ThaiPublica > เกาะกระแส > ความสำเร็จของ “โมเดลเนยแข็งสวิส” มาตรการหลายชั้นเพื่อรับมือโควิด-19

ความสำเร็จของ “โมเดลเนยแข็งสวิส” มาตรการหลายชั้นเพื่อรับมือโควิด-19

11 ธันวาคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

มาตรการรับมือโควิด-19 แบบโมเดลเนยแข็งสวิส ที่มาภาพ : nytimes.com

นายเทดรอส อัดฮานอม จิเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ “วิกฤติด้านสาธารสุข ที่ในศตวรรษหนึ่งจะเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่ง” วิกฤติสาธารณสุขของโลกครั้งสุดท้ายคือการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ในปี 1918 ที่ 1 ใน 3 ของประชากรโลกติดเชื้อ และมีคนเสียชีวิตกว่า 50 ล้านคน

แต่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 เกิดขึ้นโดยที่โลกเราไม่ได้มีการเตรียมตัวรับมือมาก่อน การป้องกันการแพร่ะระบาด อย่างเช่น การตรวจเชื้อและติดตามการติดเชื้อ ก็เป็นมาตรการที่ไม่มีประเทศไหน ที่สามารถจะดำเนินการได้อย่างเต็มที่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างกว้างขวางหมายความว่าแต่ละประเทศต่างก็ประสบปัญหาวิกฤติสุขภาพในเวลาเดียวกัน ทุกประเทศจึงต้องพึ่งตัวเองในการที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาด โดยใช้มาตรการล็อกดาวน์ และสั่งให้คนอยู่กับบ้าน

มาตรการโมเดลเนยแข็งสวิส

บทความของ The New York Times ชื่อ The Swiss Cheese Model of Pandemic Defense บอกว่า ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจ อย่างไวรัสโควิด-19 แม้มาตรการป้องกันที่เรียกว่า “โมเดลเนยแข็งสวิส” (The Swiss Cheese Model) จะไม่ทำให้เกิดความปลอดภัยอย่างสมบูรณ์ 100% แต่ก็เป็นมาตรการที่ช่วยรักษาชีวิตคนเรา โมเดลนี้ยอมรับว่า ไม่มีมาตรการใดมาตรการหนึ่งที่สมบูรณ์ ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาด แต่ละมาตรการเปรียบเหมือนแผ่นบางๆของเนยแข็งสวิส แต่ละแผ่นเนยแข็ง ล้วนมีจุดอ่อนและช่องโหว่ เมื่อผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์พูดถึงการเอาชนะโควิด-19 ก็จะอ้างถึงมาตรการป้องกันแบบโมเดลเนยแข็งสวิส

การเปรียบเทียบมาตรการรับมือโควิด-19 เหมือนกับ “เนยแข็งสวิส” ทำให้เราเข้าใจง่ายขึ้นเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่ใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการป้องกัน แต่ละมาตรการ ที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาด ก็เหมือนกับแต่ละแผ่นของเนยแข็งสวิส มาตรการป้องกันของแต่ละอย่าง มีความไม่สมบูรณ์ มีช่องโหว่ เหมือนเนยแข็งสวิสที่มีรูโหว่ หากช่องโหว่นั้นมาอยู่ในตำแหน่งแนวเดียวกัน ความเสี่ยงของการติดเชื้อจากการแพร่ระบาด จะเพิ่มมากขึ้น

แต่เมื่อมีการใช้มาตรการป้องกันหลายอย่างมารวมกัน เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากาก การล้างมือ การตรวจเชื้อกับติดตามเชื้อ การระบายอากาศ และการให้ข่าวสารของรัฐ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดลงได้อย่างมาก เหมือนกับแผ่นเนยแข็งสวิสหลายแผ่น ถูกนำมาซ้อนๆ กัน วัคซีนก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการป้องกัน เหมือนกับแผ่นเนยแข็งสวิสอีกแผ่นหนึ่ง

ดร. จูเลีย เกอร์เบอร์ดิง (Julia Gerberding) ผู้บริหารของบริษัทยา Merck กล่าวว่า “จากนั้นไม่นาน เราจะได้สร้างสิ่งกีดขวางที่ผ่านทะลุไม่ได้ขึ้นมา และคุณก็จะสามารถเอาชนะการแพร่ระบาดของไวรัสได้” แต่ทว่า การที่จะเอาชนะโควิด-19 ได้นั้น จะต้องอาศัยมาตรการป้องกันทั้งหมด ไม่ใช่มาตรการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่คนทั่วไปมักเข้าใจว่า วันแห่งความมหัศจรรย์กำลังจะมาถึง เมื่อมีวัคซีน 300 ล้านโดสขึ้นมาทันทีทันใด ทำให้เราสามารถกลับไปทำงาน และใช้ชีวิตตามปกติ แต่ไม่มีทางที่สภาพการณ์ที่เข้าใจกันแบบนี้ จะเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน

ส่วนบิลล์ ฮานาจ (Bill Hanage) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของฮาร์วาร์ด กล่าวถึงแนวคิดโมเดลเนยแข็งสวิสว่า ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ (1) ส่วนที่เป็นความรับผิดชอบของแต่ละคน เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือการสวมหน้ากาก เป็นต้น และ (2) ส่วนที่เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน เช่น การตรวจและติดตามเชื้อ การแจ้งข่าวสารและการสนับสนุนการเงินของรัฐ

ความเป็นมาของแนวคิดเนยแข็งสวิส

แนวคิด “โมเดลเนยแข็งสวิส” มาจากศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชื่อ เจมส์ รีสัน (James Reason) มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ที่เขียนไว้ในหนังสือ Human Error เกี่ยวกับอุบัติเหตุร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นมา เช่น การระเบิดของกระสวยอวกาศ และการระเบิดของโรงงานไฟฟ้าปรมาณูเชอร์โนบิล แนวคิดนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของ “โมเดลเนยแข็งสวิสเรื่องอุบัติเหตุ” แต่ละช่องโหว่ของแผ่นเนยแข็ง คือ “ความผิดพลาด” เมื่อความผิดพลาดเกิดการสะสมขึ้นมา ก็นำไปสู่อุบัติเหตุที่ร้ายแรง

ต่อมา โมเดลเนยแข็งสวิสกลายมาเป็นโมเดล ที่ใช้ในการวิเคราะห์และบริหารความเสี่ยงในด้านการบิน การบริการสาธารณสุข และการให้บริการฉุกเฉิน ฯลฯ แนวคิดนี้เปรียบเทียบระบบการทำงานในด้านต่างๆ ของมนุษย์เรา เป็นเหมือนกับแผ่นเนยแข็งสวิส ที่แนบติดกันอยู่หลายแผ่น ความเสี่ยงจะลดน้อยลง เมื่อช่องโหว่ในแผ่นเนยแข็งไม่ได้อยู่ในตำแหน่งจุดเดียวกัน ช่องโหว่หรือจุดอ่อนในแผ่นเนยแข็งแผ่นหนึ่ง ไม่สามารถทำให้เกิดความล้มเหลว เพราะจะถูกเนยแข็งอีกแผ่นที่อยู่ถัดมาสกัดไว้

เจมส์ รีสัน ตั้งสมมติฐานไว้ว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่มีสาเหตุ ที่เราสามารถสอบสวนไปถึงความล้มเหลว ที่เกิดขึ้นจากสาเหตุใดสาเหตหนึ่งที่มาจาก 4 ด้านด้วยกัน คือ ด้านองค์กร การกำกับควบคุม เงื่อนไขก่อนเกิดเหตุการณ์ และการกระทำเฉพาะอย่าง เช่น สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุด้านการบิน ด้านเงื่อนไขก่อนเกิดเหตุการณ์ เช่น ความอ่อนล้าของนักบิน หรือด้านการกำกับควบคุม ได้แก่ การจัดนักบินที่ขาดประสบการณ์ ทำการบินในช่วงกลางคืนที่มีอากาศแปรปรวน ฯลฯ

ประสิทธิผลของโมเดลเนยแข็งสวิส

ตามโมเดลเนยแข็งสวิส มาตรการที่ใช้ป้องกันไม่ให้เกิดความล้มเหลว คือการสร้างสิ่งขวางกั้น แผ่นเนยแข็งสวิสแต่ละแผ่น จะทำหน้าที่ดังกล่าว ส่วนช่องโหว่ในแผ่นเนยแข็งสวิสคือ จุดอ่อนที่มีอยู่ในแต่ละภาคส่วนของระบบทั้งหมด ตัวระบบเองจะทำให้เกิดความล้มเหลวขึ้นมา เมื่อช่องโหว่ในเนยแข็งแต่ละแผ่น อยู่ในตำแหน่งที่สอดคล้องกัน ทำให้สิ่งที่เป็นอันตรายสามารถผ่านทะลุได้ตลอดแผ่นเนยแข็ง

เอียน แม็กเคย์ (Ian M. MacKay) นักไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ ออสเตรเลีย ยกตัวอย่างว่า การสวมหน้ากากคือแผ่นเนยแข็งแผ่นหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เป็นสิ่งกีดขวางการแพร่ระบาดของโควิด-19 หน้ากากช่วยลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากคนอื่น แต่หากสวมใส่ไม่ดี หรือหน้ากากไม่มีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้คือ “ช่องโหว่” ของแผ่นเนยแข็ง ดังนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด จึงต้องใช้แผ่นเนยแข็งมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ช่องโหว่ของแต่ละมาตรการ อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ป้องกันไม่ให้ไวรัสหลุดออกแพร่ระบาดได้

เอียน แม็กเคย์ กล่าวให้คำแนะนำว่า บทเรียนจากเดือนมีนาคมเป็นต้นมา การเว้นระยะห่างเป็นมาตรการป้องกันที่ได้ผลมากที่สุด เพราะไวรัสไม่สามารถเดินทางได้เอง การเว้นระยะห่างจากคนอื่น ทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงและจากละอองฝอย หลังจากนี้ เราก็มาพิจารณาเรื่องการอยู่ภายในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง เช่น รถโดยสาร โรงยิม ที่ทำงาน หรือภัตตาคาร เพราะเรารู้ว่า ละอองลอย (aerosol) ของโควิด-19 ทำให้คนเราสามารถติดเชื้อได้ และตัวละอองลอยเป็นสาเหตุทำให้เหตุการณ์ใดหนึ่ง เกิดการระบาดครั้งใหญ่

ส่วนความสำเร็จจากประสิทธิผลของอินโฟกราฟิกเนยแข็งสวิส ไม่ได้อยู่ที่มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นความสำเร็จที่มาจากการใช้มาตรการป้องกันหลายอย่างพร้อมกัน หรือแผ่นเนยแข็งสวิสหลายแผ่นที่ประกบกันอยู่

เอกสารประกอบ
The Swiss Cheese Model of Pandemic Defense, Dec. 5. 2020, nytimes.com
Swiss cheese model, wikipedia.org