ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์ฯ ชี้ เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว จี้ 5 เรื่องด่วนที่ต้องทำในปีหน้า – แจงข้อมูลส่งออกทำไมต้อง “white lie”

สภาพัฒน์ฯ ชี้ เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว จี้ 5 เรื่องด่วนที่ต้องทำในปีหน้า – แจงข้อมูลส่งออกทำไมต้อง “white lie”

20 พฤศจิกายน 2012


สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์ฯ” แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ “จีดีพี” ไตรมาส 3 ปี 2555 และแนวโน้มปี 2555-2556 ปรากฏว่า จีดีพีไตรมาส 3 ปี 2555 ขยายตัว 3% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัว 1.2% รวม 9 เดือนแรกของปีนี้ จีดีพีขยายตัว 2.6% และทั้งปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 5.5% ถือเป็นการฟื้นตัวหลังประสบปัญหาน้ำท่วมปี 2554 ส่วนจีดีพีปี 2556 คาดว่าจะขยายตัว 4.5-5.5%

โดยรายละเอียดตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2555 และ 2556 มีสาระสำคัญดังนี้

“บริโภค-ลงทุน” ดันจีดีพี Q3 โต 3%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ แถลงว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาส 3 มาจากการบริโภคภายในประเทศ หรือค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนของประชาชน กับการลงทุนในประเทศเป็นสำคัญ

โดยการบริโภคภาคครัวเรือน หรือการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึง 6% ซึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการภาครัฐกระตุ้นการซื้อสินค้าคงทน เช่น การคืนภาษีรถยนต์คันแรก ส่วนการบริโภคภาครัฐขยายตัว 9% เป็นผลจากการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ

ขณะที่การลงทุนก็เร่งตัวขึ้นขยายตัว 15.5% โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 16.2% ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์โรงงานที่ยังติดตั้งไม่เสร็จจากปัญหาน้ำท่วมปี 2554 และการลงทุนในภาคก่อสร้างที่ขยายตัวมาตั้งแต่ปี 2553-2554 และต่อเนื่องมาปี 2555 โดยส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างในอสังหาริมทรัพย์

นอกจากการส่งเสริมการลงทุนหลังเกิดน้ำท่วม ยังมีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น โดย 9 เดือนแรก ตัวเลขการขอส่งเสริมการลงทุนมีจำนวน 804,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 97% ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนเพื่อขยายอุตสาหกรรมมีต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัว 13.2% ซึ่งสูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่ภาคการส่งออก ไตรมาส 3 มีมูลค่า 59,280 ล้านดอลลาร์ หรือหดตัว 3% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอ โดยเฉพาะวิกฤติยุโรปที่กระทบเศรษฐกิจสหรัฐ ญี่ปุ่น อาเซียน ทำให้สินค้าในห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบในทางลดลง

“การขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 3 มาจากปัจจัยภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากกว่านี้ถ้าการส่งออกไม่ติดลบ” นายอาคมกล่าว

สำหรับช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ สภาพัฒน์ฯ คาดว่าจีดีพีไตรมาส 4 จะเพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่าปกติเป็นเลขสองหลัก เพราะปีที่แล้วเกิดภาวะน้ำท่วมช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. ทำให้จีดีพีช่วง 3 เดือน ลดลงไป 8.9% เพราะฉะนั้น ไตรมาส 4 ของปีนี้จะเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สศช.
ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/home/media

ขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมทั้งปี 2555 สภาพัฒน์ฯ คาดว่าจะขยายตัวได้ 5.5% และแนวโน้มจีดีพีปี 2556 จะขยายตัว 4.5-5.5% และในปีหน้าการส่งออกน่าจะฟื้นตัวเพิ่มขึ้นเป็น 12.2% จากปี 2555 ที่คาดว่าจะขยายตัว 5.5%

แจง 4 ปัจจัยส่งออกปีนี้หลุดเป้า 15%

ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าว่าจะขยายตัว 15% แต่สุดท้ายไม่เป็นไปตามคาดการณ์ จนเกิดกรณีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องสารภาพว่า “white lie” ล่าสุด สภาพัฒน์ฯได้อธิบายข้อเท็จจริงว่า สาเหตุที่การส่งออกพลาดเป้า 15% ไปค่อนข้างมาก หรือหายไปถึง 8% จนต้องปรับคาดการณ์ส่งออกทั้งปีลดลงเหลือเพียง 5.5% เป็นผลมาจาก 4 ปัจจัยคือ

1. ประมาณการราคาส่งออกของตลาดโลกเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 4-5% แต่ปีนี้ราคาส่งออกในตลาดโลกเพิ่มขึ้นแค่ 0.1% จึงส่งผลให้การส่งออกหายไป 5%

2. ภาวะเศรษฐกิจโลก และวิกฤติหนี้สาธารณะของกรีซ ทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัว จึงทำให้การส่งออกหายไป 1%

3. ภาคการผลิตที่ถูกกระทบจากภาวะน้ำท่วมปี 2554 เดิมคาดว่าครึ่งปีแรกจะกลับมาผลิตได้ 100% แต่การฟื้นตัวล่าช้า ทำให้กำลังการผลิตไม่เต็มที่ จึงทำให้การส่งออกหายไปอีก 1.5%

4. การส่งออกข้าวสุทธิ หรือการส่งออกจริงเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนลดลง 38% เป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 3% ของการส่งออก จึงทำให้การส่งออกหายไป 0.4%

“ทั้ง 4 ปัจจัยทำให้เป้าหมายการส่งออกต่ำกว่าประมาณถึง 8%” นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าว

5 เรื่องเร่งด่วน กระตุ้นจีดีพีปีหน้า

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2556 สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 4.5-5.5% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.5-3.5% โดยปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจปีหน้าที่สำคัญ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อุปสงค์ในประเทศทั้งการลงทุนและการบริโภค การเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ในอีก 70 จังหวัดทั่วประเทศ และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ

เพราะฉะนั้นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี 2555 และแนวโน้มปี 2556 นายอาคมกล่าวว่า ควรให้ความสำคัญกับการดำเนินมาตรการเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพ โดยมี 5 เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการดังนี้

เรื่องแรก “เร่งการส่งออก” ปกติการส่งออกไทยจะขยายตัว 15-20% แต่ทั้งปี 2555 คาดว่าจะโต 5.5% และปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 12.2% ดังนั้นต้องเร่งขยายตลาดสินค้า โดยใช้ตลาดที่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)

เรื่องที่สอง “เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ” โดยเฉพาะงบลงทุนที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว ซึ่งงบประมาณปี 2556 รัฐบาลก็มีมาตรการที่จะเร่งรัดให้ส่วนราชการดำเนินการจ่ายงบประมาณตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ โดยเม็ดเงินที่รัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่ายมีดังนี้

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2556 จำนวน 2.4 ล้านล้านบาท

งบประมาณเหลื่อมปี จำนวน 225,000 ล้านบาท

วงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 557,000 ล้านบาท

งบประมาณเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ วงเงิน 350,000 ล้านบาท

งบประมาณภายใต้แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ มูลค่าไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท

เรื่องที่สาม “ติดตามและเตรียมการเพื่อรองรับแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท” โดยใช้จังหวะเงินบาทปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หาจังหวะโอกาสไปลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในอาเซียนที่มีศักยภาพ และการดำเนินนโยบายการเงินต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ

เรื่องที่สี่ “ดำเนินการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน”ตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

เรื่องที่ห้า “การปรับปรุงกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุน” เพื่อให้สามารถได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า การเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงาน ภายใต้กรอบข้อตกลงการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2558 ได้อย่างเต็มที่

เศรษฐกิจเพิ่งฟื้น ดอกเบี้ยต่ำยังจำเป็น

การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นหนึ่งในเรื่องเร่งด่วนของการบริหารเศรษฐกิจปีหน้าที่สภาพัฒน์ฯ แสดงความกังวลเป็นห่วงว่า ทิศทางนโยบายการเงินจะเข้มงวดขึ้นเมื่อเห็นอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้สามารถเติบโตได้ 5.5% จึงส่งสัญญาณเตือนว่า “การดำเนินนโยบายการเงินต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ”

นายอาคมอธิบายประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า ธปท. ต้องพิจารณาในเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจของไทยอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่เราเริ่มฟื้นตัว แม้ว่าปี 2555 จะเห็นเศรษฐกิจขยายตัว 5.5% แต่ในปี 2554 มีปัญหาน้ำท่วม ดังนั้นจึงเป็นปีแรกที่เพิ่งฟื้นตัว

เพราะฉะนั้น ที่จีดีพีปีนี้ขยายตัว 5.5% ถ้ามองว่าเป็นอัตราปกติ การดำเนินนโยบายต่างๆ ต้องเข้มงวดขึ้นมาทันที ซึ่งก็คงไม่ใช่

“การฟื้นตัวในอัตราการขยายตัวระดับไหนที่เหมาะสมกับประเทศ ถ้าดูจากระยะปานกลาง 4-5 ปี อัตราที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 5-6% ดังนั้น ถ้าบอกว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.5-5.5% หมายความว่ายังมีช่องว่างที่เราสามารถเติบโตได้ไปอีกประมาณ 1% ” เลขาสภาพัฒน์ฯ กล่าว

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะมาจากการขยายอัตรากำลังการผลิต การขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ ซึ่งมีความจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพราะการลงทุนของไทยยังต่ำกว่าปกติตั้งแต่เกิดวิกฤติปี 2540 โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิเสร็จสิ้นก็ไม่มีโครงการใหญ่ๆ อีกเลย จึงจำเป็นต้องส่งเสริมการลงทุนต่อเนื่อง ส่วนการบริโภคในระยะสั้นอาจจะดู “ร้อนแรง” อยู่บ้าง แต่เป็นผลจากการมีมาตรการเรื่องคืนภาษีรถยนต์คันแรก

เพราะฉะนั้น ถ้ามั่นใจว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวโดยอัตราปกติ คือ 5-6% ก็น่าจะมีมาตรการการเงินที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

“ถ้าคิดว่าจีดีพีโต 5.5% ซึ่งสูงมาก คือเศรษฐกิจร้อนแรง นโยบายต่างๆ ต้องเข้มงวดขึ้นมา ก็ไมใช่เวลานี้ ไม่ได้ฟันธงว่าดอกเบี้ยต้องเป็นอย่างไร คงต้องตีความเอาเอง” นายอาคมกล่าว

ขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ต้นทุนเพิ่มไม่มาก

สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท อีก 70 จังหวัดทั่วประเทศ ช่วงต้นปีหน้า นายอาคมมั่นใจว่าจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตน้อยกว่าปี 2555 เนื่องจากเป็นการทยอยปรับขึ้น โดยข้อมูล ณ มี.ค. 2555 ค่าแรงขั้นต่ำในต่างจังหวัดอยู่ที่ 175 บาทต่อวัน และเมื่อ 1 เม.ย. 2555 ปรับขึ้นเป็น 244 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 35.9% และต้นปี 2556 จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 23.5%

“เพราะฉะนั้น แรงกดดันที่จะมีผลต่อต้นทุนในปีหน้าจะมีน้อยกว่าปีนี้ แต่ยอมรับว่าอาจมีผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) แต่เรื่องนี้รัฐบาลได้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบดังกล่าว โดยมีมาตรการสินเชื่อและกองทุนช่วยเหลือทางการเงินเพื่อให้เอสเอ็มอีปรับตัว” นายอาคมกล่าว

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแถลงข่าวเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ฯ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมมาสที่ 3/2555
ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2555-2556