ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อหุ่นยนต์ “ยูมิ” ทำหน้าที่เป็นวาทยากร แล้วมีงานอะไรเสี่ยง ที่ต่อไป “มนุษย์ไม่ต้องสมัครเข้ามา”

เมื่อหุ่นยนต์ “ยูมิ” ทำหน้าที่เป็นวาทยากร แล้วมีงานอะไรเสี่ยง ที่ต่อไป “มนุษย์ไม่ต้องสมัครเข้ามา”

28 กันยายน 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

หุ่นยนต์ยูกิ ทำหน้าที่เป็นไวทยากร ที่มาภาพ : https://www.japantimes.co.jp/news/2017/09/13/business/tech/robot-conductor-steals-show-italys-top-tenor-bocelli-cant-improvise/#.WcuASVuCzIU

เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานเทศกาลหุ่นยนต์นานาชาติ ที่เมืองปิซา อิตาลี ขณะที่วงดนตรี Lucca Philharmonic Orchestra กำลังแสดงดนตรีคลาสสิก พร้อมกับนักร้องชื่อดัง Andrea Bocelli แต่ทว่า สายตาของคนที่เข้าชมการแสดงกลับพุ่งเป้าไปที่หุ่นยนต์ชื่อ “ยูมิ” (Yumi) ที่ทำหน้าที่เป็นวาทยากร (conductor) นับเป็นครั้งแรกในโลก ที่การแสดงสดของวงดนตรีออร์เคสตรามีหุ่นยนต์เป็นวาทยากร

ยูมิเป็นหุ่นยนต์ที่ผลิตโดยบริษัท ABB ของสวิตเซอร์แลนด์ โคลอมบานี (Colombani) ที่เป็นวาทยากรของวงออร์เคสตรา เป็นคนฝึกสอนการเคลื่อนไหวของมือให้กับยูมิ เพื่อที่คอมพิวเตอร์ของยูมิจะได้จดจำการแสดงท่าทางต่างๆ ของวาทยากร การเคลื่อนไหวด้วยมือของยูมิทำได้ดีกว่าหุ่นยนต์ชื่อ “อาซิโม” (Asimo) ที่ผลิตโดยฮอนด้า และเคยทำหน้าที่เป็นวาทยากรให้กับวง Detroit Symphony Orchestra เมื่อปี 2008

คนที่รักดนตรีอาจผิดหวังกับวาทยากรที่เป็นหุ่นยนต์ แม้จะมีความช่ำชองกว่าอาซิโม แต่ยูมิก็ทำหน้าที่ของวาทยากรตามแผนที่กำหนดไว้ ไม่สามารถจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับนักดนตรี หรือทำอะไรเพิ่มเติมจากโปรแกรมที่วางไว้ โคลอมบานีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ว่า “คงไม่มีทางที่หุ่นยนต์จะมาแทนสิ่งที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกในการทำหน้าที่วาทยากรของคน เพราะหุ่นยนต์ไม่มีจิตใจ มันเป็นเพียงแขน ไม่ใช่สมอง หรือหัวใจ”

พัฒนาการของหุ่นยนต์

หุ่นยนต์เป็นความพยายามของคนเราที่จะสร้างเครื่องจักรกลขึ้นมาให้สามารถทำงานแบบใช้แรงงาน หรือทำงานแบบอาศัยอวัยวะต่างๆ ปัญหาท้าทายในการสร้างหุ่นยนต์ที่มีปัญญาประดิษฐ์ในตัวคือเป็นอุปกรณ์ที่สามารถทำงานทั่วไป แต่ทุกวันนี้ อุปกรณ์อัตโนมัติจะทำงานได้เฉพาะอย่าง เช่น การบรรจุสินค้าลงตู้คอนเทนเนอร์ หรือการเก็บผลไม้ในสวน การสร้างอุปกรณ์ที่จะสามารถทำงานได้หลายๆ อย่าง คนเราต้องเอาชนะปัญหาท้าทายที่สำคัญ คือ หุ่นยนต์จะต้องสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความสำเร็จในการพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีความสามารถรอบตัวแบบนี้ คือ รถยนต์ที่ไร้คนขับ ที่ต้องเผชิญสถานการณ์หลายอย่างบนท้องถนน

ที่มาภาพ : https://www-tc.pbs.org/wgbh/nova/assets/img/posters/rise-of-the-robots-vi.jpg

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจขึ้นมาหลายอย่าง หุ่นยนต์สามารถทำงานในสิ่งที่คนเราทำไม่ได้ โดยเฉพาะงานที่มีอันตรายมากกว่าที่จะให้คนไปทำ เช่น งานขุดเหมืองแร่ การสำรวจใต้ทะเลลึก การฉีดยาฆ่าแมลงในพื้นที่เพาะปลูก หรือการทำความสะอาดกรณีเกิดอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรม เป็นต้น องค์การ NASA ก็อาศัยยานอวกาศหุ่นยนต์ชื่อ Mars ทำการสำรวจพื้นที่ดาวอังคาร ญี่ปุ่นก็ใช้หุ่นยนต์เข้าไปสำรวจภาพภายในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ หลังจากเหตุการณ์สึนามิ

การวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์เกิดขึ้นอย่างมากในด้านหุ่นยนต์สำหรับผู้สูงอายุ เพราะประเทศตะวันออก โดยเฉพาะญี่ปุ่น ได้พัฒนาไปสู่สังคมของคนสูงวัย นอกจากนั้น ก็มีหุ่นยนต์เพื่อความบันเทิง อย่างกรณีของยูมิ ที่ทำหน้าที่เป็นวาทยากร ร้านค้าของบริษัทโทรคมนาคมญี่ปุ่นชื่อ SoftBank จะมีหุ่นยนต์ยืนต้อนรับลูกค้า เพื่อตอบคำถามเรื่องบริการต่างๆ แต่คุณค่าหุ่นยนต์ของ SoftBank คือการสร้างความพอใจให้แก่ลูกค้ามากกว่าอย่างอื่น

“หุ่นยนต์กำลังมา”

การพัฒนาหุ่นยนต์ที่ฉลาดมากขึ้น ทำให้มีการคาดหมายกันว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์เรา แต่งานทั้งหมดไม่ได้มีฐานะและคุณค่าเสมอภาคกัน ในปี 2013 นักวิชาการของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดเผยแพร่รายงานเรื่อง The Future of Employment ที่สำรวจงานอาชีพ 702 งานในสหรัฐฯ และระบุว่า งานอาชีพบางอย่างมีความเสี่ยงจากหุ่นยนต์มากกว่างานอาชีพบางอย่าง เช่น งานการตลาดผ่านโทรศัพท์ งานบริการการเสียภาษี หรือกรรมการตัดสินกีฬา ส่วนอาชีพนักจิตวิทยา ทันตแพทย์ หรือแพทย์ มีความเสี่ยงน้อยสุด

ที่ผ่านมานั้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ผลิตภาพและผลผลิตเพิ่มมากขึ้น คืองานการผลิตเท่ากันแต่ใช้คนน้อยลง แต่ความก้าวหน้านี้ก็ทำให้เกิดงานใหม่ๆ ขึ้นมาเช่นกัน แต่เนื้องานใหม่นี้จะไม่เหมือนงานเก่าที่สูญหายไป ทำให้คนงานเดิมที่ถูกแย่งงานขาดทักษะที่จะมาทำงานใหม่ หากว่าผลกระทบของระบบอัตโนมัติเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลาดแรงงานก็สามารถปรับตัวได้ แต่หากเกิดขึ้นฉับพลัน ก็จะส่งผลอย่างมากต่อระบบการจ้างงานที่เป็นอยู่

การที่ระบบอัตโนมัติจะมาแทนที่แรงงานคน เป็นกระบวนการที่ไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจนนัก เพราะระบบอัตโนมัติจะมาแทนสิ่งที่เป็นทักษะมนุษย์ ไม่ใช่มาแทนงาน คนจะผลิตหุ่นยนต์ออกมาได้ประสบความสำเร็จนั้น หุ่นยนต์จะต้องไม่ใช่มาทำงานแทนคนเรา แต่สามารถทำงานที่เป็นประโยชน์บางอย่าง หุ่นยนต์ไม่ได้จะมาทำงานแทนงานของคนทุกคน เพียงแต่ทำให้งานมีความต้องการคนทำงานน้อยลง เมื่อการผลิตมีผลิตภาพมากขึ้น ก็หมายความว่าการจ้างงานคนก็น้อยลง ระบบอัตโนมัติจึงหมายถึงทักษะงานบางอย่างจะหายไป ขณะเดียวกัน ก็ต้องการทักษะใหม่บางอย่าง

หุ่นยนต์ทำพิธีงานศพของญี่ปุ่นชื่อ เปเปอร์ ที่มาภาพ: https://d.ibtimes.co.uk/en/full/1632768/japanese-company-develops-robot-priests-conduct-buddhist-funerals.jpg?w=1280&h=720&l=50&t=40

หนังสือชื่อ Artificial Intelligence: What Everyone Needs to Know ผู้เขียนคือ Jerry Kaplan กล่าวว่า หุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานคนเรา แต่วิธีคิดที่จะเป็นประโยชน์ คือ หุ่นยนต์ทำให้ทักษะของคนเราล้าสมัย นักเศรษฐศาสตร์เรียกกระบวนการนี้ว่า “การเคลื่อนย้ายทักษะ” (de-skilling) กระบวนการนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่ผลกระทบของระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์จะมีมากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะเข้ามาแทนที่ทักษะเดิมของแรงงานคนในขอบเขตที่กว้างขวางและรวดเร็วขนาดไหน

งานที่เสี่ยงและไม่เสี่ยง

งานวิจัย The Future of Employment (2013) กล่าวถึงผลกระทบของระบบอัตโนมัติต่อการจ้างงาน 702 ประเภทในสหรัฐอเมริกา ที่มาจากความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของเครื่องจักรกลและหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนไหว โดยพิจารณาจากมิติต่างๆ ของงานดังกล่าว เช่น เป็นงานที่ทำซ้ำซาก หรือเป็นงานที่คาดหมายไม่ได้ งานใช้แรงงานหรือใช้ความคิด สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญด้านวิศวกรรมในการพัฒนาระบบอัตโนมัติ คือ งานที่ต้องอาศัยการรับรู้ งานที่อาศัยปัญญาการสร้างสรรค์ และงานที่อาศัยปัญญาทางสังคม อย่างเช่น งานล้างจานอาศัยปัญญาทางสังคมน้อยกว่างานประชาสัมพันธ์

เมื่อพิจารณาจากความยากง่ายที่ระบบอัตโนมัติจะแทรกซึมเข้าไปยังงานประเภทต่างๆ รายงานวิจัยนี้กล่าวว่า ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า 47% ของงานในปัจจุบัน มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ส่วนอีก 17% ของงาน มีความเสี่ยงในระยะปานกลาง และ 1 ใน 3 ของงานค่อนข้างปลอดภัยจากระบบอัตโนมัติ ภายในระยะ 1-2 ทศวรรษ

รายงานของอ๊อกซฟอร์ดระบุว่า งานใช้แรงงานที่เสี่ยงมากต่อระบบอัตโนมัติ ได้แก่ การขุดท่อน้ำ งานซ่อมนาฬิกา งานควบคุมเครื่องจักร การรับฝากและถอนเงิน งานเสมียน งานตรวจสอบต่างๆ พนักงานเก็บเงิน แรงงานเกษตร การประกอบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือการเข้าเล่มสิ่งพิมพ์ เป็นต้น แต่การที่งานเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติอาจไม่ใช่เรื่องพึงประสงค์ไปทั้งหมด เช่น มนุษย์เราสามารถสร้างเครื่องจักรกลให้เล่นไวโอลินได้ แต่การแสดงคอนเสิร์ตโดยเครื่องจักรกลพวกนี้จะไม่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมให้กับคนเข้าชมดนตรี

ส่วนงานใช้ความคิดและสมองก็มีความเสี่ยงเช่นกัน งานใช้สมองมีลักษณะเป็นงานการประมวลข้อมูล เพราะฉะนั้น จึงเสี่ยงที่จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติ รายงานของอ๊อกซฟอร์ดระบุว่า งานใช้ความคิดที่มีความเสี่ยง ได้แก่ งานบริการเรื่องการเสียภาษี การประกันภัย งานปล่อยสินเชื่อ งานห้องสมุด และงานเขียนเอกสารทางเทคนิค

แต่งานใช้ความคิดที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ได้แก่ นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ วิศวกร คนผลิตมัลติมีเดีย ผู้บริหารระดับสูงองค์กร นักแต่งเพลง นักออกแบบแฟชั่น ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ นักกฎหมาย นักเขียน นักพัฒนาซอฟต์แวร์ คนออกแบบกราฟิก บรรณาธิการ นักบำบัดโรคต่างๆ แพทย์ หมอฟัน คนฝึกกีฬา ศิลปิน เภสัชกร ช่างภาพ คนจัดดอกไม้ และผู้ควบคุมอากาศยาน เป็นต้น

รายงานของอ๊อกซฟอร์ดไม่ได้กล่าวถึงงานที่อยู่ตรงกลางระหว่างงานใช้แรงงานกับงานในสำนักงาน งานดังกล่าวมีลักษณะเป็นงานด้านการบริการที่การติดต่อแบบตัวต่อตัวกับลูกค้าเป็นเนื้อหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของงาน เช่น ครูสอนในชั้นเรียน พนักงานบริการในร้านอาหาร ตำรวจ พนักงานขายอสังหาริมทรัพย์ หรือพยาบาล บางส่วนของงานพวกนี้อาจถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ยกเว้นงานในส่วนที่ต้องติดต่อสื่อสารระหว่างคนกับคน

คำพูดที่โด่งดังของ Edsger Dijkstra ที่มาภาพ : http://www.azquotes.com/picture-quotes/quote-the-question-of-whether-computers-can-think-is-like-the-question-of-whether-submarines-edsger-dijkstra-35-26-92.jpg

การพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ แสดงให้เห็นว่า นับวัน คอมพิวเตอร์จะมีความฉลาดมากขึ้น หรืออาจเก่งกว่ามนุษย์เรา แต่ความฉลาดของคอมพิวเตอร์ไม่ได้หมายความว่าคอมพิวเตอร์จะมาครอบงำหรือแทนที่คนเรา เครื่อง ATM นับเงินได้เร็วกว่ามนุษย์ไม่ได้หมายความว่าจะมาลดความสำคัญของคนเรา สติปัญญาของคอมพิวเตอร์นั้น แตกต่างจากจากสติปัญญาของมนุษย์เรา เหมือนกับคำพูดของนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชื่อ Edsger Dijkstra ที่กล่าวว่า “คำถามที่ว่าเครื่องจักรกลคิดเป็นหรือไม่ ก็เหมือนกับถามว่า เรือดำน้ำว่ายน้ำเป็นหรือเปล่า”

เอกสารประกอบ
Artificial Intelligence: What Everyone Needs to Know. Jerry Kaplan, Oxford University Press, 2016.
The Future of Employment: How Susceptible Are Jobs to Computerisation? Carl Benedikt Frey and Michael A. Osborne, 2013.