ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เด็กออกกลางครรภ์ (คัน) ภาพสะท้อนการแท้งของระบบการศึกษาไทย

เด็กออกกลางครรภ์ (คัน) ภาพสะท้อนการแท้งของระบบการศึกษาไทย

20 กันยายน 2016


จุลณรงค์ วรรณโกวิท รายงาน

เรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่มากก็น้อยกังวลไและบ่นกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องคุณภาพการศึกษา แต่ถึงจะบ่นอย่างไร ความหวังหนึ่งของผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานเข้าสู่ระบบโรงเรียนคงอยู่ที่การจบการศึกษา เพื่อเป็นใบเบิกทางสู่การศึกษาระดับที่สูงขึ้นไป จนถึงระดับอุดมศึกษา หรือมีอาชีพที่ดีในอนาคต แต่จะมีใครคาดคิดไหมว่า บุตรหลานของเราอาจจะร่วงหล่นจากระบบโรงเรียน ไม่จบการศึกษาพร้อมกับเด็กคนอื่นๆ

ตัวเลขที่น่าดีใจและตกใจเกี่ยวกับปัญหาเด็กออกกลางคัน

นักเรียนออกกลางคัน

เด็กออกกลางคัน หมายถึง เด็กนักเรียนที่เคยเข้าเรียนในสถานศึกษาแล้ว แต่ออกจากสถานศึกษา และไม่สามารถกลับเข้ามาเรียนตามปกติได้ ก่อนที่จะจบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

พิจารณาข้อมูลจากนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวนเด็กออกกลางคันรายปีการศึกษา ตั้งแต่ 2545-2557 นักเรียนออกกลางคันมีแนวโน้มลดลง โดยตั้งแต่ปีการศึกษา 2545-2551 มีนักเรียนออกกลางคันเฉลี่ยประมาณ 1 แสนคนต่อปี (ปีการศึกษา 2550 มีนักเรียนออกกลางคันสูงที่สุด 110,881 คน หรือคิดเป็น 1.68% ของนักเรียนทั้งหมด) แต่ปีการศึกษา 2552 กลับมีนักเรียนออกกลางคันลดลงกว่าหนึ่งจากปีก่อน และปีการศึกษา 2551 มีนักเรียนออกกลางคัน 109,422 ลดลงเหลือ 47,809 คนในปีการศึกษา 2552 และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จนต่ำกว่าหมื่นคนในปี 2557 (8,814 คน)

และจากข้อมูลอัตราการคงอยู่ของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2539-2556 รอยต่อของช่วงชั้นที่มีเด็กหลุดออกจากระบบมากที่สุดคือจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ไปต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือสายอาชีวศึกษา โดยเฉลี่ยมีเด็กออกกลางคันประมาณ 10% หรือประมาณ 1 แสนคน

อย่างไรก็ตาม ก็มีสัญญาณที่ดีจากอัตราคงอยู่ของนักเรียนมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ทั้งในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (การศึกษาภาคบังคับ) และจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปีที่ 3 หมายความว่ามีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นคงอยู่ในระบบโรงเรียนจากประมาณ 3 ใน 5 เป็น 1 ใน 3 หรือ ครึ่งหนึ่งเป็น 3 ใน 5 ในนักเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช. ปีที่ 3 (จากเข้าเรียน ป.1 รุ่นปีการศึกษา 2539 จนถึงรุ่นปีการศึกษา 2544 อัตราการคงอยู่เพิ่มขึ้นจาก 62.59 เป็น 73.1 และ 50.74 เป็น 62.8 ตามลำดับ)(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

สาเหตุนักเรียนออกกลางคัน

จากข้อมูลทั้ง 2 ชิ้น มองจากภาพใหญ่อาจจะพอมองว่า ปัญหาเด็กออกกลางคันในระบบการศึกษาไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ถ้าลองมองในภาพเล็กลงมาจะพบว่า เด็กไทยที่เข้าเรียนในระบบการศึกษาจะมีหลุดรอดจนจบการศึกษาภาคบังคับ (9 ปี) เพียง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ และจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (12 ปี) ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่า จะมีเด็กไทยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกปล่อยให้ออกกลางคัน ในจำนวนนี้ยังไม่รวมนักเรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนในการดูแลของสังกัดอื่น

ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันอนาคตไทยศึกษาระบุว่าเด็กที่เข้าเรียนป.1 ราว 1 ล้านคน จะเรียนจบป.6 ประมาณ 92% เรียนต่อจบม.3 ประมาณ 83% และเรียนจบ ม.6 ประมาณ 63% เท่ากับว่ามีเด็กเลิกเรียนกลางคันและมีวุฒิการศึกษาต่ำกว่า ม.6 ราว 337,000 คน ในรุ่นเดียวกัน

เมื่อปัญหาครอบครัวมีฐานะยากจนไม่ใช่สาเหตุสำคัญของการออกกลางคัน

จากการรับรู้จากผู้คนทั้งในและนอกวงการการศึกษา มีปัญหามากมายที่อาจจะก่อให้เกิดการตัดสินใจออกกลางคันของเด็กนักเรียน ทั้งปัญหาทางบ้านมีฐานะยากจน เบื่อหน่ายและเครียดกับการเรียนในชั้นเรียน ติดเกม ติดเพื่อน การอพยพตามผู้ปกครอง มีปัญหาครอบครัว การปรับตัวในโรงเรียน ต้องช่วยเหลือครอบครัว การแต่งงานหรือตั้งครรภ์แบบไม่พึงประสงค์ เจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ติดยาเสพติด หรือถูกจับ มีคดีความ

จากข้อมูลที่เก็บจากนักเรียนที่ออกกลางคันในสังกัด สพฐ. ตั้งแต่ปีการศึกษา 2548-2557 พบว่า สาเหตุของการออกกลางคันมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 2 ช่วง คือ ในช่วงปี 2548-2551 ปัญหาที่มีสัดส่วนต่อการออกกลางคันจากมากไปหาน้อย คือ ฐานะยากจน การอพยพตามผู้ปกครอง มีปัญหาครอบครัว มีปัญหาในการปรับตัว แต่งงาน และหาเลี้ยงครอบครัว แต่ในช่วงปี 2552-2557 สาเหตุของการออกกลางคันมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม เป็นปัญหาการอพยพตามผู้ปกครอง มีปัญหาในการปรับตัว มีปัญหาครอบครัว ต้องหาเลี้ยงครอบครัว แต่งงาน และมีฐานะยากจน ตามลำดับ เป็นที่น่าสังเกตว่าสัดส่วนปัญหาฐานะยากจนมีการลดลงอย่างมากตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 (จาก 35.1 ในปีการศึกษา 2551 เป็น 6.9 ในปีการศึกษา 2552)

ความเชื่อมโยงของปัญหาทั้งจากตัวนักเรียนเอง ครอบครัว และโรงเรียนสู่การออกกลางคัน

สาเหตุนักเรียนออกกลางคัน

จากข้อมูลที่ระบุว่า เด็กนักเรียนแต่ละคนออกกลางคันเพราะสาเหตุนั้นสาเหตุนี้ แต่สาเหตุจริงๆ ที่ทำให้นักเรียนตัดสินใจออกกลางคันนั้นอาจเกิดจากหลายปัญหารวมกัน โดยอาจแบ่งสาเหตุของปัญหาใหญ่ๆ ออกเป็น 3 สาเหตุ คือ 1. จากตัวนักเรียนเอง 2. จากครอบครัว และ 3. จากโรงเรียน ซึ่งแต่ละสาเหตุก็สนับสนุนกันและกันให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

จากวิทยานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต ของนายอภิชาติ เลนะนันท์ หัวข้อเรื่องโมเดลเชิงสาเหตุของการออกกลางคันของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า

1. ความคาดหวังของผู้ปกครอง มีอิทธิพลทางตรงต่อความผูกพันต่อสถาบัน มีอิทธิพลเชิงผกผันโดยตรงต่อการออกกลางคัน พบว่า ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองมีความคาดหวังต่อนักเรียนสูง โอกาสของนักเรียนที่จะออกกลางคันกลับมีแนวโน้มลดลง เพราะการที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีความคาดหวังเช่นนี้ ย่อมจะทำให้บุตรหลานเห็นว่า ผู้ปกครองให้ความสนใจและคาดหวังให้ตนเองประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ตัวนักเรียนเองตั้งใจตามไปด้วย

2. สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม มีอิทธิพลทางอ้อมผ่านความหวังต่อผู้ปกครอง ผ่านการบูรณาการทางสังคม และความผูกพันกับสถาบัน นำไปสู่การออกกลางคัน กล่าวคือ ผู้ปกครองของนักเรียนที่มีระดับการศึกษาต่ำส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีเวลาในดูแลการเรียนของบุตรหลาน และมีเจตคติไม่ค่อยเห็นความสำคัญต่อการศึกษา ส่งผลให้นักเรียนมีผลการเรียนไม่ดี ซึ่งผลการเรียนต่ำเป็นปัจจัยเสี่ยงปัจจัยหนึ่งของการขาดเรียนและออกกลางคันในที่สุด นอกจากนี้ สถานะทางเศรษฐกิจและครอบครัวยังส่งผลต่อการบูรณาการทางสังคม และความผูกพันกับสถาบันอีกด้วย

3. การบูรณาการทางสังคมมีอิทธิพลทางอ้อมผ่านทางความผูกพันทางสถาบันไปสู่การออกกลางคัน งานวิจัยชี้ว่า การบูรณาการทางสังคม มี 3 องค์ประกอบคือ

  • การเข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตร งานวิจัยพบว่า การรับรู้ของนักเรียนว่าเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนมีอิทธิพลต่อการจบการศึกษา
  • ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนนักเรียน มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า อิทธิพลกลุ่มเพื่อนส่งผลต่อพฤติกรรมทั้งทางดีและไม่ดีของนักเรียน (ประมาณครึ่งหนึ่งของนักเรียนที่ออกกลางคันทั้งหมดมีเพื่อนที่ออกกลางคันอย่างน้อยหนึ่งคน และประมาณหนึ่งในสามของนักเรียนที่ออกกลางคันทั้งหมดมีเพื่อนที่ออกกลางคันอย่างน้อยสองคน (Deschamps, 1992) หรือเพื่อนที่สนใจทางวิชาการ จะช่วยกระตุ้นเพื่อนให้มีพฤติกรรมสนใจทางวิชาการ และเตือนให้เพื่อนห่างจากการปฏิบัติที่ไม่ถูกทาง (Ginacola, 2000)
  • การติดต่อสื่อสารกับครู งานวิจัยพบว่า ความ
  • สัมพันธ์ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการกับครูสามารถช่วยแก้ปัญหาส่วนตัวและขัดเกลาทางสังคมอย่างไม่เป็นทางการได้

    4. ความผูกพันกับสถาบันมีอิทธิพลต่อการออกกลางคันในเชิงผกผัน จากงานวิจัยพบว่า นักเรียนที่มีความผูกพันกับโรงเรียนก่อให้เกิดความเต็มใจที่จะเรียนจนสำเร็จการศึกษา เป็นความต้องการภายในของนักเรียน ซึ่งความผูกพันกับสถาบันนี้เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน และสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่สะอาด สะดวก และปลอดภัย

    ทำไมถึงต้องสนใจปัญหาการออกกลางคัน

    นักเรียน

    ในระดับตัวบุคคล เด็กที่ออกกลางคันส่วนหนึ่งใช้ชีวิตอย่างไม่มีเป้าหมาย และมีแนวโน้มก่อปัญหาให้กับสังคม เช่น ยาเสพติด ก่ออาชญากรรม จากข้อมูลของนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ในปี 2548 มีเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ประมาณ 36,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

    ในระดับประเทศ ประเทศไทยลงทุนกับการศึกษาด้วยการจัดสรรงบประมาณสูงมากในแต่ละปี เพื่อต้องการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นที่น่าพอใจ จากข้อมูลของดร.วรากรณ์ สามโกเศศ 7 ใน 10 คน ของประชากรวัยแรงงานของไทย มีการศึกษาสูงสุดเพียงแค่ระดับประถมศึกษาเท่านั้น หรือข้อมูลจาก ดร.ไกรยส ภัทราวาท ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2557 ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงานจำนวน 39 ล้านคน (อายุ 15-60 ปี) โดยจำแนกตามระดับการศึกษา 4 ระดับ ได้แก่ ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า จำนวน 19.5 ล้านคน (ร้อยละ 48.6) มัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 6.11 ล้านคน (ร้อยละ 15.9) มัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 5.74 ล้านคน (ร้อยละ 14.9) และอุดมศึกษาจำนวน 7.65 ล้านคน (ร้อยละ 19.9) หมายความว่า ประเทศไทยยังพึ่งพาเศรษฐกิจที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ยากต่อการพัฒนาเป็นเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และยั่งยืน

    หากมองว่าการศึกษาคือการพัฒนาคนในชาติ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต การออกกลางคันก็คงเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดการสูญเปล่าทั้งทางเศรษฐกิจและการศึกษา รวมถึงปัญหาสังคมต่างๆ การช่วยกันของทุกฝ่ายในการประคองให้เด็กไทยได้รับการศึกษาสูงสุดตามศักยภาพจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

    หมายเหตุ : ช่วงคาบเกี่ยวปี พ.ศ. 2551-2552 มีเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา: พ.ศ. 2549-2552 และ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตนะ: พ.ศ. 2552-2556 มีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ 4 ท่านด้วยกัน คือ
    1.ศ. ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน: 9 ตุลาคม พ.ศ. 2549 – 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
    2.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์: 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 – 9 กันยายน พ.ศ. 2551
    3.นายศรีเมือง เจริญศิริ: 24 กันยายน พ.ศ. 2551 – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551
    4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์: 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 – 15 มกราคม พ.ศ. 2553