ThaiPublica > เกาะกระแส > “สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” เปิดงานวิจัยแนะ 3 วิธียกระดับการศึกษา ประเมินเด็ก-ให้รางวัลครู-หนุนเอกชน

“สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” เปิดงานวิจัยแนะ 3 วิธียกระดับการศึกษา ประเมินเด็ก-ให้รางวัลครู-หนุนเอกชน

16 กุมภาพันธ์ 2012


ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้นำเสนองานวิจัยในงานสัมมนาประจำปีทีดีอาร์ไอ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้กรอบการยกเครื่องการศึกษาไทยสู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ในหัวข้อ “ระบบการบริหารและการเงิน เพื่อสร้างความรับผิดชอบในการจัดการศึกษา” ว่าปัจจุบันการประเมินคุณภาพโรงเรียนมีปัญหาสำคัญคือ ตัวชี้วัดส่วนใหญ่ไม่ได้วัดจากผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนอย่างแท้จริง จึงไม่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้เป็นเพราะระบบไม่ได้มีความรับผิดชอบต่อใคร ซึ่งวิธีการสร้างความรับผิดชอบนั้นสามารถทำได้ 3 แนวทางใหญ่ๆ แนวทางแรกคือ การปฏิรูปข้อมูล ทำข้อมูลออกมาให้เป็นที่ปรากฏ คือมีการจัดสอบมาตรฐานและตรวจข้อสอบโดยหน่วยงานกลาง ไม่ใช่จากโรงรียน  ซึ่งจะทำให้ทราบว่าแต่ละโรงเรียนสามารถสอนนักเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ควรรู้ได้มากน้อยแค่ไหน และควรนำเอาข้อมูลผลการสอบมาเปิดเผยต่อสาธารณะชน โดยการจัดทำเป็น Report Card เพราะเนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูล ทำให้มีผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจเลือกโรงเรียนอย่างพ่อแม่ผู้ปกครอง อีกทั้งควรยกเลิกการใช้ GPA เป็นเกณฑ์ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะเป็นตัวจูงใจในการปล่อยคะแนนเกรดเฉลี่ยให้กับนักเรียน

ตัวอย่าง Report Card

การวัดมาตรฐานการสอบของนักเรียนในหลายระดับ เช่น O-NET และ NT ก็ไม่มีการเปิดเผยคะแนนอย่างเป็นระบบ การประเมินที่เป็นอยู่ก็ไม่เชื่อมโยงกับการสร้างความรับผิดชอบในด้านการจัดการศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจในการยกคุณภาพการศึกษาไทย

อีกทั้งยังพบว่า การออกข้อสอบ O-NET  ที่ใช้ในปัจจุบัน ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มาก ว่าไม่ได้วัดความรู้ของเด็กอย่างที่ควรจะเป็น ถามในสิ่งที่ไม่ควรจะถาม ทำให้การสอนมุ่งเน้นที่การท่องจำเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยมากกว่าจะทำความเข้าใจในบทเรียน ซึ่งตรงนี้ควรมีการรื้อและปฏิรูปการสอนใหม่ ปรับปรุงข้อสอบมาตรฐาน ให้เน้นวัดที่ความเข้าใจ  (literacy-based test) ซึ่งส่งเสริมการคิดของนักเรียน มากกว่าเน้นวัดเนื้อหา (content-based test) ซึ่งส่งเสริมการท่องจำ เพราะสมัยนี้เป็นโลกของอินเทอร์เน็ต ถ้าเน้นแต่คำตอบที่ท่องจำ เพียงเปิดอินเทอร์เน็ตก็สามารถทราบคำตอบแล้ว สิ่งที่ต้องการคือความรู้ความเข้าใจและความสามารถในการคิดเป็น จะต้องปฏิรูปการสอบไปสู่จุดนั้นให้ได้

แนวทางต่อมาเป็นเรื่องการประเมินเด็ก หรือสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษา ถูกไปผูกติดกับการประเมินครู ประเมินโรงเรียน ที่ผ่านมาเรามีระบบประเมินครู ประเมินโรงเรียน โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา (สมศ.)  ซึ่งเป็นไปอย่างอิสระ และให้ผลประเมินออกมาว่า โรงเรียนส่วนใหญ่มีคุณภาพดี แต่ผลการศึกษาของนักเรียนก็ยังสอบตกกันอยู่ ทำให้เห็นว่า ระบบประเมินคุณภาพที่มีอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้มีความหมายอย่างแท้จริง ควรจะมีการยกเลิกระบบหรือควรปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อให้ได้ผลคำตอบที่สอดคล้องและสัมพันธ์กับการเรียนรู้ของนักเรียน

“เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ถ้าไม่มีการปรับระบบการประเมิน โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ที่ผลสอบของนักเรียน แต่ยังเน้นอยู่ที่การประเมินครูนั้น จะทำให้เกิดการดึงความสนใจครูจากการสอนซึ่งเป็นอาชีพหลักไปสู่การเตรียมงานเอกสารมากกว่าเตรียมการเรียนการสอน ที่ผ่านมาพบว่า งบประมานที่ครูทั้งประเทศต้องเตรียมเอกสารมีต้นทุนสูงถึง 1.8 พันล้านบ้านต่อรอบ และเสียเวลาการทำงาน  โดยจำนวนครู 83% จะทำงานธุรการ 20% ของเวลางาน และครูจำนวน 10% ทำงานธุรการ 50%  ของเวลางานทั้งหมด” ดร.สมเกียรติกล่าว

และวิธีที่จะทำให้ครูกลับมามีความรับผิดชอบต่อนักเรียน คือการเอาผลสอบของนักเรียนเป็นตัวประเมินครูและโรงเรียนเป็นสำคัญ โดยบางประเทศใช้วิธีการนำโบนัสมาเป็นรางวัลให้ครู เมื่อเด็กมีผลการเรียนที่ดีขึ้น ถือเป็นรางวัลให้กับครู ซึ่งตรงนี้อาจไม่ต้องเป็นตัวเงินเสมอไป เช่น การประกาศเกียรติคุณ เพื่อเป็นการยกย่อง เหล่านี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรทำมากในประเทศไทย

แนวทางที่สาม เป็นเรื่องการให้เงินอุดหนุนโรงเรียนเอกชน ซึ่งแตกต่างจากโรงเรียนรัฐบาลมาก ยกตัวอย่าง เรื่องเงินเดือนครู ซึ่งครูรัฐบาลมีเงินเดือนสูงกว่าครูโรงเรียนเอกชนถึง 2 เท่า เงินสมทบเงินเดือนครูเอกชนก็ไม่เพิ่มตามวิทยฐานะและการเลื่อนขั้นเงินเดือนของครูในโรงเรียน ตามสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อีกทั้งยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนในการลงทุน และสวัสดิการต่างๆที่น้อยกว่า ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เสมอภาคของโรงเรียนเอกชนกับโรงเรียนรัฐบาล โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ครูโรงเรียนเอกชนลาออกไปสมัครเป็นข้าราชครูโรงเรียนรัฐบาลกว่า 2,000 คน ทำให้ขาดโอกาสในการที่รัฐบาลจะดึงเอกชนมาช่วยในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพที่ดีจริงๆ

ขณะที่ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเป็นผู้วิจารณ์งานวิจัยกล่าวว่า ปัจจุบันการเมืองเข้ามาอยู่ในการศึกษาไทยมากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาการศึกษา ไม่มีเสถียรภาพหรือเป้าหมายที่ชัดเจน ส่งผลให้ครูสับสน  

“กระทรวงศึกษากลายเป็นกระทรวงเกรดซี รัฐมนตรีส่วนใหญ่ไม่ได้อยากมาดำรงตำแหน่ง แต่มาเพื่อตำแหน่งทางการเมือง”

นอกจากนี้ สัดส่วนความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนเอกชนกับโรงเรียนรัฐบาลก็มีมากขึ้น ส่งผลทำให้มีการคอรัปชั่นในโรงเรียนสูงขึ้น เช่น มีนักเรียนต้องการเข้า 100 คน แต่สามารถรับได้ 30 คน โดยผู้ปกครองจะต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ลูกหลานได้เข้าไปยังโรงเรียนนั้น

อีกทั้งเรื่องก่อนหน้านี้ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยถึงกรณีมอบนโยบายให้โรงเรียนชื่อดังในสังกัด สพฐ. เปิดห้องเรียนเพิ่ม เพื่อรองรับโควตานักเรียนที่ผู้ปกครองบริจาคเงินให้กับโรงเรียนนั้น ดร.วรากรณ์มองว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลใดกล้าออกนโยบายเช่นนี้ ซึ่งเหมือนเป็นการท้าทายและส่งสัญญาณให้โรงเรียนต่างๆ สามารถรับเงินบริจาคจากผู้ปกครองได้ อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปิดโอกาสสำหรับเด็กที่ไม่ค่อยมีเงิน ทั้งนี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการควรมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้กล่าวถึงกรณีนี้ว่า สิ่งที่ตนพูดไปไม่ได้หมายความว่าให้ผู้ปกครองบริจาคเงินหรือจ่ายเงินเพื่อแลกกับที่นั่งเข้าเรียนในโรงเรียน เพราะเด็กที่บริจาคมาก็ต้องไปสอบแข่งขัน และหากขาดคุณสมบัติทางโรงเรียนก็คงไม่สามารถรับเข้าเรียนได้ ซึ่งหากบริจาคเงินเพื่อแลกกับการเข้าเรียนก็จะกลายเป็นการคอรัปชั่นไป ทั้งนี้ ผู้ปกครองคนใดอยากบริจาคเงินให้โรงเรียนตนก็ยินดี แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการเข้าเรียน เพราะระเบียบรับนักเรียนของ สพฐ. ก็ระบุว่าจะต้องมีการสอบแข่งขัน

“เรื่องการบริจาคเงินให้โรงเรียนเป็นระเบียบที่กำหนดให้ผู้ปกครองสามารถบริจาคได้อยู่แล้ว แถมยังสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ ผมไม่อยากให้ใช้คำว่ามาบริจาคเงินแลกที่นั่งเรียนให้กับลูกหลาน ส่วนเงินบริจาคของผู้ปกครองนั้นอาจนำมาเป็นส่วนหนึ่ง ที่โรงเรียนจะนำมาพิจารณาเป็นดุลพินิจในการรับ แต่ไม่ใช่ว่าบริจาคแล้วลูกจะได้เข้าเรียน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

ส่วนกรณีที่ทางกลุ่มผู้ปกครองจะไปฟ้องศาลปกครองในเรื่องนี้ก็คงไม่เป็นไร พร้อมจะไปชี้แจงที่ศาลปกครองด้วย รวมทั้งกรณีที่ทางพรรคฝ่ายค้านจะตั้งกระทู้สดถามเรื่องนี้ในสภาผู้แทนราษฎร ตนก็ยินดีตอบกระทู้และชี้แจง