอาดี้: ผมมีคำถามว่าทำไมเราไม่พูดถึงภาคเอกชนกับความช่วยเหลือกับภาคประชาสังคมไปเลย ทำไมเราไปผลักดันรัฐว่าต้องช่วยเหลือภาคประชาสังคม ซึ่งผมคิดว่า force for good จริงๆ มันอยู่ที่ภาคเอกชนเยอะ แล้วผมคิดว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในต่างประเทศที่ผมเจอมา

บ้านเรามองซีเอสอาร์ (CSR: Corporate Social Responsibility) กับงบประมาณทางการตลาดเป็นอันเดียวกัน คือถ้าทำซีเอสอาร์แล้วได้ประโยชน์ด้านการตลาดด้วยก็ทำ แต่ Corporate Social Responsibility มันไม่ได้อยู่ที่วัฒนธรรม การให้ทุกครั้งคิดเรื่องการตลาดตลอด ต่างประเทศเวลาเขาให้เขาให้กับ think tank เขาให้กับองค์กรต่างๆ ที่ทำในเรื่องที่อาจจะช่วยให้ธุรกิจเขาดีขึ้น แต่ช่วยตรวจสอบธุรกิจของเขาเองด้วยให้ดีขึ้น

บ้านเราให้วัดเสียเป็นส่วนใหญ่ ให้ทำการตลาดเสียเป็นส่วนใหญ่ คือผมคิดว่าภาคเอกชนเองต้องดูว่าตัวเองมีส่วนร่วมอะไรได้บ้างมากกว่านี้

พชรพร: อยากจะเสริมเรื่องภาคเอกชนในประสบการณ์ที่เจอมา คือดูมรดกการพัฒนาแหล่งทรัพยากรทางวัฒนธรรม พวก heritage site ของจีน บริษัทจีนมีรูปแบบการลงทุนที่น่าสนใจมาก

อย่างกรณีอ๊อกซฟอร์ดจะมีสถาบันซึ่งพัฒนาเกี่ยวกับการบูรณะ คือการสร้างทรัพยากรการพัฒนาคน ว่าจะมาบูรณะโบราณสถานยังไง จัดการโบราณสถานคู่กับทรัพยากรธรรมชาติยังไง

กลุ่มทุนจีนไปลงทุนเป็น scholarship research เอาไว้ เป็น research funding ใหญ่ด้วย โดยให้ข้อแม้สถาบันว่าคุณจะต้องส่งนักวิชาการอ๊อกซฟอร์ดทั้งทีมมาพัฒนาแหล่งที่จีน แต่ละปี ทุกปี แล้วก็เอาเด็กจีนจำนวนหนึ่งไปทำงานที่นั่นด้วย แล้วกลับมา เด็กจีนพวกนี้ก็มาสร้างองค์ความรู้เพิ่มเติม

ซึ่งมันเป็นการลงทุนที่น่าสนใจมาก เพราะว่ามันเริ่มจากภาคเอกชนที่ต้องการจะลงทุนขยายทางด้านตลาดศิลปะแล้วก็ไปเอาสถาบันต่างชาติมาใช้งาน แทนที่ว่าจะรอให้สถาบันต่างชาติเลือกที่จะมาเข้าจีนแทน

ฟูอาดี้: หรือผมอยากพูดเรื่องการบริจาคด้านการศึกษา ประเทศเมืองนอกเขาจะมีแบบ BMW Center for European Studies, มี Toyota Center for Japanese Studies เมืองไทยไม่มีเลยนะครับ บริษัท x, Center for human right studies ไม่เคยเจอ, บริษัท x Center for political studies ไม่มี คือภาคเอกชน ผมว่าต้องกลับไปทำการบ้านด้านนี้เหมือนกัน

วีระพงษ์:ที่น่าสนใจที่คุณฟูอาดี้พูด ประเด็นแรกผมคิดว่าภาคเอกชนไทยยังต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาที่ตนเองก่อไว้ในอดีตพอสมควร ผมคิดว่าการให้ทุนการศึกษาก็ดี มันเหมือนเป็นการล้างมือในอ่างทองคำพอสมควร

เพราะปัญหาทรัพยากรทางธรรมชาติ ปัญหาสังคมต่างๆ ก่อโดยภาคเอกชนไทยเยอะมาก ปัญหาข้าวโพดที่น่านก็ดี ปัญหาประมงก็ดี ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมก็ดี ผมคิดว่ามันมีหลักฐานมากมายที่ว่าการผลิตอาหาร การผลิตอุตสาหกรรมไทยที่ผ่านมา สร้างปัญหาให้สังคมไทยเยอะมาก เพราะฉะนั้นก่อนที่จะมองว่าอนาคตจะอย่างไร แก้ปัญหาที่คุณทำมาในอดีตก่อน

ในฐานะที่เป็นตัวแทนของภาคประชาสังคมไทย มันก็จะมีข้อขัดแย้งกันพอสมควรในการที่ภาคประชาสังคมจะรับเงินกับภาคเอกชน เราก็ต้องดูว่าความสมดุลมันจะอยู่ตรงไหน สมดุลในการที่ภาคประชาสังคม จะทำหน้าที่ในการเป็นผู้จับตามอง ทำหน้าที่ในการตรวจสอบความโปร่งใส และความรับผิดรับชอบ

กับสมดุลในเรื่องของการที่ต้องถูกมองว่าเป็น corporate friendly เอ็นจีโอ ซึ่งตรงนี้ องค์กรหลายๆ องค์กรมีความถกเถียงกันเยอะมาก ว่าเรื่องของทรัพยากร เราอยากรับเงินมั้ย แน่นอน ทรัพยากรในการดำเนินงาน ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญๆ ต้องใช้ทรัพยากร ต้องใช้ตัวบุคคล

แต่จะมีแนวทางการบริหารจัดการความสัมพันธ์นี้อย่างไร ที่จะทำให้เกิดอิสรภาพในการทำงานร่วมกัน ที่ผ่านมาก็มีโมเดลในการทำงานต่างๆ เช่น ภาคประชาสังคม พยายามที่จะสร้างเครือข่ายซึ่งกันและกัน และไม่เป็นการที่จะถูกมองว่าไปจูงมือ จับมือกันสองคนกับภาคเอกชน

แต่เป็นการสร้างเครือข่ายขององค์กรภาคประชาสังคม แล้วภาคเอกชนก็มีเครือข่ายภาคเอกชน แล้วทำงานร่วมกันผ่านเครือข่ายองค์กร ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็นโมเดลที่ในต่างประเทศก็ใช้ประสบความสำเร็จ แล้วทำไมเมืองไทย แนวทางเหล่านี้ จะไม่หยิบยกเอามาใช้บ้าง

ฟูอาดี้: บางทีที่เมืองนอกเวลารับทุน ต้องรับคานกันนะครับ สมมติบริษัททูน่ากระป๋องให้เงินคุณวีระพงษ์ไปทำเรื่องสิทธิมนุษยชนในเรือประมง มันก็ต้องมีทุนอีกส่วนหนึ่ง อาจจะมาจากภาครัฐ มาจากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ มาจากองค์กรเมืองนอก ก็ต้องรับมาเหมือนกัน ทำโปรเจกต์เดียวกัน เพื่อที่จะคานอำนาจกัน เพื่อให้เป็นอิสระ

บรรยง: แต่ประเด็นเรื่องซีเอสอาร์ มันก็ถกกันเยอะมาก อย่างที่ทราบนัก เศรษฐศาสตร์มีหลายสคูล ถ้าเป็นสำนักเสรีนิยมหน่อย เขาก็บอกว่าเอกชนหากำไรไป รัฐมีหน้าที่จัดการกับความล้มเหลวของตลาด จัดการกับผลกระทบภายนอก จะจัดการอะไรก็เป็นเรื่องของรัฐ

แต่เวลาบอกว่าให้เอกชนลุกขึ้นไปทำเอง ปัญหามันก็คือใครตัดสินว่าทรัพยากรมันควรจะไปที่ไหน ก็ให้เอกชนตัดสิน มันมีหลายทฤษฎี อย่างเช่นเจ้าพ่อเสรีนยมใหม่ “ฟรีดแมน” (Milton Friedman) เมื่อปี 1970 เขาก็จะพูดว่า

“…There is one and only one social responsibility of business–to use it resources and engage in activities designed to increase its profits so long as it stays within the rules of the game, which is to say, engages in open and free competition without deception or fraud”

นี่คือบอกว่า คุณไม่มีหน้าที่อะไรเลย ยกเว้นทำกำไร คุณแหละกำไร คุณนี่แหละเป็นสินค้าสังคม (social good) เพราะว่ากำไรจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อคุณต้องสร้างอะไรที่เป็นประโยชน์

ฟูอาดี้: แต่ปัญหาคือกำไรนั้นมันคว้าได้โดยคนกลุ่มเดียว (หัวเราะ)

บรรยง: มันมองได้หลายมุม ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเข้ามาเอาพวกนี้ไปจัดการ เพราะไม่อย่างนั้นมันจะเบี่ยงเบน แล้วมันก็จะทำให้หามาตรฐานไม่เจอ อันนี้คือทฤษฎีของเสรีนิยมใหม่นะ ผมไม่ได้กำลังบอกว่าถูกหรือผิด

แต่เวลาคนเอาฟรีดแมนมาโค้ดก็จะพูดแค่ “…to increase its profits” สั้นๆ เพื่อจะบอกว่าฟรีดแมนเป็นคนเห็นแก่ตัวหรืออะไร แต่ความจริงเขามีคอนเซปต์ของเขาว่ารัฐจะทำหน้าที่แค่ไหน

แต่อย่างที่ผมบอก ทุนนิยมโมเดิร์น มันสองร้อยปีตั้งแต่ อดัม สมิธ (Adam Smith) มันก็ยังจะต้องหาทางของมันอยู่ แต่ในอดีตเราเถียงไม่ได้ว่าการเกิดขึ้นพร้อมกันของ 3 สิ่งในช่วงปี 1800 ก็คือปฏิวัติอุตสาหกรรม, ประชาธิปไตยใหม่, และทุนนิยมใหม่ มันทำให้ผลิตภาพของโลกโต 250 เท่าใน 200 ปี ทั้งที่เดิมโลกแทบจะไม่โตเลย ผลิตภาพ โดยเฉพาะต่อหัว แต่ผมไม่ได้บอกว่ามันสมบูรณ์

ทีนี้ก็มีข้อกังวลสำหรับคนรุ่นใหม่ของพวกคุณ รุ่นผมก็คงจบไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่นการเกิดขึ้นของ disruptive ทางเทคโนโลยีต่างๆ

ผลิตภาพเดิมมันพิสูจน์ว่าเกิดได้ดีที่สุดภายใต้การแข่งขัน ทำยังไงที่จะจูงใจให้เกิดการแข่งขัน เมื่อไหร่มีการแข่งขันผลิตภาพก็จะเพิ่ม อันนี้คือหลักการที่ผมคิดว่าน่าจะปฏิเสธได้ยากในช่วงสองปีที่ผ่านมา

แต่ในอนาคตมันก็เกิดคำถามว่า ในเมื่อคนที่จะเพิ่มผลิตภาพมันไม่ใช่คนแล้ว จะเป็นพวกปัญญาประดิษ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นพวกหุ่นยนต์ ซึ่งพวกนี้เขาไม่ต้องการแรงจูงใจใดๆ เลย ทุนนิยมก็อาจจะต้องปรับอย่างมโหฬาร ก็อาจจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอนาคตคนรุ่นใหม่ มีใครอยากจะทิ้งท้ายสั้นๆ มั้ยครับว่าอยากจะเห็นอะไร

ฟูอาดี้: ผมคิดว่าพวกผมทุกคนเป็นพวกสับสนในตัวเอง คือขานึงก็อยู่ทุนนิยม ก็ต้องทำธุรกิจ อยากจะทำธุรกิจ แต่จะทำยังไงให้มันดีกว่าเดิม ที่มันเป็นอยู่ ความมั่งคั่งที่ได้มา จะทำยังไงให้มันถูกต้อง ให้มันอยู่ได้ แต่ให้มันกลับไปคืนสังคมมากที่สุด มันก็เหมือนกับที่ผมบอกคือ มีความเป็นมาร์กซิสต์ปนกับเสรีนิยมใหม่สูงพอสมควร ก็ต้องหาทางกันไป

พชรพร: ส่วนตัวของแพงเอง เชื่อในพฤติกรรมของคน ซึ่งเกิดจากวัฒนธรรม แล้วตัววัฒนธรรมไม่ใช่เพียงว่าของเก่า แต่สิ่งที่เรากำลังสร้างขึ้นมาใหม่ มันเป็นวัฒนธรรมแบบหนึ่ง ซึ่งวัฒนธรรมตัวนี้ มันจะกำหนดว่าเรามีส่วนร่วมกับสังคมและเศรษฐกิจยังไง

ถ้าเราไม่เข้าใจวัฒนธรรมเราเอง หรือรากฐานว่าทำไมเราถึงมีพฤติกรรมการตลาด หรือไม่สนับสนุนตลาด หรือชอบรัฐบาล หรือไม่ชอบรัฐบาลก็ตามแต่ คิดว่าต่อไปคงเดินไปได้ยาก เป็นเรื่องนึงที่จะฝากเป็นโจทย์ อาจจะต้องตั้งคำถามว่า ต่อจากนี้ อัตลักษณ์ของไทย ณ ขณะนี้คืออะไร แล้วเราจะเดินไปยังไง

ธนกร: ผมก็กลับมาเรื่องเดิมครับว่า มันมีรัฐ มีตลาด แต่เรื่องตลาดตอนนี้ เราก็ไม่ได้มาดูให้เต็มที่ว่ามันจะทำให้มันดีได้ยังไงบ้าง ในขณะที่ในส่วนภาครัฐก็ไม่มีความครบถ้วนหน้า เป็นเรื่องของคนในอำนาจไม่กี่คน ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วม แล้วก็เคาะนโยบายที่จะผูกพันไปในระยะยาว ตลาดก็ไม่เกิด รัฐก็ผิดทางอยู่

ดังนั้นในอนาคตผมก็เห็นว่า ถ้าคนรุ่นใหม่จะต้องอยู่ในอนาคตกันต่อไป ก็รู้สึกว่าเป็นความเสี่ยงอย่างมาก แล้วทุกอันมันเป็น downward spiral ที่จะฟีดตัวเอง ที่จะหมุนไปในทางอย่างนั้นไปเรื่อยๆ โดยไม่มีโอกาสที่จะกลับมาสู่จุดที่สมดุล

มันก็ได้แต่เชียร์ตัวเองและเชียร์คนร่วมรุ่นกันว่า ให้พยายามทำตัวให้เก่งที่สุด คล่องตัวที่สุด หาโอกาส หา identify ความเสี่ยง เพื่อจะอยู่รอดไปให้ได้ ไม่ว่าสถานการณ์มันจะเป็นยังไง

เอด้า: ที่่สนใจเรื่องปัจเจก จริงๆ แล้วอยู่ใต้รัฐก็ดี หรือว่าเอกชนก็ดี คนข้างหลังก็คือคน แล้วเชื่อว่าสิ่งที่มันเปลี่ยนผ่านระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเดิม จริงๆ คุณค่าหลายๆ อย่างก็มีการเปลี่ยน เครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลงก็มีการเปลี่ยน

แล้วสิ่งที่รู้สึกว่ามันมีการเปลี่ยนมากเยอะในรุ่นเอด้าคือ เรามองว่าตัวเราเองสามารถเป็นคนนำการเปลี่ยนแปลงได้ โดยที่ไม่ต้องไปอิงกับสถาบัน จะเป็นรัฐก็ดี เอกชนก็ดี

แล้วถ้าเกิดเราสามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมของคนที่จะขึ้นมาเป็นดีลเมกเกอร์ของในทั้งสองภาคได้ มันอาจจะเป็นทางแก้ในการที่จะนำมาสู่การทำยังไงที่ภาคสังคมจะเป็น force for good หรือว่ารัฐเองจะออกแบบกลไกที่ในอนาคตเป็นคนที่เข้าใจสังคม และออกแบบกลไกที่เอื้อกับการพัฒนาที่มัน inclusive มากขึ้น

วีระพงษ์ ประภา(ซ้าย),เอด้า จิรไพศาลกุล (ขวา)

วีระพงษ์: ผมคิดว่าหลายๆ ครั้งคนรุ่นใหม่จะถูกมองว่าเป็นตัวแทนของความหวัง หวังของประเทศ หวังให้เราแก้ปัญหาประเทศ ที่คนรุ่นเก่าอาจจะเป็นมรดกมาให้เรา

แต่ผมคิดว่าความหวังของผม มันประกอบด้วย 3 สิ่งด้วยกัน ความหวังที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียมของสังคม, ความหวังที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น และความหวังที่เราจะสามารถลุกขึ้นมาทำอะไรได้บ้าง ในการที่จะเป็นส่วนหนึ่ง ในฐานะพลเมือง ในฐานะผู้บริโภค ในการจัดการกับปัญหาสังคมต่อไปในอนาคต ยังมีความหวังอยู่ครับ

บรรยง: ทั้งหมดที่ได้ฟัง ก็เป็นข้อสรุปที่ยังไม่มีข้อสรุป จริงๆ ปัญหาและพัฒนาการของโลกก็คงยากที่จะมีข้อสรุปใดๆ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง มันเป็นกระบวนการที่จะต้องเรียนรู้ปรับตัวกันไป

อย่างที่ผมเกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนแรกว่า คงจะปฏิเสธความจริงไม่ได้ ว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ถึงแม้ดูเหมือนเราจะพัฒนามาได้ดีในช่วงระยะ 40-50 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็ได้ดีตามสมควร

แต่ ณ ปัจจุบันเรามีปัญหาอยู่หลายส่วน ทั้งในแง่ของการเมือง ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของสังคม ซึ่งหมายถึงความรุ่งเรืองของทุกคนโดยทั่วหน้า โอกาสของทุกคนโดยทั่วหน้า

ก็เป็นเรื่องที่ความหวังยังต้องมีอยู่ ประเทศไทยยังไงก็ต้องอยู่รอด อยู่รอดแน่ๆ อยู่แล้ว ไม่ต้องทำนายเลย เพียงแต่เราก็ได้แต่หวังว่า ในช่วงที่ผ่านมาเราสามารถที่จะหลีกเลี่ยงไม่เป็นประเทศที่ถูกตราหน้าว่าเป็นประเทศที่ “failed state”

ถึงแม้วันนี้ดูเหมือนว่ามันมีความล่อแหลมอยู่ในหลายๆ ด้าน ก็หวังว่าคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย ไม่เฉพาะที่นั่งอยู่ที่นี่ แต่ทั้งหมดในสังคมนี้ ก็คงจะประคับประคองประเทศต่อไปได้