ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปรับโครงสร้างภาษี สรรพสามิต คาด ‘ไทยเบฟฯ’ ต้นทุนเพิ่ม 4,000 ล้าน- ‘ยาสูบ’ 1,900 ล้าน เปิดราคาบุหรี่ 48 ยี่ห้อ

ปรับโครงสร้างภาษี สรรพสามิต คาด ‘ไทยเบฟฯ’ ต้นทุนเพิ่ม 4,000 ล้าน- ‘ยาสูบ’ 1,900 ล้าน เปิดราคาบุหรี่ 48 ยี่ห้อ

19 กันยายน 2017


การรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตตามมาตรฐานสากล คำนึงถึงสุขภาพประชาชนเป็นหลัก โดยเสนอให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีสุรา-ยาสูบตามปริมาณ มากกว่าที่จะไปเน้นจัดเก็บภาษีตามมูลค่าของสินค้า เช่น เหล้าดีกรีสูง ตามหลักสากลต้องเสียภาษีมากกว่าเหล้าที่มีดีกรีต่ำๆ ปรากฏว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างภาษีของไทยกลับไปเน้นที่การจัดเก็บภาษีตามมูลค่าเป็นหลัก ทำให้การจัดเก็บภาษีเกิดการลักลั่น และมีปัญหาข้อพิพาทกับผู้ประกอบการอยู่บ่อยครั้ง การคำนวณภาษีสรรพสามิตที่ผ่านมาใช้ฐานราคาแตกต่างกัน กรณีนำเข้าใช้ราคา CIF บวกภาษีนำเข้าและค่าธรรมเนียมอื่นๆ เป็นฐานในการคำนวณกับอัตราภาษี แต่ถ้าเป็นผู้ผลิตในประเทศ ใช้ราคาขายส่งช่วงสุดท้าย (ต้นทุนการผลิตบวกกำไร) เป็นฐานคำนวณภาษี จากนั้นเมื่อได้ฐานราคาแล้ว ก็จะนำมาคำนวณภาษี ซึ่งมี 2 วิธี คือ 1. คำนวณตามมูลค่า เช่น วิสกี้ บรั่นดี เสียภาษี 50% ของราคา CIF บวกภาษีนำเข้าและค่าธรรมเนียมอื่นๆ หรือ ราคาขายส่งช่วงสุดท้าย กับวิธีที่ 2 คำนวณภาษีตามปริมาณ ถ้าเป็นวิสกี้ บรั่นดี เสียภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธ์ (100 ดีกรี) ลิตรละ 400 บาท ใช้วิธีไหนคำนวณภาษีแล้วรัฐได้เม็ดเงินภาษีมากที่สุด เจ้าหน้าที่สรรพสามิตจะเลือกใช้วิธีนั้น ทำให้เหล้าและบุหรี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศส่วนใหญ่เสียภาษีตามมูลค่า ขาปริมาณไม่ทำงาน ขณะที่เหล้า-บุหรี่ที่ผลิตในประเทศส่วนใหญ่เสียภาษีตามปริมาณ ขามูลค่าไม่ทำงาน

ในระยะหลังๆ จึงมีผู้นำเข้าเหล้า-บุหรี่บางราย พยายามลดต้นทุนทางภาษี โดยสำแดงราคา CIF ต่ำมาก ยกตัวอย่าง บุหรี่นำเข้าจากประเทศจีน สำแดงราคา CIF ซองละไม่ถึง 2 บาท ผู้นำเข้าบางรายมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องสำแดงราคากับกรมศุลกากรจนกลายเป็นคดีความต่อสู้กันในชั้นศาล เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานานหลายสิบปี กระทรวงการคลังจึงอาศัยจังหวะนี้นำเสนอแผนกการปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่ต่อรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยการออกพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 เป็นต้นไป โดยการนำ “ราคาขายปลีกแนะนำ” มาใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีราคาเดียว แทนราคาหน้าโรงงาน ราคาขายส่งช่วงสุดท้าย และ ราคา CIF ที่รวมภาษีนำเข้า รวมทั้งกำหนดวิธีการคำนวณภาษีใหม่ ให้ผู้ประกอบการตั้งเสียภาษีทั้งตามปริมาณและตามมูลค่ารวมกัน ทั้งนี้ เพื่อให้สูตรในการคำนวณภาษีทำงานทั้ง 2 ขา ลดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ผลิตในประเทศกับผู้นำเข้า ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพประชาชน ลดการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยให้โทษต่อร่างกายเป็นหลักการสำคัญแล้ว คาดว่ากรมสรรพสามิตจะมีรายได้จากการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ประมาณ 13,066 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากระดับสูงจากกรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างภาษีมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 รายการ คาดว่าจะมีภาระในการจ่ายภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นประมาณ 12,153 ล้านบาท อันดับแรกจะอยู่ในกลุ่มสุรา คาดว่าผู้ประกอบการมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น 5,168 ล้านบาท ประกอบด้วย เบียร์ประมาณ 3,006 ล้านบาท เหล้า 2,162 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากกรมสรรพสามิตปรับสูตรในการคำนวณภาษีใหม่ โดยใช้ “ราคาขายปลีกแนะนำ” เป็นฐานในการคำนวณภาษีแทน “ราคาขายส่งช่วงสุดท้าย” รวมทั้งปรับสูตรในการคำนวณภาษีให้ทำงานทั้งขามูลค่าและปริมาณ โดยปรับลดอัตราภาษีตามมูลค่า จากเดิมมีน้ำหนักถึง 80% เหลือ 45% ขณะเดียวกันก็ไปเพิ่มอัตราภาษีตามปริมาณ จากเดิมมีน้ำหนัก 20% เพิ่มขึ้นเป็น 55% การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้จึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม ไทยเบฟเวอเรจ ผู้ผลิตและจำหน่าย เหล้าขาว เหล้าสี เชียงชุน แม่โขง หงส์ทอง เบียร์ช้าง คาดว่าจะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นเกือบ 4,000 ล้านบาท ส่วนค่ายบุญรอดบริวเวอรี่ ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์ลีโอ-สิงห์ คาดว่าจะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนกลุ่มเหล้า-เบียร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศคาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 700 ล้านบาท

“สาเหตุที่กลุ่มไทยเบฟฯ ได้รับผลกระทบจากการปรับภาษีครั้งนี้มากที่สุด เนื่องจากกลุ่มไทยเบฟฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเหล้าและเบียร์รายใหญ่ ครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเหล้าและเบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูง ขณะที่กลุ่มบุญรอดผลิตและจำหน่ายเบียร์เพียงอย่างเดียว ทั้งเบียร์สิงห์และเบียร์ลีโอมีปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณ 5 ดีกรี การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้มีการปรับเพิ่มอัตราภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ จึงทำให้กลุ่มไทยเบฟฯ ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มบุญรอด คาดว่าทางกลุ่มไทยเบฟฯ คงต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ โดยการผลิตเบียร์ดีกรีต่ำออกมาขาย ส่วนสุรานำเข้าได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากกรมศุลกากรเข้มงวดในเรื่องของการสำแดงราคา CIF ของผู้นำเข้า การปรับเปลี่ยนราคา CIF บวกภาษีนำเข้าและค่าธรรมเนียมมาใช้ราคาขายปลีกแนะนำมีส่วนต่างเพิ่มขึ้นไม่มาก จึงไม่ส่งผลกระทบผู้นำเข้ามากนัก” แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมสรรพสามิตกล่าว

แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมสรรพสามิตกล่าวต่อว่า สำหรับบุหรี่ กรมสรรพสามิตคาดว่ามีภาระภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 2,186 ล้านบาท เนื่องจากกรมสรรพสามิตมีการปรับสูตรและอัตราในการคำนวณภาษีเช่นเดียวกับกลุ่มสุรา-เบียร์ โดยการนำราคาขายปลีกแนะนำมาใช้แทนราคาขายส่งช่วงสุดท้าย และปรับเพิ่มอัตราภาษีทั้ง 2 ขา ขาปริมาณเก็บ 1.20 บาทต่อมวน จากเดิมเก็บ 1.10 บาทต่อกรัม ขามูลค่า หากราคาขายปลีกแนะนำเกิน 60 บาท เสียภาษี 40% ของราคาขายปลีกแนะนำ แต่ถ้าราคาไม่เกิน 60 บาทเสียภาษี 20% ของราคาขายปลีกแนะนำ เป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นให้เก็บภาษีในอัตรา 40% ในกลุ่มของอุตสาหกรรมบุหรี่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ โรงงานยาสูบ ครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 80% กรมสรรพสามิตคาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 1,900 ล้านบาท ส่วนตลาดบุหรี่นำเข้าได้รับผลกระทบไม่มาก ประมาณ 200-300 ล้านบาท เนื่องจากการปรับเปลี่ยนฐานราคาในการคำนวณภาษีจากราคา CIF บวกภาษีนำเข้าและค่าธรรมเนียมอื่นๆ มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำเพิ่มขึ้นไม่มาก เมื่อคำนวณกับอัตราภาษีทั้งเชิงปริมาณและมูลค่ารวมกันแล้วจึงได้รับผลกระทบน้อยกว่าโรงงานยาสูบ ส่วนรายการสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่เหลือ ก็จะมีกลุ่มเครื่องดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ชา กาแฟ คาดว่าจะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น 2,512 ล้านบาท กลุ่มรถยนต์มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น 2,287 ล้านบาท กลุ่มน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น 419 ล้านบาท เครื่องดื่มผง และเครื่องดื่มเข้มข้น (หัวเชื้อ) มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น 280 ล้านบาท แบตเตอรี่ 232 ล้านบาท เป็นต้น

ล่าสุด ณ วันที่ 19 กันยายน 2560 กลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบ ทยอยออกประกาศราคาขายปลีกแล้ว 48 ยี่ห้อ (ดูข้างล่าง)