ThaiPublica > เกาะกระแส > รมต.ท่องเที่ยวกางโรดแมป “ชิมช้อปใช้ เฟส 2” เตรียมกระตุ้นชุดใหญ่ “100 เดียวเที่ยวทั่วไทย”- “เที่ยววันธรรมดา ราคาช็อคโลก”

รมต.ท่องเที่ยวกางโรดแมป “ชิมช้อปใช้ เฟส 2” เตรียมกระตุ้นชุดใหญ่ “100 เดียวเที่ยวทั่วไทย”- “เที่ยววันธรรมดา ราคาช็อคโลก”

7 ตุลาคม 2019


นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

รมต.ท่องเที่ยวกางโรดแมป “ชิมช้อปใช้ เฟส 2” เตรียมกระตุ้นชุดใหญ่ “100 เดียวเที่ยวทั่วไทย”- “เที่ยววันธรรมดา ราคาช็อคโลก” ถึงลดภาษีแบรนด์เนม ดึงต่างชาติช้อปเมืองไทย

หลังจากมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นคนไทย 10 ล้านคนให้เดินทางไปท่องเที่ยวและใช้จ่ายเงินข้ามจังหวัด โดยการแจกเงินคนละ 1,000 บาท ผ่านระบบ g-Wallet ช่อง 1 ให้กับผู้มาลงทะเบียนและได้รับสิทธิ รวมทั้งเปิด g-Wallet ช่อง 2 ให้เติมเงินได้อีกไม่เกิน 30,000 บาท เพื่อขอรับเงินคืน 15% หรือไม่เกิน 4,500 บาท จากการที่ไปซื้อสิ้นค้าและบริการกับร้านค้าที่ร่วมโครงการ ล่าสุด ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เตรียมจัดงบประมาณเพิ่มเติม เดินหน้า “ชิมช้อปใช้ เฟส 2” ต่อ คู่ขนานไปกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่กำลังจะออกเคมเปญมากระตุ้นไทยเที่ยวไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้อีก 2 โครงการ คือ “100 เดียวเที่ยวทั่วไทย” กับ “เที่ยววันธรรมดา ราคาช็อคโลก” รวมทั้งยังเตรียมมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวชุดใหญ่อีก 10 มาตรการ เสนอ ครม.เศรษฐกิจในวันที่ 10 ตุลาคม 2562

ชง ครม.เศรษฐกิจกระตุ้นท่องเที่ยวชุดใหญ่ 10 ต.ค.นี้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 และปี 2563 ว่า จากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่ส่งผลกระทบมาถึงภาคการส่งออกและภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ภาคการท่องเที่ยวจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จึงจัดเตรียมมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และปี 2563 เสนอต่อที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจในวันที่ 10 ตุลาคม 2562 หลักๆ จะมีแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

แพกเกจกระตุ้นการท่องเที่ยว ชุดแรก เน้นไปที่ “ไทยเที่ยวไทย” ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพจัดทำโครงการชิมช้อปใช้ เฟสแรก ออกมากระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศไปแล้ว โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะออกมาตรการเสริม คือ แพกเกจ “100 เดียวเที่ยวทั่วไทย” และ “เที่ยววันธรรมดา ราคาช็อคโลก” จำนวน 40,000 รายการ มาสนับสนุน โดยจะเปิดให้ประชาชนเข้าไปโหลดแพกเกจ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย ผ่านเว็บไซต์ของ ททท.ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ 20,000 รายการ และเดือนธันวาคมอีก 20,000 รายการ เพื่อซื้อตั๋วเครื่องบินหรือห้องพักโรงแรม สปา อาหาร ในราคา 100 บาท โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2562 ททท.จะเปิดให้โหลดได้ทั้ง 4 ครั้ง ใครมาก่อนได้สิทธิก่อน ไม่ได้จำกัดสิทธิ แต่ละคนอาจจะดาวน์โหลดได้ถึง 4 แพกเกจ ซึ่งมีให้เลือกถึง 10,000 รายการต่อแพกเกจ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน ส่วน “เที่ยววันธรรมดาราคาช็อคโลก” จะเปิดให้ดาวน์โหลดคูปองส่วนลดพิเศษ เพื่อไปช้อปปิ้งตามโรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการในวันธรรมดา ขณะนี้ ททท. กำลังประสานงานกับผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการว่าจะมอบส่วนลดให้ลูกค้าได้เท่าไหร่ ซึ่ง ททท.จะประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไปอีกครั้ง

เดินสายเซ็น MOU 6 กระทรวง ร่วมแพกเกจท่องเที่ยวก่อนสิ้นปี

ส่วนแพกเกจกระตุ้นการท่องเที่ยว ชุดที่ 2 เน้นกระตุ้นชาวต่างชาติให้มาท่องเที่ยวในประเทศไทย และเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยด้วย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ตลอดทั้งปีจะมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวออกมาเป็นรายเดือน แต่ก่อนที่จะเริ่มดำเนินมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ทั้งชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็จะต้องไปทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับกระทรวงอื่นๆ ก่อนช่วงสิ้นปี 2562 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายให้ทุกกระทรวงช่วยสนับสนุนงานของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงการคลัง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงท่องเที่ยวฯ ไม่มีวัตถุดิบ มีแต่ไอเดีย จึงต้องอาศัยความร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ

นายพิพัฒน์ยกตัวอย่างกระทรวงมหาดไทยที่กำกับดูแลสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ขณะนี้กระทรวงท่องเที่ยวฯ อยู่ระหว่างการหารือกับรัฐบาลจีน เพื่อจัดทำโครงการ E-Visa On Arrival อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจีน เมื่อได้ข้อยุติก็จะไปหารือกับกระทรวงมหาดไทยและทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน นอกจากนี้กระทรวงการท่องเที่ยวยังเตรียมแผนการรณรงค์เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวไทย โดยใช้หนังสือเดินทางเป็นส่วนลดให้การซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการโดยไม่ต้องไปดาวน์โหลด

หารือสาธารณสุข ดึงต่างชาติท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ-ศัลยกรรมร่างกาย

ส่วนกระทรวงสาธารณสุขนั้น ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้จัดเตรียมโครงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Healing Tourism) ทั้งการให้บริการรักษาพยาบาล, สถานเสริมความงาม, นวดแผนโบราณ และสปา เป็นโครงการนำร่อง 6 ภูมิภาค กระจายไปยังภาคกลาง, เหนือ, ใต้, อีสาน, ตะวันออก และตะวันตก ขณะนี้ประเทศไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ เข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลกันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เดินทางมาจากประเทศในแถบตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เรียกว่า “กระเป๋าหนัก” เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย พร้อมกับผู้ติดตาม ต้องมีที่พัก ต้องกิน ต้องใช้ และต้องเที่ยว ทางกระทรวงการท่องเที่ยวก็ต้องเตรียมความพร้อมรองรับคนกลุ่มนี้ด้วย

“ส่วนสถานเสริมความงามนั้น ถ้าเป็นศัลยกรรมใบหน้า ต้องยกให้กับเกาหลี แต่ถ้าศัลยกรรมร่างกายตั้งแต่ใบหน้าลงมานั้น ต้องยกให้ไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต มีโรงพยาบาลและสถานเสริมความงามหลายแห่งเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมกำลังหารือกับกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาล สถานเสริมความงาม ทำอย่างไรถึงจะดึงชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันออกกลาง ไปใช้บริการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลที่หาดใหญ่หรือสงขลา เพื่อลดความแออัดภายในกรุงเทพฯ และกระจายรายได้ไปยังต่างจังหวัด อย่างที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ขณะนี้มีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมที่เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติเหล่านี้ได้ ส่วนที่หาดใหญ่ก็มีโรงพยาบาลกรุงเทพ และสถานพยาบาลอื่นๆ อีก 3-4 แห่ง ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่แพ้กรุงเทพฯ มีทั้งสนามบินนานาชาติ โรงแรม ห้องพักว่างอยู่หลายหมื่นห้อง สามารถรองรับผู้ป่วยและผู้ติดตามได้ ยอมรับว่าตอนนี้การท่องเที่ยวที่หาดใหญ่ซบเซา ผมพยายามฟื้นฟูให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว” นายพิพัฒน์กล่าว

เสนอคลังลดภาษี “แบรนด์เนม” ดึงต่างชาติช้อปปิ้งเมืองไทย

“การท่องเที่ยวปีนี้ ผมคิดว่ายังไปได้ แต่ปี 2563 ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเป็นภารกิจของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่จะต้องพยายามรักษาจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไว้ให้ได้อย่างน้อยต้องเท่ากับปีนี้ แต่ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้คนในประเทศไม่ไปเที่ยวต่างประเทศ หันมาเที่ยวในประเทศแทน เพื่อให้เงินหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนไทยจะช่วยไทยหรือเปล่า ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบไปช้อปปิ้งต่างประเทศ แต่ถ้าปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมลงมาบ้าง ก็น่าจะช่วยได้ แต่ประเด็นสำคัญมาตรการนี้ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้น ยังช่วยกระตุ้นนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาช้อปปิ้งในประเทศไทยได้ด้วย ปัจจุบันกรมศุลกากรเก็บภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมในอัตรา 40% โดยก่อนหน้านี้ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเคยเสนอเรื่องนี้ต่อรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ แต่ไม่ได้ประกาศใช้ก็ประกาศยุบสภาก่อน ถ้าเอามาใช้ตอนนี้ ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยไปโลด แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องหารือกับดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อน เพื่อศึกษาถึงข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบต่อรายได้รัฐ จากนั้นก็นำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ​ กล่าว

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

จัดแพกเกจท่องเที่ยวอิงประวัติศาสตร์ 77 จังหวัด

นายพิพัฒน์กล่าวต่อว่า จากนั้นกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็เตรียมออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว 77 จังหวัดออกมาทุกเดือน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยอาศัยจุดแข็งในเรื่องวัฒนธรรมและประเพณีของไทยในแต่ละภูมิภาค เอามาสร้างเป็นเรื่องราวปรโมทให้คนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักวัฒนธรรมประเพณีไทย ยกตัวอย่างที่ ททท.เพิ่งจัดไป คือ “390 ปี เมืองชัยบุรี” แม้แต่คนพัทลุงบางคนยังไม่รู้เลยว่ามีความเป็นมาอย่างไร โครงการนี้ ททท.พยายามขายการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เล่าให้คนไทยและต่างชาติได้รู้จักเมืองพัทลุงเมื่อ 390 ปีก่อน สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เคยมาสร้างเมืองที่นี่ โดยมีหลักฐานเค้าโครงหลงเหลืออยู่ คือ กำแพงเมือง ป้อมปราการ ป้อมปืน ซึ่งกรมศิลปากร มาช่วยบูรณะเมื่อ 2-3 ปีก่อน ก่อนจัดงานก็มีการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งได้มาจากสถานทูตฝรั่งเศสต่อจิ๊กซอว์ไปถึงอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ทำเป็นเส้นการเดินทางของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อพันปีที่แล้วมีการสร้างป้อมปืนอยู่ที่อำเภอสิงหนครด้วย

และที่กำลังศึกษาอยู่ คือ อาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งในอดีตมีพื้นที่ครอบคลุมประเทศไทยทั้งประเทศ และต่อเนื่องไปถึงประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย และยังเชื่อมโยงไปถึงเมืองเชนไนของประเทศอินเดียด้วย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ซึ่งได้มาจากสถานฑูตอินเดีย ระบุว่า ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย ประเทศไทยเคยทำการค้าขายกับประเทศอินเดีย และมีการค้นพบเรือขนสินค้าล่ม ภายในเรือมีลูกปัดโบราณเป็นจำนวนมาก ในหลายจังหวัดที่ติดกับทะเลอันดามัน เช่น ระนอง กระบี่ และพังงา

ทางภาคเหนือก็มีอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีพื้นที่รัศมีครอบคลุมไปถึงพม่า ลาว โดยมีแม่น้ำโขงแบ่งอาณาจักรล้านนาออกเป็น 2 ซีก โดยอาณาจักรล้านนานี้เกิดก่อนอาณาจักรสุโขทัย สิ่งเหล่านี้จะต้องพยายามรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ อย่างน้อยให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่ได้แค่ยุคสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ แต่มีตั้งแต่ล้านนา ศรีวิชัย และทวารวดีด้วย ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ร่วมกับกรมศิลปากร พยายามศึกษา เพื่อหาเรื่องราวมาสร้างอีเวนต์จัดเป็นงานกระตุ้นการท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดขึ้นมา

ดึงคู่รักชาวต่างชาติแข่ง “วิ่งเทรล” ขึ้นดอยอินทนนท์ วันวาเลนไทน์ปีหน้า

ส่วนภารกิจด้านกีฬานั้น นายพิพัฒน์กล่าวว่า ในปีนี้ก็มีรายการ “โมโตจีพี ไทยแลนด์ 2019” จัดการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบ ซึ่งประเทศไทยได้รับการต่อสัญญาให้เป็นเจ้าภาพจัดงานต่อไปอีก 5 ปี ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 2 ส่วนปีหน้าจะเริ่มจัดการแข่งขันในเดือนมีนาคม 2563 จากนั้นในปีถัดไปก็จะจัดให้มีการแข่งขันในเดือนมีนาคมของทุกปีจนกว่าจะครบกำหนดสัญญา

นอกจากนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังมีแผนจัดการแข่งขันกีฬานานาชาติในประเทศ ยกตัวอย่าง กีฬา “วิ่งเทรล” ตามแผนงานในปีหน้าเตรียมจัดการแข่งขันวิ่งเทรลทั้งหมด 4 ครั้ง (4 สนาม) เริ่มจากดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2563 ตรงกับช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ ตามเสียงเรียกร้องของนักวิ่งต่างชาติที่จะพาคู่รักมาลงแข่งขันวิ่งในประเทศไทย ในระยะทาง 80, 110 และ 170 กิโลเมตร โดยกีฬาวิ่งเทรลคือการวิ่งในพื้นที่ธรรมชาติไม่ผ่านการปรุงแต่ง ใช้เวลาวิ่งหลายวัน วิ่งไปพักไป ตอนกลางคืนก็มีที่พักให้นอนตื่นขึ้นมาก็วิ่งต่อ ครั้งที่ 2 กำลังพิจารณาว่าควรจะจัดที่จังหวัดกาญจนบุรี ลพบุรี หรือพิษณุโลก ส่วนครั้งที่ 3 จัดที่จังหวัดอุทัยธานี วิ่งนอกรั้วห้วยขาแข้งที่เป็นแนวกันชนกับชาวบ้าน และเป็นการวิ่งในเขตทหาร เพื่อความปลอดภัยของนักกีฬา และครั้งสุดท้ายที่จังหวัดพัทลุง

มอบกรมพลศึกษาหนุนเด็กไทยขึ้นแชมป์โลก “อีสปอร์ต”

จากนั้นก็จะมีการจัดงานแข่งขันกีฬา “อีสปอร์ต” หรือกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ระดับนานาชาติ โดยจะจัดการแข่งขันคัดเลือกนักกีฬาไทยที่มีความสามารถก่อน 3 ครั้ง เพื่อคัดเลือกทีมที่แข็งแกร่งที่สุดไปแข่งขันกับทีมนักกีฬาต่างชาติ ซึ่งจะดึงมาจัดการแข่งขันในประเทศไทยเป็นซีรีส์สุดท้ายของปี 2563 โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งกีฬาอีสปอร์ตเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการจัดงานแข่งขันชิงแชมป์โลก “อีสปอร์ต” ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ชิงเงินรางวัล 1,000 ล้านบาท ซึ่งเยาวชนไทยอายุ 14-15 ปี เคยติดอันดับโลกมาแล้ว ปัจจุบันในประเทศไทยมีคนรู้จักกีฬาประเภทนี้น้อยมาก ขณะเดียวกันมีเด็กไทยจำนวนมากชอบเล่นเกมออนไลน์ แต่ผู้ปกครองไม่เข้าใจ ก็มักจะตำหนิบุตรหลานเอาแต่เล่นเกม ไม่ค่อยอ่านหนังสือ ซึ่งความคิดของตนนั้น ควรจะปลุกจิตสำนึกเยาวชนไทยให้รู้จักแบ่งเวลา ช่วงไหนควรเล่นเกม ช่วงไหนควรเรียนหนังสือ ต้องมีความรับผิดชอบ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้มอบหมายให้กรมพลศึกษาเข้ามารับผิดชอบ และพยายามสื่อสารตรงนี้ออกไป ซึ่งกีฬาอีสปอร์ตก็เป็นอาชีพได้ ค่าตัวไม่แพ้นักฟุตบอลระดับโลก ซึ่งแชมเปียนตอนนี้เป็นเด็กเกาหลี จีน ญี่ปุ่น แต่ที่คาดไม่ถึงคือ ฟิลิปปินส์ ก็ติดแชมป์โลกด้วย

สำหรับภารกิจสุดท้าย เป็นเรื่องการจัดงานประชุม สัมมนา และอีเวนต์ระดับนานาชาติ ช่วงที่ประชุมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) พยายามไปประมูลงานประชุมสัมมนาและงานแสดงนิทรรศการขนาดใหญ่มาจัดในประเทศไทย โดยให้พยายามกระจายออกไปจัดในภูมิภาคด้วย ไม่ใช่จัดเฉพาะที่กรุงเทพฯ อย่างที่จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ หรือหาดใหญ่ ก็มีศักยภาพในการจัดงานระดับนานาชาติไม่แพ้กรุงเทพฯ