สฤณี อาชวานันทกุล
ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงแนวโน้มที่กำลังจะเป็นความจริงของ “องค์กรอัตโนมัติกระจายศูนย์” หรือ decentralized autonomous organization ย่อว่า DAO ชุดสัญญาอัจฉริยะหรือโค้ดคอมพิวเตอร์ที่อยู่บนบล็อกเชน เป็นเจ้าของตัวมันเอง ไม่มีมนุษย์คนไหนเป็นเจ้าของ บริหารจัดการกิจการของตัวเองด้วยการ “คุย” กับ DAO อื่นๆ ผ่านโค้ดคอมพิวเตอร์
นักไอที นักอนาคตศาสตร์ และนักอื่นๆ จำนวนไม่น้อยไม่เพียงแต่คาดหวังว่า DAO จะพบเห็นได้ทั่วไปในอนาคต แต่ยังเชื่อว่ามันจะเป็นอนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน เพราะมีประสิทธิภาพสูงกว่าองค์กรเทอะทะของมนุษย์หลายเท่า รวมถึงน่าจะขจัดการคอร์รัปชั่นได้อย่างชะงัด เพราะโค้ดไม่มีแรงจูงใจที่จะโกงใครเข้ากระเป๋าตัวเอง
อย่างไรก็ดี ภาพอนาคตแบบนี้ ประกอบกับความก้าวหน้าที่ก้าวกระโดดไกลขึ้นเรื่อยๆ ของวงการปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) ก็ทำให้หลายคนเริ่มหวั่นวิตกว่า ในอนาคตแห่ง DAO นั้น มนุษย์เราจะมีงานอะไรทำ แล้วอนาคตที่มนุษย์ตกงานกันหมดทั้งโลกจะดีได้อย่างไร?
คำถาม “สมองกลจะแย่งงานคนไปหมดหรือไม่” จุดประกายการถกเถียงที่สนุกมากจากคนหลากหลายสาขา ผู้เขียนไม่คิดว่าคำถามนี้จะมีจุดจบในอนาคตอันใกล้ (เพราะอนาคตยังมาไม่ถึง!) แต่การติดตามวิวาทะเรื่องนี้และคิดตาม ก็ทำให้เราได้รู้อะไรๆ มากมาย แถมยังจุดประกายให้ไปคิดต่อได้อีกหลายเรื่อง
ฝ่ายที่เชื่อมั่นว่าสมองกลจะแย่งงานคนไปหมดแน่ๆ เสนอว่า พลังของเทคโนโลยีกำลังเพิ่มขึ้นหลายเท่าทวีคูณ และเทคโนโลยีเหล่านี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเก่งกว่ามนุษย์ ทำให้อีกไม่นานสมองกลจะทำทุกอย่างแทนเราได้ทั้งหมด และในเมื่อมันเก่งกว่าเรา เราก็ย่อมตกงาน และเมื่อนั้นเศรษฐกิจทั่วโลกก็จะปั่นป่วนเมื่อคนไม่มีเงินซื้อสินค้า หนังสือขายดีเล่มล่าสุดที่ฉายภาพอนาคตแบบนี้คือ Rise of the Robots โดย มาร์ติน ฟอร์ด (Martin Ford) ออกปี 2015
ฝ่ายที่เชื่อมั่นว่าสมองกลจะแย่งงานคนไปหมดแน่ๆ เสนอว่า พลังของเทคโนโลยีกำลังเพิ่มขึ้นหลายเท่าทวีคูณ และเทคโนโลยีเหล่านี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเก่งกว่ามนุษย์ ทำให้อีกไม่นานสมองกลจะทำทุกอย่างแทนเราได้ทั้งหมด หลายคนคิดเชื่อมจุดต่อไปอีกว่า อนาคตแบบนี้แปลว่าอีกหน่อยมนุษย์อาจกลายเป็นทาสของสมองกลก็เป็นได้!
บางคนอ้างคำพูดของ สตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ชื่อก้องโลก ที่ว่า “ปัญญาประดิษฐ์เต็มรูปแบบ (full artificial intelligence) อาจทำให้มนุษยชาติถึงจุดจบ”
ความแตกต่างภายในค่ายที่เชื่อเช่นนี้หลักๆ อยู่ที่การตีความว่า อนาคตแบบนี้ดีหรือไม่ดี บางคนมองโลกในแง่ร้าย (“มนุษย์จะอยู่อย่างแร้นแค้นและตกเป็นทาสสมองกล”) แต่หลายคนก็มองโลกในแง่ดี (“รัฐบาลแค่ต้องจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูเราทุกคน แล้วเราก็จะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายเพราะสมองกลทำทุกอย่างให้หมด”)
ถึงแม้ว่าฝ่ายสนับสนุนจะฟังดูมีเหตุมีผล เพราะสมองกลก็เก่งกว่ามนุษย์เราในหลายเรื่องจริงๆ หลายคนก็ออกมาเตือนว่า ช้าก่อน ในนิยายวิทยาศาสตร์ทั่วไปอะไรที่เกิดได้แปลว่ามันจะเกิดแน่ๆ แต่ชีวิตจริงไม่ได้ง่ายแบบในนิยายวิทยาศาสตร์
ลำพังข้อเท็จจริงที่ว่าสมองกลทำอะไรสักอย่างได้ดีกว่ามนุษย์ ไม่ได้แปลว่ามันจะเข้ามาทำแทนมนุษย์ เพราะมันไม่ได้มีราคาศูนย์บาท สมองกลที่ชาญฉลาดต้องถูกออกแบบ พัฒนา ขาย และบำรุงรักษา แม้แต่ DAO ซึ่งไม่มี “ตัวตน” กายภาพก็ยังต้องอาศัยเครื่องเซิร์ฟเวอร์ในโลกจริง ใช้ไฟฟ้าในโลกจริง ทั้งหมดนี้มีต้นทุนทั้งสิ้น ฉะนั้นในหลายกรณี “ตลาด” จะเป็นตัวตัดสินว่าสมองกลจะทดแทนมนุษย์จริงๆ หรือไม่ จากการประเมินต้นทุนเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับ กฎเศรษฐศาสตร์เรื่องอุปสงค์กับอุปทาน และกฎ “ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ” (comparative advantage) ยังคงอธิบายโลกจริงได้ค่อนข้างดี
บริการโดยสมองกลหรือ DAO อาจทำให้ผู้บริโภคหลายคนสนใจ แต่อีกหลายคนอาจไม่อยากใช้บริการที่ไม่มีหน้าตา ไม่มีคนตัวเป็นๆ ให้คุยด้วย
ฟิลิป เออร์สวอลด์ (Philip Auerswald) นักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัย จอร์จ เมสัน เขียนในหนังสือเรื่อง The Coming Prosperity (2012) อย่างน่าคิดว่า ทุกครั้งในอดีตที่ผ่านมา เมื่อเครื่องจักรหรือสมองกลเข้ามาทดแทนศักยภาพด้านใดด้านหนึ่งของมนุษย์ การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ทุกครั้ง ตั้งแต่การเปลี่ยนจากสังคมเข้าป่าล่าสัตว์มาเป็นสังคมเกษตรกรรม การปฏิวัติอุตสาหกรรม การผลิตแบบแมส ฯลฯ เราจะพบว่ามันให้กำเนิดประสบการณ์ใหม่ๆ และศักยภาพใหม่ๆ ของมนุษย์ ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าในอดีตมาก (เช่น งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และความรู้หลากแขนงในปัจจุบัน) และทำให้คนได้ทำงานที่น่าสนใจมากขึ้น น่าสนใจกว่าประสบการณ์และศักยภาพเดิมซึ่งถูกแทนที่โดยสมองกลไปแล้ว
แล้วเหตุใดการเปลี่ยนเข้าสู่สังคมสมองกลจึงจะแตกต่างไปจากนี้เล่า?
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ กรณีที่ “วัตสัน” (Watson) ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ของบริษัทไอบีเอ็ม สามารถเอาชนะ เคน เจนนิงส์ (Ken Jennings) แชมป์ 74 สมัยของ “Jeopardy!” เกมโชว์ชื่อดังในอเมริกา ได้ในปี 2011
หลังจากที่เขาพ่ายแพ้ให้กับวัตสัน อดีตแชมป์เจนนิงส์ก็ประกาศว่า “ขอต้อนรับสู่โลกที่คอมพิวเตอร์ครองโลกอย่างแท้จริง” และกล่าวเสริมว่า “คนแข่งรายการตอบปัญหาเชาว์อาจเป็นอาชีพแรกที่วัตสันเข้ามาแทนที่ แต่ผมมั่นใจว่าไม่ใช่อาชีพสุดท้ายแน่ๆ”
ทว่าหลังจากนั้น Jeopardy! ก็ไม่ได้กลายเป็นรายการที่ให้ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์มาแข่งกันตอบแต่อย่างใด รูปแบบรายการยังคงใช้มนุษย์อยู่เช่นเดิม คำตอบง่ายๆ คือ คนดูรายการนี้ส่วนใหญ่อยากได้ในสิ่งที่วัตสันไม่มี นั่นคือ บุคลิกภาพ สีหน้าท่าทางของมนุษย์ซึ่งมีความเพี้ยน หลุด และจุดอ่อนอันเป็นปกติธรรมดา ข้อสรุปที่ว่าวัตสันแข่ง Jeopardy! เก่งกว่าคนนั้นถูกต้อง แต่มันขาดสิ่งที่สำคัญสำหรับคนดูที่สุด นั่นคือ “ความเป็นมนุษย์”
ความเป็นจริงทางเศรษฐกิจก็คือ ในเมื่อคนดูอยากดูผู้เข้าร่วมรายการที่เป็นคนจริงๆ มากกว่า และในเมื่อการส่งมนุษย์เข้าแข่งก็มีราคาถูกกว่าการส่งสมองกลเข้าแข่ง (นอกจากเงินที่ไอบีเอ็มต้องใช้ในการจ่ายค่าดูแลรักษาและปรับปรุงวัตสันแล้ว การแข่ง Jeopardy! รอบพิเศษนี้ยังต้องยกทีมไปจัดในแผนกวิจัยของไอบีเอ็ม ใช้สตูดิโอปกติไม่ได้ เพราะต้องวางตัวเซิร์ฟเวอร์ของวัตสันถึง 90 ตัว)
สุดท้ายไอบีเอ็มก็พับแผนที่จะเข้าสู่วงการเกมโชว์ และไม่มีบริษัทไหนลองทำอีกเลย
เฮอร์เบิร์ต ไซมอน (Herbert Simon) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ตอบปริศนาที่ว่า ถ้าหากเครื่องจักรทำได้ทุกอย่างที่มนุษย์ทำได้ แล้วทำไมเราจะไม่เห็นเครื่องจักรทำทุกอย่าง? ไว้ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 โดยอธิบายจากหลัก “ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ” (comparative advantage) กฎเศรษฐศาสตร์ที่ทรงพลังที่สุดกฎหนึ่ง
“ประเด็นที่ว่างานอะไรก็ตามจะใช้คนหรือเครื่องไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลิตภาพโดยเปรียบเทียบเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังขึ้นอยู่กับต้นทุนโดยปรียบเทียบด้วย และต้นทุนก็ขึ้นอยู่กับราคา …ฉะนั้นเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง เครื่องจักรมีผลิตภาพสูงขึ้น ราคาของแรงงานและทุนก็จะปรับตัวเองเพื่อเข้าสู่สมดุลตลาดใหม่ …และราคาตลาดก็จะได้สัดส่วนกับผลิตภาพส่วนเพิ่มของปัจจัยการผลิตนั้นๆ …มนุษย์จะทำงานมากขึ้นในอาชีพและกิจกรรมที่เครื่องอัตโนมัติมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบน้อยที่สุด ..โดยรวม คนสัดส่วนมากกว่าเดิมจะทำอาชีพที่ “ให้บริการเป็นการส่วนตัว” – การใช้ปฏิสัมพันธ์ตัวต่อตัวเป็นส่วนสำคัญของงาน”
เทคโนโลยีทรงพลังก็จริง แต่กฎเศรษฐศาสตร์ก็ทรงพลังไม่แพ้กัน และนั่นคือเหตุผลที่ว่า เราอาจยังไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีงานทำ แม้ในโลกที่สมองกลและ DAO เป็นพลเมืองของโลก.