ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > เวทีปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 3 : การลงทุนไทย…กำลังตกเทรนด์โลก? การลงทุนโลกไม่ฟื้นเหมือนอดีต ต้องเร่งสร้างระบบนิเวศยืดหยุ่น(ตอนที่ 2)

เวทีปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 3 : การลงทุนไทย…กำลังตกเทรนด์โลก? การลงทุนโลกไม่ฟื้นเหมือนอดีต ต้องเร่งสร้างระบบนิเวศยืดหยุ่น(ตอนที่ 2)

9 พฤศจิกายน 2017


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดกิจกรรมเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 3 “การลงทุนไทย…กำลังตกเทรนด์โลก?” มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย  ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด, ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ดร.นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) และ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย
บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ณ SEAC ชั้น2

ต่อจากตอนที่ 1

ดร.เศรษฐพุฒิ: ช่วงนี้พูดกันเยอะเรื่อง Ease of Doing Business ผมว่าดีเพราะว่าเรื่องของบทบาทภาครัฐที่ทำให้เอกชนลดอุปสรรค เพราะอุปสรรคของเอกชนมีเยอะจริงๆ แต่อันหนึ่งที่นอกจาก Doing Business คือ Ease of Growing Business ที่เราเห็นในบ้านเราคือเอสเอ็มอีในบ้านเรามันไม่ค่อยโต บ้านเรามันจะขนาดธุรกิจขนาดกลางที่เป็นเรื่องเป็นราวที่จะแข่งขันกับโลกได้ อย่างที่เยอรมันจะเรียกว่า Mittelstand ไม่ได้ใหญ่มากแต่จะมีเทคโนโลยีของเขาที่เก่งเฉพาะทางและสามารถแข่งขันกับโลกได้ ของเรามันขาด ถ้าดูโครงสร้างของไทยบริษัทใหญ่จะควบคุมไปหลายอย่างและมีรายเล็กเยอะมาก แต่ตรงกลางที่สามารถแข่งขันกับโลกไม่ค่อยมี

บ้านเราปัญหาภาพเอสเอ็มอีที่พูดเยอะ คือต้องเข้าใจว่าบางที่เราคิดถึงเอสเอ็มอีหรือ startup เราไปคิดว่าเป็นเทคโนโลยีอะไรแบบนั้น บ้านเราหน้าตามันอีกแบบ มาแบบร้านกาแฟร้านก๋วยเตี๋ยว ข้อเท็จจริงเป็นแบบนั้น สัดส่วนของคนที่จ้างงานตัวเองสูงมากๆ เทียบกับระดับรายได้ของเรา คือแบบเป็นแม่ค้า ขับแท็กซี่ อะไรแบบนี้ และพวกเอสเอ็มอีที่เป็นไมโคร จ้างงานต่ำกว่า 5 คนเยอะมาก มันก็กลับมาว่าตอนพูดก็พูดอย่างหนึ่ง ภาพเทคโนโลยี นวัตกรรมอะไรแบบนี้ แต่ว่าของจริงคือร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งถ้าคุณทำให้ร้านก๋วยเตี๋ยวขายของได้ในราคาที่สูงขึ้นมันเป็นรายได้ที่เพิ่ม แต่โจทย์บางทีมันต้องแยกให้ชัด

ดร.พิพัฒน์: เรื่องของการ Grow Business ก็น่าสนใจว่าจะเกิดขึ้นและเติบโตขึ้นไปได้อย่างไร แล้วจะ exit อย่างไร เป็นปัญหาใหญ่ของเมืองไทย

ดร.เศรษฐพุฒิ: ผมว่าในที่สุดถ้าถามผมคือถามว่าเหตุผลที่เอสเอ็มอีโตไม่ได้เป็นเพราะการระดมทุนหรือไม่ ผมว่าไม่ใช่ อาจจะเป็นประเด็นแต่ไม่ใช่ประเด็นบนๆ ไม่ใช่เรื่องปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ มันติดเรื่องอื่น การบริหารจัดการอะไรพวกนี้

ดร.พิพัฒน์: ทำอย่างไรให้บริษัทขนาดกลางขนาดเล็กโตได้ มีมาตรฐานใกล้เคียงขนาดใหญ่ ซึ่งทางออกช่องหนึ่งคือ M&A  บางคนพูดถึงขั้นตอนการ M&A ทำให้บริษัทขนาดกลางมันโตไปใหญ่ไม่ได้ เพราะว่าบริษัทใหญ่มาซื้อไม่ได้ ขนาดกลางก็ไม่อยากขาย การลงทุนที่จะลงทุนให้กลางเป็นใหญ่หรือเป็นส่วนหนึ่งก็อาจจะลำบาก

ดร.นริศ: จะต่อประเด็นเรื่องเอสเอ็มอีว่าเราลองติดตามแต่ละบริษัทพบว่าถ้าไปรอดคืออายุมากกว่า 10 ปีมี 1 ใน 3 อีก 1 ใน 3 ต่อไปคืออายุ 0-3 ปีแล้วก็ล้มหายไป ตรงกลางมีน้อยมาก ตกท้องช้าง คืออัตราการอยู่รอดเกิน 3 ปีเรียกว่าน้อยมาก ตรงนี้เป็นประเด็นว่ามันไม่ใช่ว่าเข้าไปถึงสินเชื่อ แต่ประเด็นว่าเข้าไปถึงตลาดหรือไม่ หรือการกระจายตัวในภูมิภาคมีกำลังซื้อมีอุปสงค์หรือไม่ แต่ว่าตรงนี้มันเป็นปัญหาที่มีมาต่อเนื่องแต่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงเท่าไหร่

ถ้ามาดูเองอยากจะดูภาพที่เราไปติดตามเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนนิติบุคคลคือเป็นบริษัทที่ต้องเรียกว่าดีพอสมควร ทั้งหมด 350,000 บริษัท บริษัทที่สามารถทำกำไรได้ต่อเนื่องจริงๆ คือต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปีมีแค่ 30,000 บริษัทหรือ 8% และเอสเอ็มอีไทยคนจะพูดกันว่าถ้าคิดอะไรไม่ออกก็นำเข้าจากจีนมาขายต่อ ลองไปดูบริษัท 30,000 แห่งที่ทำกำไรต่อเนื่อง 17,000 แห่งเป็นภาคการค้าคือการซื้อมาขายไป อีก 9,500 แห่งเป็นการผลิต และสุดท้ายภาคบริการ 1,500 บริษัท พูดง่ายๆ คือบริษัทที่อยู่รอดกลายเป็นภาคการค้า ดังนั้น เอสเอ็มอีไม่ต้องไปหวังว่าจะลงทุน ซื้อมาขายไปคงไม่ได้ลงทุนอะไร ฉะนั้น พอเรามาแคะภาพไส้ในทีละบริษัทแล้วยังต้องสร้างโครงสร้างอีกมาก

ดร.พิพัฒน์: เป็นปัญหาว่าทำไปก็สู้เขาไม่ได้หรือไม่?

ดร.นริศ สถาผลเดชา,ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ,ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (จากขวามาซ้าย)

ดร.นริศ: เป็นไปได้ คือความยั่งยืนและการทำกำไรในการซื้อขายในภูมิภาคยังแย่ แล้วการส่งออก บริษัทเอสเอ็มอีที่มีส่วนแบ่งส่งออกได้ไม่ถึง 10% และประกอบกับบริษัทขนาดกลางก็น้อยมาก ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 99.5% ยังเป็นขนาดเล็ก เล็กแบบที่รายรับต่อปีต่ำกว่า 30 ล้านบาท จ้างแรงงานต่ำกว่า 15 คน พวกนี้คือ 99.5% และยังไม่นับธุรกิจที่ไม่เป็นบริษัทอีก ฉะนั้นเราไม่มีคนที่จะโตไปเป็นขนาดกลางและโตไปเป็นขนาดใหญ่ คือถ้าโตก็โตมาแล้ว 10 ปีที่แล้วก็ทำแบบนั้นซ้ำๆ ไป ถ้าไม่โตก็ตายไปเลย ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้การอยู่รอดมันดีกว่านี้

ดร.สมประวิณ: ที่พูดมาน่าสนใจว่าจะทำให้เติบโตอย่างไร จะ exit อย่างไร คือออกแบบระบบการเงินอย่างไรให้เปลี่ยนถ่ายได้ระหว่างคนที่บอกว่าไม่ไหวแล้วจะออกแล้ว กับคนที่บอกว่าจะรับไปทำต่อ การเคลื่อนย้ายทรัพยากรมันสำคัญมาก ระบบการเงินเป็นระบบหนึ่งทางเศรษฐกิจที่ช่วยให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากรได้ดีมากๆ นริศได้แตะไว้แล้วว่าบ้านเราส่วนใหญ่ไม่ใช่ equity finance มีงานวิจัยของ OECD ผมเคยตั้งคำถามว่าบ้านเรามีครบหรือไม่ แรกๆ บริษัทที่มีความเสี่ยงสูงให้ผลตอบแทนสูง พวกนี้ต้องเป็น equity finance สุดท้ายโตไปเรื่อยๆ ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนต่ำลงก็เข้ามาในระบบธนาคาร

ถามว่าระบบธนาคารผิดหรือไม่ ผมว่าเขาถูกออกแบบแบบนั้นด้วยความเชื่อมโยงกับตลาดการเงินเยอะมาก เขาถูกออกแบบให้คัดเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงต่ำเข้าไปในระบบ แต่บังเอิญว่าประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา informal sector ใหญ่ คนส่วนใหญ่อาจจะเป็นคนที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ถ้าจะสร้างนวัตกรรม ดังนั้น ถ้าระบบธนาคารบ้านเรามันใหญ่อย่างเดียวและไม่มีกลไกอื่นๆ ที่รองรับคนที่มีความเสี่ยงที่มีนวัตกรรมสูง แน่นอนว่าเขาไม่มีเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากร ผมคิดว่าเราต้องตั้งคำถามว่าถ้าเป็นคนคนหนึ่งที่อยากเข้าตลาด คิดได้อะไรได้ วิธีระดมทุนทำอย่างไร ผมคิดว่าเข้าไปธนาคารคงไม่ให้ แต่เมื่อไหร่รอดมา 3 ขั้นแล้ว โอเคเข้ามาได้

ดร.พิพัฒน์: ทำไมข้อจำกัดของโครงสร้างสถาบันการเงิน ที่ในต่างประเทศทำได้ แต่ทำไมมาหาในไทยไม่ได้ อีกโจทย์ที่ยากกว่าเดิม ดร.เศรษฐพุฒิมีอะไรจะเสริมอีกไหมครับ?

ดร.เศรษฐพุฒิ: เสี่ยง ที่ผมกังวลคือนักนโยบายและนักวิชาการจะชอบมองว่าประเทศนี้สิ่งนี้ได้ผลเพราะมีสถาบันแบบนี้ ดังนั้นเราก็ต้องเอาสถาบันนั้นมาใส่ โอกาสที่จะสำเร็จจริงๆ แบบนั้นมันน้อยมาก เพราะว่าสถาบันต้องอยู่ในระบบนิเวศแบบหนึ่งที่ทำให้มันได้ผล เหมือนกับตัวอย่างเรื่องกรามีนแบงก์ ตอนทำงานที่ธนาคารโลกเจอมา ซึ่งประสบผลสำเร็จมากที่บังกลาเทศ ไอเดียคือตตอนที่ปล่อยสินเชื่อให้ใคร คนอื่นที่อยู่ในกลุ่มก็เหมือนมีส่วนเข้ามารับประกันให้อีกคน สถาบันสไตล์ธนาคารโลกหรืออะไรชอบโมเดลแบบนี้ ก็พยายามไปสร้างที่อื่น แต่ต้องเข้าใจว่าที่มันได้ผลเพราะว่าความสัมพันธ์ของคนตรงนั้นมันมีอยู่แล้ว แต่ตอนหลังไปลองทำประเทศอื่นบอกว่าจะทำแบบกรามีนแบงก์ บอกว่าจะมาเอาเงินต้องมีกลุ่ม สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร คนเห็นว่ามีเงินก็จับกลุ่มปลอมๆ ไม่ได้มีความสนิทสนมไม่ได้มีแรงกดดันกัน ไม่ได้เป็นญาตพี่น้องที่จะมาบังคับอะไรได้เลย ในที่สุดก็เจ๊ง ผมว่ามีตัวอย่างอีกเยอะมากแบบนี้

ซิลิคอนวัลเลย์ก็เป็นอีกสิ่งที่ทุกคนรักหมด แต่ถามจริงๆ ว่ามีที่ไหนที่ประสบความสำเร็จจริงๆ ทุกคนก็พยายามสร้างเต็มไปหมด แต่ที่ได้ผลจริงๆ มีน้อยมาก หลักๆ คือที่แคลิฟอร์เนียและมันมีเหตุผลของมัน เป็นเรื่องของระบบนิเวศอีก จะไปเจาะจงเป็นเรื่องๆ มันไม่ใช่ ต้องเป็นเรื่องของทั้งระบบการเงิน มหาวิทยาลัยตรงนั้น เรื่องนโยบายเคลื่อนย้ายคนต่างๆ ที่ดึงดูดคนมีความสามารถ วิถีชีวิต สารพัดเยอะแยะ แต่ว่าเราชอบแบบนี้ว่าตรงนี้มันขาดก็ตั้งขึ้นมาแล้วก็ไม่ไปไหน

ตัวอย่างที่จำได้ของไทยคือเมืองไทยขาดตลาดแบบ mortgage-backed เพราะไปอิงกับธนาคารเยอะ ก็ต้องการสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาคือบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ผมเดาเลยว่า 20 ปีก็ยังไม่ไปไหน คือคิดมาว่าที่อื่นมีแบบนี้ เราต้องการก็จัดตั้งขึ้นมา แต่ไม่เข้าใจว่าต้องอยู่ภายใต้ระบบนิเวศของมัน แล้วปัญหาของบ้านเราอีกอย่างคือจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมามันไม่มีทางที่จะจากหายไป ปิดไม่ได้ เปิดได้อย่างเดียว กินเงินงบประมาณไป

ดร.พิพัฒน์: มีใครอยากจะเสริมข้อจำกัดอะไรที่ทำให้การลงทุนในไทยไม่เกิด?

ดร.นริศ: ขอสวมหมวกของเอสเอ็มอีต่อไป ผมรู้สึกว่าแค่สิ่งที่มันชัดเจนอย่างมาตรการส่งเสริมการลงทุนหรือว่ามาตรการทางภาษีมันก็เหลื่อมล้ำกลายๆ คือภาษีนิติบุคคลของเอสเอ็มอีโดน 20% โอกาสที่จะได้เข้าถึงบีโอไอหรืออะไรมันต่ำกว่า ขณะที่บริษัทใหญ่ๆ เข้ามาเราปูพรม ซึ่งก็ดีเรารับเทคโนโลยีของเขา แต่ว่าอัตราภาษีที่แท้จริงที่บริษัทใหญ่ๆ จ่ายหลังจากหักสิทธิประโยชน์ออกไปแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 8% คือของบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ ขณะที่เอสเอ็มอีไทยจะตั้งก็ยากแล้วจะอยู่รอดก็ยาก เจอภาษี 20% แบบนี้ใครจะเข้าระบบ ใครจะเข้าจดทะเบียน VAT การพัฒนามันไม่ได้มีเส้นทางที่เป็นมิตรกับบริษัทขนาดเล็กด้วย

ดร.พิพัฒน์: เป็นเรื่อง level playing  field แต่มาจากอีกมุมหนึ่ง ดร.เศรษฐพุฒิในฐานะที่เคยทำนโยบายส่งเสริมการลงทุนมีความเห็นว่าอย่างไร

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ(กลาง) ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ(ขวา)

ดร.เศรษฐพุฒิ: คือผมเห็นใจนะว่าบีโอไอโดนเรื่องนี้เยอะ เหมือนไปช่วยรายใหญ่ไม่ใช่รายเล็ก แต่กลับมาต้องเข้าใจว่าโจทย์ของเราคืออะไร คือบางที่เราจะเห็นนโยบายของหลายหน่วยงานจะใช้เป็นยาสารพัดนึก ให้แก้ปัญหาทุกอย่าง มันเป็นไปไม่ได้ จะให้บีโอไอแก้ทั้งปัญหาการจ้างงาน เรื่องเอสเอ็มอี แก้อะไรสารพัดมันไม่ได้หรอก แต่นึกถึงโจทย์ของเราตอนนี้ที่ขาดจริงๆ มันหนีไปพ้นเรื่องของเทคโนโลยีและเรื่อง know-how และนี่เป็นที่มาของความล้มเหลวของตลาด เป็นที่มาว่าทำไมต้องใช้เงินรัฐในรูปแบบของสิทธิประโยชน์ภาษีเพื่อดึงของพวกนี้เข้ามา เรื่องเอสเอ็มอีอยากจะช่วยก็ช่วย แต่ต้องอาศัยเครื่องมือประเภทอื่น โจทย์เอสเอ็มอีไทยมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าของโลกที่เราต้องการหรือไม่ เปล่า ถ้ามันมีอยู่แล้วก็ดีจะได้ไม่ต้องไปดึงมา จบ ผมว่าบางทีก็ต้องยุติธรรมกับตรงนี้หน่อย เหมือนไปดึงมุมหนึ่งมาแล้วบอกว่ามีปัญหา แต่มันมีด้านอื่นๆ อยู่

ดร.สมประวิณ: ถ้าถามว่าอนาคตการลงทุนจะมาหรือไม่ มองไปในอนาคตผมคิดว่าจะเห็นตัวเลขการลงทุนที่ดีขึ้นก็ได้ เพราะว่าอะไร อยู่บนสมมติฐานว่าโครงการลงทุนทั้งหมดจะเกิดขึ้น EEC เกิด ถ้าเกิดขึ้นมาจริงๆ ตัวเลขนะ ตัวเลขการลงทุนภาพรวมของประเทศจะเห็นว่าดีเลย แต่ถามว่านั่นคือสิ่งที่เราต้องการหรือมันคือคุณภาพหรือไม่ มันคือคุณภาพในระดับหนึ่งแต่ว่าเราหัก EEC ออกไปจากประเทศ คำถามที่สำคัญคือการลงทุนในส่วนอื่นของประเทศเป็นเท่าไหร่ ผมว่ามันอาจจะไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ซึ่งมันน่าสนใจมาก เพราะว่า EEC เราเปิดให้ทุกคนเข้ามา ใครอยากจะลงทุนให้ไปที่นี่ แต่ว่าประเทศมันไม่ได้ต้องการลงทุนพื้นที่เดียว เราต้องการให้คนทุกคนในประเทศลงทุน ต้องการให้ทุกคนในประเทศสร้างนวัตกรรม ฉะนั้น ถ้าอนาคตเห็นตัวเลขการลงทุนที่ดี ผมคิดว่าขอให้ไปศึกษาในรายละเอียดอีกว่ามาจากที่ไหนและกระจายอย่างไร และการมีส่วนร่วมว่าการลงทุนนั้นเกิดจากใคร อาจจะสำคัญกว่ากระจายด้วย ผมอยากให้คนไทยทุกคนได้มีส่วนร่วมมากกว่าที่จะเป็นแค่บางคน

ดร.เศรษฐพุฒิ: ผมฝากไว้เลยว่าถ้าจะดูว่า EEC สำเร็จหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรจะใช้เป็นตัวชี้วัดเลยคือมูลค่าการลงทุน ถามว่าทำไม เพราะว่าถ้าดึงการลงทุนจากที่อื่นมา EEC มันแทนที่จะไปงอกที่เขตอื่น มันไม่ใช่ เลยต้องกลับมาควรดูว่าจะเรียกว่าส่วนร่วมหรืออะไร แต่คือภาพรวมโดยรวมเป็นอย่างไร และก็กลับมาอีก ผมเห็นด้วยเลยว่าการลงทุนคือหัวใจสำคัญที่จะผลักดันอย่างอื่น แต่ในที่สุดที่สำคัญคือถามว่าเราแคร์การลงทุนเพราะอะไร หรือเราแคร์เรื่องเศรษฐกิจการเติบโตของเศรษฐกิจเพราะอะไร

จริงๆ เราแคร์เพราะเหตุผลเดียวคือเราคิดว่ามันจะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น เป็นตัวชี้วัดที่ at the end of the day เป็นสิ่งที่เราต้องแคร์ที่สุด

สมมติเราได้เม็ดเงินลงทุนมาแต่มันลงทุนในอุตสาหกรรมที่การจ้างงานน้อย การส่งผ่านไปยังค่าจ้างหรืออะไรมันไม่เยอะ เราอาจจะไม่ได้ตื่นเต้นเท่ากับการลงทุนในกลุ่มอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อแรงงาน ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้นจริงๆ เช่น ถ้าถามผม เรื่องเกี่ยวกับเกษตรในแง่ของคุณภาพในแง่ผลกระทบมันไม่เหมือนกัน

ดร.พิพัฒน์: เหมือนที่บอกไว้ตอนแรกว่าที่ต้องการลงทุนเพราะไปเพิ่มผลิตภาพ ให้การเติบโต ให้ทุกคนรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี แล้วปัญหาอีกอันของ EEC ไปอยู่ในจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวสูงสุดในประเทศอยู่แล้ว อาจจะมีประเด็น ขอไปในหัวข้อที่คุยกันเรื่องการลงทุนกำลังตกเทรนด์ มาคุยกันหน่อยว่าเทรนด์โลกคืออะไร เรามองเห็นแนวโน้มต่างๆ อะไรบ้าง ภาพการลงทุนในอนาคต มันปกติไหมว่าลดลงแบบนี้?

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ดร.เศรษฐพุฒิ: ผมว่าการลงทุนโลกมันจะไม่ฟื้นแรงเหมือนในอดีต เพราะว่าถ้าเราดูอันหนึ่งที่เห็นชัดเรื่องของการใช้สินทรัพย์ หรือ Asset Utilization มันเพิ่มขึ้นมาก เพราะว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ถามว่าคนต่อไปจะต้องการมีรถมากหรือไม่ ไม่ เขาก็ใช้ Uber คือรถคันเดียวจะให้บริการคนได้มากขึ้น คุณต้องการจะสร้างโรงแรมอะไรมากมายขึ้นหรือไม่ ก็มี Airbnb คือสินทรัพย์ที่มีอยู่มันจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในสินทรัพย์ใหม่มันน่าจะลดลงแบบยาวนาน เราจะคาดหวังว่าการลงทุนจะฟื้นกลับมาเร็วเหมือนเดิมคงไม่ และผมคิดว่าบ้านเราเจอปัญหาแนวโน้มแบบนี้ของโลกส่วนหนึ่ง อีกอย่างเราก็มีปัญหาที่มาซ้ำเติมด้วย ภาพออกมาก็ไม่ค่อยดี แต่หลายอย่างที่เราเจอเป็นเรื่องกระแสที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง

อีกอย่างที่เห็นชัดเรื่องซื้อมาขายไป เจอ e-commerce ตายเลยที่สหรัฐอเมริกา ซอมบี้มอล ห้างไม่มีคนเดินเลย ทุกอย่างย้ายไปออนไลน์ ของพวกนี้จะทำลายการลงทุนในหลายอุตสาหกรรม พูดได้เลย อุตสาหกรรมที่เคยลงทุนเยอะจะหายไป อีกอย่างที่เป็นห่วงคือมันดันเป็นของที่เราเหมือนกับเก่ง อย่างรถยนต์คืออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ก็ใหญ่ แต่ว่าอย่างไรแนวโน้มโลกที่ชัดเจนมากกว่ายานยนต์ไฟฟ้ามาแน่ ที่นั้นที่นี่ออกกฎหมายให้เลิกผลิตรถที่ใช้น้ำมัน แล้วยานยนต์ทั่วไปใช้ชิ้นส่วนเป็น 1,000 ชิ้น แต่ยานยนต์ไฟฟ้าหลัก 10 คิดดูสิห่วงโซ่การผลิตตรงนั้นมันจะถูกทำลาย จากเดิมมีทั้งอะไร ต่อไปเหลือแบตเตอรี่ ช่วงล่าง มอเตอร์ แล้วการซ่อมแซม อู่รถยนต์อะไรมันจะหมดเลย การลงทุนในหลายอุตสาหกรรมนอกจากรถยนต์หายไป

แล้วคำถามคือจะมีอะไรมาแทนตอนนี้มันมองยากมาก เพราะว่าจะคาดการณ์ว่าคนที่นั่งอยู่นี่ ข้าราชการในกระทรวงจะรู้เป็นไปไม่ได้หรอก คนที่อยู่ใจกลางศูนย์กลางยังไม่รู้เลยว่าอะไรจะมา แต่ว่าสิ่งที่เราต้องทำคืออะไร เราต้องสร้าง กลับมาที่ระบบนิเวศที่มันช่วยให้การเกิด แก่ เจ็บ ตายไปได้สะดวก ให้ตลาดปรับตัวได้ง่าย และให้รางวัลความสำเร็จ ลงโทษความล้มเหลวตามสมควร ไม่ใช่ไปให้รางวัลสัมปทานหรืออะไรที่เป็นอำนาจตลาด ถ้าแบบนี้โอกาสที่จะใช้โอกาสที่มีเข้ามาและสำเร็จได้สูงขึ้น แล้วผมว่ามันยังไม่ชัดเจนด้วยที่ทำให้คนไม่กล้าลงทุน ทุกคนก็รู้ว่าจะมีอะไรเปลี่ยน แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร ยังงงๆ อยู่

ดร.สมประวิณ: เห็นด้วยครับ เพราะชี้ประเด็นมาแล้วว่าในอนาคตการลงทุนมันมีเรื่องพวกนี้ sharing economy เรื่องโลกยุคใหม่มันคงบีบคั้นผลิตภาพจากสินทรัพย์ที่มีอยู่อะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่เกิดขึ้นผมคิดว่าความไม่แน่นอนมันเยอะมาก มันไม่มีทางรู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไร ผมอ่านรายงานหลายอันพบว่าตอนนี้ทุกคนยังมึนๆ อยู่ว่าอะไรจะมากันแน่ แล้วเทคโนโลยีมันมีการเกิดดับตลอดเวลา และที่สำคัญเราดันเป็นผู้ตามด้วย เราไม่ได้คิดเทคโนโลยีเอง สิ่งที่เอื้อได้ ไม่ว่าจะใครจะคิดอะไร จะเกิดดับอย่างไร ขอมีส่วนร่วมด้วย ดังนั้นการวางกลไกให้บ้านเรามีความยืดหยุ่นเรื่องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตโลกสำคัญ การชี้เป้าว่านี่คือสิ่งที่จะไป นี่คือสนามฟุตบอลมาเตะฟุตบอลกันมันไม่ได้ คุณทำสนามโล่งไปจะมาเล่นเบสบอล เล่นอะไรก็เรื่องของเขา เราไปออกแบบให้คนในโลกว่านี่คือโลกอนาคตจะต้องมา ผมว่าอันตรายมาก เราไม่มีทางรู้ นักลงทุนทุกวันนี้ต้นทางยังงงๆ อยู่ อย่างรถยนต์ทุกคนก็รู้ แต่ไม่แน่ใจว่าไฟฟ้าจะมาหรือไม่ ก็มาเริ่มตรงกลางก่อนเป็น hybrid มันไม่รู้จริงๆ แต่เราบอกว่าวันนี้เอาเลยมุ่งไปอย่างเดียวเกิดมันไม่มา

ดร.พิพัฒน์: มีคนบอกว่าสิ่งที่จำเป็นมากที่สุดก็คือ agility คือความสามารถในการเข้าใจสถานการณ์และปรับตัวสำคัญมากกว่าจะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะความไม่แน่นอนมันสูง

ดร.เศรษฐพุฒิ: ความพร้อม

ดร.สมประวิณ: ดังนั้น การที่จะช่วยให้การลงทุนเกิดขึ้นได้ในอนาคตน่าจะเป็นการออกแบบระบบนิเวศและระบบกลไกที่เอื้อให้นักลงทุนสนใจมากกว่า เจาะจงนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง

ดร.นริศ: ผมมองว่าการลงทุนไทยจะตกขบวนห่วงโซ่การผลิตโลกไป อันนี้ไม่ได้มองไกลแค่มองใกล้ๆ ว่าสินค้าที่คนทั่วโลกใช้ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต 3-4 ปีที่แล้วเวียดนามได้รับ FDI จากเกาหลีใต้ไปมาก ตอนนั้นคิดว่ามาที่ไทยเหมือนกันแต่ตอนนั้นเรามีความยุ่งยากทางการเมืองจึงไม่ได้ต้อนรับได้เต็มที่ไม่ปูพรมแดงเท่าไหร่เลยตกขบวนไป ตอนนี้เป็นส่งออกดี ถามว่าผู้บริโภคในโลกทำอะไร เราส่งออกดีส่งออกอะไร ยานยนต์คิดว่ายังทันอยู่ แต่ถ้าเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าไปดูว่าสูตรการส่งออกมันเป็นเครื่องปรับอากาศ พัดลม เครื่องซักผ้า ซึ่งมันอาจจะไม่ได้ทันสมัยผู้บริโภคยุคใหม่ระดับโลกเท่าไหร่

ดร.นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics)

ดร.พิพัฒน์: ตอนหลัง internet of things สั่งได้จากข้างนอก

ดร.นริศ: เรายังไปไม่ถึงตรงนั้นเลย คิดว่าเราแย่แล้ว แล้วยิ่งมาดูบริษัทที่ไม่ใช่รายใหญ่ แต่บริษัทกลางๆ บริษัทเล็กๆ ยอดขายต่ำกว่า 30 ล้านบาทไม่ต้องดูแทบไม่ได้ส่งออกนำเข้าเยอะ บริษัทกลางๆ ส่วนใหญ่เราส่งออกเสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องประดับ เป็นยอดส่งออกที่มากที่สุดของบริษัทรายกลาง รองลงมาเป็นอาหาร มีชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอะไหล่ และเกษตร หลัก 3-4 กลุ่มเรียกว่ามันไม่ได้รองรับกับตลาดใหม่ๆ เท่าไหร่ ตรงนี้เราจะไปอย่างไร ไม่ได้หมายว่าโครงสร้างนี้ไปไม่ได้ แต่โครงสร้างนี้จะเข้าไปอยู่ในสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างไร เครื่องประดับก็ขายใน e-commerce ได้ เทคโนโลยีอื่นๆ ที่เอาเข้ามาช่วยทำให้เราส่งไปได้ ตอนนี้เราเหมือนยังไม่รู้ว่าบริษัทกลางๆ เราส่งอะไร เลยพยายามคลี่ภาพมาดู บริษัทใหญ่ต้องเป็นผู้นำลงทุนอยู่แล้ว เพียงคิดว่าต้องดูการส่งผ่านมาที่บริษัทกลุ่มเล็กลงให้เศรษฐกิจกระจายตัวกว้างขึ้น

ดร.พิพัฒน์: นอกจากแนวโน้มของเทคโนโลยี ผมคิดว่าอันหนึ่งที่เป็นเรื่องโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่ช่วงสูงอายุ แรงงานกำลังลดลง จะกระทบการลงทุนหรือไม่?

ดร.เศรษฐพุฒิ: กระทบแน่นอนอยู่แล้ว ถามคำถามก็รู้คำตอบอยู่แล้ว อะไรที่ต้องอาศัยแรงงานก็จะไม่มา มันไม่ใช่แล้ว แต่คิดว่าที่น่าสนใจ ตอนนี้พูดไปแล้วภาพจะลบเกินไป แต่ที่น่าสนใจมองในแง่โอกาสบ้าง ตอนแรกตั้งโจทย์ว่าตกขบวนหรือไม่ ฟังดูก็เหมือนตกขบวน แต่มองอีกมุมที่เป็นโอกาสว่าตกขบวน แต่ถ้าเรายังไม่รู้ว่าจะไปไหน รีบขึ้นรถไฟอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ได้อาจจะไปที่ที่ผิด เก็บทางเลือกไว้ แล้วช่วงนี้ความไม่แน่นอนในโลกสูงมาก การที่เราจะรีบขึ้นขบวนอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะ

ถ้ามองในแง่ของของใหม่ๆ ข้อดีคือคนที่ใหญ่อยู่แล้วจะไม่ชอบทำ เพราะไปทำลายตัวเอง การที่บางทีเราไม่ได้มาแล้วเก่งตรงนั้นตรงนี้ ไม่มีต้นทุนตรงนี้ มันอาจจะเป็นโอกาสจากการตกขบวน แต่กลับมาคำถามเรื่องสังคมสูงอายุ มองเป็นโอกาสอีกว่าการที่เราเป็นประเทศที่แก่แทบจะเร็วที่สุดในโลก แต่ถ้าเราจัดการตรงนี้ได้ดีมันก็เป็นโอกาสเช่นเรื่องสาธารณสุข เรื่องการรักษาพยาบาลที่เราทำได้ดีอยู่แล้ว เรื่องอาหารที่มันดีต่อสุขภาพสำหรับคนที่แก่ที่กินแล้วดี บ้านเรามีความสามารถได้อาหารอยู่แล้ว เราเก่งเรื่องนี้อยู่แล้วทำอย่างไรให้ต่อยอดออกไป ให้รองรับกับปัญหาที่เราจะเจอ แต่การที่เราแก้ปัญหานี้ได้ก็จะกลายเป็นผู้นำของโลก ของ healthy aging ได้

พูดก็ดูวาดฝัน แต่เทียบกับเราบอกว่าเราจะเก่งเรื่องไฮเทคอะไร ความเป็นจริงมันยากมาก ตอนหลังพูดกันเยอะ Big Data หรือ AI แค่จำนวนคนที่ทำ Data Scientist ในไทยแทบจะไม่มีเลย หันไปจีนบริษัทเดียวจ้างมากกว่าไทยมีทั้งประเทศอีก อ่านบทความบอกว่าในโลกคนที่เก่งจริงๆ ที่แก้ปัญหาด้านนี้จริงมีแค่ 10,000 คนที่คิดว่าทำเรื่องนี้ได้ จบปริญญาเอกใหม่ๆ ได้เงินเดือน 400,000-500,000 ดอลลาร์สหรัฐ เราจะจ้างได้หรือไม่ แต่ว่าของแบบนี้ผมไม่เถียงว่าสำคัญและจะเป็นแนวโน้มที่มาแรงมากและน่าเป็นห่วง แต่เรารู้ว่าในพื้นที่เราคงแข่งลำบาก มันต้องมาของแบบนี้ที่เรามีพื้นฐานระดับหนึ่งและต่อยอดได้ ผมว่าเรื่องพวกนี้น่าจะเป็นอะไรที่พอลุ้น

สนับสนุนเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 3 โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร