ThaiPublica > เกาะกระแส > ทำไมประเทศอุตสาหกรรมจึงต่อต้านนโยบาย Made in China 2025 ของจีน

ทำไมประเทศอุตสาหกรรมจึงต่อต้านนโยบาย Made in China 2025 ของจีน

6 สิงหาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : http://www.china-briefing.com/news/2017/05/18/made-in-china-2025-implications-for-foreign-businesses.html

นิตยสาร Nikkei Asian Review รายงานว่า ปัญหาสงครามทางการค้า ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เป็นเรื่องที่ก้าวไปไกล และลึกกว่าปัญหาที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีน แต่เป็นปัญหาที่สหรัฐฯ วิตกกังวลต่อนโยบายอุตสาหกรรมของจีน ที่เรียกว่า “Made in China 2025” หรือ “ผลิตในจีน 2025” ที่จีนมีเป้าหมายจะสร้างอุตสาหกรรมไฮเทคสำคัญ 10 ด้าน เช่น หุ่นยนต์อุตสาหกรรม หรือเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น

นายปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ที่ปรึกษาการค้าของทำเนียบขาว กล่าวกับ Nikkei ว่า “นับวัน จีนจะกลายเป็นภัยคุกคาม โดยการครอบงำมากขึ้นต่ออุตสาหกรรมของอนาคต เช่น ปัญญาประดิษฐ์ รถยนต์อัตโนมัติ ระบบบล็อกเชน หุ่นยนต์ และการผลิตด้านไฮเทค”

ในปี 2011 นาวาร์โรเคยเขียนหนังสือชื่อ Death by China โดยกล่าวว่า “อาวุธทำลายการจ้างงานของจีนประกอบด้วย การอุดหนุนการส่งออกที่ผิดกฎหมาย การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ การขาดการปกป้องสิ่งแวดล้อม และการใช้แรงงานทาส หัวใจของการปกป้องอุตสาหกรรมของจีนคือ การครอบงำค่าเงิน เพื่อกระตุ้นการส่งออก และนำไปสู่ระเบิดเวลาของการขาดดุลการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่วันหนึ่งเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์”

“Made in China 2025”

เอกสารของ Center for Strategic & International Studies (CSIS) ชื่อ Made in China 2025 กล่าวว่า “Made in China 2025” คือการริเริ่มของทางการจีน ที่จะยกระดับอุตสาหกรรมของจีนอย่างรอบด้าน นโยบายอุตสาหกรรมนี้ได้แบบอย่างมาจากแผนงานด้านอุตสาหกรรมของเยอรมัน เรียกว่า “อุตสาหกรรม 4.0” (Industry 4.0) ที่มีการประกาศใช้ในปี 2013 ส่วนนโยบาย “Made in China 2025” รัฐบาลจีนได้เห็นชอบและอนุมัติเมื่อปี 2015

หัวใจสำคัญของ “อุตสาหกรรม 4.0” ของเยอรมัน คือ การผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ โดยการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการผลิต ในบริบทของเยอรมันคือ การนำเอา Internet of Things มาเป็นตัวเชื่อมระหว่างธุรกิจ SME ของเยอรมันกับการผลิตเพื่อสนองตลาดโลก การผลิตจะเป็นแบบ smart factory เครื่องจักรสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต สามารถโยงกับระบบการผลิตทั้งหมด และตัดสินใจในการผลิตเองได้เลย

เอกสารวิจัยของสถาบัน MERICS (Mercator Institute for China Studies) ชื่อ Made in China 2025 กล่าวว่า แผนอุตสาหกรรมของจีนเรียกว่า Made in China 2025 เป็นความพยายามของจีนที่จะอาศัยเทคโนโลยีไฮเทคด้านอุตสาหกรรม มายกระดับเศรษฐกิจจีน ให้กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าชาติหนึ่งของโลก ทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรม นโยบายอุตสาหกรรมนี้จึงเป็นการท้าทายฐานะนำของต่อบริษัทในประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ

ที่มาภาพ : https://www.merics.org/sites/default/files/2017-09/MPOC_No.2_MadeinChina2025.pdf

ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ของจีน เล็งไปที่เป้าหมายการสร้างอุตสาหกรรมไฮเทค ที่ปัจจุบัน มีบทบาทสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรม เช่น ระบบอัตโนมัติ การบิน เครื่องจักรกล หุ่นยนต์ อุปกรณ์เดินเรือและรถไฟแบบไฮเทค ยานยนต์ประหยัดพลังงาน อุปกรณ์การแพทย์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

การจะสร้างความทันสมัยด้านการผลิตอุตสาหกรรม จีนจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ผู้ผลิตของจีนเองยังไม่สามารถสนองความต้องการนี้ เพราะระดับเทคโนโลยีการผลิตที่ยังล้าหลัง เช่น การผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของจีน ชิ้นส่วนที่มาจากซัพพลายเออร์ต่างประเทศ มีอยู่ประมาณ 73% ที่มาจากซัพพลายเออร์จีนเอง 27% เอกสารของ MERICS กล่าวว่า ในทางหลักการ การที่จีนสามารถสร้างนวัตกรรมการผลิตขึ้นมาเองย่อมเป็นผลดีแก่โลกโดยรวม หากจีนดำเนินการในเรื่องนี้ บนหลักการการค้าที่เปิดกว้าง และการแข่งขันที่ยุติธรรม

แต่นโยบาย Made in China 2025 เน้นเรื่อง “นวัตกรรมจากในประเทศ” และ “การพึ่งตัวเอง” ที่ต้องการให้อุปกรณ์และชิ้นส่วนที่เป็นแกนการผลิตไฮเทคมาจากผู้ผลิตของจีนเอง เช่น ภายในปี 2025 40% ตัวชิปของสมาร์ทโฟน หรือ 70% ของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม มาจากผู้ผลิตของจีน นโยบาย Made in China 2025 จึงมุ่งทำให้เทคโนโลยีของจีนเข้ามาทดแทนต่างประเทศ และยังเป็นการปูทางให้เทคโนโลยีของบริษัทจีนก้าวสู่ตลาดโลก

นโยบาย Made in China 2025 ยังส่งเสริมให้นักลงทุนจีนเข้าไปซื้อกิจการบริษัทไฮเทคในต่างประเทศ โดยนักลงทุนได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลจีน การลงทุนด้านไฮเทคจึงเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการเมืองของรัฐบาลจีน ในระยะยาว จีนต้องการที่จะมีอำนาจควบคุมห่วงโซ่อุปทาน และเครือข่ายการผลิตด้านไฮเทค ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีผลกำไรมาก ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำในยุโรปและสหรัฐฯ จึงถือว่า ความพยายามที่จะยกระดับอุตสาหกรรมของจีนเป็นปัญหาท้าทายที่สำคัญมากสุด

Made in China 2025 จะสำเร็จหรือไม่?

เอกสาร Made in China 2025 ของสถาบัน MERICS เห็นว่า นโยบายอุตสาหกรรมนี้ของจีนจะส่งผลกระทบต่อตลาดในประเทศจีนและตลาดต่างประเทศ จีนคงจะประสบความสำเร็จในการยกระดับอุตสาหกรรมบางอย่าง ซึ่งจะทำให้การผลิตของจีน มีการผลิตประสิทธิภาพและผลิตภาพมากขึ้น แต่อาจล้มเหลวที่จะยกระดับอุตสาหกรรมในขอบเขตอย่างกว้างขวางรอบด้าน

จุดอ่อนของจีนคือขาดการริเริ่มและการลงทุนระดับล่างขึ้นมา ปัจจัยด้านโครงสร้างจะทำให้ Made in China 2025 ขาดประสิทธิผล การยกระดับอุตสาหกรรมจะทำให้เกิดการสูญเสียการจ้างงานแบบกึ่งชำนาญการ ระบบการศึกษาของจีนก็ขาดการฝึกฝนทักษะแรงงานที่จะทำงานกับเครื่องจักรกลที่ซับซ้อน เพราะฉะนั้น จีนคงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ในปี 2025

การต่อต้านจากต่างประเทศ

ในบทความของ Council on Foreign Relations ชื่อ Why Does Everyone Hate Made in China 2025? กล่าวว่า การกำหนดโควตาให้จีนพึ่งตัวเองด้านไฮเทคได้ 70% เป็นการละเมิดกฎของ WTO เป็นนโยบายที่จะมีผลกระทบอย่างมากต่อเยอรมันและเกาหลีใต้ ประเทศที่ภาคส่วนไฮเทคมีสัดส่วนสำคัญในการผลิตและการส่งออก ทุกวันนี้ ห่วงโซ่อุปทานของสินค้าไฮเทคจะครอบคลุมหลายประเทศ เช่น ชิ้นส่วนสำคัญผลิตจากประเทศหนึ่ง และนำไปประกอบอีกประเทศหนึ่ง นโยบาย Made in China 2025 ที่จีนให้การอุดหนุนผู้ผลิตในประเทศและกีดกันบริษัทต่างชาติ จึงเป็นการทำลายห่วงโซ่อุปทานดังกล่าว

แผนอุตสาหกรรม Made in China 2025 ไม่ได้มีเป้าหมายทำให้จีนพัฒนาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจไฮเทค แบบเยอรมัน เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น ที่การพัฒนาอาศัยความสามารถนี้ด้วยตัวเอง แต่เป็นนโยบายการพึ่งตัวเองของจีน โดยเป็นการทดแทนเทคโนโลยีของต่างชาติ นโยบายนี้จึงสร้างปัญหาแก่ประเทศที่ส่งออกสินค้าไฮเทค หรืออาศัยชิ้นส่วนไฮเทคจากห่วงโซ่อุปทานของโลก

นโยบาย Made in China 2025 จึงสร้างปัญหาแก่ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ สมาชิกหอการค้าเยอรมันคนหนึ่งกล่าวกับนิตยสาร Spiegel ว่า เมืองอย่างเสิ่นเจิ้นเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ทำไมประเทศที่เป็น “โรงงานโลก” เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม Made in China 2025 กำลังทำให้เยอรมันมีบทบาทที่ตัวเองไม่ถนัด คือ กลายเป็นแค่ซัพพลายเออร์หนึ่งของจีน

เอกสารประกอบ
Made in China 2025, Mercator Institute for China Studies, December 2016.
Made in China 2025, 2015, Center for Strategic & International Studies.
Team Trump seeks to roll back “Made in China 2025”, May 02, 2018, Nikkei Asian Review.