ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แนวคิดการติดตามความโปร่งใสโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ถึงเวลา “จับตา” ใครบ้างเป็นขาประจำ

แนวคิดการติดตามความโปร่งใสโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ถึงเวลา “จับตา” ใครบ้างเป็นขาประจำ

24 สิงหาคม 2017


รายงานโดย…Hesse004

กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ (Public Procurement) นับเป็นกระบวนการที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุด เรื่องอื้อฉาว ร้องเรียน จำนวนมากที่ปรากฏตามหน้าสื่อไม่เว้นแต่ละวันนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง (Corruption in Public Procurement) ไม่ว่าจะเป็น ล็อกสเปค ฮั้วประมูล ซื้อของแพงเกินราคาตลาด กินค่าหัวคิว ตรวจรับงานเป็นเท็จ ขยายเวลาสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมา รวมถึงจัดซื้อพัสดุแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์

ปัจจุบัน รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผลักดันกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ หรือที่เรียกชื่อเต็มๆ ว่า “พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560” โดยสภาเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2560

ความพิเศษของกฎหมายฉบับนี้ คือ เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง1 โดยมีเครื่องมือสำคัญ คือ ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) หรือสัญญาคุณธรรม ซึ่งรัฐเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาเป็น “ผู้สังเกตการณ์” (Observer) โครงการจัดซื้อจัดจ้างสำคัญและอยู่ในกระแสความสนใจของสังคม

อย่างไรก็ดี การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไม่ได้จำกัดแค่ร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์เพียงอย่างเดียว หากแต่ภาคประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) ซึ่งจัดทำเว็บไซต์ “ภาษีไปไหน” ขึ้น โดยแสดงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 นับเป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างแรงจูงใจให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมติดตามความคืบหน้าโครงการรัฐได้

เช่นเดียวกับบทบาทสื่อมวลชนที่ติดตามความโปร่งใสและรายงานความคืบหน้าในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการสำคัญๆ อยู่เสมอ เช่น รายงานความผิดปกติของการดำเนินโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่ทำในรูปแบบข่าวเจาะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของภาคประชาชนในการติดตามตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ กระบวนการติดตามตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้น อาจประมวลออกมาได้ 3 ระดับ ดังนี้

กระบวนการติดตามตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

สำหรับแนวคิดการติดตามตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Transparency Monitor in Public Procurement) พัฒนาขึ้นมาให้สอดคล้องกับการติดตามตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในระดับแรก คือ การจับตาและติดตาม (Watch and Monitor) โดยวัตถุประสงค์ของการจับตาและติดตามความโปร่งใสในการดำเนินโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้นก็เพื่อให้สังคมได้รับทราบข้อมูลพื้นฐานที่ควรจะรู้เกี่ยวกับโครงการสำคัญของภาครัฐ ในแต่ละช่วงเวลา เช่น ปีงบประมาณ 2559 รัฐใช้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างไปทั้งสิ้น 688,551.54 ล้านบาท มีโครงการที่รัฐลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง 1,854,895 โครงการ โดยสัญญาที่มีมูลค่าสูงสุด คือ การจัดซื้อครุภัณฑ์โครงการจัดหาและติดตั้งระบบวิทยุสื่อสารดิจิทัล ระยะที่ 1 ของ กองตำรวจสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดย สตช. ใช้วิธีพิเศษจัดหาครุภัณฑ์ดังกล่าว และลงนามในสัญญา จำนวน 3,408,000,000 บาท

ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่รัฐเปิดเผยให้ประชาชนทราบผ่านฐานข้อมูลในระบบภาษีไปไหน อย่างไรก็ดี หากภาคประชาชนยังสนใจจะติดตามโครงการสำคัญๆ ต่อไปอีก จะต้องใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ขอตรวจดูเอกสารการดำเนินโครงการตั้งแต่ต้นเรื่อง ที่มาโครงการ จนกระทั่งเอกสารความคืบหน้าในการดำเนินโครงการ หรืออาจแจ้งให้หน่วยงานทำหน้าที่ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโดยตรง เพื่อตรวจสอบโครงการดังกล่าวและเผยแพร่ผลการตรวจสอบให้สาธารณชนรับทราบในวงกว้าง

แน่นอนว่า แม้ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินการ คือ สร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในสังคมได้ แต่ภาระที่เกิดขึ้น คือ ต้นทุนส่วนบุคคลที่ต้องจ่ายเพื่อเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกนั้น

ด้วยเหตุนี้ แนวคิด Transparency Monitor in Public Procurement (TMPP) จะถูกนำมาช่วยแบ่งเบาต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลในระดับหนึ่ง โดยเริ่มต้นจาก

    (1) คัดกรองโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่สำคัญและน่าสนใจ เช่น โครงการที่มีมูลค่าสัญญาสูงสุดติดอันดับหนึ่งถึงสิบ โครงการที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชน โดยแนวคิด TMPP จะรายงานความคืบหน้าในการดำเนินโครงการและข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลภาษีไปไหน พร้อมทั้งนำเสนอบทวิเคราะห์
    และ (2) หากโครงการใดที่ยังขาดข้อมูลเพียงพอต่อการจับตา ติดตาม โครงการเหล่านั้นจะถูกหยิบขึ้นมา เพื่อแสดงให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบว่าจำเป็นต้องให้ข้อมูลโครงการกับสังคมเพิ่มเติม หรืออาจนำไปสู่การลงนามในข้อตกลงคุณธรรม รวมถึงชี้ให้หน่วยงานตรวจสอบเข้ามาช่วยตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวต่อไปในอนาคต

ในตอนต่อไป จะนำเสนอรายงานการติดตามความโปร่งใสโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐประจำเดือน ส.ค. 2560 ซึ่งจะกล่าวถึงภาพรวมของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในรอบปีงบประมาณที่ผ่านมา รวมถึงโครงการสำคัญที่สังคมควรช่วยกันจับตา

หมายเหตุ: 1.หมวดที่ 2 ของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ว่าด้วย การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริต (มาตรา 16-19)