ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์เผยจีดีพี Q3/60 โต 4.3% สูงสุดในรอบ 4 ปีครึ่ง อานิสงส์การค้าโลกฟื้น – ชี้ภาคอุตฯกำลังส่งผ่านสู่ผู้ผลิตรายย่อย

สภาพัฒน์เผยจีดีพี Q3/60 โต 4.3% สูงสุดในรอบ 4 ปีครึ่ง อานิสงส์การค้าโลกฟื้น – ชี้ภาคอุตฯกำลังส่งผ่านสู่ผู้ผลิตรายย่อย

20 พฤศจิกายน 2017


ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ (กลาง)

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 เติบโต 4.3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.8% ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการเติบโตที่สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาสหรือ 4 ปีครึ่ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคส่งออกที่เติบโตได้ 12.5% เป็นการเติบโตขึ้นของทั้งปริมาณและราคา โดยดัชนีปริมาณการส่งออกเติบโตขึ้น 8.7% ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าส่งออกเติบโตขึ้น 3.5% และเป็นการเติบโตขึ้นในทุกหมวดสินค้า ยกเว้นรถยนต์นั่ง และหากดูไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคพบว่าต่างได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจการค้าโลกเช่นเดียวกับประเทศไทย

ขณะเดียวกัน การผลิตภาคอุตสาหกรรมเติบโตสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาสเช่นเดียวกันที่ระดับ 4.3% โดยมีดัชนีผลผลิตเติบโตขึ้น 4% แบ่งเป็นกลุ่มสัดส่วนส่งออกระหว่าง 0-60% ขยายตัว 8.6%, กลุ่มสัดส่วนส่งออกน้อยกว่า 30% ขยายตัว 2.6% และกลุ่มสัดส่วนส่งออกมากกว่า 60% ลดลงเล็กน้อย 0.4% ขณะที่กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 62% จาก 58.5% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ด้านการลงทุนของเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่องในระดับ 3% มา 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยเป็นการเติบโตของการลงทุนในเครื่องจักร 4.3% สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 4 ไตรมาสและการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 ไตรมาส สะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างเต็มที่และคาดว่าจะทยอยกระจายตัวในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในการผลิตภาคเกษตรแม้ว่าจะยังคงขยายตัวอยู่ที่ระดับ 9.9% ซึ่งมีแรงหนุนด้วยปัจจัยฐานต่ำจากภัยแล้งที่รุนแรงในปีก่อนหน้า ประกอบกับผลผลิตที่กลับมาเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ และคาดว่าในปีถัดไปฐานจะปรับกลับสู่ระดับปกติ โดยในไตรมาสนี้ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น 11.9% ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลง 12.9% ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรในไตรมาสที่ 3 ลดลง 2.6%

ในด้านการบริโภคยังคงขยายตัวที่ระดับ 3.1% และมากกว่า 3% มาติดต่อกัน 3 ไตรมาส โดยสินค้าคงทนเติบโตขึ้น 7% ขณะที่สินค้ากึ่งคงทนและสินค้าไม่คงทนเติบโตที่ระดับ 3.5% และ 3% ตามลำดับ สะท้อนถึงความมั่นใจของผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นจากที่ก่อนหน้านี้หดหายไป

“ถ้าดูการกระจายตัวช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราจะเห็นเฉพาะภาครัฐและท่องเที่ยว แต่ตอนนี้เราจะเห็นการลงทุนของเอกชน ส่งออก รวมไปถึงการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งเห็นว่ากระจายตัวไปยังทุกๆ หมวดสินค้าด้วย และในภาคอุตสาหกรรมจะเห็นว่าการผลิตเริ่มกระจายตัวลงไปยังผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ส่วนภาคเกษตรแม้ว่ารายได้จะลดลงในไตรมาสนี้เนื่องจากผลผลิตที่ออกมามาก แต่โดยรวม 9 เดือนแรกถือว่ายังเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยไตรมาสแรกและไตรมาส 2 ขยายตัวไปได้ 16.5% และ 15.9% สะท้อนไปที่การบริโภคก็เลยยังเห็นว่ายังเพิ่มขึ้นอยู่ เรียกว่า 3 ปีที่ผ่านมาทุกคนก็กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ แต่อาจจะต้องใช้ระเวลาสักพักให้เติบโตได้มากกว่า 4% สักพักจะค่อยๆ กระจายไปภาคส่วนต่างๆ ขณะที่ภาคเกษตกรต้องยอมรับว่าการส่งผ่านอาจจะยากกว่าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ภาคเกษตรต้องปรับปรุงวิธีการผลิตต่างๆ ที่ดีขึ้นด้วย” ดร.ปรเมธี กล่าว

ทั้งนี้ สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัว 3.9% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการเมื่อ 21 สิงหาคม 2560 ที่ระดับ 3.7% โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 8.6% การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว 3.2% และ 2.0% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7% ซึ่งทยอยกลับสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-4% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 10.4% ของจีดีพี

ขณะที่ในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัว 3.6-4.6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของเศรษฐกิจโลกยังเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคส่งออกอย่างต่อเนื่อง 2) แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น 3) การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน 4) สาขาเศรษฐกิจสำคัญมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องจากปีก่อน และ 5) การปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจในขณะที่มาตรการดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 5.0% การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว 3.1% และ 5.5% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.9-1.9% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.1% ของจีดีพี

สำหรับปัจจัยสนับสนุนในระยะข้างหน้าประกอบด้วย

    1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวและกลับมาสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
    2) แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญๆ และกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนที่เพิ่มขึ้น
    3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน
    4) สาขาเศรษฐกิจสำคัญๆ ที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2560 ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง
    5) การปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้าประกอบด้วย 1) การลดลงของแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของการผลิตภาคเกษตร 2) ความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก และ 3) ราคาสินค้าในตลาดโลก อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ

ทั้งนี้ ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค รัฐบาลควรให้ความสนใจกับ

    1) การสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตนอกภาคเกษตรเพื่อชดเชยการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากภาคเกษตรที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงสู่การขยายตัวปกติ
    2) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวตามเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง
    3) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และการสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก ในด้านการผลิตสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร
    4) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน

รายละเอียดเพิ่มเติม

EIC ปรับจีดีพีเป็น 3.8% – ชี้ส่งออกฟื้นปลุกลงทุนเอกชน

ด้านศูนย์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า จากการประกาศตัวเลขจีดีพีของสภาพัฒน์ EIC มองว่า

การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงในรูปเงินบาทในไตรมาส 3 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 19 ไตรมาส ที่ 8.1% YOY (เปรียบเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน) จากการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า และเติบโตได้ดีในเกือบทุกตลาดส่งออก ส่งผลให้ใน 3 ไตรมาสแรกของปีเติบโตกว่า 5.3% YOY ทั้งนี้ การส่งออกเติบโตได้ดีทั้งในด้านราคาและปริมาณ โดยราคาน้ำมันดิบโลกที่ยังขยายตัวในไตรมาส 3 สนับสนุนให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันเติบโตสูงถึง 25% YOY นอกจากนี้ ภาคการผลิตทั่วโลกที่เติบโตดีเกินคาดอย่างต่อเนื่องทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมหลักจากไทย โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เติบโตได้กว่า 11% YOY และ 4% YOY ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวก็เป็นอีกแรงสนับสนุนให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกภาคบริการขยายตัวกว่า 4.9% YOY จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในไตรมาส 3 ที่เติบโตกว่า 11.0% YOY เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียง 0.1% YOY ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เริ่มมีการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย

การบริโภคภาคเอกชนเติบโตอย่างช้าๆ โดยพึ่งพาการใช้จ่ายผู้มีรายได้สูง โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 3.1%YOY เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญยังมาจากการบริโภคสินค้าคงทน โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ที่เติบโตสูงต่อเนื่องอยู่ที่ 11.6% YOY ซึ่งสะท้อนถึงการใช้จ่ายของผู้มีรายได้สูง ขณะที่การบริโภคสินค้าไม่คงทน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม กลับมาขยายตัวได้สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย แต่การบริโภคสินค้ากึ่งคงทน เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่ม ชะลอลง

การส่งออกฟื้นปลุกลงทุนเอกชน ในขณะที่การลงทุนภาครัฐยังหดตัว การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 2.9% YOY จากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวได้ 4.3% YOY เป็นหลัก ซึ่งเป็นการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกสินค้าที่เติบโต ขณะที่การลงทุนในสิ่งก่อสร้างหดตัว อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐยังคงหดตัวที่ 2.6% YOY โดยลดลงทั้งการลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเนื่องจากไม่มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เพิ่มเติมและบางโครงการใกล้สิ้นสุด

อีไอซีปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2017 เติบโต 3.8% จากเดิมที่ 3.6% ตามเศรษฐกิจโลกที่เติบโตได้ดีเกินคาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยหนุนการส่งออกสินค้าให้เติบโตได้ต่อในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจคู่ค้าหลักทั้ง สหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ที่มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2017 ตลอดจนปี 2018 จะช่วยเสริมความเชื่อมั่นด้านการค้า การลงทุน การบริโภค และส่งผลต่อเนื่องถึงความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยให้เติบโตได้ต่อ อย่างไรก็ดี การเติบโตของภาคการส่งออกในระยะต่อไปอาจถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำและราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทที่มีแนวโน้มหดตัว อีกทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ส่งออก โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์

การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปัจจัยลบที่คลี่คลายและการสนับสนุนจากภาครัฐ แม้แนวโน้มรายได้ยังติดขัด การบริโภคในประเทศกลับมาฟื้นตัวตามบรรยากาศการใช้จ่ายที่สดใสขึ้นหลังจากที่ผ่านพ้นช่วงอุทกภัย รวมถึงกิจกรรมการบริโภคต่างๆ ก็กลับมาดำเนินการได้หลังพ้นช่วงไว้อาลัย นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ทั้งการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านช่องทางบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการช็อปช่วยชาติในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของภาคครัวเรือนในประเทศยังค่อนข้างอ่อนแอทั้งจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำและจากตลาดแรงงานที่ซบเซา เห็นได้จากตัวเลขการจ้างงานในช่วง 9 เดือนแรกของปียังคงหดตัวลง 0.7% YOY โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตลดลงถึง 3.2% YOY แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวของการส่งออกยังไม่ได้ส่งผ่านไปสู่การจ้างงานในอุตสาหกรรมต่างๆ มากนัก

อีไอซีมองเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่องในปี 2018 เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวเติบโตได้ ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่จะเริ่มตามมาเพื่อรองรับอุปสงค์ที่ขยายตัว รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีของบริษัทขนาดใหญ่และของธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการลงทุนภาคเอกชนของไทยระยะต่อไป ในภาพรวม หลายปัจจัยในเศรษฐกิจมีแรงส่งที่ชัดเจนขึ้น ยกเว้นกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ยังคงอ่อนแอและยังไม่เห็นสัญญาณการเติบโตที่ชัดเจน ทั้งนี้ อีไอซีประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2018 อยู่ในช่วง 3.7-3.9% YOY