ThaiPublica > คอลัมน์ > หุ่นยนต์กับอนาคตเศรษฐกิจที่ “ไม่มีการจ้างงาน”

หุ่นยนต์กับอนาคตเศรษฐกิจที่ “ไม่มีการจ้างงาน”

4 กันยายน 2016


ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่า บริษัท Nutonomy ผู้ผลิตซอฟต์แวร์สำหรับยานยนต์ไร้คนขับ ได้ทำการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับบนท้องถนนในสิงคโปร์ และตั้งเป้าว่า ในปี 2018 จะให้บริการรถแท็กซี่ไร้คนขับเต็มรูปแบบ 100 คัน ส่วนญี่ปุ่นก็ประกาศว่า กีฬาโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว ญี่ปุ่นจะใช้หุ่นยนต์ที่ประจำอยู่สนามบินนาริตะทำหน้าที่แนะนำการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งจะมีรถแท็กซี่ขับโดยหุ่นยนต์ ให้บริการวิ่งตามถนนสายต่างๆ ในโตเกียว ส่วนในไทยก็มีข่าวว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เลิกจ้างพนักงานซับคอนแทร็ก 900 คน โดยโตโยต้าแถลงว่าเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ และปฏิเสธข่าวที่ว่าจะมีการนำหุ่นยนต์มาทำงานแทน

รถยนต์ไร้คนขับของ Google ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/1/14/Google_self_driving_car_at_the_Googleplex.jpg
รถยนต์ไร้คนขับของ Google ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/1/14/Google_self_driving_car_at_the_Googleplex.jpg

ในอดีตนั้น คนส่วนหนึ่งเห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น พวกเครื่องจักรกลต่างๆ จะมาทำลายการจ้างงาน เพราะสามารถเข้ามาแทนการใช้แรงงานของคนเรา แต่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาก็พิสูจน์ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้น เมื่อมีการนำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม แรงงานก็สามารถพัฒนายกระดับทักษะให้สูงขึ้น เพื่อทำงานร่วมกับเครื่องจักรกล พร้อมกับมีรายได้สูงขึ้นตามไปด้วย

แต่ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ทำให้เกิดสมาร์ทโฟน เครื่องจักรอัจฉริยะ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ นาโนเทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ต ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่แตกต่างไปจากเดิม เครื่องจักรและอุปกรณ์ในยุคคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ กำลังจะเข้ามาแทนที่การทำงานใช้แรงงานและสมองของมนุษย์ อันจะนำไปสู่ภาวะที่คนเราไม่มีงานทำถาวร เพราะการว่างงานที่จะเกิดขึ้นมาจากโครงสร้างใหม่ทางเศรษฐกิจ ที่มักเรียกกันว่า “การว่างงานจากโครงสร้าง”

แต่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปและพวกที่มองอนาคตในแง่ดีมักจะออกมาพูดตอบโต้ว่า การวาดภาพอนาคตที่เลวร้ายดังกล่าวเป็นเรื่องที่แทบไม่มีความเป็นไปได้เลย เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มักนำไปสู่ความมั่งคั่งและการมีงานทำมากขึ้นติดตามมาเสมอ นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้เป็นพวกที่ชื่นชมในเรื่องความก้าวหน้าด้านอุปกรณ์การผลิตและเทคโนโลยีสมัยใหม่ คนพวกนี้จะประหลาดใจมากหากได้ไปดูโครงการ “สร้างงาน” ในประเทศกำลังพัฒนา แทนที่จะเห็นรถแม็คโครขุดดินขนาดใหญ่ กลับเห็นชาวบ้านจำนวนมากใช้แรงงานขุดแอ่งเก็บน้ำสาธารณะ

การเร่งความเร็วของคอมพิวเตอร์

Rise of the Robots หนังสือ Business Book of the Year 2015 ที่มาภาพ: Twitter
Rise of the Robots หนังสือ Business Book of the Year 2015 ที่มาภาพ: Twitter

ความก้าวหน้าทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน ล้วนมาจากสมรรถนะและความเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ที่พัฒนามาถึงจุดทำให้เศรษฐกิจโดยรวมไม่ต้องอาศัยการประกอบการที่ใช้แรงงานมาก (labor intensive) อีกต่อไป หนังสือที่ได้รับรางวัล Business Book 2015 ชื่อ Rise of the Robots (Basic Books) ผู้เขียนคือMartin Ford กล่าวไว้ว่า สมรรถนะของคอมพิวเตอร์วัดกันด้วยสิ่งที่เรียกว่า “กฎของมัวร์” (Moore’s Law) คือมีอัตราเพิ่มที่รวดเร็วแบบเท่าตัวภายในเวลาทุกๆ 2 ปี ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือ เราฝากเงินในธนาคาร 1 เซนต์ แต่ละวันผ่านไปจะมีมูลค่าเพิ่มเท่าตัว ภายในไม่ถึงเดือน เงินในบัญชีจะเพิ่มมากกว่า 1 ล้านเหรียญฯ

ในปี 1993 ไม่มีใครเคยได้ยินคำว่า “อินเทอร์เน็ต” โทรศัพท์มือถือก็ขนาดใหญ่เทอะทะ และไมโครซอฟต์เพิ่งจะออกระบบปฏิบัติการรุ่น Window 3.1 แต่ทุกวันนี้ หนังสือในห้องสมุดของ British Museum ทั้งหมดสามารถเอามาเก็บไว้ได้ใน external hard disk กฎของมัวร์ทำให้เห็นถึงเส้นทางความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ว่าเป็นแบบขั้นบันไดที่ต่อยอดไปเรื่อยๆ เราจึงยังไม่เห็นจุดสิ้นสุดหรือการชะงักงันของความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เลย

เมื่อเปรียบเทียบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในด้านอื่นๆ จะมีลักษณะการพัฒนาแบบที่เรียกว่า S-Curves การพัฒนาของเครื่องบินเป็นตัวอย่างที่ดี เครื่องบินแบบใบพัดเริ่มต้นจากปี 1905 โดยเครื่องบินของพี่น้องตระกูลไรท์สามารถบินได้เป็นเวลา 40 นาที ระยะทาง 24 ไมล์ การพัฒนาเครื่องยนต์ใบพัดมาถึงจุดสูงสุดที่เครื่องบินรบของอังกฤษในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชื่อ Spitfire หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบ S-Curves ใหม่ขึ้นมา คือเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์ไอพ่น ทุกวันนี้ยังไม่มีความก้าวหน้าใหม่ๆ ทางเทคโนโลยีที่จะมาแทนเครื่องยนต์ไอพ่น

พัฒนาการของหุ่นยนต์อัจฉริยะ

Baxter หุ่นยนต์สาระพัดประโยชน์ ที่มาภาพ : wikipedia
Baxter หุ่นยนต์สาระพัดประโยชน์ ที่มาภาพ : wikipedia

ที่ผ่านมา หุ่นยนต์อุตสาหกรรมทำงานและเคลื่อนไหวได้จำกัด สามารถทำงานที่เฉพาะอย่างเท่านั้น เช่น ทำความสะอาดพื้นบ้าน ทั้งนี้ เพราะหุ่นยนต์ยังไม่สามารถมองภาพแบบ 3 มิติ ให้ไปทำงานเก็บผลไม้ก็ยังแยกไม่ออกว่าผลไม้นั้นสุกแล้วหรือยังดิบอยู่ แต่ไมโครซอฟต์ได้ผลิตเครื่องเล่นวิดีโอเกม Xbox ที่สามารถมองภาพได้ 3 มิติ โดยอาศัยเทคโนโลยีเรียกว่า Kinect ที่เป็นกล้องจับภาพการเคลื่อนไหวเชิงลึก เนื่องจากเทคโนโลยี Kinect สามารถมองการเคลื่อนไหวของวัตถุเป็น 3 มิติ วิศวกรหุ่นยนต์จึงอาศัยเทคโนโลยี Kinect มาสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนไหวคล้ายคนเรา และสามารถมีปฏิกิริยาต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ

หุ่นยนต์อุตสาหกรรมต้องอาศัยการติดตั้งโปรแกรมการทำงานที่ซับซ้อน แต่หุ่นยนต์ชื่อ Baxter ที่ผลิตโดยบริษัท Rethink Robotics สามารถทำงานได้หลายแบบที่จำเจซ้ำๆ ซากๆ เช่น งานการผลิต การบรรจุสินค้าในกล่อง หรือการวางของบนสายพาน เป็นต้น หุ่นยนต์ Baxter สามารถเปลี่ยนงานที่ทำได้ง่ายๆ การฝึกฝนหุ่นยนต์ Baxter ให้ทำงานใหม่ ก็เพียงแค่การย้ายมือหุ่นยนต์ให้เคลื่อนไหวในท่าใหม่เท่านั้นเอง

ตู้ให้เช่า DVD ของ Redbox
ตู้ให้เช่า DVD ของ Redbox

หุ่นยนต์ที่ผลิตออกมาในปัจจุบันอาจทำหน้าที่ต่างกัน แต่มีระบบปฏิบัติการเดียวกันเรียกว่า ROS หรือ Robot Operating System ระบบ ROS ทำงานคล้ายๆ กับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของไมโครซอฟต์ หรือแอนดรอยด์ของกูเกิล แต่ ROS เป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิดกว้าง ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากมันได้ นักพัฒนาซอฟต์แวร์จึงสามารถนำไปปรับปรุง สร้างแอปพลิเคชันใหม่ๆ ทำให้ ROS กลายเป็นระบบปฏิบัติการที่เป็นมาตรฐานในการพัฒนาหุ่นยนต์ไปแล้ว เพราะเหตุนี้ การพัฒนาของหุ่นยนต์จึงรวดเร็วมาก เหมือนกับการพัฒนาสมาร์ทโฟน จนนับวัน หุ่นยนต์จะสามารถเข้ามาทำงานแทนคน ทั้งงานใช้แรงงานและงานในสำนักงาน

หุ่นยนต์ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ หุ่นยนต์ชื่อ Baxter ที่ผลิตโดยบริษัทสตาร์ทอัป Rethink Robotics สามารถทำแฮมเบอร์เกอร์ได้ 360 ชิ้นใน 1 ชั่วโมง ตู้ให้เช่า DVD ของ Redbox สามารถให้บริการแก่ลูกค้าที่มาเช่า DVD ได้วันละ 2 ล้านคน ในพื้นที่การค้าขนาดเดียวกัน Blockbuster เคยเปิดร้านทำธุรกิจให้เช่า DVD อยู่หลายสิบร้าน มีพนักงานนับร้อยๆ คน หุ่นยนต์กำลังมีการพัฒนาที่ซับซ้อนมากขึ้นในเรื่องการมองเห็นภาพ ซึ่งจะช่วยให้หุ่นยนต์สามารถจำแนกออกว่าผลไม้สุกแล้วหรือยัง จากนั้นก็เก็บและบรรจุผลไม้ลงกล่อง การทำงานของหุ่นยนต์เป็นไปอย่างรวดเร็ว และค่าใช้จ่ายก็ถูกกว่าการจ้างคนงานมาเก็บ

ระบบ “คนชนะเอาไปหมด”

Martin Ford เขียนไว้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้เห็นถึงอิทธิพลและการกระจุกตัวของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในธุรกิจสมัยใหม่ ในปี 2012 การทำธุรกิจของกูเกิลมีผลกำไรเกือบ 14 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีพนักงานเพียง 38,000 คน เทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในอดีตอย่าง General Motors ในปี 1979 ที่รุ่งเรืองมาก มีพนักงาน 840,000 คน มีผลกำไร 11 พันล้านเหรียญสหรัฐ

เป็นความจริงที่ว่า อินเทอร์เน็ตไม่ได้ให้โอกาสเพียงแค่บริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้น ทุกวันนี้ใครๆ ก็สามารถขายของบนอินเทอร์เน็ต เขียนซอฟต์แวร์ พิมพ์หนังสือ ebook หรือเอาของไปขายใน eBay แต่โอกาสทางเศรษฐกิจแบบนี้ต่างโดยสิ้นเชิงจากงานที่มั่นคงของบริษัทผลิตรถยนต์ หลักฐานที่ปรากฏชัดเจนก็คือว่า รายได้ที่มาจากธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มการกระจายตัวหรือแบ่งปันแบบ “คนชนะเอาไปหมด” และมีรูปลักษณ์แบบตัวยีราฟหางยาว

ถ้าเราดูสถิติตัวเลขคนที่เข้าไปเยือนเว็บไซต์ต่างๆ รายได้จากโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต เพลงหรือภาพยนตร์ที่ดาวน์โหลดจาก iTunes หรือหนังสือที่ซื้อจาก Amazon เราจะเห็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็นกราฟที่มีหน้าตาแบบ “ยีราฟหางยาว” (Long-Tail Distribution) ธุรกรรมลักษณะแบบที่ว่านี้กลายเป็น Business Model ของบริษัทที่ครอบงำธุรกิจอินเทอร์เน็ต หรือบริษัทที่มีฐานะเป็น “ศูนย์กลางธุรกรรมออนไลน์”

รายได้การขาย online ของยักษ์ใหญ่ Amazon เป็นแบบ Long-Tail Model
รายได้การขาย online ของยักษ์ใหญ่ Amazon เป็นแบบ Long-Tail Model

บริษัทอย่าง Amazon สามารถมีรายได้จากการขายหนังสือในทุกจุดของตัว “ยีราฟหางยาว” ส่วนหัวของยีราฟคือรายได้ประมาณ 20-30% ที่มาจากการขายหนังสือประเภท “หนังสือขายดี” นับจากลำคอจนถึงปลายหางของยีราฟ ที่มีสัดส่วนการขายจาก 15% จนถึง 0.1% คือ บรรดาหนังสือที่พิมพ์มาแล้วหลายปี หนังสือคลาสสิก หรือหนังสือหายาก ที่หาซื้อทั่วไปไม่ได้ แต่ยังมีลูกค้าต้องการอ่าน

ทุนนิยมที่ “คนไม่มีกำลังซื้อ”

มีเรื่องราวเก่าๆ ที่เล่ากันเกี่ยวกับเฮนรี ฟอร์ด ที่ 2 (Henry Ford II) ซีอีโอของบริษัท Ford Motor กับวอลเตอร์ รูเทอร์ (Walter Routher) หัวหน้าสหภาพแรงงานรถยนต์ ที่ไปเยี่ยมโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ เฮนรี ฟอร์ด ที่ 2 ถามวอลเตอร์แบบเหน็บแนมว่า “วอลเตอร์ คุณจะทำอย่างไรให้พวกหุ่นยนต์จ่ายค่าสมาชิกสหภาพแรงงาน” วอลเตอร์พูดสวนกลับไปว่า “เฮนรี แล้วคุณจะทำอย่างไรให้พวกหุ่นยนต์ซื้อรถยนต์ของคุณ”

การนำหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิตหรือให้บริการ ส่งผลกระทบประการแรก คือ หุ่นยนต์หรืออุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ เข้ามาทำงานแทนการทำงานของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องทำแฮมเบอร์เกอร์ Baxter หรือว่าตู้เช่า DVD Redbox ส่วนคำพูดของวอลเตอร์ รูเธอร์ สะท้อนผลกระทบประการที่ 2 ที่หุ่นยนต์มีต่อสังคมโดยรวม คือ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ผู้บริโภคไม่มี “กำลังซื้อ”

เศรษฐกิจแบบทุนนิยมทำให้สังคมมีความมั่งคั่งมากขึ้น และชีวิตความเป็นอยู่ของคนโดยทั่วไปสูงขึ้น การคิดค้นระบบทุนนิยมขึ้นมาอาจเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์พอๆ กับการยอมรับว่า “กงล้อ” คือนวัตกรรมสำคัญสุดในประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมาเทคโนโลยีกับเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดทำงานเคียงข้างกันและกัน ทำให้คนทั้งหลายมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้น “ทุน” กับ “แรงงาน” ดำรงอยู่แบบคู่ฝาแฝด อิงอาศัยกันและกัน แต่เศรษฐกิจแบบกลไกตลาดไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากปราศจากตลาดแรงงานที่อยู่ได้อย่างอิสระในตัวมันเอง เพราะ “งาน” คือแหล่งที่มาของ “รายได้” หรือ “กำลังซื้อ” ที่คนเราจะนำไปใช้จ่ายเพื่อบริโภคสิ่งต่างๆ ที่สังคมผลิตขึ้นมา หากว่าจุดหนึ่งในอนาคต หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรเข้ามาทำงานแทนสิ่งที่คนเราเคยทำอยู่ สิ่งนี้น่าจะเป็นภัยคุกคามต่อรากฐานของระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่

เมื่อเดือนมิถุนายน 2016 สวิตเซอร์แลนด์ได้มีการลงประชามติเรื่อง การประกันรายได้ชั้นต่ำของประชาชน ที่ชาวสวิสแต่ละคนจะได้รับราวๆ เดือนละ 2,555 เหรียญสหรัฐจากรัฐ ไม่ว่าจะทำงานหรือไม่ทำงานก็ตาม แม้ประชามติในเรื่องนี้จะตกไป เพราะชาวสวิส 77% คัดค้าน แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงการคิดเรื่องรัฐสวัสดิการที่เป็นรูปแบบใหม่ของประเทศตะวันตก ที่จะให้หลักประกันแก่พลเมือง ในยามที่อาชีพการงานมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจและจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ นอกจากนี้ ยังทำให้นโยบายรัฐสวัสดิการอื่นๆ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ เงินช่วยเหลือค่าที่พักอาศัย ฯลฯ กลายเป็นเรื่องไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ในยามที่เศรษฐกิจพัฒนาไปรวดเร็วมาก เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบการเมืองโดยทั่วไป มักปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ แต่ความคิดเรื่องการประกันรายได้ขั้นต่ำแสดงให้เห็นว่า อย่างน้อย ระบอบการเมืองของสวิตเซอร์แลนด์ได้พยายามที่จะก้าวรุดหน้าไปให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจดังกล่าว