ThaiPublica > เกาะกระแส > หลากมุมมองของสังคมต่อการบูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณฯ เมื่อคุณค่าทางศิลปกรรมหายไป?

หลากมุมมองของสังคมต่อการบูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณฯ เมื่อคุณค่าทางศิลปกรรมหายไป?

7 กันยายน 2017


ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Sayan Praicharnjit

กว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โครงการ “บูรณะพระปรางค์และพระมณฑปวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร”(ปี พ.ศ.2556-2560) โดยกรมศิลปากร ถูกสังคมวิจารณ์ผ่านสื่อสาธารณะอย่างกว้างขวางหลากหลาย มีการนำภาพก่อนและหลังการบูรณะมาเปรียบเทียบรายละเอียดให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม

ขณะที่กลุ่มภาคประชาสังคมศึกษาการบูรณะพุทธปรางค์วัดอรุณฯ ชี้ว่า กรมศิลปากรไม่ได้ศึกษาวิจัยงานนี้โดยละเอียด และใช้ระบบจ้างเหมา ทำให้สุนทรียทัศน์พระปรางค์วัดอรุณฯขาดหายไปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จึงได้ร่วมกันลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สั่งระงับยับยั้งโครงการบูรณะพุทธปรางค์วัดอรุณฯ และเสนอให้แต่งตั้งกรรมการผู้ชำนาญการจากหลากหลายสาขาเพื่อทบทวน ตรวจตรา และแก้ไขความเสียหายจากกรณีดังกล่าว

หลังจากเกิดข้อวิจารณ์อย่างหนักหน่วง นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ออกมาชี้แจงโดยยืนยันว่า กรมศิลปากรได้ยึดแนวทางการบูรณะตามขั้นตอนทางวิชาการและหลักสากลรองรับอย่างถูกต้อง

ล่าสุดวันที่ 3 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะโบราณคดี และหลักสูตรอนุรักษ์ศิลปกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดให้ประชาชนจากหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านเวทีเสวนา เรื่อง“พระปรางค์วัดอรุณฯ:อันเนื่องมาจากการบูรณปฏิสังขรณ์” ณ หอประชุม ชั้น 5 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

“ระบบจ้างเหมา” ทำให้คุณค่าศิลปกรรมหายไป

ศาสตราจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ อดีตคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า “มาพูดในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคมศึกษาการบูรณะพุทธปรางค์วัดอรุณฯ แต่ค่อนข้างเครียด เพราะตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดีย และไปออกรายการโทรทัศน์ ซึ่งเข้าใจว่ามีผลในทางสังคมมากทีเดียว เพราะมีคนโพสต์มาขู่ผมเป็นระยะๆ และก็สาปแช่งด้วย ส่วนเพื่อนผมที่อยู่ในเครือข่ายภาคประชาสังคมศึกษาการบูรณะพุทธปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งกำลังรณรงค์ในการลงชื่อเสนอรัฐบาลว่าควรจะทำอะไรกับเรื่องนี้ก็ถูกบล็อกเฟซบุ๊ก เราถูกต่อต้านพอสมควร”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรากำลังทำคือตั้งใจจะหาทางออกให้กับสังคม และต้องการที่จะแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เรามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นไม่ได้ ก็ขอตรวจสอบ ในรัฐธรรมนูญก็พูดไว้ว่าประชาชนมีหน้าที่ในการมีส่วนร่วมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเรากำลังทำหน้าที่ตรงนั้น

ศาสตราจารย์สายันต์ เล่าว่า “เมื่อเห็นผลงานการบูรณะวัดอรุณฯ รู้สึกเสียใจ น้อยใจ และรู้สึกแย่กับงานที่ออกมา ก็โพสต์ไปในเฟซบุ๊กว่าผมเสียใจกับเรื่องนี้มาก เพราะเป็นงานที่ทุเรศมากในแง่ของผลที่ออกมา จากการโพสต์นั้น มีคนเข้ามากดไลค์ มีคนแชร์มากมาย จึงรู้สึกว่าความรู้สึกนี้คงไม่ใช่ผมคนเดียว ในที่สุดพวกเราก็นัดกันไปดูของจริง”

ประเด็นที่จะพูดคือความสูญเสียคุณค่าทางสุนทรียทัศน์ ความงาม ซึ่งตนฟันธงว่ามาจาก “การจ้างเหมาบูรณะ” อันนี้เป็นมานานแล้ว ตนพูดตั้งแต่ผมอยู่กรมศิลปากรเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเสียงเล็กๆ ไม่มีใครฟัง จนออกมาเป็นอาจารย์ จนบัดนี้ก็พูดมาเรื่อยๆ ก็มีกรณีเกิดขึ้นมากมายกับความล้มเหลวของการจ้างเหมาบูรณะ ซึ่งทำให้คุณค่าของศิลปกรรมลดลงไป วันนี้เรารักษาคุณค่าไม่ครบ ส่วนที่หายไปมากที่สุดคือด้านสุนทรียะ

เพราะความเด่นของงานศิลปกรรมพระปรางค์วัดอรุณฯ คือการให้ตัวชิ้นเซรามิกทำงานในฐานะที่เป็นองค์ประกอบของสีต่างๆ ที่มาประกอบกันเป็นลวดลายในส่วนต่างๆ แต่เมื่อบูรณะไปแล้ว ตัวเซรามิกถูกกดจมไปหมด ตัวที่โพลนออกมาคือปูน

ถามว่าทำไมการบูรณะครั้งก่อนไม่มีปัญหา เสริมความมั่นคงเหมือนกัน เปลี่ยนกระเบื้องเหมือนกัน เสริมปูนเหมือนกัน แต่สุนทรียะไม่หายไป ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ครั้งนี้ยักษ์กับลิงสีขาวโพลนเหมือนกันหมด ทั้งเสื้อผ้า ทั้งเนื้อกาย หน้า สีหน้า ทั้งที่ยักษ์แต่ละตัวสีไม่เหมือนกัน มีความแต่กต่างกัน แต่เมื่อซ่อมแล้วดูไม่ออกเลย ความหมายที่ละเอียดก็หายไป

ตนไม่ได้ปฏิเสธว่าเราจำเป็นต้องมีผู้รับเหมา ต้องมีผู้มารับจ้างทำ แต่กระบวนการออกแบบรับเหมา การทำสัญญาว่าจ้าง(ทีโออาร์) ทำได้ดีแค่ไหน จากประสบการณ์ที่เคยเห็นเมื่อตอนอยู่กรมศิลปากร ระยะแรกๆ ค่อนข้างจะรัดกุมดี มีกระบวนการวิจัยก่อนออกแบบ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นโบราณสถานที่เป็นอิฐบ้าง เป็นหินบ้าง ไม่มีรายละเอียดของลวดลายมากมาย

ภาพก่อนบูรณะ
ภาพก่อนบูรณะ
สีกระเบื้องของยักษ์พระปรางค์วัดอรุณฯ (ซ้าย-ก่อนบูรณะ) (ขวา-หลังบูรณะ) ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Sayan Praicharnjit

แต่งานนี้รายงานที่ผู้รับเหมาทำ เป็นการทำเมื่อจ้างไปแล้ว เมื่อเซ็นสัญญาจ้างลงมือทำไปแล้ว ผู้รับเหมาถึงให้นักโบราณคดีมาทำบันทึก ตนถือว่าเป็นการายงานการบันทึกจดหมายเหตุ ซึ่งจริงๆการวิจัย การประเมินสภาพ การประเมินคุณค่า การประเมินความเสียหายฯลฯ จะต้องทำก่อนการทำทีโออาร์ หรือก่อนออกแบบ

“แล้วการระบุทีโออาร์แค่สองสามประโยค มันเกิดจากการไม่ได้ทำวิจัยมาก่อน จริงแล้วๆกรณีวัดอรุณฯควรจะต้องทำวิจัยก่อนสัก 2 ปี ควรมีการตั้งนั่งร้านไปถึงยอด ทำทุกตารางฟุต เพราะมันไม่เหมือนกันเลย ผมพูดในหลักการอาจจะมองว่าใครจะทำได้ แต่ในเมื่อเรายอมรับว่านี่เป็นงานชิ้นเอก เป็นวัดหลวง มีชิ้นเดียวในโลก ก็ต้องทำ”

“ผมยังไม่เห็นทีโออาร์ ไม่เห็นเงื่อนไขในสัญญา แต่เชื่อว่าไม่ได้ทำ เพราะเมื่อไปคุยในทางลึกแล้วไม่มี เป็นการแก้ปัญหาหน้างานไปเรื่อยๆ แล้วการควบคุมงานก็หละหลวม ช่างที่มาทำงาน มีอยู่ 6-7 กลุ่ม เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ละมุม แต่ละจุด ยักษ์จะออกมาไม่เหมือนกัน เพราะว่าช่างคนละทีม วันนี้ผมต้องติ เพราะมันถึงที่สุด เราจะรับสภาพอย่างนี้ต่อไปไหวหรือไม่ ถ้างานรับเหมางานชิ้นเอกออกมาอย่างนี้”

อาจารย์สายันต์ เสนอว่า 1.“หยุดระบบการบูรณะที่ใช้วิธีการจ้างเหมา” แล้วทบทวนว่าที่ผ่านมามีผลดีผลเสียอย่างไร 2.ต้องตั้งกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาเร่งด่วน นำผู้ใหญ่ ผู้ทรงคุณวุฒิ มาพิจารณา โดยกรรมการชุดนี้ต้องมีอำนาจเหนืออธิบดีกรมศิลปากร เพราะที่ผ่านมาอำนาจเรื่องนี้รวมศูนย์อยู่ที่อธิบดีกรมศิลปากรท่านเดียว ซึ่งอันตรายมาก

“คนที่เป็นอธิบดีวันนี้ เป็นเพื่อนผม คุณอนันต์(ชูโชติ) ก็เห็นใจ แต่ผมไม่ได้ไปให้ร้ายเขาหรือปกป้องเขา ผมกำลังพูดถึงระบบ ถ้าแก้ระบบได้ ต่อไปใครมางานก็ไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งอาจจะต้องไปแก้พ.ร.บ.โบราณสถานด้วย เพราะถ้าไม่แก้ท่านก็ทำงานไม่ได้ หรือทำไปก็จะเจอแบบนี้อีก”

“ฉะนั้น ณ วันนี้ภาคประชาชนรณรงค์ว่า ขอให้หยุดการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ แล้วตั้งกรรมการระดับชาติขึ้นมาทบทวนตรวจสอบเรื่องนี้ แล้วหาวิธีเยียวยาสังคม เพราะถ้าไม่แก้หรือปล่อยไว้อย่างนี้ สังคมมีปัญหาแน่นอน กรมศิลป์มีปัญหาแน่นอน”

ในส่วนการเยียวยา นโยบายควรจะออกแบบไหน นโยบายจ้างเหมาจะมีต่อไปหรือไม่ สำหรับตนอยากให้หยุดก่อน หยุดเพื่อให้ประชาชนไว้ใจได้ว่ามันจะไม่เกิดอีก แล้วมีกรรมการระดับชาติขึ้นมาควบคุม ตั้งโดยสภา อยู่เหนืออำนาจกรมศิลปากรอีกทีหนึ่ง เป็นบอร์ดใหญ่เหมือนบอร์ดพลังงาน

แล้วกรมศิลปากรเป็นเลขากรรมการชุดนี้ เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายของคณะกรรมการ ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่ามีการถ่วงดุล การตรวจสอบเชิงอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้นว่าการบูรณะโบราณสถาน การอนุรักษ์โบราณสถาน มีคนร่วมรับผิดชอบมากขึ้นจากทุกภาคส่วน
ข้อเสนอของตนอาจจะกระทบกับระบบผู้คนในวงการจ้างเหมา แต่ถามว่าวัดพระแก้วก็รับเหมา แต่ทำไมงานออกมาดี ต้องมีการกลั่นกรองช่างใช่ไหม ต้องมีการควบคุมงานที่เข้มข้นใช่ไหม แต่ทำไมวัดอรุณฯจึงหละหลวม

“ฉะนั้นสภาพเช่นนี้เราจะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ถ้ากรมศิลปากรเปลี่ยนแปลงเอง ประกาศนโยบายออกมาใหม่ให้ประชาชนได้มั่นใจว่ามันจะไม่เกิดอีก ซึ่งผมพูดในฐานะประชาชน ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไร แต่อยากเห็นการขับเคลื่อนงานโบราณสถาน งานโบราณคดี งานศิลปวัฒนธรรมให้มันปลอดภัยที่สุด พี่น้องในวงการ ในกรมศิลปากร ถ้าจะโกรธผมก็โกรธ แต่ผมไม่ได้ทำร้ายท่าน แต่กำลังช่วยท่านอยู่”

จุดอ่อนกรมศิลปากร ที่ต้องทบทวน

ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา มองว่าการพูดคุยวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางสังคม ว่าเรื่องวัดอรุณฯไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มเล็กๆในวงจำกัด แต่เป็นเรื่องที่สังคมปัจจุบันมีความสนใจในสิ่งเหล่านี้ แต่ความจริงแล้วปฏิริยาเรื่องโบราณสถาน ศิลปกรรม มีมานานแล้ว ตั้งแต่มีการเรียกร้องกรณีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ แต่ครั้งนี้สะเทือนเป็นวงกว้างกว่า ซึ่งเป็นนิมิตรหมายที่ดี เป็นปรากฎการณ์ที่ดี

อาจารย์ศรีศักร เล่าว่า ศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นยุคที่โดดเด่นมาก เพราะใช้เครื่องกระจกสี เครื่องเซรามิกประดับ ซึ่งทำได้ดีมาก เป็นงานฝีมือหลวงในวัง มีช่างที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งพระปรางค์วัดอรุณฯก็โดดเด่นมากและมีความหมายลึกซึ้ง ว่าให้เป็นทิวทัศน์ของความศักดิ์สิทธิ์สองฝั่งน้ำเจ้าพระยา

ดังนั้นเรื่องศิลปกรรมเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งสมัยรัชกาลที่ 3 หรือสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีช่างหลวง มีกรมกองที่รับผิดชอบ มีการศึกษาเรื่อยมา แต่หลังจากเปลี่ยนแปลงแล้วเราก็ไม่ได้ทำอะไรแบบนั้น ก็มอบหมายให้กรมศิลปากร ซึ่งก็เห็นใจกรมศิลปากร มาครั้งนี้ไม่ได้ด่ากรมศิลปากร แต่เขาก็รับเละ เพราะปัจจุบันมันโอเวอร์โหลด งานมันมาก พองานมากก็รับเหมาสัมปทาน อันนี้ที่เป็นจุดอ่อน

เพราะฉะนั้นเราต้องมาทบทวนว่างานที่โอเวอร์โหลดจะจัดการอย่างไร เพราะเป็นสมบัติมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่สำคัญ ทำอย่างไรจะช่วยกรมศิลปากรให้มีงบประมาณมาก จัดกรมกองขึ้นมาใหม่ มีการฝึกช่างฝีมือ ไม่ใช่พอโอเวอร์โหลดก็ไปสัมปทานรับเหมา มันถึงได้เกิดปัญหา แต่ผมไม่โทษกรมศิลปากร ก็เห็นใจ พยายามช่วยเขา

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ โบราณสถานแบบนี้เป็นของชาติทั้งนั้น รวมศูนย์ไว้แห่งเดียว ทำอะไรไม่ได้ ของดีดีในท้องถิ่นเป็นของกรมศิลปากรหมด ซ่อมแทนก็ไม่ได้ แต่ปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวคนในสังคมมากขึ้น มีผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญที่สนใจตื่นตัวมาก

ฉะนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราอย่าไปผูกขาดศิลปวัฒนธรรมที่เป็นมรดกของชาติ ควรจะผ่องถ่ายไปให้ท้องถิ่นดูแล และร่วมมือโดยกรมศิลปากร เพราะถ้าไม่ทำ งบประมาณก็ไม่พอ คนก็ไม่พอ กลายเป็นจุดอ่อนที่กรมศิลปากรรับเละ

ที่มาภาพ : https://www.change.org/

รักษาศิลปะไว้ให้ดี – จ้างผู้รับเหมาที่เก่ง – ฝึกคนทำงานช่วยกรมศิลป์

ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เห็นว่า “กรมศิลปากรใช้งานผิดกอง งานนี้ควรจะเป็นกองสถาปัตยกรรมหรือกองหัตถศิลป์ แต่เมื่อไปใช้กองโบราณคดี ก็โอเค แต่อย่าลืมว่าพระปรางค์วัดอรุณฯเป็นงานศิลปกรรม เป็นแลนด์มาร์กของประเทศไทย เวลาดู เขาจะดูความงาม เอากระเบื้องมาประดับ เอาเครื่องถ้วยมาประดับอย่างไรถึงสวยงาม”

ก็อยากให้ทุกท่านไปดู กรมศิลปากรก็ต้องไปดู ตนไปดูมาแล้ว ก็มีข้อไม่ดีเยอะ ไม่สมบูรณ์ มีข้อบกพร่อง ยกตัวอย่างเช่นดอกไม้ เอากระเบื้องเก่ามาติด 2 ดอก เอากระเบื้องใหม่ไปติด 5 ดอก ใส่ไปแล้วไม่สวย ถ้าจะเอาเก่าก็ต้องเก่าทั้งดอก ใหม่ก็ใหม่ทั้งดอก ถึงจะดูงาม ก็เป็นอันหนึ่งที่ช่างศิลปกรรมต้องเป็นคนช่วย

ส่วนที่อาจารย์สายันต์พูด ตนก็เห็นด้วยว่าศิลปะมันต้องเป็นศิลปะ เราทำให้ศิลปะมันน้อยลง คือภูมิปัญญาเราลดลง เราต้องรักษาศิลปะที่เคยทำไว้ให้ดี รักษาต่อไปให้ได้ นี่คือความสามารถของเรา

“แต่อย่าลืมว่ากรมศิลปากรไปทำเองไม่ได้ มันต้องจ้างเหมา กรมศิลปากรมีหน้าที่คุมงาน ออกแบบ ใช่ อย่างงานพระเมรุมาศ กรมศิลปากรทำไม่ได้ ถ้าไม่จ้างเหมา ก็ต้องจ้างเหมา แต่จ้างเหมาผู้รับเหมาที่เก่ง”

ผู้รับเหมาที่เก่ง ที่ไปทำงานพระเมรุมาศ ก็คนกรมศิลปากรเกษียณไปทำงานทั้งนั้น ศิลปินแห่งชาติก็อยู่กับปวช. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพ) คือปวช.เขาดีอย่าง เขาเอาคนที่เกษียณและมีฝีมือมาเลี้ยง ก็ไปทำงานพระเมรุมาศ พวกช่างผู้รับเหมาเก่งกว่าช่างกรมศิลป์อีก

“ดังนั้นผมเห็นว่าการที่จะทำอะไรต่อไป เดี๋ยวนี้งานมันมากขึ้นๆ กรมศิลปากรดูไม่ทัน เราต้องฝึกคนทำงานให้สามารถทำงานช่วยกรมศิลปากรได้ ถ้าไม่อย่างนั้นกรมศิลปากรก็ไปไม่รอด”

แต่กรณีพระปรางค์วัดอรุณฯ ผมก็เห็นด้วยว่า มันสวยงามสู้ของเก่าไม่ได้ ซึ่งมันต้องแก้ไข ถ้าปล่อยอย่างนี้คงไม่ได้ ก็ต้องให้ทางกรมศิลปากรมาดูว่าจะแก้ไขอย่างไร และผมก็อยากให้พระปรางค์วัดอรุณฯเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่สุดของประเทศ จะปรับปรุงอย่างไรให้มันดีขึ้น ต้องหาทางแก้ แต่จะไปลงโทษกัน มันไม่คุ้ม ไม่มีประโยชน์”

การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และสงวนรักษางานศิลปกรรม

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม อดีตหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า เรื่องการอนุรักษ์หรือสงวนรักษา เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน มีแง่มุม มีเงื่อนไข มีข้อยกเว้น มีไทม์มิ่ง ที่ปรับเปลี่ยนไปได้ ซึ่งปรากฎการณ์กรณีพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่มีทั้งความคิดเห็นเหมือนหรือแตกต่าง เป็นเรื่องปกติของงานอนุรักษ์หรือในเรื่องงานศิลปวัฒนธรรม เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน จึงมีมุมมองแตกต่างกัน

ฉะนั้นตนไม่ได้มองเป็นเรื่องผิดเรื่องถูก แต่มองเป็นเรื่องที่ว่า คุณหาเหตุผล คุณชี้แจง มีวิธีการ วิธีคิดที่รอบคอบรัดกุมหรือไม่ เหมาะสมกับสถานการณ์ไหม เพราะเงื่อนไขบางอย่างไม่เหมาะสมเลยกับสถานการณ์อย่างหนึ่ง แต่กลับเหมาะสมกับอีกสถานการณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของงานศิลปวัฒนธรรม

ดร.สันติ ยังชี้ว่า เรื่องอนุรักษ์ หรือสงวนรักษา พูดหนึ่งวันหรือหนึ่งปีก็ไม่จบ เพราะมีรายละเอียด มีเงื่อนไขจำนวนมาก ฉะนั้นเงื่อนไขที่แตกต่างกันมาก จึงจำเป็นต้องระวังมากที่จะใช้กฏเกณฑ์ตัวใดตัวหนึ่งมาจับ

ตนคิดว่าเรื่องนี้สำคัญกว่าที่บอกว่า จะเอาช่างฝีมือดีมาทำ ช่างฝีมือดี ช่างฝีมือเก่ง จำเป็นแน่ แต่ไม่ใช่เบื้องต้น เบื้องต้นคือความคิดของนักอนุรักษ์ นักโบราณคดีที่ไปตรวจสอบวิศวกร ตรวจสอบสถาปนิก ตรวจสอบเงื่อนไขทั้งหมดของสิ่งที่จะบูรณะ

เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้วกก็มาหารือกันว่า ทิศทางอันนี้ ประวัติศาสตร์อย่างนี้ เงื่อนไขอย่างนี้ สภาพของโบราณสถานเป็นอย่างนี้ ฯลฯ แล้วมาประมวลเป็นทิศทางว่าจะดำเนินการอนุรักษ์ เมื่อไหร่ที่มีทิศทาง มันก็จะคิดถึงวิธีการ คิดถึงวัสดุที่เหมาะสมกับคอนเซปต์ที่นั่งคิด วิเคราะห์หรือวิจัยกันแต่แรก แล้วถึงตอนนั้นช่างฝีมือดีถึงจะเข้าไปรับความคิดความเข้าใจของกลุ่มนักวิชาการ สถาปนิก วิศวกร ที่เขาหารือกันว่าได้กำหนดแนวทางอย่างนี้

ยังไม่นับรวมถึงการบริหารจัดการซึ่งผมเห็นว่า รัฐบาลควรจะลงมาช่วยกรมศิลปากร เพราะงานบางอย่างเกินอำนาจหน้าที่หรือเกินความสามารถของกรมศิลปากรจะไปทำได้

รวมถึงตนย้ำเสมอในระยะหลังๆว่า เมื่อไหร่จะไปอนุรักษ์อะไรก็ตาม เช่นจิตกรรมฝาผนัง เมื่อศึกษาจนจบแล้ว ควรจะเชิญชาวบ้าน เชิญพระ แล้วบอกเหตุผล บอกว่าคุณคิดอย่างนี้ จะบูรณะอย่างนี้ เพื่อให้เขารับรู้ ซึ่งเท่ากับเป็นการให้เขาได้เรียนรู้ ให้ทำความเข้าใจเรื่องของการอนุรักษ์ด้วย ซึ่งตนคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรด้วย ไม่ใช่แค่บูรณะเสร็จแล้วจบเท่านั้น

ตนเคยพูดว่ากรมศิลปากรทำดีหมดทุกอย่างแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำภารกิจที่สำคัญคือ ทำให้สังคมได้เข้าใจงานของกรมศิลปากร ซึ่งกรมศิลป์อาจจะทำ แต่ทำน้อย มันควรจะทำอย่างเข้มข้นและจริงจัง

เพื่อสังคมจะตระหนักและสำนึกในเรื่องของการอนุรักษ์และการสงวนรักษา และจะได้ร่วมกันออกความเห็นที่จะทำให้พัฒนาการทางด้านความคิดการอนุรักษ์ก้าวหน้าไปได้ มาร่วมกันคิด ร่วมกันออกความเห็นในทรรศนะที่เต็มไปด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่ด้วยอารมณ์