ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > Food Waste Data: เทสโก้ โลตัส ประกาศเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตรายแรกในไทยที่วัดและเปิดเผยข้อมูล “ขยะอาหาร”

Food Waste Data: เทสโก้ โลตัส ประกาศเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตรายแรกในไทยที่วัดและเปิดเผยข้อมูล “ขยะอาหาร”

26 กันยายน 2019


หลังจากที่หัวเรือใหญ่ “สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย” ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส ประกาศปักธงในการให้เทสโก้ โลตัส ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในธุรกิจค้าปลีก ในงานครบรอบ 25 ปีเทสโก้ โลตัส เมื่อต้นเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา ภายใต้นโยบายความยั่งยืนใหม่  Little Help Plan ที่มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับงานที่มีการวางเป้าหมายชัดเจนขึ้น วัดผลได้มากขึ้น รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 เทสโก้ โลตัส ได้ประกาศตัวเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกในประเทศไทย ที่วัดและเปิดเผยข้อมูลขยะอาหาร (food waste data) สะท้อนจุดมุ่งหมายภายใต้ทิศทางการทำงานใหม่ด้านความยั่งยืน โดยการเปิดเผยข้อมูลขยะอาหารเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานด้านความยั่งยืนของเทสโก้ โลตัส ที่มีเป้าหมายลดการทิ้งอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030

รายงานข่าวระบุว่า กลุ่มเทสโก้เชื่อมั่นว่าการวัดและเปิดเผยข้อมูล รวมถึงรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างได้ผลที่สุด เป้าหมายของกลุ่มเทสโก้ ซึ่งครอบคลุมถึงธุรกิจในประเทศไทย คือการช่วยลดปริมาณขยะอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ข้อ 12.3 (Target 12.3)

ที่ผ่านมาเทสโก้ในสหราชอาณาจักรเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกในโลกที่เปิดเผยข้อมูลขยะอาหารที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานภายนอกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2016 เทสโก้ในไอร์แลนด์และยุโรปกลางก็ได้เริ่มวัดและเปิดเผยข้อมูลขยะอาหารเช่นกัน และในปีนี้ จะเป็นปีแรกที่เทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย และเทสโก้ มาเลเซีย ได้เริ่มวัดและเปิดเผยข้อมูลขยะอาหาร

“ในฐานะธุรกิจค้าปลีกที่จำหน่ายอาหารปริมาณมาก กลุ่มเทสโก้ตระหนักดีถึงบทบาทและความรับผิดชอบของเราในการช่วยลดปริมาณขยะอาหาร (food waste) และได้ตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับ SDG ในการช่วยลดปริมาณขยะอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030″ นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าว

“การที่จะสามารถลดปริมาณขยะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยใช้แนวทาง Target, Measure, Act ในการลดปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจของเราเอง”

และอธิบายว่า  Target คือการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและประกาศให้เป็นสาธารณะ Measure คือการวัดผลอย่างต่อเนื่องและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และ Act คือการลงมือทำเพื่อลดปริมาณขยะอาหารให้ได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

“การที่เราจะทราบถึงความคืบหน้าในการบรรลุตามเป้าหมาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวัดผล…เทสโก้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแรกในทวีปเอเชียที่วัดและเปิดเผยข้อมูลนี้ และในประเทศไทยเองก็ยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูล food waste ในระดับประเทศ”

สำหรับประเทศไทย “เทสโก้ โลตัส ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นผู้นำลดปริมาณขยะอาหารเมื่อปี พ.ศ. 2560 และมีเป้าหมายเช่นเดียวกับเทสโก้ทั่วโลกในการลดการทิ้งอาหารภายในธุรกิจของเราลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2573

“การที่เราจะทราบถึงความคืบหน้าในการบรรลุตามเป้าหมาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวัดผล ดังนั้นเทสโก้ โลตัส จึงได้เริ่มกระบวนการวัดปริมาณอาหารที่จำหน่ายทั้งหมด (food sales) ปริมาณอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย (surplus food) และปริมาณขยะอาหาร (food waste) ตลอดทั้งปีงบประมาณ โดยเทสโก้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแรกในทวีปเอเชียที่วัดและเปิดเผยข้อมูลนี้ และในประเทศไทยเองก็ยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูล food waste ในระดับประเทศ”

ข้อมูลในปีงบประมาณ 2561/62 แสดงว่า เทสโก้ โลตัส จำหน่ายอาหารทั้งหมดกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งในปริมาณนี้ 0.52% หรือประมาณกว่า 10,000 ตันจำหน่ายไม่หมด ในจำนวนนี้อาหารที่ยังรับประทานได้ปริมาณ 160 ตัน หรือเทียบเท่า 380,000 มื้อ บริจาคให้ผู้ยากไร้ ผ่าน ‘โครงการกินได้ไม่ทิ้งกัน’ ซึ่งปัจจุบันไฮเปอร์มาร์เก็ต 40 สาขาของเราร่วมโครงการ

ขณะที่อาหารที่ไม่สามารถรับประทานได้แล้วบางส่วนถูกนำไปทำปุ๋ยและอาหารสัตว์ อย่างไรก็ตาม ยังมีอาหารที่ยังสามารถรับประทานได้ที่ถูกทิ้งเป็นขยะอาหาร เป้าหมายในระยะสั้นของเรา คือการขยายโครงการกินได้ไม่ทิ้งกันให้ครอบคลุมไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 160 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดปริมาณขยะอาหารได้มากขึ้น  อีกทั้งจะนำอาหารที่รับประทานไม่ได้แล้วไปแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ และจะทำการเปิดเผยข้อมูลของปีต่อๆ ไปเพื่อให้สังคมรับทราบถึงความคืบหน้าในการดำเนินการของเรา

อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาขยะอาหารในประเทศไทย นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เทสโก้ โลตัส ในฐานะร้านค้าปลีก เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อาหารซึ่งประกอบไปด้วยเกษตรกร ผู้ผลิตอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ตอื่นๆ ตลาดสด ร้านอาหาร โรงแรม ไปจนถึงในระดับครัวเรือน ที่จะต้องมาร่วมกันในการลดขยะอาหารให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม