ThaiPublica > คอลัมน์ > “บุพเพสันนิวาส” ก้าวข้ามกระแสสู่เศรษฐกิจบนโครงสร้างอุตสาหกรรมมรดกทางวัฒนธรรม

“บุพเพสันนิวาส” ก้าวข้ามกระแสสู่เศรษฐกิจบนโครงสร้างอุตสาหกรรมมรดกทางวัฒนธรรม

7 เมษายน 2018


พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/f/fd/Screenshot_3834.png

กระแสละครบุพเพสันนิวาสขณะนี้ ได้ถูกนำมาวิจารณ์ในเชิงการกระตุ้นการท่องเที่ยวแหล่งโบราณสถาน การสร้างกระแสความสนใจข้อมูลทางประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งแนวคิดว่าคนไทยนั้นโหยหาอดีตเพื่อแสวงหามายาคติในความมั่นคง บทความนี้ผู้เขียนอยากจะเน้น “อนาคตของกระแสอดีต” ก่อนที่ฉากละครสุดท้ายจะฉาย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะทำอย่างไรไม่ให้ปิดฉากไปกับละคร??

ใช้ประโยชน์ของมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อมองให้เห็นมิติที่ลึกกว่า “การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์”

ปัจจุบันนี้เมื่อกล่าวถึงโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ในเชิงนโยบายรัฐ เรื่องการท่องเที่ยวมักเป็นสิ่งแรกที่งบประมาณรัฐสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานการท่องเที่ยวหรือการอำนวยความสะดวกทางด้านคมนาคมเพื่อให้เข้าถึงแหล่งประวัติศาสตร์ นโยบายเหล่านี้เน้นดึงดูดการท่องเที่ยวจากบุคคลภายนอกบริเวณแหล่งประวัติศาสตร์ ทำให้พื้นที่เหล่านี้เหลือเพียงมิติการขายจากภายในสู่ภายนอกแทนที่จะเป็นระบบเศรษฐกิจครบวงจรที่จะสามารถขับเคลื่อนวิถีของคนในท้องถิ่นให้ก้าวไปพร้อมกับการนำมรดกทางประวัติศาสตร์ของตนมาใช้ประโยชน์

โบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมมีสถานะไม่ต่างอะไรจากมรดกทางธรรมชาติ หากไม่มีการลงทุนเพื่อพัฒนาให้ยั่งยืนหรือโดนใช้ไปอย่างไม่มีการพัฒนาและปรับปรุง ทรัพยากรทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เหล่านี้ก็จะหายไป ยิ่งเป็นมรดกที่ยังมีชีวิต (living heritage) และ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (intangible heritage) มักเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในการสร้างกลไกการดูแลและรักษา เพราะหากเน้นเพียงการขายหรือมีนโยบายการพัฒนาที่ไม่ถูกต้อง ทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ก็จะหมดไปกับขั้นตอนการพัฒนาที่ขาดการไตร่ตรองในเรื่องที่เกี่ยวกับปัจจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

การพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมจึงสมควรเป็นไปในทิศทางที่เน้นการ “ปรับโครงสร้าง” ให้เข้มแข็งมากกว่าการไปสนับสนุนขั้นตอนซึ่งเป็นผลพลอยได้จากสิ่งที่มีอยู่ เช่น การนำเงินมาเพื่อทำละคร หรือการลงทุนจัดงานนิทรรศการและกิจกรรมชั่วคราว

หัวใจของการพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืนนั้นคือ “การศึกษา” (education) ความสนุกของละครเรื่องบุพเพสันนิวาสและละครย้อนยุคอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมคือการสร้างมายาคติของความสมจริงซึ่งผู้ชมในยุคสมัยใหม่สามารถเข้าถึงได้หรือมีจุดขายซึ่งโยงเข้าหาตนเอง เช่น ตัวละครที่มีนิสัยและมุมมองสมัยใหม่แต่เข้าไปเรียนรู้และซึมซับวัฒนธรรมและศิลปะในอดีต ในขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดสังคมในอดีตให้สมจริงโดยการเน้นมิติที่หลากหลายทั้งด้านดีและด้านเสียของธรรมเนียมประเพณีและประวัติศาสตร์

การที่ผู้เขียนนิยายและผู้สร้างละครรวมถึงคนเขียนบทจะเก็บรายละเอียดเหล่านี้ได้ต้องมีการค้นคว้าข้อมูลบนพื้นฐานเรื่องราวที่มีโครงเรื่องอยู่แล้ว บางเรื่องการเปลี่ยนจากนิยายให้กลายเป็นการแสดงในละครเป็นเรื่องยาก และอาจทำให้เนื้อหาตกหล่นหรือน่าเบื่อสำหรับคนดู

ดังนั้น การแข่งขันโดยใช้ผู้บริโภคตัดสินเนื้อเรื่องโดยให้เป็นไปตามกลไกของตลาดและไม่มีการอุ้มชูโดยภาครัฐ (state subsidies) แต่เน้นเพิ่มศักยภาพให้ผู้เขียนมีทรัพยากรมรดกทางวัฒนธรรมที่สามารถหยิบมาเป็นแรงบันดาลใจ จึงเป็นนโยบายที่ดีที่สุดสำหรับการขับเคลื่อนให้เกิดละครและภาพยนตร์ทางประวัติศาสตร์ที่ติดกระแสดั่งบุพเพสันนิวาส ซึ่งเน้นประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ที่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีรองรับมากมาย ทำให้สามารถผูกเรื่องราวและสร้างโลกของตัวละครได้สมจริง

การศึกษากับการพัฒนา

เนื่องจากอุตสาหกรรมมรดกทางวัฒนธรรมแบบยั่งยืนนั้นมีเอกลักษณ์ตรงที่เป็นอุตสาหกรรมที่อาศัยฝีมือและความรู้ (skill sector) ดังนั้น ขบวนการเพิ่มจำนวนและคุณภาพกับมูลค่าจึงต้องอาศัยการพัฒนาการศึกษาเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนและเกิดการขยายตัวของวัฒนธรรมอย่างเข้มแข็ง (ภาพที่ 1 คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย) การศึกษาที่เกิดจากมรดกทางวัฒนธรรมนั้นมองได้แบบคร่าวๆ สองระดับ คือ

1. การศึกษาในเชิงลึกสำหรับการพัฒนาแนวคิดและการบริหารจัดการ (Theoretical and Management) เราจะพบวิชาการบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมได้จาก วิชาในสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (social science and humanities) เช่น โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และ ภูมิศาสตร์ ฯลฯ การสนับสนุนวิชาเหล่านี้ทำให้มีผลผลิตออกมาเป็นงานบริการทางวิชาการ เช่น งานวิจัยและสื่อพิมพ์ (publications) งานบริหารกับการให้คำปรึกษาบนพื้นฐานข้อมูลงานวิจัย (consultations) นอกจากนี้ งานผลิตทางวิชาการยังกลับไปเสริมความเข้มแข็งให้ระบบการศึกษาอีกด้วย และส่งผลกระทบต่อปัจจัยการศึกษาที่ 2

2. การศึกษาสายอาชีวะ (Vocational) เช่น งานช่าง งานทอผ้า งานศิลปะ โดยสายอาชีวะนี้เป็นเหมือนโรงงานที่จะขับเคลื่อนทุนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ (tangible heritage) โดยทำงานในแง่การผลิตและให้ข้อมูลใหม่ๆ ต่องานวิชาการผ่านการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นจากการผลิตงานทางหัตถกรรม (craft) และการแสดง เช่น การทอผ้า ทักษะการรำ การสร้างฉาก ฯลฯ การผลิตสิ่งเหล่านี้ให้ยั่งยืนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่ออุปสงค์ของสินค้าเกิดจากการเพิ่มอุปทานของผู้บริโภคท้องถิ่น (local consumption) ทำให้ตลาดการใช้งานหัตถกรรมมีการกระจายตัวการผลิตและการบริโภคเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ

ดังนั้น การต่อยอด “ทุน” ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสามารถขยายส่วนด้วยการสร้างนวัตกรรมผ่านผลผลิตในเชิงอุตสาหกรรมการบริการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และวารสารต่างๆ ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การผลิตงานศิลปะและงานหัตถกรรม รวมไปถึงงานบริการวิชาการต่างๆ ที่มีผลต่อการให้คำปรึกษาสำหรับการพัฒนาโครงสร้างโดยองค์รวม (consultations)

ท้ายที่สุดแล้วการพัฒนาการศึกษาและการผลิตที่เน้นไปในเชิงมรดกทางวัฒนธรรมจะส่งผลกระทบต่อการวางแผนและบริหารผังเมือง (urban planning and management) เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมซึ่งต้องเน้นแนวทางการสร้างเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์และความรู้ (creative and knowledge economy) มากกว่าอุตสาหกรรมแบบโรงงาน

จุดเด่นของการพัฒนาแบบนี้คือการให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าผลผลิต (value added) โดยไม่ต้องสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นการเน้นการผลิตงานหัตถกรรม (craft-based economy) ที่เหมาะกับประเทศที่มีประชากรน้อยและค่าแรงสูง เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคที่มีโครงสร้างซึ่งเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีทรัพยากรจำนวนมากและมีทุนทรัพย์สำหรับลงทุนเพื่อขยายตัว สำหรับประเทศที่เล็กกว่า สามารถปรับโครงสร้างไม่ให้เสียเปรียบโดยเน้นการผลิตในเชิงคุณภาพ การพัฒนาบนพื้นฐานความรู้และความสามารถในทางศิลปะและเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยงานฝีมือละเอียด เช่น งานหัตถกรรม

นอกจากนี้ การเน้นการพัฒนาในเชิงหัตถกรรมที่ผสมผสานวิวัฒนาการดั้งเดิมเข้ากับความสมัยใหม่ยังเป็นแนวทางในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (environmental preservation) ผ่านการใช้ปัจจัยทางการผลิตที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งในทางกลับกัน สิ่งแวดล้อมก็มีบทบาทสำคัญต่อความยั่งยืนในการพัฒนาผังเมืองภายใต้กรอบเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์และความรู้ กล่าวได้ว่า เมืองมรดก (heritage city) หรือถนนสายศิลปะนั้นจะไม่น่าอยู่หากเมืองไม่ได้รับการดูแลรักษาสภาพอากาศและความงดงามของธรรมชาติไว้คู่กับโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยว

ที่มาภาพ : http://www.ch3thailand.com/news/scoop/11166

จากร่องรอยทางประวัติศาสตร์แปรเปลี่ยนเป็นปัจจุบัน

การนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้ได้แบบยั่งยืนมีความยากอยู่ที่การบูรณาการอัตลักษณ์และการใช้งานมรดกทางวัฒนธรรมให้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตสมัยใหม่ (modernity) หลายๆ ครั้งคือการแฝงและสร้างมายาคติในเชิงเอกลักษณ์ของ “ชาติ” หรือ “วัฒนธรรม” เข้าไปในลักษณะการออกแบบสินค้าสมัยใหม่และการใช้ชีวิต ยกตัวอย่างเช่น การนำประวัติศาสตร์และปรัชญาของเซนและชินโตมาใช้ในงานการออกแบบผังเมืองและผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่น หรือวิถีการดื่มชาของอังกฤษซึ่งมีรากมาจากความต้องการสร้างวัฒนธรรมอังกฤษให้กับชาวอังกฤษที่ต้องไปประจำในส่วนต่างๆ ของจักรวรรดิในสมัยอาณานิคม ซึ่งปัจจุบันนี้ถูกนำมาใช้เป็นวัฒนธรรมในการเจรจาธุรกิจหรือสังสรรค์ทั่วไป

เมื่อทุนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมีบทบาทในการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ชีวิตในปัจจุบัน การรักษา สืบสาน และนำมาใช้ให้ยั่งยืน ผ่านการสร้างเอกลักษณ์ในสมัยใหม่ จะทำให้มรดกทางวัฒนธรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งของการบริโภคภายใน (domestic consumption) เช่น การนำประวัติศาสตร์มาเขียนนิยาย การสร้างละคร การผลิตเสื้อผ้า เครื่องใช้ และอาหาร

ดังนั้น สัญญานที่สื่อถึงความเสี่ยงของกระแสที่ไม่ยั่งยืนคือ การสังเกตแหล่งที่มาของสินค้าและปัจจัยการผลิตที่เกิดขึ้นตามกระแส เช่น สไบและผ้าพิมพ์ลายไทยที่มีการไปนำมาจากอินเดียมากกว่าเป็นผลผลิตจากงานหัตถกรรมในประเทศ จริงๆ แล้วถ้ามองในระยะสั้นอาจกล่าวได้ว่าปรากฏการณ์บุพเพสันนิวาสทำให้เกิด short run market shock หรือแรงกดดันชั่วคราวต่อตลาดชุดไทยและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เมื่อผู้ผลิตผ้าไทยมีจำนวนไม่เพียงพอหรือการเชื่อมต่อของผู้ผลิตผ้าไทยกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดไม่มีการรองรับอุปสงค์ของผู้บริโภคทุกระดับความต้องการ เหล่าผู้ประกอบการจึงต้องไปหาแหล่งผลิตในต่างประเทศที่มีข้อมูลและเข้าถึงง่ายมากกว่า

ปัญหาราคาวัตถุดิบและการเข้าถึงผู้ผลิตผ้าหรือสินค้าทางวัฒนธรรมนี้ไม่ใช่ปัญหาที่มีแต่ในไทย แม้แต่ตลาดญี่ปุ่นก็เจอปัญหาราคาวัตถุดิบแพงและผู้ประกอบการผลิตกิโมโนต้องหันไปใช้ผ้าไหมจีนกับเวียดนามซึ่งทำให้อุตสาหกรรมผ้าไหมที่เป็นความภาคภูมิใจของญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่การถดถอย เรื่องผ้าไทยและแบบชุดไทยที่รัฐบาลต้องการจะสนับสนุนให้เป็นกระแสนี้ผู้เขียนขอทิ้งประเด็นไว้ก่อน เพราะเรื่องนี้ยาวเกินไปสำหรับบทความนี้จึงจะนำมาเล่าในโอกาสหน้า แต่ประเด็นหลักๆ คือการจัดงานหรือโฆษณานั้นเป็นการสร้างกระแสนิยมแบบชั่วคราวที่เป็นความพยายามเลี้ยงอุปสงค์โดยการโหนกระแสที่เป็นปัจจัย หาได้เปลี่ยนกระแสให้เป็นวิถีชีวิตไม่ ซึ่งการจะทำให้ยั่งยืนได้จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือสร้างวัฒนธรรมสมัยใหม่ขึ้นภายใต้กรอบการใช้งานผลผลิตทางวัฒนธรรมโดยมีกฎเกณฑ์และทางเลือก ไม่ใช่เป็นเพียงชุดแฟนซีที่ใส่สวยๆ ชั่วคราวแต่เป็นเสื้อผ้าที่มีจุดประสงค์ในการใช้งาน เช่น การสวมใส่สำหรับงานแต่งงาน การสวมใส่ไปเที่ยว หรือไปศาสนสถาน และที่สำคัญที่สุดคือการส่งเสริมผู้ผลิตให้เข้าถึงผู้ค้าและตลาดได้มากขึ้นในทุกระดับ

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/CH3Thailand/photos/pcb.1633402686749110/1633400100082702/?type=3&theater

การส่งออก “วัฒนธรรม” (Culture Export)

การเพิ่มมูลค่าของการส่งออกจะเข้มแข็งได้จำเป็นต้องอาศัยการสร้างความรู้และความไว้ใจใน “เอกลักษณ์” ของประเทศผู้ผลิต ความไว้ใจนี้เป็นอำนาจอ่อนหรืออำนาจละมุน (soft power) อย่างหนึ่ง ภาพลักษณ์ที่ก่อให้เกิดความไว้ใจนั้นส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติที่คนภายนอกมองความเก่งและนิสัยของประชากรประเทศผู้ส่งออกและการกระทำของรัฐบาลในการดำเนินนโยบาย หากประเทศไทยคิดจะดำเนินนโยบายส่งออกวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนมากกว่าการขายแบบฉาบฉวยแล้ว สิ่งที่ต้องทำให้เกิดในการเชื่อมต่อกับโลกภายนอกคือการกลับไปลงทุนกับ “ข้อมูล” มรดกทางวัฒนธรรมและนำมาเสนอในเชิงที่ลึกกว่าภาพสวยๆ ในหนังสือมากมายที่ถูกวางขายเป็นหนังสือภาพในท้องตลาด

ปัญหาที่เราต้องยอมรับในการบริหารข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมก็คือ ข้อมูลส่วนใหญ่ถูกออกแบบมานำเสนอให้คนส่วนน้อย เช่น นักวิชาการหรือผู้ที่สนใจเท่านั้น คนภายในประเทศส่วนใหญ่จะจำแบบเรียนที่ถูกให้ท่องในตำราเรียนได้ไม่มาก และหากใช้ชีวิตในสาขาที่ไม่เกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรม เรื่องเหล่านี้มักเป็นเรื่องห่างไกลการใช้ชีวิตในกระแสปัจจุบัน ทำให้ขาดองค์ความรู้ที่จะบริโภคผลผลิตทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เว้นแต่เกิดเป็นกระแสละครหรือแฟชั่นชั่วคราว

ปัญหานี้สังเกตได้จากการที่พื้นที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมักไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือพื้นที่สำหรับการใช้เวลาว่างหลักของคนท้องถิ่น การขาดหนังสือแนะนำที่ชัดเจนในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่จะมีเพียงป้ายที่อธิบายสั้นๆ ในเชิงอายุ รูปแบบ และผู้สร้าง ซึ่งบางครั้งผู้ที่ไม่ใช่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์มักไม่เข้าใจบทบาทและความสำคัญของสถานที่ เมื่อคนไทยเองยังไม่รู้หรือจำสิ่งที่เรียนมาไม่ได้ ผู้บริหารไม่ควรคาดหวังว่านักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติที่มาสัมผัสแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมจะเข้าใจหรือเคารพสถานที่มากไปกว่าสถานะของความเป็นฉากประกอบรูปถ่ายที่จะเก็บไว้เป็นที่ระลึก

เครื่องกรองน้ำโบราณ หรือเครื่องกรองน้ำแม่การะเกดในละครบุพเพสันนิวาส แสดงอยู่ที่เรือนไทย พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สิ่งที่ต้องแก้ไขคือการนำเสนอและการให้ข้อมูลที่มีมิติการอธิบายที่มาที่ไปและเนื้อเรื่องที่น่าค้นหา สิ่งที่ควรพัฒนาเกี่ยวกับการนำเสนอประวัติศาสตร์คือการอธิบายเนื้อเรื่องให้กับคนที่มาจากวัฒนธรรมและพื้นฐานทางสังคมที่แตกต่าง ผู้ที่นำเสนอเนื้อหาและแปลความจะต้องนำเสนอโดยตั้งสมมติฐานอยู่บนความคิดที่ว่าผู้รับไม่รู้เรื่องและไม่มีลักษณะทางวัฒนธรรมเหมือนผู้รับของตลาดภายในประเทศ ดังนั้น การนำเสนอเนื้อหาจำเป็นต้องมีการอธิบายเนื้อหาให้ละเอียดและเน้นคติซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับในสังคมสากล (universal values) เช่น ในสื่อเกาหลีมีเนื้อหาที่ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว

ความละเอียดในการถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดจากการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาฝีมือ การเน้นผลผลิตงานหัตถกรรมและอุตสาหกรรมที่มาจากมรดกทางวัฒนธรรม การบริโภคท้องถิ่นที่เปลี่ยนจากกระแสเป็นชีวิตประจำวัน จะทำให้การส่งออกวัฒนธรรมมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและผลักดันให้เกิดผลพลอยได้ เช่น การท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นใน “แบรนด์ไทย”

ในความเห็นของผู้เขียน กระแสที่เกิดขึ้นอาจเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เพิ่มโอกาสทางการค้าให้เข้าถึงมือชุมชนผู้ผลิตและเป็นเจ้าของพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้จากสังคมเมืองและห้างสรรพสินค้าสู่ตลาดงานหัตถกรรมท้องถิ่น แต่สิ่งที่ต้องทำคือการสนับสนุนให้เพิ่มองค์ความรู้ในหลายระดับ การลงทุนช่วยผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรม และการวางแผนนโยบายที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมเข้ากับการศึกษา ผังเมือง ทรัพยากรทางธรรมชาติ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมการค้าที่ดี เมื่อนั้น “บุพเพสันนิวาส” จึงจะก้าวข้ามกระแสการหวนหาอดีตอันหวือหวาและเปลี่ยนอดีตให้เป็นปัจจุบันและอนาคตของปากท้องของประชากรอีกเป็นจำนวนมาก