ThaiPublica > คอลัมน์ > สองสิ่งที่ยังขาด…แต่จำเป็นต่อการปฏิรูปการศึกษา (ให้ไม่หลงทาง)

สองสิ่งที่ยังขาด…แต่จำเป็นต่อการปฏิรูปการศึกษา (ให้ไม่หลงทาง)

27 กันยายน 2017


ทุกวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื้อรังในระบบการศึกษาและปัญหามีจำนวนมากมายแทบจะทุกจุดของระบบ

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคะแนน PISA ต่ำจนน่ากังวล ปัญหาเด็กออกกลางคัน ปัญหาระบบประเมินครูที่ไม่มีความหมาย ปัญหาครูไม่พร้อมสอนภาษาอังกฤษ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการศึกษาระหว่างประชากรในกลุ่มต่างๆ จะควบคุมธุรกิจกวดวิชาอย่างไร ฯลฯ

แต่สิ่งที่น่าหงุดหงิดที่สุดคือ ในหลายปีที่ผ่านมา เราไม่ได้นิ่งเฉยและเราไม่ได้ไม่มีเงินที่จะเอามาใช้เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด (ราว 18% ของงบประมาณทั้งหมด) เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนต่อ GDP แล้วถือว่ามากกว่าอีกหลายประเทศที่มีผลลัพธ์ทางการศึกษาดีกว่าเรา

ในมุมมองของผู้เขียน สิ่งที่เป็นต้นตอของแทบทุกปัญหาการศึกษาไทยก็คือ “ปัญหาจ่ายมากได้น้อย” นั่นเอง

เหตุผลที่เกิดปัญหา “จ่ายมากได้น้อย” อันเรื้อรังมาเป็นเวลานานหลายปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราทุกคนต่างวาดภาพ “การศึกษาในอุดมคติ” ไว้ในหัวกันทั้งนั้น

ลองสังเกตดูสิครับ ทุกวันนี้ไม่ว่าใครจะอยู่ในสายอาชีพใด ไม่ว่าจะมีประสบการณ์ในระบบการศึกษาจริงหรือไม่ จะพบได้ว่าแทบทุกคนจะมีมุมมองหรืออุดมการณ์หนักแน่นในการแก้ไขปัญหาการศึกษาในรูปแบบของตัวเองที่คิดว่า “น่าจะดีที่สุด” กันทั้งนั้น

แต่ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับคือ แทบจะไม่มีใครทราบเลยว่า หนึ่ง จะทำให้สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปถึง “การศึกษาในอุดมคติ” เหล่านั้นได้อย่างไร? และ สอง จะทราบได้อย่างไรว่า “การศึกษาในอุดมคติ” ของใครดีกว่ากัน หรือเหมาะสมกับบริบทของประเทศมากกว่ากัน?

จึงไม่แปลกที่ในหลายสิบปีที่ผ่านมาเรามีการเปลี่ยนผู้นำการศึกษาไทยเฉลี่ยแล้วแทบจะทุกปี และเราได้เห็นการดำเนินนโยบายการศึกษาที่มาจากหลายแนวคิดมากภายในเวลาอันสั้น แต่สิ่งที่แทบไม่เปลี่ยนคือความผิดหวังในจิตใจประชาชนจำนวนมากที่ว่า ความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการเมืองเหล่านี้ กับการอัดฉีดเม็ดเงินอันมหาศาลที่ผ่านมา ไม่เห็นได้นำมาซึ่งความก้าวหน้าในการพัฒนาอนาคตของชาติเลย

บทความชิ้นนี้เสนอ 2 สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าจะช่วยให้เราปฏิรูปการศึกษาได้อย่างมีทิศทางมากขึ้นครับ

1. นโยบายการศึกษาควรมาจากกระบวนการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น

ในประวัติศาสตร์ของหลายประเทศทั่วโลก กระบวนการร่างนโยบายการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น เราควรจะเอาเงินไปสร้างโครงการอะไร เด็กควรเรียนอะไร การเรียนการสอนควรเป็นในลักษณะไหน และเด็กกับครูควรถูกประเมินอย่างไร มักเป็นกระบวนการที่เกิดมาจากอุดมการณ์หรือทฤษฎีเป็นหลัก

การเอาอุดมการณ์ขึ้นเป็นหลักในอดีตมีส่วนก่อให้เกิดโมเดลการศึกษายอดฮิตแบบ “ยัดเยียด” หรือที่ Paul Freier เรียกว่า “Banking Model of Education” ที่แพร่ไปสู่หลายสังคมทั่วโลก ภายหลังหลายสังคมเริ่มสำนึกมองว่ามันเป็นการกดขี่ผู้ด้อย (นักเรียน) โดยผู้ที่เหนือกว่า (ครูหรือผู้มีอำนาจในการดำเนินนโยบายการศึกษา) ไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง แม้ประเทศไทยจะเริ่มพยายามปลีกตัวแยกออกมาจากโมเดลนี้ตั้งแต่ตอนผมยังเด็ก (15 ปีที่แล้ว) ไปสู่การเรียนรู้ที่เสริมสร้าง problem-solving skills หรือการเรียนรู้แบบให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น ทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันยังคงเหลือกลิ่นอายเดิมๆ ในห้องเรียนไทยจำนวนมาก

บทความนี้ไม่ได้ต้องการโจมตีอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง

อุดมการณ์หรือทฤษฎีเป็นหนึ่งในสิ่งจำเป็นในการพัฒนาระบบการศึกษา แต่การ “เชื่อ” ว่าอุดมการณ์นี้ดี อุดมการณ์นั้นดี โดยไม่มีหลักฐานยืนยัน อาจทำให้เราหลงทาง ลงเงินผิดที่ เนื่องจากการพัฒนาระบบการศึกษามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

งานวิจัยจากสาขาเศรษฐศาสตร์การศึกษาในยุคหลังปี 2000 พบว่าการพัฒนาระบบการศึกษามี “กับดับทางความคิด” แฝงไว้จำนวนนับไม่ถ้วน

หลายครั้งที่เราคิดว่านโยบายนี้ดี นโยบายนั้นน่าจะดี เมื่อมีการสำรวจศึกษาทำการทดลองกันอย่างจริงจังแล้วกลับพบว่าไม่ดีอย่างที่คิด หรือไม่คุ้มเงินเท่ากับนโยบายอื่นๆ ที่ดูเรียบๆ และไม่น่าตื่นเต้นเท่า ยกตัวอย่าง เช่น การแจกอุปกรณ์การเรียนรู้ประเภทหนังสือเรียน หรือ แผ่น flip chart ในประเทศเคนยาพบว่าแทบไม่มีผล แต่บางนโยบายที่เราเคยคิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับการศึกษาโดยตรงอย่างการแจกแว่นตาเด็กหรือการให้ยาถ่ายพยาธิกลับสร้างผลบวกทางการศึกษาได้ดีกว่าที่คิดมาก

ในอดีตมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่คิดว่า Banking Model of Education หรือการให้ผู้รู้ยืนเลคเชอร์หน้าห้องโดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนนักเป็นแนวคิดที่ดี ในอนาคตผู้เขียนเชื่อว่าก็จะต้องมีแนวคิดใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นมาได้รับความนิยมและอาจถูกชงให้เป็นนโยบายการศึกษาระดับชาติ เช่น การเรียน online การเน้นให้เด็กเล่นกับแท็บเล็ตในห้องเรียน หรือจะเป็น VR ก็เป็นไปได้

แต่ท้ายสุดแล้วหากไม่มีทำการทดลองอย่างจริงจังแบบ Randomized Controlled Trial (แบบที่เขาทดลองตัวยากัน) หรืออย่างน้อยทำการจำลองการทดลองด้วยวิธีทางสถิติอื่นๆ เราจะไม่มีวันทราบเลยว่า “เมกะโปรเจกต์ทางการศึกษา” ที่กำลังจะไปกระทบเด็กและครูทั่วประเทศนั้น 1. มันดีจริง และ 2. มันคุ้มค่าเม็ดเงินในการลงทุนกว่าแนวคิดถัดๆ ไปจริงไหม

แม้ว่าการทำการทดลองหรือการจำลองการทดลองจะมีต้นทุนทางเวลาสูงกว่าการ “ทำๆไปเถอะ” มาก เนื่องจากทำได้ยากและบางทีต้องรอหลายปีกว่าจะทราบผล ผู้เขียนมองว่าไม่มีประเทศไหนต้องการการทำการทดลองในระบบการศึกษาเท่ากับประเทศไทยแล้ว เนื่องจากเรามีปัญหามานาน มีทุน แต่แก้ไม่ถูกเสียที อย่างน้อยที่สุดก็ควรทำไปควบคู่ไปกับนโยบายระยะสั้น

น่าเสียดายเนื่องจากเรามีบุคคลากรที่มีความสามารถในการทำการทดลองเหล่านี้ได้ อีกทั้งยังมีองค์กรวิจัยนานาชาติ (เช่น J-PAL และ IPA) ที่มีความเชี่ยวชาญการทำการทดลองด้านการศึกษาในหลายประเทศทั่วโลก (แต่ไม่เคยถูกทาบทามโดยประเทศไทย)

2. สร้างระบบนิเวศข้อมูลเชิงลึกรายคนเพื่อติดตามแต่เล็กจนโต

การคิดค้นนโยบายการศึกษาดีๆ บนพื้นฐานความคิดอันเป็นวิทยาศาสตร์อย่างในข้อแรกนั้นจะขาดข้อมูลไม่ได้ เนื่องจากถ้าเราไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับเด็กๆ หรือบุคคลากรในระบบการศึกษาเลย เราก็จะไม่ทราบว่าทางที่กำลังเดินไปข้างหน้ามันถูกทางหรือไม่ (หรือมันเป็นทางที่ดีที่สุดหรือคุ้มเงินที่สุดในทางทั้งหมดที่เดินได้หรือไม่)

เป้าหมายของระบบการศึกษามีหลายเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะแรงงานชาติ สร้างรายได้ การหล่อหลอมพลเมืองให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไปจนถึงการลดภาระของรัฐแบบอ้อมๆ (ลดอาชญากรรม ลดจำนวนคุณแม่วัยทีน และลดการเจ็บไข้ได้ป่วย)

การเก็บข้อมูล “ปลายทางเมื่อเด็กเป็นผู้ใหญ่” เหล่านี้ไม่ยากนัก แต่จุดที่ท้าทายและสำคัญกว่าคือการเชื่อม “ผลลัพธ์วัยผู้ใหญ่” เหล่านี้เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในวัยเด็กของพวกเขาให้ถูกต้องและละเอียด

ที่เราต้องการเชื่อมสิ่งที่เกิดขึ้นในวัยเด็กเข้ากับผลลัพธ์ปลายทางวัยผู้ใหญ่ เป็นเพราะว่าเราควรจะสามารถตอบได้อย่างเต็มปากว่า การเอาเงิน 10 ล้านบาทไป

    ก. ซื้ออาหารกลางวันที่มีคุณภาพ
    ข. ซื้อแท็บเล็ตแจก
    ค. ขึ้นเงินเดือนครู

ข้อไหนทำให้นักเรียนมีรายได้มากขึ้น (หรือก่ออาชญากรรมน้อยลง) มากที่สุดเมื่อพวกเขาเหล่านี้อายุ 30 ปี

ในกรณีที่ดีงามที่สุด เราควรจะสามารถทราบได้ว่าสำหรับผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เราพอจะมีข้อมูลปลายทางเหล่านี้ตั้งแต่เขาเข้าเรียนอนุบาลจนจบปริญญาตรี เด็กคนนี้เป็นอย่างไร และ “ได้รับ” อะไรจากระบบการศึกษาไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นคะแนนสอบก่อนเริ่มเรียนทุกชั้นปี เพื่อนร่วมชั้นเป็นอย่างไร ฐานะครอบครัว ระยะระหว่างบ้านกับโรงเรียน สุขภาพ อาหารการกินที่โรงเรียน นโยบายการศึกษาที่เคยกระทบเด็กคนนี้ (ได้รับแท็บเล็ต ได้รับหนังสือ ได้รับนมสดฟรีตอนเช้า ได้รับเครื่องเขียนฟรี ฯลฯ) ทุกสิ่งเกี่ยวกับครูที่เคยเข้ามาในชีวิตเด็กคนนี้ (อายุ เพศ เงินเดือน การศึกษา ประสบการณ์ ผลประเมิน ฯลฯ)

จริงอยู่สิ่งที่ผู้เขียนฝันไว้อาจจะยังห่างไกลความเป็นจริง แต่ผู้เขียนเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับระบบการศึกษาที่กำลังหลงทาง และจะทำได้ด้วยต้นทุนที่ลดลงเรื่อยๆ ในโลกที่หลายๆ อย่างกำลังเป็นดิจิทัลมากขึ้น

เมื่อเราสร้างระบบนิเวศข้อมูลการศึกษาได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว การจะทำการปะติดปะต่อ เชื่อมเหตุ เชื่อมผล ว่านโยบายวัยเด็กแบบไหน สิ่งแวดล้อมวัยเด็กแบบไหน มันไปเปลี่ยนผลลัพธ์ปลายทางในอีก 5 หรือ 10 ปีอย่างไร ก็จะทำได้ง่ายขึ้นและจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น การถกเถียงเรื่องนโยบายการศึกษาก็จะเป็นไปอย่างมีทิศทางและมีหลักฐานมากขึ้น

ปัญหาการศึกษาไทยมีหลายปัญหา ทุกปัญหามีความละเอียดอ่อนในตัวมันเอง แต่ผู้เขียนเชื่อว่า 2 สิ่งที่เสนอไว้ในบทความนี้ไม่เพียงจะช่วยปูรากฐานที่จำเป็นการแก้ปัญหาเหล่านี้พร้อมๆ กันแล้ว แต่เรายังขาดมันไม่ได้ด้วยซ้ำ

ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายได้ที่ www.settakid.com ครับ