ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 29 ก.พ. – 6 มี.ค. 2563
- โควิด-19 รอบสัปดาห์
- ศาลฎีกาสั่งจำคุก “ปลอดประสพ” 1 ปี 8 เดือน
- กรมศิลป์แจงกรณีเขายะลา ยันไม่ได้เปลี่ยนโบราณสถานเป็นเหมืองถ่านหิน
- ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำคุก “ธาริต” กลั่นแกล้งแจ้งข้อหา “สุเทพ-อภิสิทธิ์” สลายการชุมนุม เจ้าตัวยัน สู้ต่อชั้นฎีกา
- WHO ยกระดับเตือนภัยโควิด-19 เป็นสูงมาก
โควิด-19 รอบสัปดาห์
“ผีน้อยเกาหลี” ทยอยขอกลับไทยกว่า 5,000 คน มาตั้งแต่ปลายปี 2562
จากการที่เกาหลีใต้มีมาตรการให้ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่เกินวีซ่าแสดงความสมัครใจออกนอกประเทศได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ และไม่มีโทษห้ามกลับเข้าเกาหลีใต้ ทำให้เมื่อสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19 หรือโควิด-19) รุนแรงขึ้นในเกาหลีใต้ จึงมีแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย หรือที่เรียกกันว่า “ผีน้อย” รายงานตัวใช้สิทธิตามมาตรการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งตามรายงานของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองนั้น ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 (ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเกาหลี) จนถึง 1 มี.ค. 2563 มีคนไทยไปรายงานตัวภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวแล้วกว่า 5,000 คน
จากการรายงานของเว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จำนวนคนไทยภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวที่เดินทางกลับสู่ประเทศไทยแล้วเป็นดังนี้
- วันที่ 11-15 ธ.ค. 2562 จำนวน 247 ราย
- วันที่ 16-22 ธ.ค. 2562 จำนวน 426 ราย
- วันที่ 23-29 ธ.ค.2562 จำนวน 495 ราย
- วันที่ 30 ธ.ค.2562-5 ม.ค. 2563 จำนวน 281 ราย
- วันที่ 6-12 ม.ค.2563 จำนวน 423 ราย
- วันที่ 13-19 ม.ค.2563 จำนวน 491 ราย
- วันที่ 20-26 ม.ค.2563 จำนวน 312 ราย
- วันที่ 27 ม.ค.-2 ก.พ. 2563 จำนวน 300 ราย
- วันที่ 3-9 ก.พ. 2563 จำนวน 367 ราย
- วันที่ 10-16 ก.พ. จำนวน 359 ราย
- วันที่ 17-23 ก.พ. จำนวน 366 ราย
- วันที่ 24 ก.พ.- 1 มี.ค. จำนวน 660 ราย
รวมเดินทางเข้าไทยสะสม 4,727 ราย ทั้งนี้ ยังมีผู้รายงานตัวระหว่างวันที่ 24-28 ก.พ. 2563 จำนวน 1,181 ราย ที่อยู่ระหว่างการรอตำรวจตรวจคนเข้าเมือง พิจารณาประวัติ
เว็บไซต์ข่าวสดรายงานด้วยว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า แผนการรับมือแรงงานที่กลับมาจากเกาหลีใต้ เบื้องต้นต้องดู 1. ตัวเลขที่แน่ชัดว่ามากี่ราย 2. จำแนก หากพบว่าเป็นไข้ ก็จะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยที่เข้าข่ายเฝ้าระวังสอบสวนโรคต้องไปอยู่โรงพยาบาลในห้องความดันเป็นลบ ซึ่งกระทรวงได้เตรียมพร้อมโรงพยาบาลไว้แล้ว 3. หากไม่มีไข้ก็จะกักตัวเองอยู่ที่บ้าน 14 วัน โดยมีกรมควบคุมโรคโทรศัพท์ติดตามทุกวัน แต่จะดูข้อมูลว่ามาจากเมืองไหน ต้องมีการสัมภาษณ์เป็นรายบุคคล
อนุทินโพสต์-สธ.แก้ สรุปประกาศประเทศเขตโรคติดต่อแค่ 4 ไม่ใช่ 9
วันที่ 3 มี.ค. 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ได้โพสต์ประกาศกระทรวงสาธารณสุขลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุประเทศที่ถูกประกาศให้เป็น “เขตติดโรคติดต่ออันตราย” 9 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น, เยอรมัน, เกาหลีใต้, จีน (รวมมาเก๊าและฮ่องกง), ไต้หวัน, ฝรั่งเศส, สิงคโปร์, อิตาลี และอิหร่าน โดยระบุว่า ทุกคนที่กลับมาจากประเทศที่ระบุจะต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วันโดยไม่ต้องยกเว้น
ทว่า ในเวลาต่อมา กระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่ามีการแก้ไขข้อมูล ให้รอประกาศใหม่ (และมีข่าวว่าเฟซบุ๊กของนายอนุทินหายไปในช่วงเวลาดังกล่าว) ซึ่งพอถึงวันที่ 5 มี.ค. 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาก็เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อันเป็นการดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมการด้านวิชาการ โดยระบุว่ามี 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้, จีน (รวมมาเก๊าและฮ่องกง), อิตาลี และอิหร่าน
นายกฯ สั่งตั้งศูนย์ข้อมูล COVID-19
วันที่ 4 มี.ค. 2563 เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า มีการเผยแพร่ คําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 72/2563 เรื่อง จัดตั้งศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายหลังวันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมจัดเตรียมมาตรการเร่งด่วนเพื่อรองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยระบุว่า
ตามที่ได้ปรากฏเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนและชาวต่างชาติในประเทศไทย ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แจ้งคําเตือนแก่ทุกประเทศ และกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แล้ว
ดังนั้น เพื่อให้การเฝ้าระวังและการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อันเป็นสาธารณภัยอย่างหนึ่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมควรจัดตั้งศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าวในทุกมิติ ได้แก่ มิติด้านข้อมูลข่าวสาร มิติด้านสาธารณสุข มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคมและการสงเคราะห์อย่างทันท่วงที รวมทั้งสร้างความรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณชน เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้เท่าทันและเตรียมพร้อมโดยไม่ตื่นตระหนกในข่าวสารอันไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในเรื่องมาตรการเร่งด่วนสําหรับการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2563
หน้ากากอนามัยขาดแคลน สั่งส่งทุกชิ้นเข้ารัฐ ให้พณ.บริหาร
วันที่ 4 มี.ค. 2563 เว็บไซต์อมรินทร์ทีวีรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ ประกาศใช้อำนาจตามกฎหมายบริหารจัดการสินค้าควบคุมในภาวะวิกฤต ให้โรงงานผู้ผลิต 11 แห่งทั่วประเทศ ส่งหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ทุกชิ้นเข้าศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยของกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด เพื่อนำมาบริหารจัดการเอง โดยก่อนหน้านี้ให้โรงงานส่งหน้ากากอนามัยเข้าศูนย์ประมาณ 40-45% แต่เมื่อบังคับใช้กฎหมายแล้ว เท่ากับว่าหน้ากากอนามัยทั้งหมดที่มีอยู่ขณะนี้ 38 ล้านชิ้นจะถูกส่งเข้ารัฐทั้งหมด หลังพบหายออกจากระบบกว่า 7 แสนชิ้น จนทำให้หน้ากากอนามัยขาดแคลน ประชาชนไม่มีใช้
นอกจากนี้ยังประกาศให้เอกชน, ร้านค้า, โรงงาน ที่มีหน้ากากอนามัย แจ้งปริมาณครอบครองมาที่กระทรวง เพื่อป้องกันการกักตุน หากไม่แจ้ง มีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และประสานตำรวจติดตามผู้ขายออนไลน์ ทั้งที่เป็นชาวบ้านทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ ถ้าเจอขายโก่งราคา หรือ ขายแพงกว่าปกติ ให้เข้าจับกุมทันที
เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร) กล่าวว่า เมื่อวันที่4 มีนาคม ที่ผ่านมา กรรมการเชิญผู้แทนของโรงงานหน้ากากอนามัย และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ไม่ได้เป็นกรรมการเข้ามาหารือด้วย และได้ข้อสรุปดังนี้ คือ ภาพรวมของการผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศ โดยหน้ากากที่เป็นที่ต้องการอยู่ขณะนี้คือหน้ากากสีเขียว มีโรงงานที่ผลิตได้ 11 โรง มีกำลังการผลิตเดือนละ 36 ล้านชิ้น หรือ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกันกรมการค้าภายใน ได้แบ่งหน้ากาก 600,000 ชิ้น จากโรงงานผู้ผลิตมาบริหารจัดการร่วมกัน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนั้นกระจายออกตลาดโดยโรงงานผู้ผลิตเอง ซึ่งอาจจะทำให้ราคาแตกต่างกันในตลาด
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ได้มีการประชุมกันสรุปว่าจะจัดสรรให้กระทรวงสาธารสุข 700,000 ชิ้นโดยให้กระจายไปยังสถานพยาบาลทั้งหมดทั้งประเทศ ส่วนที่เหลือประมาณ 500,000 ชิ้น คน จะกระจายไปยังกลุ่มเสี่ยงอื่น รวมทั้งประชาชนทั้งประเทศ 60 ล้านคน เช่น ร้านขายยา หรือสายการบิน เช่น การบินไทย ร้านค้าส่งค้าปลีกต่างๆ รวมทั้งร้านธงฟ้า และอื่นๆ เป็นต้น โดยศูนย์กระจายหน้ากากอนามัยจะบริหารจัดการหน้ากาการ่วมกันทุกวัน เพื่อตรวจสอบการกระจายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดย 700,000 ชิ้นแรกจะเร่งไปเติมสต๊อกที่ขาดไปของโรงพยาบาลก่อน และจากนั้นจะได้บริหารจัดการอีกที ซึ่งครม.มีความเห็นชอบแล้วที่จะให้ขายหน้ากากอนายมัยที่ราคา 2.50 บาท โดยต้นทุนส่วนเกินรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระเอง
ไทยพบติดโควิด-19 เพิ่ม 4 ราย
เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าว 5 มี.ค.2563 ว่าผู้ป่วยรายใหม่ 4 ราย เป็นชาวอิตาลี ชาวจีน และชาวไทย 2 ราย ทั้งหมดเป็นผู้เดินทางมาจากประเทศอิตาลีและอิหร่าน
ข้อมูล ณ วันที่ 5 มี.ค. อิตาลีมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,089 ราย เสียชีวิต 107 ราย รักษาหาย 276 ราย ด้านอิหร่านนั้น มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,922 ราย เสียชีวิต 92 ราย รักษาหาย 552 ราย สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 รายที่พบในประเทศไทยมีดังนี้
รายที่ 1 เป็นชายชาวอิตาลี อายุ 29 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางมาจากประเทศอิตาลี เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 1 มี.ค. มารักษาด้วยตนเองที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ด้วยอาการ ไข้ ไอ ส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลชลบุรี
รายที่ 2 เป็นชายชาวไทย อายุ 42 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีประวัติเดินทางมาจากประเทศอิตาลี เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 2 มี.ค. เดินทางมารักษาด้วยตนเองที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ด้วยอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ ผู้ป่วยรายนี้ไม่ความเกี่ยวข้องใด ๆ กับผู้ป่วยรายที่ 1
รายที่ 3 ชายชาวจีนอายุ 22 ปี เป็นนักศึกษา เดินทางมาจากประเทศอิหร่านเพื่อต่อเครื่อง เมื่อวันที่ 1 มี.ค. เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิตรวจพบว่ามีไข้ร่วมกับมีอาการไอและมีน้ำมูกในระหว่างการต่อเครื่อง จึงส่งรักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร
รายที่ 4 ชายชาวไทย อายุ 20 ปี เป็นนักศึกษา เดินทางกลับมาจากประเทศอิหร่าน เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 27 ก.พ. เดินทางมารักษาด้วยตนเองที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ใน จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ด้วยอาการไข้ มีน้ำมูก
3 กลุ่มรับ 1,000 บาท 2 เดือนบรรเทาผลกระทบโควิด-19
วันที่ 6 มี.ค. 2563 เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจรายงานว่าhttp://bit.ly/2v25cwY ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน อนุมัติแก้ปัญหาผลกระทบเศรษฐกิจจากไวรัสโคโรนา ด้วยการให้เงินกับผู้มีรายได้น้อย เดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน สำหรับให้คนมีรายได้น้อย เกษตรกร และอาชีพอิสระเท่านั้น โดยจะส่งเข้าระบบพร้อมเพย์ ส่วนวงเงินรวมเท่าไรนั้น คณะรัฐมนตรีขอให้กระทรวงการคลังไปดูตัวเลขชัดๆ อีกครั้ง แต่จะดำเนินการให้เร็วที่สุด
ศาลฎีกาสั่งจำคุก “ปลอดประสพ” 1 ปี 8 เดือน
เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 มี.ค. 2563 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเลยในคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ เข้ารายงานตัวต่อศาล หลังถูกศาลออกหมายจับให้มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นโจทก์ฟ้องนายปลอดประสพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยนายปลอดประสพขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ ทั้งนี้ นายปลอดประสพมีอาการป่วย ใส่หน้ากากอนามัยและนั่งรถเข็นมาพร้อมญาติมาให้กำลังใจ
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2546 นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น มีคำสั่ง 399/2546 แต่งตั้งนายวิฑูรย์ โจทก์ ให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) สำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรสหกรณ์ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2546 แต่จากนั้นมีการตรา พ.ร.ฎ.โอนกรมป่าไม้ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีผลเมื่อลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 30 ก.ย.2546 ขณะนั้นโจทก์ ดำรงตำแหน่ง ผอ.กองการอนุญาต กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อมาวันที่ 1 ต.ค.2546-12 พ.ย. 2556 จำเลยเป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกคำสั่งกระทรวงทรัพยากรฯที่ 287/2546 เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2546 ให้ระงับการมอบหมายงานในหน้าที่ตามคำสั่ง 399/2546 ซึ่งแต่งตั้งโจทก์ขึ้นเป็น ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) โดยให้ถือว่าเป็นการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อนอันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ เพื่อยังยั้งไม่ให้โจทก์ได้เลื่อนตำแหน่ง สาเหตุเนื่องจากโจทก์กับจำเลยมีเรื่องโกรธเคืองในเรื่องส่วนตัวกันมาก่อน
กระทั่งวันที่ 12 พ.ย. 2546 จำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ด้วยการให้นายดำรงค์ พิเดช ออกคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 543/2546 ย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่ง “ป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ” เป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ 8 เป็นการย้ายให้ปฏิบัติหน้าที่ต่ำกว่าระดับเดิม อีกทั้งไม่ใช่ความจำเป็นที่ต้องรีบดำเนินการ และจำเลยทราบดีว่านายดำรงค์ไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์ ดังนั้น คำสั่งย้ายที่จำเลยให้ความเห็นชอบจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เสียสิทธิไม่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นระดับ 9 ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ 2 ล้านบาท เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. จำเลยให้การปฏิเสธ คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาวันที่ 29 มี.ค. 2560 ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และให้จำเลยชดใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์ 1.4 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 17 เม.ย. 2561 ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลย 2 ปี ไม่รอการลงโทษ และชดใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย 1.4 ล้านบาท
ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ให้นายดำรงค์ออกคำสั่งให้โจทก์ย้ายไปเป็นป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นการย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ต่ำกว่าระดับเดิม เป็นการโยกย้ายโดยเร่งด่วนไม่ได้หารือต่อคณะกรรมการ ที่จำเลยอ้างว่ามีปัญหาเรื่องตำแหน่งใหม่ของโจทก์ เมื่อโอนย้ายสังกัดกรมป่าไม้จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาสังกัดกระทรวงทรัพยากรฯ จากคำเบิกความของพยานยังได้ความว่าตำแหน่ง ผอ.สำนักงานวิชาการ 9 มีกระบวนการสรรหาผู้มีคุณสมบัติ ซึ่งโจทก์มีคุณสมบัติต่างจากที่จำเลยอ้าง ดังนั้น การออกคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งโจทก์และการย้ายนายดำรงค์มาในตำแหน่งทับซ้อนกับโจทก์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์เสียหาย การแต่งตั้งโยกย้ายระบบราชการนอกจากความเหมาะสมแล้วจะต้องคำนึงถึงคุณธรรมและธรรมาภิบาล แต่เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์จำเลยแล้ว เป็นการกระทำที่ทำลายระบบคุณธรรมและธรรมาภิบาลในระบบราชการไม่ควรรอการลงโทษ
ที่ศาลอุทธรณ์ฯให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 1.4 ล้านบาทนั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ให้จำคุกรวม 1 ปี 8 เดือน และชดใช้แก่โจทก์ 1.4 ล้านบาท จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้คุมตัวนายปลอดประสพไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯรับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาทันที
กรมศิลป์แจงกรณีเขายะลา ยัน ไม่ได้เปลี่ยนโบราณสถานเป็นเหมืองถ่านหิน
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า หลังจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับประกาศกรมศิลปากร เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ตำบลลิดล-ยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลามาหลายวัน วันที่ 6 มีนาคม 2563 นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากรได้ชี้แจงกรณีนี้ ดังนี้
1. ประกาศดังกล่าว ไม่ใช่การประกาศเพิกถอนภาพเขียนสีเขายะลาออกจากการเป็นแหล่งโบราณคดี แต่เป็นการประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานโดยรอบภาพเขียนสีเขายะลา โดยภาพเขียนสีเขายะลายังคงสภาพเป็นโบราณสถานเหมือนเดิม และได้รับการปกป้องตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ฯ (รายละเอียดการประกาศขอบเขตตามภาพที่แนบ)
2. การประกาศดังกล่าวไม่ใช่การเปลี่ยนพื้นที่โบราณสถานให้เป็นแหล่งสัมปทานเหมืองหิน เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าว เป็นแหล่งสัมปทานเดิมอยู่ก่อนแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี ก่อนที่จะมีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และบริเวณดังกล่าวไม่ใช่ตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งภาพเขียนสีทั้ง 2 แห่ง
3. กรณีที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวการสัมปทานแร่หินในบริเวณใกล้เคียง มีผลทำให้ภาพเขียนสีเขายะลาเสียหายไปแล้วหนึ่งจุดนั้น ผลจากการตรวจสอบ โดยสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 1 สงขลา พบว่าการพังทลายดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2551 จากรอยเลื่อน และการกัดเซาะของน้ำใต้ดิน ทำให้รอยแตกขยายกว้างขึ้น ประกอบกับบริเวณเชิงเขามีลักษณะเป็นโพรง รวมถึงการทำเหมืองในอดีตด้วยวิธีแบบโบราณที่มีมาก่อนการให้ประทานบัตร ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมการพังทลาย โดยไม่เกี่ยวข้องกับสัมปทานเหมืองหินที่อยู่โดยรอบแต่อย่างใด
4. เหตุผลการประกาศแก้ไขเขตที่ดินฯ ในครั้งนี้ มีที่มาจากการขอความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย 1)กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี 2) ศูนย์อำนวยการบริหารส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม 4) จังหวัดยะลา 5) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในครั้งนั้นกรมศิลปากรพิจารณาแล้วเพื่อเหตุผลด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และความมั่นคงของประเทศ จึงพิจารณาให้ความร่วมมือ โดยการพิจารณาแก้ไขเขตพื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ในเกณฑ์ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งศิลปกรรมภาพเขียนสีเขายะลาแต่อย่างใด
สำหรับกรณีตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมนั้น นายประสพ เรียงเงิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และนายพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร ผู้แทนกรมศิลปากร ได้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว และได้นำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมตามลำดับ หลังจากนี้จะได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยกรมศิลปากรจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ เพื่อหาข้อสรุปชี้แจงแก่ผู้ร้องเรียนโดยด่วนต่อไป
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำคุก “ธาริต” กลั่นแกล้งแจ้งข้อหา “สุเทพ-อภิสิทธิ์” สลายการชุมนุม
เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2563 – ทีศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศอฉ. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553 , พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ. ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นร่วมกันเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200
กรณีระหว่างเดือน ก.ค. 2554 – 13 ธ.ค. 2555 ดีเอสไอ สรุปสำนวนดำเนินคดี นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการออกคำสั่ง ศอฉ. ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ที่ชุมนุมเพื่อขับไล่นายอภิสิทธิ์ ออกจากตำแหน่งนายกฯ
ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2561 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-4 โดยเห็นว่าพยานโจทก์ที่นำสืบมานั้น ยังไม่แสดงเห็นว่าจำเลยที่ 1 จงใจกลั่นแกล้งโจทก์อย่างไรในการแจ้งข้อกล่าวหา ต่อมาฝ่ายนายอภิสิทธิ์ โจทก์ ยื่นอุทธรณ์
โดยวันนี้ นายธาริต อดีตอธิบดีดีเอสไอ และกลุ่มพนักงานสอบสวนดีเอสไอ จำเลยร่วมทั้งหมด ก็เดินทางมาศาลพร้อมคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ขณะที่ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ก่อนหน้าที่จะมีความเห็นควรแจ้งข้อหาโจทก์ที่ 1-2 ในความผิดฐานฆ่าเล็งเห็นผลจากเหตุการสลายการชุมนุมปี 2553 จำเลยที่ 1-4 เคยมีความเห็นว่าการชุมนุม นปช. เป็นความผิดกฎหมายจึงแจ้งข้อหาก่อการร้าย แสดงว่าจำเลยทั้งสี่เห็นว่าโจทก์ที่ 1-2 กระทำไปตามหน้าที่ แม้ภายหลังการไต่สวนการตายของนายพัน คำกอง ศาลอาญาจะชี้ว่ากระสุนมาจากฝั่งทหารแต่ก็ไม่ได้ระบุว่าการกระทำโจทก์ทั้งสองเป็นความผิด
จากการพิจารณาพฤติการณ์ประกอบกันแล้ว ฟังได้ว่าการที่จำเลยที่ 1-4 มีความเห็นต่างจากเดิม เชื่อว่าเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองเพื่อเอาใจรัฐบาล เพื่อมีผลในการต่ออายุตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ การที่จำเลยทั้งสี่ สืบสวนสอบสวนโจทก์ที่ 1-2 พร้อมแจ้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเล็งเห็นผลทั้งที่เป็นอำนาจ ป.ป.ช.นั้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามฟ้อง
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคสอง ซึ่งการกระทำนั้นเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตามมาตรา 200 วรรคสอง จึงพิพากษาให้จำคุก จำเลยคนละ 3 ปี แต่คำเบิกความเป็นประโยชน์อยู่บ้าง เห็นควรลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1-4 ไว้คนละ 2 ปีโดยไม่รอการลงโทษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายธาริต อดีตอธิบดีดีเอสไอ กล่าวสั้นๆ ว่า จะดำเนินการยื่นประกันตัวสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป
WHO ยกระดับเตือนภัยโควิด-19 เป็นสูงมาก
เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับการเตือนภัยความเสี่ยงการระบาดไปทั่วโลกของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อยู่ระดับ “สูงมาก” ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ชี้ยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นและการลุกลามไปในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นเรื่อง “น่ากังวลอย่างแท้จริง” ส่วนในอิหร่านเชื่อว่ายอดผู้เสียชีวิตจริงสูงกว่าที่รัฐบาลเปิดเผยถึง 6 เท่า
แหล่งข่าวหลายรายในโรงพยาบาลหลายแห่งของอิหร่าน เปิดเผยกับทีมข่าวบีบีซีแผนกภาษาเปอร์เซียว่า ข้อมูลจากคืนวันพฤหัสที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่ายอดผู้เสียชีวิตจริงจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศอาจอยู่ที่อย่างน้อย 210 คน มากกว่าตัวเลขที่ทางการเปิดเผยที่จำนวน 34 คน อยู่ถึง 6 เท่า
ข้อมูลที่บีบีซีได้บ่งชี้ว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเตหะราน และเมืองกอม ซึ่งเป็นแหล่งที่พบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ครั้งแรกในประเทศ
โฆษกกระทรวงสาธารณสุขอิหร่านยืนกรานว่ารัฐบาลมีความโปร่งใสในเรื่องนี้ พร้อมกล่าวหาว่าบีบีซีปล่อยข่าวเท็จ
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นหลังจาก ส.ส. จากเมืองกอมคนหนึ่งกล่าวหาทางการอิหร่านว่าปกปิดข้อเท็จจริงของสถานการณ์การระบาดในประเทศ
ด้านสหรัฐฯ แสดงความกังวลที่รัฐบาลอิหร่านอาจไม่แบ่งปันข้อมูลนี้กับนานาชาติ พร้อมเสนอให้ความช่วยเหลือแก่อิหร่าน แต่โฆษกกระทรวงต่างประเทศอิหร่านปฏิเสธรับความช่วยเหลือดังกล่าว
นายเทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก แถลงวานนี้ (28 ก.พ.) ว่า “เราได้ยกระดับการประเมินความเสี่ยงการแพร่ระบาดและผลกระทบของโรคโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ที่ระดับสูงมาก”
ดร.ไมเคิล เจ ไรอัน ผู้อำนวยการบริหาร WHO ระบุว่า อธิบายว่า การประกาศเตือนภัยโควิด-19 ที่ระดับ “สูงมาก” ครั้งนี้ถือเป็นระดับสูงสุดที่ WHO สามารถประกาศได้
เขากล่าวก่อนหน้านี้ว่า “เปล่าประโยชน์” ที่ WHO จะประกาศว่าโรคโควิด-19 กำลังจะเข้าสู่ภาวะการระบาดใหญ่ (pandemic) ในขณะที่ทั่วโลกกำลังพยายามควบคุมการระบาดของไวรัสชนิดนี้
“ถ้าเราบอกว่ามีการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา ก็เท่ากับว่าเราได้ยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนบนโลกจะต้องติดเชื้อ ซึ่งยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนเรื่องนี้”
ในส่วนของวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้น นายเกเบรเยซัส ระบุว่า ขณะนี้มีวัคซีนกว่า 20 ชนิดอยู่ระหว่างการพัฒนา และคาดว่าจะได้ผลทดสอบแรกในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
ก่อนหน้านี้ WHO ชี้ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจลุกลามไปยังประเทศส่วนใหญ่ หากไม่ลุกลามไปทุกประเทศทั่วโลก